หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 20


โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:กราบนมัสการ...เรียนถามหลวงพ่อว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนามีมากมายถึง 84,000พระธรรมขันธ์ เราสมควรที่จะเลือกหัวข้อหมวดธรรมใด ให้นักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาได้ศึกษา และปฏิบัติครับ
คำตอบ:ท่าน ผอ.ในเรื่องของเยาวชนของเรา ถ้าเรามองให้ซึ้งๆ ปัญหาเยาวชนเด็กนักเรียนไม่มาก แต่ว่าผู้ใหญ่ทำให้มันมากเรื่องเอง ธรรมะ 84,000ข้อ ก็จริงอยู่ แต่ว่าทั้ง 84,000ข้อ มันมีเรื่องเดียวท่านผอ.คือ เรื่องกรรม
ถ้าเข้าใจเรื่องกรรมเสียแล้วว่า กรรมมันเกิดมาอย่างไร แล้วก็จะแก้ไขอย่างไร จึงจะได้หมดกรรมกันเสียที ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าทั้ง 84,000ข้อ เข้าใจหมด...ท่านผอ.
ทีนี้ เมื่อเรามองตรงนี้ชัดแล้ว ในเชิงปฏิบัติ ขอฝากท่านผอ.ไว้ก็แล้วกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้เอาไว้เป็นหลักไว้เลยว่า ธรรมะทั้ง 84,000ข้อก็จริง แต่ว่าเริ่มต้น ต้องเริ่มที่เข้าใจถูก...เข้าใจถูกเรื่องอะไร...เข้าใจถูกเรื่องกรรม ตั้งแต่ง่ายไปหายาก
ถ้าพูดอีกทีหนึ่ง...ท่านผอ.เวลาจะปลูกฝังธรรมะให้แก่เด็ก เรื่องที่จะต้องให้ความสนใจมาก คือ ปลูกฝังเรื่องสัมมาทิฐิเบื้องต้นให้แก่เด็ก สัมมาทิฐิเบื้องต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ไว้ 10ข้อด้วยกัน

1.ทานดีจริง พระองค์ทรงสอนให้เข้าใจในเรื่องของทานดีจริงนะ เพราะชีวิตอยู่ด้วยการให้
2.
เรื่องของการสงเคราะห์กันนั้นดี ควรทำเถอะ
3.
เรื่องของความรู้จักให้เกียรติกัน ให้ความเคารพกัน...ไม่จับผิดกันนั่นเอง
ทั้ง 3ข้อนี้ ถ้าเราปูพื้นฐานได้ดี ข้ออื่นนอกนั้นเดี๋ยวจะง่าย
สอนให้รู้จักให้ทาน สอนให้รู้จักสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน สอนให้รู้จักมีความเคารพ มีความเกรงใจ แล้วก็รู้จักให้เกียรติกัน
สาม เรื่องใหญ่นี้ ถ้าเราปูพื้นได้ดีแล้ว จนกระทั่งเขาเกิดความรู้สึกที่จะแบ่งปัน ที่จะช่วยเหลือใครก็ตามที่อยู่ในภาวะที่ควรช่วย แล้วเขาก็มีความเคารพในครู ในพ่อแม่ แล้วก็รู้จักให้เกียรติคน จากพื้นฐานตรงนี้เป็นเบื้องต้น แล้วจากนั้น ท่านผอ.ก็สังเกตเด็กดูก็แล้วกันว่า เขามีนิสัยใจคอหนักแน่นไปทางด้านไหน ก็ปูพื้นให้ไปตามนั้น
แต่ว่า จะปูพื้นต่อไปอย่างไรก็ตาม อยากจะฝากท่านผอ.แล้วก็คุณพ่อคุณแม่ คุณครู ที่ฟังทางบ้าน...เมื่อฝึกให้เด็กมีวิสัยชอบช่วยเหลือ ชอบแบ่งปัน แล้วก็มีนิสัยไม่จับผิด รู้จักให้เกียรติ รู้จักเคารพผู้ใหญ่แล้ว จากนั้น สอนให้รู้จักตั้งแต่สวดมนต์ไหว้พระ สอนให้รู้จักทำทาน ถือศีล ตักบาตร อะไรก็ทำกันไป แต่ว่าใน 3เรื่องแรกนั้นอย่าพลาด ถ้าเราไม่พลาดอย่างนี้แล้ว เดี๋ยวอย่างอื่นก็ไปได้เอง
แต่ว่า เรื่องที่คุณครูต้องไม่พลาดนั้น พ่อแม่ต้องไม่พลาด ต้องจำเอาไว้ในใจ ฝังใจเลยว่า ทุกอย่างที่คิด ทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด มันต้องเป็นกรรมไปแล้ว
ของเหล่านี้มันฝังใจ เมื่อมันฝังใจลงไปแล้ว
ถ้าสิ่งที่คิด ที่พูด ที่ทำนั้น มันเป็นในเชิงลบ เด็กก็จะมีแผลในใจติดในเชิงลบเอาไว้
ถ้าสิ่งที่เราคิด เราพูด เราทำ มันเชิงบวก เด็กก็จะได้ของดีๆติดไป
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็เลยอยากจะฝากเอาไว้กับคุณพ่อคุณแม่ คุณครูทุกคนว่า ทุกคนนะ ถ้ารักลูก รักลูกศิษย์จริงล่ะก็ ทำตัวอย่างดีๆ ให้ลูก ให้ศิษย์ ดู
ถ้าตัวอย่างนี้มีแล้วล่ะก็ ธรรมะมีกี่ข้อกี่ข้อ ถึงจำไม่ได้ หลวงพ่อก็ไม่ค่อยกลัวหรอก เด็กจะได้ดีโดยอัตโนมัติเอง
แต่ว่าจะสอนไปอีกกี่หมื่นกี่แสนข้อ แล้วก็คุณพ่อคุณแม่ คุณครู เป็นตัวอย่างไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นการสอนนั้นล้มเหลว
อีกอย่างหนึ่งที่หลวงพ่ออยากจะฝากเอาไว้กับคุณครู และคุณพ่อคุณแม่ก็คือ ต้องทำความเข้าใจไว้ด้วยว่า นิสัยของเด็กของเรา ลูกหลานของเรานั้นเกิดจาก การย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ
ถ้าย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำ ในเชิงลบ จะได้นิสัยเสียๆ ย้ำคิด ย้ำพูด ย้ำทำในเชิงบวก จะได้นิสัยดีๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่คุณพ่อคุณแม่ทำบ่อยๆ ย้ำบ่อยๆ ดูให้ดีนะว่า มันอยู่ในเชิงลบหรือเชิงบวก
แล้วถ้าลูกหลานของเรา เวลาทำอะไรในเชิงลบขึ้นมา รีบแก้ทันที อย่าปล่อยเอาไว้ เห็นเมื่อไหร่ ต้องรีบแก้ทันที ได้ยินเมื่อไหร่ ต้องรีบแก้ทันที ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวลูกหลานเราทำในเชิงลบบ่อยๆนะ จะกลายเป็นนิสัย แล้วแก้ยาก
ปู่ย่าตาทวดเตือนเอาไว้ ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก นมแต่ละอิ่ม หากปฏิบัติด้วยความไม่ระมัดระวัง มันจะกลายเป็นนิสัยเสียๆของลูกหลานเราได้ ข้าวที่กินแต่ละคำ น้ำที่ดื่มแต่ละอึก นมที่กินแต่ละอิ่ม มันเป็นนิสัยของคน ของลูกหลานเราได้
อยากจะฝากคำนี้ เอาไว้ ถ้าไม่ระมัดระวังจะได้นิสัยเสีย ถ้าระมัดระวังอย่างดี ข้าวนั้นจะเป็นข้าวแห่งสติปัญญา น้ำนั้นจะเป็นน้ำแห่งสติปัญญา นมที่ดื่มไปนั้น จะเป็นทั้งสติ เป็นทั้งปัญญาอยู่ในตัว มิฉะนั้น ไม่ระวังแล้วจะได้นิสัยที่ไม่ดีติดตัว
คำถาม:นักเรียนมักจะถามเสมอว่า เรียนพระพุทธศาสนานั้นให้ประโยชน์อะไรกับเขา วิชา ความรู้ที่เขาเรียนในโรงเรียนนั้นส่วนใหญ่แล้วได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ของเขา ในการบริหารปัจจัย4 แต่อยากถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ในวิชาพุทธศาสนานั้น เมื่อศึกษาไปแล้ว ให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียนครับ
คำตอบ:เจริญพร โยมอาจารย์ ความที่เวลาเราสอนพระพุทธศาสนาเมื่อไหร่ ทุกยุคทุกสมัยมักจะเริ่มต้นด้วย
1.เริ่มต้นด้วยพุทธประวัติ ซึ่งเด็กๆ บางทีตามไม่ทัน เพราะความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีเรื่องที่อยู่เบื้องหลัง เรื่องปูมหลังเยอะมาก
2.หรือพอเจาะลึกเข้าไปในพระพุทธศาสนา
ก็มักจะเอาหลักธรรมหนักๆ เอามาสอนเด็ก เด็กชั้นประถมก็สอนแล้ว อริยสัจ4 โธ่...ครูยังไม่รู้เรื่องเลย...อย่าว่าแต่เด็ก
เมื่อเรา เอาเรื่องหนักๆในพุทธศาสนาไปสอนเด็ก จึงทำให้เด็กมีความรู้สึกว่า มันไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับชีวิตของแก ก็เลยค่อนข้างจะต่อต้านวิชาพระพุทธศาสนา
เปลี่ยนแนวสอนใหม่ คือ แทนที่จะสอนในลักษณะที่เป็นธรรมะแท้ๆ ควรสอนพระพุทธศาสนาที่แทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างก็ แล้วกัน ในเรื่องของการใช้ปัจจัย4 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง...ยกตัวอย่าง นะ ซึ่งเกี่ยวกับในเรื่องของข้าวปลาอาหารที่เราต้องกิน ต้องดื่มกันอยู่ทุกวัน พระพุทธศาสนาได้แทรกเอาไว้เรียบร้อยแล้วอยู่ในนั้น
คือ คนในโลกนี้ส่วนมาก มันไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่มันมุ่งอยู่เพื่อจะกิน...นี่ตัวอย่าง เมื่อเขาไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่ว่าจะอยู่เพื่อกิน เพราะฉะนั้นความโลภ ความเห็นแก่ได้ก็เลยมีมากในมนุษย์
ตรงกันข้าม ถ้าเราสอนเด็กของเราให้กินเพื่ออยู่ ซึ่งกินเพื่ออยู่นั้น กินไม่มากหรอก ไม่ได้กินเล่น ไม่ได้กินจุกกินจิก ยิ่งไปกว่านั้น สอนลูกหลานของเราให้รู้ว่า ในการกินข้าวปลาอาหารนั้น ถ้าเรารู้จักคุณค่าอาหาร
ข้าวจานเดียวกัน...ถ้า กินเมื่อตอนโกรธ มีเรี่ยวแรงแล้ว ก็เอาเรี่ยวแรงจากอาหารนั้นไประบายความโกรธ ไปยกพวกตีกัน ข้าวปลาอาหารนั้นกลายเป็นข้าวบาป
แต่ว่า...ข้าวปลาอาหารจานเดียวกันนั้น กินเมื่อตอนจิตใจงาม พอกินอิ่ม ก็เอาเรี่ยวแรงที่เกิดไปทำความดี ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็นข้าวบุญ
วิธีที่จะทำให้ใจเป็นบุญ ควรจะทำอย่างไร...
ก็... สวดมนต์ หรือบูชาข้าวพระเสียก่อน ก่อนที่จะกิน เพื่อให้ใจผ่องใส พอบูชาข้าวพระเสร็จ แล้ว จึงเอาข้าวนั้นมากิน ข้าวนั้นกลายเป็นข้าวบุญ เพราะกินเมื่อใจผ่องใส เพียงแค่นี้ พระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเด็ก ในขณะที่กินข้าว แต่ละคำ
หรือ ลูกเอ๊ย...เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มใช้ให้เป็นนะลูก ไม่ใช้เพื่อเอามาอวดสัดส่วนว่า ใครจะสวย ใครจะงาม แต่ว่าลูกเอ๊ย...เสื้อ ผ้านี้ เอามากันร้อนกันหนาว เอามากันอาย เอามาเพื่อให้ร่างกายของเรานี่อบอุ่น แล้วก็เหมาะแก่การที่จะมาประพฤติ ประกอบคุณงามความดี ไม่ใช่เอามาเพื่อยั่วให้กามราคะคนอื่นกำเริบ
สิ่งเหล่านี้ ถ้ารู้จักสอนเขา พระพุทธศาสนาก็แทรกเข้าไปในเสื้อผ้าของเขา แล้วก็แทรกผ่านเข้าไปในใจ ทำให้เขารู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวในทางที่ถูกที่ควร
หรือ แค่สอนให้เด็ก ตื่นนอนก็เก็บที่นอน ช่วยกันกวาดบ้านกวาดเรือน ช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูห้องพระให้ดี ช่วยกันจัดดอกไม้ใส่แจกันไว้บูชาพระ สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเด็กในที่สุดก็กลายเป็นว่า พุทธศาสนาได้สอนให้เด็กรับผิดชอบอยู่ในบ้านทุกอณูในพื้นที่ไปในตัวแล้ว
สอนพระพุทธศาสนาประเภทที่นำเอามาใช้ในชีวิตจริงให้ได้ คือ นำมาเพื่อการเพาะนิสัยเด็กให้มีสัมมาทิฐิเกิดขึ้นได้ พระพุทธศาสนาอย่างนี้ คือ พระพุทธศาสนาที่เด็กต้องการ
ถ้าเราสอนด้วย วิธีนี้ เด็กจะไม่ย้อนมาถามเราอีกว่า จะเรียนพระพุทธศาสนาแล้วได้อะไร เพราะเด็กได้รู้จักพุทธศาสนาไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก นมแต่ละอิ่ม
เด็ก จะรู้จักพุทธศาสนาตั้งแต่เขาหยิบผ้าขึ้นมาสวมใส่ เด็กจะรู้จักพระพุทธศาสนา ตั้งแต่การที่เขารู้จักปักแจกันเอาไว้ที่โต๊ะหมู่บูชาพระ รวมกระทั่งเด็กจะรู้จักพระพุทธศาสนา ผ่านวิธีรักษาสุขภาพในชีวิตประจำวันของเขา
ถ้าครูบาอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาเป็น จะสอนอย่างนี้ ไม่ใช่ไปยกอริยสัจ4 มาสอนเด็กอนุบาล เด็กประถม...เจริญพร
คำถาม:ขอก ราบเรียน ขอคำแนะนำจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ นักเรียนที่เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มีทั้งสมหวังและไม่สมหวังจากการสอบ กล่าวคือ ไม่สมหวังที่สอบได้คณะวิชาสาขาซึ่งตัวเองไม่ต้องการเรียน แต่ด้วยคะแนนถูกบังคับ ทำให้เขาได้คณะวิชาที่เขาไม่ต้องการ แต่ก็ต้องฝืนใจเรียน อยากกราบขอคำแนะนำจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า เขาควรจะทำอย่างไรครับ
คำตอบ:ใน กรณีนี้ ในเมื่อตัวเองสอบได้อย่างไร ก็คงต้องเรียนอย่างนั้นไปก่อน แล้วก็มีข้อคิดตรงที่ว่า ไม่ว่าเราจะได้เข้าเรียนในคณะที่เราอยากจะได้หรือว่าไม่อยาก ไม่รักสักเท่าไหร่ก็ตามที ในการจัดหลักสูตรของหมู่คณะ ของทุกมหาวิทยาลัย แต่ละคณะจะต่างกันในบางวิชา แต่จะเหมือนกันในวิชาที่เป็นวิชาพื้นฐานส่วนกลาง ใน เมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปเลือกอะไรให้มันมาก อย่าไปคิดมาก ในเมื่อวิชาที่เป็นส่วนกลาง วิชาพื้นฐานมันเหมือนกัน ตั้งใจเรียนวิชาพื้นฐานให้เต็มที่ ส่วนวิชาที่โดยเฉพาะนั้น...ถ้าไม่รักนัก พอผ่าน ก็ไม่ว่ากัน
และในขณะที่กำลังเรียนวิชาพื้นฐานอยู่นั้น หลวงพ่ออยากจะฝากเอาไว้ก็คือ นอกจากจะต้องทำความรู้ ทำความเข้าใจให้ได้ดีจริงๆแล้ว ในขณะที่เรียนอยู่นั้น ให้เอาชั่วโมงเรียน อุปกรณ์การเรียนต่างๆทั้งหลาย เป็นอุปกรณ์ในการฝึกนิสัยของเราไปด้วย
เพราะไม่ว่าเราจะอยู่สาขาใด ถ้านิสัยไม่ดีล่ะก็ ถึงจะจบสาขาวิชาที่เรารัก ก็เอาไปทำงานให้เกิดประโยชน์ไม่เต็มที่หรอก
ตรงกันข้าม แม้ ว่าเราจะได้เรียนในสาขาที่เรารักหรือไม่รักก็ตามที แต่นิสัยของเราดี เมื่อ เป็นอย่างนี้แล้ว ต่อไปในภายภาคหน้า เมื่อเราจบการศึกษาของเราไปแล้ว ถึงคราวไปประกอบอาชีพแล้ว แม้สิ่งที่เราเรียนมาจะไม่ค่อยจะรักนัก ที่เราจบมาจะไม่ค่อยรักนัก แต่ก็ได้ ความรู้พื้นฐานมาพอสมควร ก็พอจะประกอบอาชีพได้ในระดับหนึ่ง
แต่ว่านิสัยดีๆของเราที่มีอยู่นั่นแหละ ที่ได้อบรมมา ในระหว่างที่เรากำลังเรียนอยู่ มันจะมีคุณค่ามหาศาลต่อตัวเราเอง คือ จะทำให้เราอย่างน้อยที่สุดก็เป็นคนที่เอางานเอาการ แล้ว ก็สิ่งใดที่เป็นพื้นฐาน เหมาะควรแก่การดำรงชีวิต พื้นฐานนั้นๆ เราก็มีพร้อม ไม่ว่าจะไปเทียบกับใครก็ตาม เพราะว่ามันเป็นวิชาพื้นฐานเหมือนๆกัน
แต่ว่านิสัยดีๆของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิสัยดีๆในเรื่องของการทำงานเป็นทีม หากเรามี และได้ฝึกมา ในช่วงที่เรากำลังเรียน กำลังศึกษานั้น ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นคุณค่ามหาศาลต่อความสำเร็จในชีวิตของตัวเราเอง
เพราะว่าอะไร ...เพราะว่า ไม่ว่าเราจะเรียนจบทางด้านสาขาไหนก็ตาม เมื่อถึงคราวทำงานแล้ว ไม่เคยมีงานไหนๆหรอก ที่ใช้ความสามารถในวิชานั้นเพียงโดดๆ เพียงลำพังๆ
มันต้องใช้สาขาวิชาหลายๆสาขามาร่วมกัน มันต้องใช้ความสามารถของคนหลายๆคนมาช่วยกันทำ พูดง่ายๆ ยิ่งโลกของเราเปิดประตูสู่ความไร้พรมแดนมากเท่าไหร่ การทำงานเป็นทีม และทีมใหญ่ๆด้วย ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น จากความรู้พื้นฐานของเรา มีความรู้เฉพาะทางอาจจะไม่ได้อย่างใจ แต่เราก็เอาความสามารถที่มีอย่างนี้แหละ ด้านพื้นฐานบวกกับมนุษยสัมพันธ์ไปสร้างทีมใหญ่ขึ้นมา
เมื่อสร้างทีม ใหญ่ขึ้นมาแล้ว ก็เอาความสามารถที่มีของเราไปให้กับหมู่คณะให้เต็มที่ เพราะสิ่งที่เราขาดไป ที่เราอยากได้แล้วเราขาด ก็ไปตามเอาคนอื่นที่เขามีความรู้มีความสามารถเหล่านั้น มาทำแทนเรา
มันก็สามารถที่จะทำให้งานลุล่วงไปด้วยดี ทีนี้ เมื่อมาเป็นอย่างนี้ คำตอบขั้นต้นก็คือ เราก็สามารถจะประกอบอาชีพของเราได้ เลี้ยงตัวเองเราได้โดยไม่ฝืดเคืองแต่ประการใด
ทีนี้ ถ้ายังอยากจะศึกษาหาความรู้ในด้านที่เรารักจริงๆอีก ก็ไม่เป็นไร ในเมื่อเรามีอาชีพแล้ว เราอยากจะย้อนไปศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่เรารักแล้ว เรายังไม่ได้ในภายหลัง ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร เพราะมีอาชีพแล้ว เราโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว เราจะเลือกเรียนเอาทีหลังก็ได้ อันนี้เป็นทางออกอย่างหนึ่ง
แต่ก็อยากจะฝากว่า วิชาการใดๆในโลกนั้น เรียนไปแล้วก็ มันก็วนๆเวียนๆอยู่แค่นั้นไม่ไปไหนหรอก ยังเกิดแก่เจ็บตายอยู่...ลูกเอ๊ย
มาเรียนในวิชาพระพุทธเจ้ากันไหม เรียนแล้วพ้นโลกได้ ไม่ ต้องวุ่นๆวายๆ มาเรียนดูไหม ถ้าไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน มาเรียนกับหลวงพ่อก็ได้ มาบวชที่วัดกับหลวงพ่อนี่แหละ แล้วมาศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัน ซึ่งเป็นสุดยอดของศาสตร์ของศิลป์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ วิชชาของพระองค์เป็นวิชชาที่ทำให้พ้นโลก มาเรียนกันดีกว่านะ แล้วจะได้ไม่ต้องไปวุ่นวาย เลือกคณะอะไรอีกต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘