หลวงพ่อตอบปัญหา ตอนที่ 10

โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
เรียบเรียง จาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
คำถาม:กราบ นมัสการ...หลวงพ่อที่เคารพอย่างยิ่ง ในฐานะที่ลูกเป็นชาวต่างชาติ และ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และอยากจะให้ญาติมิตรได้เข้าใจถึงเรื่องทานมหาบารมี เช่นเดียวกับลูก แต่บางครั้งก็มีความรู้สึกว่า ลำบากมากในการที่จะบอกบุญ อยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า ควรจะทำอย่างไรที่จะให้ญาติมิตรเข้าใจถึงเรื่องพระพุทธศาสนานี้เจ้าคะ
คำตอบ:คุณ หนู...อย่าว่าแต่คุณหนูนับถือศาสนาอื่น ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แล้วชวนพ่อแม่พี่น้องมาทำบุญในพระพุทธศาสนา แล้วเขาไม่ค่อยจะยอมทำ...คุณ หนู...แม้แต่ชาวพุทธด้วยกันนี่แหละ มีไม่น้อยหรอก ชวนมาทำบุญ เขาก็ไม่ทำ มันยากพอๆกันนะ...คุณหนูนะ
เพราะอะไร...พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้ข้อคิดเอาไว้แล้วว่า การทำบุญทำทานกับการรบ มันหนักแรงพอกันนะ

ทำไม...ในการรบเราจะต้องต่อสู้กับข้าศึกที่เห็นตัว ที่มีอาวุธ ก็รบกันก็สู้กัน เอาชีวิตเป็นเดิมพันกัน การทำทานก็เหมือนกัน คุณหนู มันต้องรบเหมือนกันนะ รบกับอะไร...รบกับความตระหนี่ ความตระหนี่มันหุ้มอยู่ในใจตัว มนุษย์ก็มองไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นก็คิดว่า ตัวเองใจกว้างแล้ว ดังนั้น เมื่อไปชวนมาทำบุญทำทาน แม้ในศาสนานั้นเอง ศาสนาเดียวกัน ก็ใช่ว่าเขาจะเต็มใจร่วมทำบุญทำทานทุกครั้งเมื่อไหร่

เพราะฉะนั้น ในการที่คุณหนูซึ่งมีคุณพ่อ-คุณแม่ ซึ่งยังไม่ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา เขาจะมาทำทาน ทำบุญง่ายๆ อย่างคุณหนู มันคงไม่ใช่หรอกนะ
มันก็เหมือนกับคุณหนูกำลังชวนเขามาออกรบนะคุณหนูนะ อย่าเพิ่งไปแปลกใจ

หลวงพ่อเองก็เคยเจอเรื่องนี้กับญาติของหลวงพ่อเอง นั่นแหละ ปัจจุบันนี้หลวงพ่อบวชมา 30กว่าพรรษา มีญาติบางคน หลวงพ่อไปชวนเขาทำบุญทำทานตั้งแต่พรรษาแรกๆ เดี๋ยวนี้เขาก็ยังไม่ทำกับหลวงพ่อเลย แล้วไม่ใช่กับหลวงพ่ออย่างเดียวหรอก กับวัดอื่นเขาก็ไม่ค่อยจะทำอีกเหมือนกัน มันเป็นอัธยาศัยของเขา

ถ้าถามว่า หลวงพ่อท้อไหม...ก็ไม่ท้อ เจอหน้าก็ชวนทำบุญทำทานเรื่องอื่นไป แทนที่จะ ทำบุญกับวัด กับศาสนา บางทีหลวงพ่อชวนไปทำเรื่องอื่น เช่นชวนไปปล่อยสัตว์ปล่อยปลา...เขาก็ยอมทำ...ให้ชีวิตเป็นทาน, ชวนให้ไปทำกับโรงพยาบาล...เขาก็ยอมทำ
แต่มาทำบุญกับศาสนา เขายังมองไม่เห็นคุณค่า เขาก็ยังไม่ทำ ญาติหลายคนของหลวงพ่อก็มีอาการอย่างนี้

และบางคนเคยเป็นอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแล้ว ตั้งใจมาทำบุญทำทาน แล้วก็มาตำหนิหลวงพ่ออีกว่า ทำไมไม่อธิบายเรื่องทำบุญทำทานกับพระพุทธศาสนา กับพระ ให้เขาเข้าใจตั้งแต่เมื่อ 10-20ปีก่อนโน้น จะได้ทำบุญเยอะกว่านี้...เป็นงั้นไป กลายเป็นความผิดของหลวงพ่ออีก ทั้งๆที่เขาก็ไม่ค่อยอยากจะทำเอง
คุณหนู...ด้วยเหตุที่นิสัยใจคอของมนุษย์มันมีแตกต่างกันอยู่อย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนวิธีทำบุญหลายๆรูปแบบไว้ให้ เอาอย่าง นี้...ถ้าชวนทำทานในพระพุทธศาสนาหรือที่อื่นก็เหมือนกัน แล้วเขาไม่อยากทำ ...ไม่เป็นไร ชวนเขาไปทำในเรื่องอื่น เช่น อาสาสมัครงานกุศลต่างๆ จะในศาสนาหรือนอกศาสนาตาม คือ ให้คุ้นต่อการที่จะเป็นผู้ให้ด้วยวิธีไหนก็ได้ พูดง่ายๆ จะต้องเริ่มฝึกจากง่ายมาหายาก หัดให้ไปทำสังคมสงเคราะห์บ้าง หัดให้ไปเป็นอาสาสมัครที่โน่นที่นี่บ้าง

จากนั้น ทำอะไรอีก...ที่เขาลงทุนน้อยหน่อยแต่ได้ผลมาก...ทำอย่างไร...ก็หัดมานั่งสมาธิเสียบ้าง
เพราะสมาธิเป็นของกลางๆ ไม่ได้ผูกขาดไว้กับศาสนาใดๆ ให้ เขาทำสมาธิไป จากนั่งสมาธิทีละ 5นาที 10นาทีต่อครั้ง หนักเข้า หนักเข้าเป็น 10นาที 20นาทีต่อครั้ง หนักเข้าหนักเข้า นั่งครั้งหนึ่งตั้งครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง
พอมาถึงจุดนี้ก็แสดงว่า ใจของเขามันนุ่มนวล นั่งได้ตั้งครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง นุ่มนวลแล้ว เมื่อนุ่มนวลอย่างนี้ คุณหนูก็ฝึกให้เขาต่อไป ให้อ่านหนังสือธรรมะบ้าง หรือถ้าไม่อ่าน เล่าเรื่องธรรมะให้ฟังบ้าง

จากนั้นคุณหนูค่อยดูอัธยาศัยใจคอ ดูการเปลี่ยนแปลงของเขาไปว่า ระดับนี้เหมาะที่จะไปทำทานตรงไหนกับในศาสนาเดิม ก็ทำไป, กับสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นของกลางๆ ไม่ขึ้นกับศาสนา ก็ทำไป หรือไปอาสาสมัครงานกุศลต่างๆ เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ก็ทำไป

เมื่อคุ้นต่อการให้ ตั้งแต่ให้ทรัพย์สินเงินทองแล้ว...ให้อะไรอีก...ให้ความ รู้เป็นทาน, ให้เรี่ยวแรงเป็นทาน, ให้ข้อคิดความเห็นสารพัด...ให้อะไรอีก...รู้จักให้อภัยคน จากให้อภัยคน...ให้อะไรอีก...ให้รู้จักชมคนเป็น ยกย่องคนเป็น
ค่อยๆเพิ่มดีกรีแก่กล้าของการสร้างบุญขึ้นมาอย่างนี้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า Step ในการก้าวหน้าของคนนั้น มีอยู่ถึง 10Step ในเรื่องของความเป็นบุญกุศลที่เกิดในใจ

Step ที่1. ท่านว่า...ให้รู้ว่า
(1)โลกนี้เราต้องอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นการปันกันกินปันกันใช้ เป็นสิ่งที่ดี เป็น บุญมากหรือบุญน้อยไม่พูด ยังตามไม่ทัน เอาว่า ให้ได้อยู่ในโลกนี้มันต้องปันกันกินปันกันใช้ จะศาสนาเดียวกัน นอกศาสนาอะไรก็ตาม มันต้องปันกันกิน ปันกันใช้ โลกจึงจะเป็นสุข...คุณกินบ้าง ฉันกินบ้าง...ถ้าอย่างนี้เดี๋ยวก็เป็นสุข

จากตรงนี้...คนในโลกนี้มันก็มีทั้งคนอ่อนแอ มีทั้งคนแข็งแรง มีทั้งคนแก่ มีทั้งคนหนุ่ม มีทั้งคนช่วยตัวเองไม่ได้ ทั้งคนที่ช่วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้น
(2)โลกนี้อยู่ได้ด้วยการสงเคราะห์กัน เป็นขั้นเป็นตอน

จากนั้นอะไรอีก...พัฒนาการทางด้านจิตใจ บันไดขั้นที่3...(3)
โลกนี้อยู่ได้ด้วยการให้เกียรติกัน ไม่จับผิดกัน

พัฒนาการขั้นที่4...(4)โลกนี้มันอยู่ใต้กฎแห่งกรรม คนทำดีต้องได้ดี คนทำชั่วต้องได้ชั่ว ค่อยๆให้เขาไต่เต้าขึ้นไปอย่างนี้ แล้วการทำดี ทำได้ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ
แล้ว พระองค์ก็แจงให้ดู ทางกายทำได้ยังไง ทางวาจาทำได้ยังไง อยู่ในห้อง มีวิธีทำความดีทางใจได้เลย ในเรื่องดี ในเรื่องที่ควร อย่างนี้ก็เป็นพัฒนาการ นี่ก็เป็น 4จุดนี้ กลายเป็นก้าวเข้ามาสู่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
โลกของเรานี้ แต่ละคนเหมือนอย่างกับโลกหนึ่ง มันมีที่มา แล้วมันไม่ใช่มาลอยๆ...มายังไง...มันมาจากกรรมที่เราก่อเอาไว้ข้ามภพข้ามชาติส่วนหนึ่ง มาจากกรรมที่เราก่อเอาไว้ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งเมื่อวานนี้อีกส่วนหนึ่ง การที่คนใดฉลาดหรือโง่ รวยหรือจน ส่วนหนึ่งมันขึ้นมาจากกรรมในอดีต มันมีที่มา แล้วก็ส่วนหนึ่งมันขึ้นกับกรรมในปัจจุบัน
พวกที่มี บุญในอดีตมาดี พวกนี้หยิบอะไรเฮงหมด แต่ว่าอีกพวกหนึ่ง หยิบอะไรมันก็ไม่เฮงหรอก เพราะทำทานมาน้อย แต่อาศัยความเพียรในปัจจุบันนี้ หยิบอะไรก็สำเร็จอีกเหมือนกัน แต่ว่าเหนื่อยหน่อย (5)โลกนี้มันมีที่มา...ถ้าตรองออกก็ก้าวเป็นพัฒนาการทางจิตขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง
จากนั้น...(6)โลกหน้าก็มีที่ไป คือ ตายแล้วไม่สูญ...แล้วจะไปไหนล่ะ...ไปที่ชอบที่ชอบ...แล้วที่ชอบมันที่ไหน... ก็ชอบทำอะไร...ชอบทำดีมันก็น่าจะไปสวรรค์ ชอบทำชั่วมันน่าจะไปนรก
พอตรองได้อย่างนี้แล้ว พัฒนาการทางจิตก็จะก้าวไปตามลำดับลำดับ ไปถึงว่า (7)พ่อมีคุณ แม่มีคุณ
(8)นรกมี สวรรค์มี นรก สวรรค์ของพุทธ ของคริสต์ ของอิสลาม หรือของชนชาติไหนๆ มันก็นรกเดียวกัน สวรรค์เดียวกันนั่นแหละ มันไม่แยกศาสนาหรอก...เหมือนอะไร...เหมือนดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ไม่ว่าพุทธ คริสต์ อิสลาม เห็น...มันก็ดวงเดียวกัน ดวงจันทร์ที่พุทธ คริสต์ อิสลาม หรือซิกส์ เห็น มันก็ดวงเดียวกัน นรกสวรรค์มันก็ที่เดียวกันนั่นแหละ

เมื่อเขามองออกในลักษณะที่เป็น มันเป็นอินเตอร์เสียแล้วนะ มันก็เลยข้าม...ข้ามอะไร...
(9)ข้ามเขตแดนแห่งศาสนาไปกลายเป็น Universe
มันกลายเป็นของกลางไปแล้ว

พอมาถึงจุดนี้เข้า นรกมี สวรรค์มี มันอยู่ที่บุญที่บาป มันไม่ใช่ว่า นับถือศาสนาไหน แล้วในที่สุด (10)
เขาก็จะก้าวไปทำบุญกับผู้ที่มีความบริสุทธิ์ ผู้ที่มีความดี เขาไม่เกี่ยงเสียแล้วว่าจะศาสนาไหน

คุณหนูต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า พัฒนาการทางจิตมันค่อยเป็นค่อยไป แล้วก็ปรับปรุงตัวเองให้เป็นต้นแบบญาติ พี่น้องให้ได้ แล้วเขาก็จะเดินตามเรามา อยู่ๆคุณหนูจะมาชวนเขามาทำบุญข้ามศาสนาในทันที ไม่ก้าวมาทีละขั้นทีละตอนมันก็ยาก ไปเริ่มใหม่นะ
เดี๋ยวก็ทำได้ เมื่อเราได้พยายามทำ

คำถาม:
กราบนมัสการ...หลวงพ่อค่ะ ลูกอยากจะเรียนถามหลวงพ่อว่า จีวรของพระสงฆ์จะต้องเป็นสีเหลืองหรือสีกลักเสมอไปหรือไม่เจ้าคะ เพราะว่ามีฝรั่งเคยถามลูกว่า ทำไมพระถึงต้องห่มตัวสีเหลืองเจ้าค่ะ
คำตอบ:คุณหนู...สำหรับจีวรของพระ ถ้าว่าไปแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล สีจีวรโดยทั่วไปแล้ว จะไม่ค่อยสม่ำเสมอ สาเหตุก็เพราะว่า ตั้งแต่ สมัยพุทธกาลมา ในการย้อมสีจีวรนั้น ท่านใช้พวกแก่นไม้มาย้อม ใช้ยางไม้มาย้อม ยางไม้ในที่นี้อาจจะเป็นยางผลไม้ ก็ได้ เมื่อใช้ยางไม้ ยางจากผลไม้ จากแก่นไม้เหล่านี้มาย้อม สีมันจึงไม่สม่ำเสมอ อย่าว่าแต่เป็นแก่นไม้ต่างประเภทกัน สีมันจะเข้มมันจะจาง แม้แต่แก่นไม้ชนิดเดียวกันนี่แหละ

สมมุติแล้วกันนะ...ตั้งแต่เด็กๆ สมัยประถม มัธยม อยู่ต่างจังหวัด อาตมาเคยไปช่วยรุ่นน้า รุ่นอา เขาย้อมจีวรกัน สมัยโน้นเขาใช้พวกแก่นขนุน พวกแก่นขนุนสีมันจะออกเข้มๆ แต่ว่าสีบางต้นบางพันธุ์ แม้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน สีมันเข้มจัดจนกระทั่งคล้ำ ในขณะที่ขนุนบางต้นบางพันธุ์ สีมันออกเหลืองๆ คล้ายๆดอกจำปา
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ท่านจึงใช้คำว่า ย้อมฝาด คือ ย้อมแล้วทำให้เป็นการรักษาคุณภาพของผ้าด้วยว่า เมื่อย้อมแล้วมันทำให้ผ้านั้นไม่เปื่อยง่าย มันมียางไม้บางประเภทมีคุณสมบัติเป็นยา คือทำให้เชื้อราไม่เจริญง่าย หรือยางไม้บางประเภท แม้ได้เป็นยา แต่ว่าสีมันเข้ม จึงทำให้ดูแล้วไม่เปื้อน หรือเปื้อนนิดๆ หน่อยๆ เพราะมันจะเข้ามาในเนื้อของมัน

ยางไม้บางประเภทเมื่อย้อมแล้ว ทำให้ผ้านั้นไม่เก็บความชื้น วัตถุประสงค์ในการย้อมผ้าอยู่ตรงนั้น
เพราะฉะนั้นสบงจีวรของพระตั้งแต่สมัยพุทธกาล สีอาจจะแตกจะต่างกันไปบ้าง ท่านก็ไม่เอามาเป็นอารมณ์จนเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม สีจีวรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เนื่องจากด้วยอำนาจบุญบารมีที่พระองค์สั่งสมมา สีจีวรของพระองค์ สีเหมือนอะไร...สีเหมือนอย่างกับเปลวเพลิง คือ เหลืองๆ ส้มๆ อาจจะอมแดงนิดๆ หน่อยๆ อะไรก็ตามที

แต่ว่าสีประเภทเหมือนเปลวเพลิงอย่างนั้น เปลวเพลิง เปลวถ่านอย่างนั้น ใครเห็นก็จับตาจับใจ แต่ว่า มันก็ไม่ได้สดใสเหมือนสีแดงสีชมพู หรืออะไรทำนองนั้น จับตาจับใจ
แต่ว่าไม่ยั่วยุกามให้กำเริบ แต่ทำให้ผู้เห็นเกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น เพราะว่า ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่เป็นเครื่องตกแต่ง เรามองกันตรงนี้

พระอรหันต์บางรูปสีจีวรของท่าน สีเหมือนอย่างกับสีอะไร...
สีโครุ่น เรา ไปดูก็แล้วกัน วัวไทยในท้องทุ่งนั่นเอง จะออกสีน้ำตาลเข้ม หรือบางตัวก็ประเภทค่อนข้างจะน้ำตาลอ่อน หรืออะไรก็ตามที สรุปว่า สีจีวรในผืนหนึ่งนั้น

1.อย่ากระดำกระด่าง ถ้ากระดำกระด่าง...คงไม่งาม
2.เวลาพระนุ่งห่มกัน ใช้จีวรกัน
  • สบงที่นุ่ง
  • จีวรที่ห่ม
  • สังฆาฏิที่พาดไหล่

สามผืนที่เราใช้นุ่งห่ม ควรจะต้องเป็นสีเดียวกัน มิ ฉะนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นหลวงพ่อสามสีไป สบงที่นุ่งก็สีหนึ่ง จีวรก็แถมอีกสีหนึ่ง สังฆาฏิก็อีกสีหนึ่ง กลายเป็นหลวงพ่อ, หลวงพี่ สามสี อย่างนี้คงไม่งาม แต่ว่าถ้าเป็นสีเดียวกัน และเป็นสีย้อมฝาด ก็อนุโลมกันไป นี่ตั้งแต่โบราณก็จะเป็นกันมาอย่างนี้

บัดนี้ เราไม่ค่อยได้ใช้สีประเภทที่มาจากแก่นไม้กันแล้ว ทำไมล่ะ...ถ้าบวชทีก็ไปเอาแก่นไม้มาที สงสัยพระบวชมากเท่าไหร่ ป่าคงหมดเร็วเท่านั้น ไปเอาแก่นไม้มาย้อม เราจึงต้องใช้สีที่เขาผลิตขึ้นมา สังเคราะห์ขึ้นมาแทน เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็อนุโลมกันพอสมควรว่า ให้มันใกล้กับสีของพวกยางไม้ก็แล้วกัน แก่นไม้ก็แล้วกัน ที่โบราณมีอยู่ ก็ตามประเพณีนิยมในพื้นบ้านนั้นๆ

คำว่า
พื้นบ้านนั้นๆ หมาย ถึงอะไร...พระที่บวชอยู่ในประเทศศรีลังกา ถ้าเราสังเกตเห็น จะสีเข้มๆ ค่อนข้างออกแดง แต่ก็อมออกมาคล้ายๆสีเลือดหมู ก็คงแสดงว่า ในประเทศของท่าน ในศรีลังกา คงจะมีแก่นไม้ประเภทนี้ สีนี้มากในสมัยโบราณ แล้วในปัจจุบันนี้จึงถือเป็นสีนิยมกันไป ก็เป็นได้

พระที่มาจากประเทศพม่า ท่านก็มีสีของท่าน ไม่ค่อยเหมือนกับพระไทยหรอก แต่ก็เป็นสีที่ย้อมมาจากแก่นไม้

ในประเทศไทยเรา เมื่อก่อนนี้ พระธุดงค์ท่านก็ใช้พวกสีจากแก่นไม้ ก็ไม่มีใครมาถือเป็นอารมณ์กันว่า ทำไมคล้ำไป ส่วนพระที่อยู่ในเมือง ท่านไม่รู้จะไปหาแก่นไม้ที่ไหน ก็อาศัยสีย้อมที่มันมีอยู่ในท้องตลาด แล้วก็มาดูพอสมควร คือไม่ใช่เหลืองอ๋อย แล้วก็ไม่ใช่แดงแฉด หรือไม่ใช่สีหวานจ๋อย ชมพูอะไร ก็สีที่พอสมควรก็แล้วกัน ถ้าเหลืองก็ให้ออกเป็นเหลืองทองพอสู้กันไป

ถ้าอยากจะออกเดินธุดงค์ ก็สีมอๆลงมา เอาว่าใช้สีที่ออกไปในลักษณะผสม ก็ให้ใกล้เคียงกับสีของแก่นไม้ตั้งแต่โบราณ

อาตมา ว่า อย่างนี้ก็พอสมควรนะ เพราะว่า เมื่อสมัยโน้นก็ไม่ได้กำหนดสีที่ชัดเจนอย่างที่ว่ามาแล้ว เอาพอสมควรก็แล้วกัน แล้วก็จะเป็นเหตุที่จะต้องทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่เป็นไปเพื่อความอยู่สุขของสงฆ์ อาตมาว่า เอากันเพียงแค่นี้ แล้วเราก็จะมีสุข

เมื่อได้นุ่งได้ห่มแล้ว จะสีอะไรก็ตามที เมื่อไม่ผิดพระวินัย แล้วรีบไปศึกษาพระธรรมวินัย
ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยให้เคร่งครัด ก็จะได้เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม

เมื่อญาติโยมได้เนื้อนาบุญอย่างท่านแล้ว หมั่นตักบาตรกับท่านด้วยนะ ท่านก็จะได้อยู่กับเรา แล้วมาเทศน์ให้พวกเราฟังต่อไปนานๆ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘