บทที่ 4.3 : คำตอบของครูทั้ง ๖

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระเจ้าอชาตศัตรูว่าได้เคยถามปัญหาข้อนี้กับสมณพราหมณ์พวกอื่นหรือไม่ และได้รับคำตอบอย่างไร ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่รู้สึกหนักพระทัยก็ขอให้ตรัสตอบด้วย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงกราบทูลถึงการเสด็จไปถามปัญหานี้กับครูทั้ง ๖ อย่างเปิดเผยว่า

ครั้งที่หนึ่ง พระองค์เคยเสด็จไปถามปัญหานี้กับครูปูรณกัสสปถึงที่อยู่ และทรงได้รับคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ซึ่งมีใจความสรุปได้ว่า บุญไม่มี บาปไม่มี

คำกล่าวเช่นนี้ย่อมหมายความว่าไม่ว่าคนเราจะก่อกรรมทำเข็ญเลวร้ายสักปานใด นับตั้งแต่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งหลาย การลักทรัพย์ การคบชู้ หรือการโป้ปดมดเท็จใดๆ ย่อมไม่มีบาปและในทางตรงกันข้ามไม่ว่าคนเราจะสร้างบุญกุศลใดๆเป็นต้นว่า การทำทานทั้งปวง การรักษาศีลโดยบริสุทธิ์ การฝึกตนให้รู้จักสำรวมอินทรีย์อย่างดีเลิศก็ตาม ย่อมไม่ได้บุญ

คำตอบเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรู เพราะพระองค์ย่อมทรงมีพระปรีชารู้เท่าทันว่า ครูปูรณกัสสปพยายามประจบสอพลอ จึงทูลตอบแบบเอาพระทัยเช่นนั้น เพื่อทำให้พระองค์เข้าพระทัยว่า การปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดาของพระองค์ที่ผ่านมาแล้วนั้น ไม่มีบาป แต่พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประจักษ์แจ้งในพระทัยดีว่า ได้ก่อกรรมทำบาปอย่างใหญ่หลวงไว้ เพราะกำลังทนทุกข์ทรมาน จนไม่สามารถจะบรรทมหลับได้เลย ทั้งๆที่ไม่ทรงพอพระทัยในคำตอบนั้น แต่ด้วยทรงเป็นกษัตริย์ต้องมีหน้าที่ให้การปกป้องคุ้มครองโดยธรรมต่อนักบวชในพระราชอาณาจักร ไม่ทรงปรารถนาจะรุกรานนักบวช พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงข่มความรู้สึกไว้ ไม่ทรงแสดงว่าพอพระทัยหรือคัดค้านโต้แย้งแต่ประการใดๆ แล้วเสด็จลาจากมา

ครั้งที่สอง พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จไปถามเรื่องสามัญญผลกับครูมักขลิโคสาล ก็ได้รับคำตอบไม่ตรงคำถามอีก โดยครูมักขลิโคสาลกล่าวร้ายคำสอนในลัทธิความเชื่อของตนอย่างยืดยาว พอสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า สรรพสัตว์ในโลกล้วนเป็นไปตามชะตาชีวิต เมื่อเวียนว่ายตายเกิดไปนานๆก็จะบริสุทธิ์ได้เอง

คำสอนเช่นนี้หมายความว่า ชีวิตล้วนแปรไปตามเคราะหดีหรือเคราะห์ร้าย ใครดวงดีก็ได้ดีมีสุข ใครดวงไม่ดีก็มีเคราะห์ไปตามเรื่อง ไม่จำเป็นที่คนเราจะต้องขวนขวายทำความดีเพื่อความหลุดพ้น เพราะเมื่อคนเราเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ จับผลัดจับผลูก็พ้นทุกข์ไปเอง พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงฟังคำตอบเช่นนี้ก็มิได้ทรงพอพระทัยเลย ได้แต่เสด็จลาจากมาด้วยอาการสงบ

ครั้งที่สาม พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปยังสำนักของครูอชิตเกสกัมพล ทรงถามปัญหาเดียวกัน แต่กลับได้รับคำตอบซึ่งเป็นมิจฉาทิฎฐิอย่างยิ่งว่า การทำบุญทำทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การทำกรรมดีหรือกรรมชั่วไม่มีผล โลกนี้ไม่มี โลกอื่นไม่มี มารดาบิดาไม่มีคุณ สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นแบบโอปปาติกะ ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบซึ่งกระทำโลกนี้และโลกอื่นให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก คนเราตายแล้วดับสูญหมดคงเหลือแต่กระดูกและเถ้าเป็นที่สุด ไม่มีการเกิดขึ้นซ้ำอีก มีแต่คนเขลาขี้ปดมดเท็จเท่านั้นที่บัญญัติว่า การทำทานมีผล

คำตอบของครูอชิตเกสกัมพลนี้ เท่ากับตอบเป็นนัยต่อพระเจ้าอชาตศัตรูว่า การทำปิตุฆาตไม่มีความผิด เพราะบิดามารดาไม่มีคุณ กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล เช่นนี้ย่อมเป็นการประจบสอพลอเพื่อให้เจ้าเหนือหัวสบายใจ เมื่อได้รับคำตอบไม่ตรงกับคำถามเช่นนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จลาจากมาโดยอาการสงบ เช่นเดียวกับการเสด็จไปถามปัญหาครูทั้งสองดังกล่าวแล้ว

ครั้งที่สี่ พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปยังสำนักของครูปกุทธกัจจายนะ ทรงถามปัญหาเดียวกัน แต่กลับได้รับคำตอบเรื่องสภาวะ ๗ กอง อันเป็นความเชื่อในลัทธิของครูเท่านั้น มีประเด็นสำคัญสรุปได้ว่า ชีวิตเรานี้ประกอบด้วยสภาวะ ๗ กอง คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ และชีวะ (การมีชีวิต) ดังนั้นเมื่อใครปลดชีวิตใคร ก็เป็นเพียงแต่สอดศาสตราเข้าไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น

คำตอบของครูปกุทธกัจจายนะย่อมชี้ชัดว่า ปรารถนาจะกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้ทรงสบายพระทัยว่า การปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสารนั้นมิได้เป็นบาปเลย เมื่ได้รับคำตอบเช่นนั้นแล้ว พระองค์ลาจากมาโดยปราศจากความเลื่อมใสศรัทธา

ครั้งที่ห้า พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปยังสำนักของครูนิครนถนาฏบุตร ทรงถามปัญหาเดียวกัน แต่กลับได้รับคำตอบเรื่องสังวร ๔ อันเป็นความเชื่อในลัทธิของครูเท่านั้น มีประเด็นสำคัญสรุปได้ว่า “คนเราบริสุทธิ์ได้ด้วยน้ำ กล่าวคือ นักบวชนิครนถ์เป็นผู้สำรวมระวังในสังวร ๔ ประการ คือ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง เป็นผู้กำจัดน้ำทั้งปวง และเป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง การสำรวมระวังในสังวร ๔ ประการนี้ สามารถทำให้สิ้นกิเลสสิ้นทุกข์ได้

ถึงแม้จะไม่พอพระทัยในคำตอบของครูนิครนถนาฏบุตร พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จลาจากมาโดยสงบ

ครั้งที่หก พระเจ้าอชาตศัตรูได้เสด็จไปยังสำนักของ ครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร จนปัญญามิรู้ที่จะตอบประการใด จึงกราบทูลความเชื่อในลัทธิของตน แบบเล่นสำนวนวกวนไปมาน่าปวดเศียรเวียนเกล้า จนทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูมีดำริในพระทัยว่า ในบรรดาครูทั้ง ๖นั้น ครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร โง่เขลาเบาปัญญาที่สุด ครั้นแล้วจึงเสด็จลาจากมาโดยเร็ว

การที่ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีวิริยะอุตสาหะ เสด็จไปยังสำนักของครูทั้ง ๖ เพื่อทรงถามปัญหาเกี่ยวกับ สามัญญผล หรือ คุณค่าและประโยชน์ของชีวิตนักบวชว่าเป็นประการใด แต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ดังนั้น พระองค์จึงทรงอุปมากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายกลับตอบเป็นเรื่องอื่น เสมือนหนึ่งถามเรื่องมะม่วง แต่ไพล่ไปตอบเรื่องขนุนสำปะลอหรือเมื่อถามเรื่องขนุนสำปะลอ แต่ไพล่ไปตอบเรื่องมะม่วง”

คำตอบเรื่องสามัญญผลที่ครูทั้ง ๖ แสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นแท้จริงแล้วก็คือ ครูทั้ง ๖ ต่างก็ไม่รู้คุณวิเศษของการบวช ทั้งไม่รู้จุดประสงค์ของการบวช จึงพากันอธิบายถึงความเชื่อหรือทิฏฐิตน โดยหวังจะทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงโปรด แล้วมาเป็นผู้สนับสนุนลัทธิตน-

--------------------------------------------------

โอปปาติกะ ได้แก่ สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นและโตเต็มที่ในทันทีทันใด เมื่อตายก็ไม่มีเชื้อหรือซาปรากฏ เช่น เทวดา และสัตว์นรก เป็นต้น

ขนุนสำปะลอ : เป็นไม้ต้นขนาดกลางชนิดหนึ่ง ใบใหญ่เป็นแฉกๆ ผลมีเมล็ดมาก กินได้ ชนิดผลไม่มีเมล็ด เรียกว่า สาเก กินได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘