บทที่ 4.1 ปัญหาค้างพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรู

ขณะที่พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จเข้าไปถึงที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงหยุดประทับยืน ณ ตำแหน่งอันสมควร ทรงชำเลืองเห็นภิกษุซึ่งนั่งรายล้อมพระพุทธองค์อยู่นั้น มีอาการสงบนิ่งสนิทราวกับห้วงน้ำใสยามปราศจากคลื่นลม ทันใดนั้นพระทัยของพระองค์ก็พลันหวนรำลึกถึงพระราชกุมารผู้เป็นยอดเสน่หา ซึ่งกำลังอยู่ในวัยซุกซน ถึงกับทรงเปล่งพระอุทานว่า “ขอให้อุทัยภัทรกุมารของเรา จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เหล่านี้ด้วยเถิด”

ตามธรรมดาเมื่อบุคคลใดได้พบเห็นสิ่งที่ดีงาม หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกอัศจรรย์ใจแล้ว ย่อมหวนรำลึกถึงผู้ที่ตนรัก อยากให้มีสิ่งนั้น หรืออยากให้เป็นเช่นนั้นบ้าง พระเจ้าอชาตศัตรูก็เช่นเดียวกัน ย่อมหนีไม่พ้นธรรมดาโลกเช่นนี้ จึงทรงปรารถนาจะได้เห็นพระราชกุมารผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์มีความสงบเช่นเดียวกับพระภิกษุเหล่านั้น

อีก นัยหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะทรงมีความแหนงพระทัยในพระโอรส ทรงเกรงว่า ต่อไปในภายหน้าเมื่อพระโอรสของพระองค์ได้ทรงทราบว่าพระองค์ปลงพระชนม์พระราช บิดาเพื่อชิงราชบัลลังก์ ทั้งๆที่ทรงรู้อยู่เต็มพระทัยว่า พระบิดาทั้งแสนรักแสนห่วงใยพระองค์ยิ่งนัก พระโอรสก็อาจจะกระทำเช่นพระองค์บ้าง ดังนั้นอุทัยภัทรกุมารจึงเป็นทั้งสมบัติอันล้ำค่าและเป็นทั้งหนามแหลมที่คอยเสียดแทงพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูไปพร้อมๆกัน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้วาระจิตของพระเจ้าอชาตศัตรูในขณะนั้นดีว่า กำลังสับสนว้าวุ่นยิ่งนัก จึงตรัสทักทายขึ้นก่อนว่า

ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาทั้งความรัก

พระปฏิสันถารเพียงสั้นๆเท่านั้น ดับความอึดอัดกระวนกระวายทั้งปวงของพระเจ้าอชาตศัตรูให้มลายไปสิ้น พระองค์จึงกราบทูลรับว่า

พระเจ้าข้า อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอใหอุทัยภัทรกุมารของหม่อมฉัน จงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด พระเจ้าข้า

ตรัสดังนี้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ทรงน้อมอภิวาทแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประคองอัญชลีแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วจึงประทับนั่ง ณ ที่อันควร ครั้นแล้วจึงทรงขอประทานพระราชวโรกาส กราบทูลถามปัญหาต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘