บทที่ 3.3 : ขบวนเสด็จสู่อัมพวันห์

เมื่อ รับพระราชโองการแล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงรับออกมาสั่งเจ้าหน้าที่ ให้จัดเตรียมช้างพระที่นั่งของพระเจ้าอชาตศตรู และช้างพังอีก ๕๐๐ เชือก สำหรับผู้ตามเสด็จเป็นกองเกียรติยศและอารักขา

ตามธรรมดาพระราชาทั้งหลายมักมีศัตรูมาก หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงจำเป็นต้องคิดวางแผนให้รอบคอบ โดยจัดให้นางกำนัล ๕๐๐ คน ปลอมเป็นชาย สวมผ้าโพก คล้องพระขรรค์ที่บ่า ถือดาบและหอกซัด แล้วให้หญิงเหล่านั้นขึ้นช้างพัง ๕๐๐ เชือก คอยแวดล้อมพระราชา ส่วนตนเองเสด็จไม่ห่างพระราชา ด้วยหมายใจว่าหากมีอันตรายใดๆเกิดขึ้น ตนจักถวายชีวิตเพื่อพระราชาได้ก่อนคนอื่นทั้งหมด

หมอชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า การจัดอารักขาเป็นหญิงนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง ที่สำคัญคือ ตนรู้อยู่เต็มอกว่าพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้มากด้วยความระแวง เมื่อเสด็จออกนอกเมืองเวลาค่ำคืน ประตูเมืองทั้งเล็กและใหญ่เกือบร้อยแห่งของกรุงราชคฤห์จะถูกปิดหมด จึงดูเสมือนหนึ่งล่อให้พระองค์ไปอยู่ในเงื้อมือของศัตรู อีกทั้งเงาของภูเขาคิชฌกูฏที่ทอดมาบดบังแสงจันทร์ ทำให้เส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินผ่านนั้นมืดสนิท ความหวาดะแวงภัยนั้นย่อมแล่นเข้าเกาะกุมพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ง่าย แต่ถ้าทรงทราบว่าข้าราชบริพารที่ห้อมล้อมใกล้ชิดพระองค์ ล้วนเป็นสตรีในวัง ก็จะทรงคลายความหวาดระแวงลง และหากแม้นว่าจะมีเหล่าอริราชศัตรูบุกเข้าจู่โจมขบวนเสด็จจริง หมู่สตรีที่แวดล้อมพระเจ้าอชาตศัตรูเหล่านี้ก็จะเป็นเกราะกำบังอันดีเยี่ยม ด้วยว่า วิสัยของนักรบสมัยนั้นจะไม่รังแกหรือทำอันตรายสตรี

ใน ขณะเดียวกัน หมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้เป็นพระโสดาบันแล้วย่อมทราบดีว่า พระเจ้าอชาตศัตรูไม่อาจบรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้เป็นแน่ เพราะถูกผลแห่งอนันตริยกรรมที่ทรงกระทำไปนั้นมาตัดรอน อีกทั้งพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงพิจารณาอุปนิสัยแห่งมรรคผลของผู้ฟังก่อน แล้วจึงทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้นจึงควรให้มหาชนได้ตามเสด็จไปด้วย เมื่อมีมหาชนตามเสด็จไปเป็นอันมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จักเลือกแสดงธรรมให้สมควรแก่อุปนิสัยแห่งการเข้าถึง ธรรมของมหาชนนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ก็จักเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งปวงที่ตามเสด็จ

คิดดังนี้แล้วหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงให้คนตีกลองป่าวร้องไปทั่วพระนครว่า ในราตรีนั้นพระเจ้าอชาตศตรูจะเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหาชนทั้งปวงจงไปอารักขาพระเจ้าอยู่หัวตามสมควรแก่หน้าที่ของตนๆ เถิด ฝ่าย มหาชนทั้งปวงเมื่อได้ยินประกาศดังนั้นจึงพากันคิดเห็นว่า ที่ที่จะไปเที่ยวดูมหรสพอันหาประโยชน์มิได้ เราจักพากันไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อขบวนเสด็จพร้อมแล้ว หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงกราบทูลเชิญพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จประทับช้างพระที่นั่ง ห้อมล้อมด้วยขบวนช้างพัง ๕๐๐ ซึ่งมีสตรี ๕๐๐ นางแต่งกายเป็นชาย มีอาวุธพร้อม เป็นผู้บังคับช้างเหล่านั้น ติดตามอารักขาใกล้ ชิดช้างพระที่นั่ง มีทหารองครักษ์ถือคบเพลิงนำหน้าต่อจากขบวนอารักขา เป็นเหล่าหญิงฟ้อนรำ รายล้อมพระมเหสีติดตามด้วยคนใกล้ชิดผู้ดูแลพระนครและมหาอำมาตย์ เคลื่อนขบวนเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ด้วยพระอิสริยยศยิ่งใหญ่ ไปสู่สวนอัมพวันอันเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา

ผู้ทำบาปย่อมระแวงในโลกนี้

ครั้นใกล้จะถึงสวนอัมพวัน เหตุการณ์ที่หมอชีวกโกมารภัจจ์คาดไว้ก็เป็นจริง ทั้งนี้เนื่องด้วยช้างเป็นสัตว์ที่เดินเบามาก คนตรีและเครื่องประโคมทั้งหลายก็ถูกสั่งงดเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประสงค์ความเงียบสงบ ประกอบกับความมืดมิดเพราะเงาของภูเขาคิชฌกูฏที่ทอดลงมา แม้จะมีคบเพลิงจุดสว่างไสวก็ตาม แต่บรรยากาศโดยรอบบริเวณนั้นเงียบสงัดวังเวงยิ่งนัก พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเกิดความหวาดหวั่น เกรงกลัว จนพระโลมชาติชูชันทั่วพระวรกาย ด้วยเกรงภัยว่าจะถูกปลงพระชนม์ จึงทรงหยุดช้างพระที่นั่ง สายพระเนตรที่ดุดันจ้องจับมาที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ และตรัสถามด้วยความรู้สึกคลางแคลงพระทัยระคนความหวาดกลัวว่า

ชี วกผู้สหาย ท่านมิได้ลวงเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเราหรือ ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรามาให้ข้าศึกทำร้ายหรือ ไฉนเล่าภิกษุหมู่ใหญ่ถึง ๑,๒๕๐ รูป จึงไม่มีเสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย ทั้งๆที่เราอยู่ใกล้สวนอัมพวันขนาดนี้

หมอชีวกโกมารภัจจ์ทั้งๆที่รู้ว่าชีวิตของตนในขณะนั้นเหมือนแขวนอยู่บนเส้น ด้าย แต่ด้วยความเป็นพระโสดาบัน มีจิตใจมั่นในพระรัตนตรัย จึงไม่หวาดหวั่นต่อสถานการณ์แห่งความเป็นความตายนั้น กลับกราบทูลปลอบประโลมพระทัยให้คลายจากความหวาดหวั่นครั่นคร้ามว่า

ข้า แต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ขอพระองค์อย่าทรงหวาดหวั่นเกรงกลัวเลยพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ลวงพระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์มาให้ข้าศึกเลย ขอเชิญเสด็จต่อไปเรื่อยๆเถิด แสงประทีปที่โรงกลมในสวนอัมพวันยังสว่างไสวอยู่ แสดงว่ามีพระภิกษุประชุมกันเป็นจำนวนมาก พระเจ้าข้า

กระแสเสียงที่มั่นคงและบริสุทธิ์ใจของหมอชีวกโกมารภัจจ์ สามารถคลายความหวาดระแวงภัยของพระราชาลงได้ ความสงบในพระทัยและความเชื่อมั่นในตัวหมอชีวกโกมารภัจจ์ค่อยๆ กลับคืนมา พระเจ้าอชาตศัตรูจึงเสด็จต่อไปจนกระทั่งสุดทาง เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งแล้วทรงดำเนินเข้าประตูโรงกลม ซึ่งขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุสงฆ์พระเจ้า อชาตศัตรูเสด็จเข้าไปใกล้พระที่นั่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทอดพระเนตรห็นพระภิกษุจำนวนมากนั่งแวดล้อมพระพุทธองค์ด้วยอาการเงียบสงบ ไม่มีแม้แต่เสียงกระแอมไอ ยิ่งย่างพระบาทเข้าไปใกล้ที่ประทับเท่าใด ก็ยิ่งเกิดความหวาดหวั่นพรั่นพรึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาจจะไม่ทรงต้อนรับเนื่องจากความผิดครั้งอดีตของพระองค์ และทั้งๆที่พระองค์ทรงรู้ดีว่าพระภิกษุรูปใดคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพื่อเป็นการผ่อนคลายความหวาดหวั่นในพระทัย จึงตรัสถามหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า ชีวกผู้สหาย ไหนพระผู้มีพระภาคเจ้า

หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ นั่นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา มีภิกษุสงฆ์นั่งแวดล้อมพระองค์อยู่ พระเจ้าข้า

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งพิงเสากลางนั้น เนื่องจากขณะนั้นทรงชราภาพมากแล้ว ประกอบกับทรงถูกเบียดเบียนด้วยอาการปวดที่พระปฤษฎางค์อยู่เป็นประจำ อันเป็นผลแห่งบุพกรรม ซึ่งเบียดเบียนสังขารของพระองค์เอง แม้ว่าพระพุทธองค์จะมีพระสรีระบริบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงต้องปประทับพิงเสาในเวลาที่ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘