บทที่ 4.4 : คำสอนของครูทั้ง ๖

ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสอนของครูทั้ง ๖

๑. ครูปูรณกัสสป

ท่านผู้นี้สอนว่า การทำชั่วนั้น ถ้าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครรู้ และไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครลงโทษ ผลของความชั่วนั้นก็เป็นโมฆะ จะชั่วก็ต่อเมื่อมีคนรู้เห็นหรือจับได้เท่านั้น ส่วนความดีนั้นก็เหมือนกัน จะมีผลก็ต่อเมื่อมีคนรู้เห็น มีคนชื่นชมและมีผู้ให้บำเหน็จรางวัล ถ้าไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครชม และไม่มีใครให้รางวัลแล้วก็ไม่มีผล ตกเป็นโมฆะ

จากคำสอนของท่านปูรณกัสสปนี้ ย่อมมีความหมายว่า ทำก็ไม่ชื่อว่าทำ เช่นคนทำบุญก็ไม่ชื่อว่าทำบุญ คนทำบาปก็ไม่ชื่อว่าทำบาป โดยสรุปก็คือ บุญไม่มี บาปไม่มี ความดีไม่มี ความชั่วไม่มี เป็นลัทธิที่ปฏิเสธกฎเกณฑ์ของศีลธรรมโดยสิ้นเชิง พระพุทธศาสนาเรียกลัทธินี้ว่า อกิรินทิฏฐิ

๒. ครูมักขลิโคสาล

ท่านผู้นี้สอนว่า เคราะห์หรือโชคชะตา เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีใครฝืนได้ ไม่มีใครแก้ไขได้ คนเราจะดีหรือเลว สุขหรือทุกข์ รวยหรือจน อายุยืนหรือสั้น ล้วนเป็นเรื่องของเคราะห์หรือโชคชะตาบันดาลให้เป็นไปทั้งสิ้น ไม่สามารถแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นได้ เคราะห์หรือโชคชะตายังมีอิทธิพลหรือมีอำนาจบังคับไปถึงชาติต่อๆไปอีกด้วย เพราะฉะนั้นคนในชาตินี้เมื่อตายไปแล้วอาจจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์ก็ได้ แล้วแต่เคราะห์หรือโชคชะตาที่จะบันดาลให้เป็นไป แม้ว่าคนๆนั้นจะพยายามสั่งสมบุญกุศลไว้มากมายเพียงใดก็ตาม

จากคำสอนของครูมักขลิโคสาล สรุปได้ว่า กรรมที่บุคคลทำไว้แล้วในอดีต ไม่มีผลไปถึงในอนาคตนั่นคือ ไม่มีเหตุ หรือ ไม่มีปัจจัย นั่นเอง พระพุทธศาสนาจึงเรียกลัทธินี้ว่า อเหตุกทิฏฐิ

๓. ครูอชิตเกสกัมพล

ท่านผู้นี้สอนว่า แท้ที่จริงแล้วในโลกเรานี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้ง นี้ประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ และเป็นสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ หรือก้อนหิน ล้วนมีสภาพเหมือนกัน คือ เมื่อแยกธาตุต่างๆ ที่มาประชุมรวมกันแล้ว ก็จะสลายตัวออกไปเป็นธาตุ เหมือนกันหมด ดังนั้นมนุษย์เราเมื่อตายแล้วก็ดับสูญ คือ กลับไปเป็นธาตุ ๔ ดังเดิม

จากคำสอนนี้ ย่อมสรุปได้ว่า บุญและบาปไม่มี การทำบาปไม่มีผล การทำบุญทำทานก็ไม่มีผล ยิ่งกว่านั้นครูอชิตเกสกัมพลยังกล่าวด้วยว่า คนโง่เป็นฝ่ายบริจาค ส่วนคนฉลาดเป็นฝ่ายรับ

เพราะเหตูที่ครูอชิตเกสกัมพลได้ปฎิเสธทั้งเหตุและผลเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงเรียกคำสอนของท่านว่า นัตถิกทิฏฐิ ส่วนในคำสอนที่ว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วดับสูญนั้น ได้ชื่อว่า อุจเฉททิฏฐิ

๔. ครูปกุทธกัจจายนะ

ท่านผู้นี้สอนว่า ในโลกเรานี้ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ประการ คือ ธาตุต่างๆ มีดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น กับจิตวิญญาณ หรือชีวะ หรืออัตตา ซึ่งล้วนเป็นของเที่ยงแท้ ไม่มีการดับสูญหรือถูกทำลายไปได้

ธาตุต่างๆ นั้นประกอบด้วยอณูเป็นจำนวนมาก เมื่อมารวมตัวกันก็เกิดเป็นวัตถุขึ้น เมื่อวัตถุสลาย อณูของธาตุก็เพียงแตกกระจัดกระจายกันออกไป นั่นคือวัตถุสูญ แต่อณูไม่สูญ เพราะเป็นสิ่งเที่ยงแท้

อณูที่อยู่ในสภาพแตกกระจัดกระจายออกไปนี้ มีอำนาจในตัวของมันเอง ที่เป็นอิสระจากอำนาจของเทพเจ้า คือสามารถรวมตัวกันเข้าเป็นวัตถุอีก เพราะฉะนั้นการเกิดดับของวัตถุก็คือผลของการรวมตัวหรือสลายตัวของอณูนั่นเอง

ส่วนสิ่งที่เรียกว่า จิต วิญญาณ ชีวะ หรืออัตตา นั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มีอำนาจในตัวเอง มิได้ประกอบด้วยอณู แต่เที่ยงแท้เช่นเดียวกัน

วัตถุบางชนิด ถ้าจิตเข้าครองได้ จิตก็จะเข้าครอง เมื่อวัตถุนั้นแตกดับไปเพราะอณูสลายตัว จิตก็จะออกจากวัตถุนั้นไปสู่สภาพเดิม เป็นอิสรเสรี ไม่ตกอยู่ในอำนาจของเทพเจ้าใดๆ จิตซึ่งเป็นอิสระนี้ อาจเข้าถึงสัจธรรมได้ และการบำเพ็ญก็คือ การทำจิตให้เป็นอิสรเสรี

ความหมายของนิพพาน ตาม ความเห็นของครูปกุทธกัจจายนะ ก็คือ ความรู้จริง หรือรู้สัจธรรมในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุอันประกอบด้วยอณูอัน เที่ยงแท้กับจิตหรือวิญญาณอันเที่ยงแท้

ด้วยเหตุที่ครูปกุทธกัจจายนะมีความเห็นว่า อณูและจิตเป็นของเที่ยงแท้เช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงเรียกลัทธินี้ว่า สัสสตทิฏฐิ

๕. ครูนิครนถนฎบุตร

มีอีกชื่อหนึ่งว่า ศาสดามหาวีระเป็นศาสดาองค์ที่ ๒๔ ของศาสนาเชน (Jainism) ลัทธินี้ถือว่า การทรมานกายเป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค นักบวชในกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่อย่างเข้มงวดกวดขันต่อร่างกาย อดข้าว อดน้ำ ตากแดด ตากลม ไม่นุ่งห่มผ้าหรือที่เรียกกันว่าอยู่ในสภาพของฑิฆัมพร คือ ผู้นุ่งฟ้า สานุศิษย์ในลัทธินี้ เรียกกันว่า พวกนิครนถ์

นอกจากนี้ ท่านนิครนถนฎบุตรยังมีหลักคำสอนแบบ อเนกานตวาทะอีกด้วย คือ เห็นว่า ความจริงมีหลายเงื่อนหลายแง่ เช่น เหตุการณ์หนึ่ง เมื่อพิจารณาในแง่นี้อาจจริง ถูกต้อง แต่เมื่อพิจารณาอีกแง่หนึ่ง ก็ไม่จริง ไม่ถูกต้อง เป็นต้น

ในบรรดาลัทธิทั้ง นี้ มีลัทธินี้เพียงลัทธิเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน รู้จักกันในนามของ ศาสนาเชน โดยอยู่ในฐานะเป็นศาสนาหนึ่งของอินเดีย ปัจจุบันยังมีผู้นับถือศาสนานี้อยู่ในอินเดียหลายล้านคน แต่แพร่ออกจากอินเดียไม่ได้เพราะเคร่งครัดเกินไป นักบวชไม่สามารถขึ้นรถลงเรือได้

๖. ครูสัญชัยเวลัฎฐบุตร

บางทีเรียกสัญชัยปริพาชก ท่านผู้นี้คืออาจารย์เดิมของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ คำสอนต่างๆในลัทธินี้ล้วน ไม่แน่นอน ซัดส่าย ลื่นไหล เพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น

๑) เพราะเกรงจะพูดปด จึงต้องปฏิเสธว่า อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่

๒) เพราะเกรงจะเป็นการยึดถือ จึงต้องปฏิเสธแบบข้อ (๑)

๓) เพราะเกรงจะถูกซักถาม จึงต้องปฏิเสธแบบข้อ (๑)

๔) เพราะโง่เขลา จึงต้องปฏิเสธแบบข้อ (๑)คือไม่ยอมรับอะไรและไม่ยืนยันอะไรทั้งสิ้น

พระพุทธศาสนาเรียกคำสอนของท่านผู้นี้ว่า อมราวิกเขปิกาทิฏฐิ

เพราะเหตุนี้ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงมีความเห็นว่า ในบรรดาครูทั้ง ๖ นั้น ครูสัญชัยเวลัฎฐบุตรโง่เขลาเบาปัญญาที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจัดทิฏฐิหรือความเห็นของครูทั้ง นี้ว่าเป็น มิจฉาทิฏฐิ ทั้งสิ้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘