บทที่ 3.1 : พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ สวนอัมพวัน

สวน อัมพวัน ตั้งอยู่ระหว่างกำแพงกรุงราชคฤห์กับภูเขาคิชฌกูฏ แต่เดิมเป็นของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้งหนึ่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เคยถวายการรักษาอาการประชวรของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าซึ่งทรงอาพาธให้หายเห็นปกติ แล้วถวายผ้าเนื้อดีจากแคว้นสีพีคู่หนึ่ง พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา ทันทีที่ทรงอนุโมทนาจบลงหมอชีวกโกมารภัจจ์ก็บรรลุโสดาปัตติผล

หลังจากนั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์คิดว่า ตนจะไปเฝ้าถวายการดูแลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสักวันละ ๒-๓ ครั้ง แต่เนื่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามักจะเสด็จประทับ ณ เขาคิชฌ กูฏหรือพระวิหารเวฬุวัน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ ไม่สะดวกแก่การเดินทางไปมาบ่อยๆ หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงสร้างพระวิหารขึ้นในอัมพวัน หรือสวนมะม่วงของตน สร้างกำแพงสีแดงสูง ๑๘ ศอก ล้อมรอบสวนนั้น ภายในบริเวณมีอาคารก่อสร้างขึ้นหลายหลัง เพื่อใช้เป็นที่พักของตนบ้าง เป็นหอประชุมบ้างเป็นกุฏิสงฆ์บ้าง และที่สำคัญคือ สร้างเป็นพระคันธกุฎีสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ถวายสวนอัมพวันเป็นพระวิหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่นั้นมาสวนอัมพวันมหาวิหารจึงเป็นสังฆารามที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัย พุทธกาล

สมัยหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ สวนอัมพวัน พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป ข่าวการเสด็จพุทธดำเนินไปสู่สวนอัมพวันในครั้งนั้น ได้แพร่ไปทั่วกรุงราชคฤห์อย่างรวดเร็ว ช่วงนี้เป็นที่สนพระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูยิ่งนัก

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีพระประสงค์ไปเฝ้าพระพุทธองค์

หลังจาก ทรงทำปิตุฆาตพระราชบิดาแล้ว พระทัยของพระเจ้าอชาตศัตรูก็เต็มไปด้วยความเศร้าหมอง ไม่เป็นอันบรรทม ทรงเฝ้าโศกาอาดูรถึงพระราชบิดาที่สวรรคตไปแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะทรงแสวงหาสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลบริบูรณ์บริสุทธิ์ ที่จะสามารถทำให้พระทัยของพระองค์ผ่องใสขึ้นมาได้

ชาวอารยันในยุคนั้น มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรดาศิษย์ของอาจารย์ในสำนักทั้งหลายจะพากันไปสนทนาธรรมกับอาจารย์ของตน ด้วยเหตุนี้บรรยากาศอันน่ารื่นรมย์ของคืนเดือนเพ็ญแห่งวันอุโบสถ จึงชวนเชิญพระเจ้าอชาตศตรูให้ทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเสด็จไปฟัง ธรรม ถึงกับทรงเปล่งอุทานว่า

คืนนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอที่จะทำให้จิตใจของเราเลื่อมใสได้เมื่อสิ้นสุดพระสุรเสียง ราชอำมาตย์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของครูปูรณกัสสป จึงกราบทูลถึงคุณสมบัติของอาจารย์ของตนว่า ท่าน ปูรณกัสสปเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมีเกรียติยศ เป็นเจ้าลัทธิ มหาชนยกย่องว่าดี เป็นคนเก่าแก่บวชมานาน มีอาวุโส ข้าพระองค์เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปหาท่านปูรณกัสสปแล้ว พระองค์จะทรงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา

เมื่อได้ฟังราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลจบลงแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็ทรงประทับนิ่งเฉยอยู่ เพื่อเปิดโอกาสให้ราชอำมาตย์อื่นๆ กราบทูลบ้าง ราชอำมาตย์อื่นๆ อีก ๕ คน ต่างก็ทยอยกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรูให้เสด็จไปหาเจ้าลัทธิที่ตนเลื่อมใส ศรัทธา โดยเรียงลำดับจาก ครูมักขลิโคสาล ครูอชิตเกสกัมพล ครูปกุทธกัจจายนะ ครูนิครนถนาฏบุตร และครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร

การกล่าวยกย่องเทิดทูนอาจารย์ของราชอำมาตย์แต่ละคน ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อชักจูงโน้มน้าวเจ้าเหนือหัวไปสู่สำนักอาจารย์ของตน อันเป็นเหตุให้ตนได้รับความไว้วางพระทัยยิ่งขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ลาภสักการะจากพระราชาย่อมจะเกิดขึ้นแก่ตนอย่างแน่นอน แต่อำมาตย์เหล่านั้นหารู้ไม่ว่า พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้สึกผิดหวังในตัวเจ้าลัทธิทั้ง ๖ มาก่อนแล้ว แต่ด้วยพระราชจริยาวัตรแห่งพระราชา จึงมิได้ตรัสประการใดให้สะเทือนใจแก่ทุกฝ่าย ได้แต่ทรงปรายพระเนตรไปทางหมอชีวกโกมารภัจจ์

แม้หมอชีวกโกมารภัจจ์จะรู้ซึ้งถึงพระทัยของเจ้าเหนือหัวดีว่า ทรงปารถนาจะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เขากลับมิได้เอื้อนเอ่ย วาจาใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยตั้งใจจะให้พระราชาทรงแสดงเจตนารมณ์ของพระองค์ออกมาโดยตรง เพื่อตนจะได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสะดวก และยังต้องการจะดูเหล่าราชอำมาตย์ผู้เป็นศิษย์ของเจ้าลัทธิทั้ง ๖ แสดงการชิงไหวชิงพริบ ชักจูงพระราชาให้เลื่อมใสอาจารย์ของตนๆ อีกด้วย ดังนั้น เมื่อบรรยากาศหน้าพระที่นั่งเงียบสงบลง แทนที่หมอชีวกโกมารภัจจ์จะฉวยโอกาสกราบทูลทันที กลับสงวนท่าทีนิ่งเฉยอยู่ ในที่สุด พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทรงตัดสินพระทัยตรัสถามอย่างมีนัยว่า ชีวกผู้สหาย ทำไมเธอถึงนิ่งเสียเล่า

พระกระแสรับสั่งนี้เอง ทำให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าใจได้ทันทีว่า พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระประสงค์แน่วแน่ที่จะเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยใช้ตนเป็นผู้นำทาง เหตุที่ไม่อาจเสด็จไปด้วยพระองค์เอง ก็เพราะพระองค์ทรงรู้สึกถึงความผิดใหญ่หลวงที่พระองค์ได้ทรงกระทำ อนันตริยกรรม จึงต้องการอาศัยตนผู้เป็นอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้นำไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘