บทที่ 3.2 : หมอชีวกสรรเสริญพระพุทธคุณ

เมื่อ พระเจ้าอชาตศตรูทรงมีรับสั่งถามเฉพาะตนเช่นนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงได้โอกาสกราบทูลว่า ขณะนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับ ณ สวนอัมพวัน พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ครั้นเห็นจอมกษัตริย์ทรงรับฟังด้วยความสนพระทัย หมอชีวกจึงกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ ให้เป็นที่ปรากฏพร้อมบริบูรณ์ ทั้งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ ด้วยน้ำเสียงดังกังวานว่า

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระอรหันต์ คือ เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสอาสวะทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับการเคารพบูชาอย่างยิ่ง

๒. ทรงเป็นสัมมาสัมพุทโธ คือ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง สามารถตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง

๓. ทรงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือ มีความรู้แจ่มแจ้งในสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ทั้งที่ป็นโลกียภูมิและโลกุตตรภูมิ ทรงเป็นผู้งามพร้อมด้วยจรณะ คือ ความประพฤติอันประเสริฐยิ่งหาผู้ใดเสมอมิได้

๔. ทรงเป็นสุคโต คือ ผู้เสด็จไปดีแล้ว ไม่ว่าจะทรงย่างก้าวไปที่ใด ก็มีแต่นำความผาสุกและความร่มเย็นไปถึงที่นั่นยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรง สามารถนำหมู่สัตว์ไปสู่หนทางพระนิพพาน ซึ่งสมบูรณ์ด้วยความสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีความทุกข์เจือเลย

๕. ทรงเป็นโลกวิทู คือ ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรู้แจ้งสภาวะ อันเป็นคติธรรมดาของโลก ทรงเห็นความทุกข์ในวัฏฏสงสาร อย่างที่ไม่เคยมีผู้ใดรู้เห็นมาก่อน ทรงหยั่งรู้อัธยาศัยแห่งสัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งเป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลก

๖. ทรงเป็นปุริสทัมมสารถิ คือ ทรงสามารถฝึกคนที่ควรฝึก โดยไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงเป็นนักฝึกคนชั้นเยี่ยม ด้วยเหตุที่ทรงรู้วาระจิตชาวโลก จึงทรงสาทารถให้การฝึกที่เหมาะสมกับจริตอัธยาศัยของชาวโลกเหล่านั้น

๗. ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเหตุที่ทรงถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม ในการแนะนำพร่ำสอน นำพาเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายให้ข้ามพ้นภัยในวัฏฏสงสาร ไปสู่แดนเกษม คืออมตมหานิพพาน ทั้งมนุษย์และเทวดาจึงยอมรับและเคารพสักการะพระองค์อย่างสูงสุด

๘. ทรงเป็นพุทโธ คือ ผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและขอปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ทั้งทรงปลุกให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความงมงายด้วย อนึ่งเพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ จึงมีพระราชหฤทัย เบิกบาน ชุ่มชื่น เป็นสุขอย่างที่สุด

๙. ทรงเป็นภควา คือ ผู้จำแนกธรรมด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เอง จึงทรงสามารถจำแนกธรรมทั้งหมดที่พระองค์ตรัสรู้ ออกเป็นหมวด เป็นหมู่ เป็นข้อ เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา และเลือกปฏิบัติให้ถูกกับจริตอัธยาศัยของชาวโลก ไม่มีศาสดาใดในโลกสามารถทำได้เท่าพระองค์ หรือยิ่งกว่าพระองค์

เมื่อสิ้นเสียงสรรเสริญพระพุทธคุณอันประเสริฐจากหมอชีวกโกมารภัจจ์แล้ว เหล่าอำมาตย์ราชบริพารทั้งหลายที่ชุมนุมกันอยู่ ณ มหาปราสาทชั้นบนนั้น ต่างนั่งนิ่งตะลึงงันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะไม่คาดคิดว่า จะมีศาสดาองค์ใดถึงพร้อมด้วยคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ปานนั้น ครั้นแล้วหมอชีวกโกมารภัจจ์จึงกราบทูลอัญเชิญพระเจ้าอชาตศัตรู ให้เสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ สวนอัมพวัน

การที่พระเจ้าอชาตศตรูทรงมีพระประสงค์ใคร่จักเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าในครั้งนั้น มีเหตุผลที่สำคัญหลายประการคือ ทรงรู้สึกสำนึกพระองค์ว่าได้กระทำผิด ในการที่หลงเชื่อคำพระเทวทัต นักบวชทุศีลและอันธพาล จนถึงกับหลงทำการอันร้ายกาจ ปลงพระชนม์ชีพพระราชบิดาผู้ทรงธรรม ซึ่งเป็นกรรมใหญ่หลวงนัก นอกจากนี้พระองค์ยังถูกพระเทวทัตล่อลวงด้วยกลอุบายหลายวิธี จนถึงกับเห็นผิดไปเข้าร่วมกับพระเทวทัต ประทุษร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทรงใช้พวกนายขมังธนูไปลอบยิงพระพุทธองค์ แม้ว่าไม่อาจทำอันตรายใดๆต่อพระบรมศาสดาได้ แต่ก็ถือว่าพระองค์ได้ทรงทำกรรมหนักยิ่ง

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ได้ทรงสดับข่าวว่า พระเทวทัตผู้เป็นอันธพาลนั้น ถูกกรรมบันดาลให้ธรณีสูบลงไปใต้พื้นปฐพี เห็นประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลายแล้ว อีกทั้งกิตติศัพท์อันชั่วช้าของพระองค์ที่ได้หลงคบกับพระเทวทัต ก็ระบือไปทั่วแว่นแคว้น ทำให้ทรงรำพึงว่า ถ้าไม่หาโอกาสไปขอขมาต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นบรมครูของเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลายแล้ว พระองค์ก็จักได้รับโทษเช่นพระเทวทัตเป็นแน่แท้ ยิ่งทรงรำพึงไป ก็ยิ่งเห็นผลแห่งอนันตริยกรรมที่ทรงก่อไว้จนไม่สามารถบรรทมหลับได้ และไม่ทรงเห็นผู้ใดที่จะเป็นที่พึ่งได้เลยนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ด้วยเหตุผลสำคัญดังกล่าว ประกอบกับได้สดับคำสรรเสริญพระพุทธคุณจากหมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงทำให้พระเจ้าอชาตศตรูทรงมีพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ ที่จะเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงตอบรับคำเชิญของหมอชีวกโกมารภัจจ์ทันที และทรงสั่งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์จัดเตรียมขบวนช้างพระที่นั่ง สำหรับเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในค่ำคืนนั้นเอง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘