พระแท้

ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
1.ดินแดนประดิษฐาน
พระพุทธศาสนาแห่งแรก


ในสมัยพุทธกาล แคว้นมคธขึ้นชื่อลือนามว่า
เป็นแว่นแคว้นที่อุดมสมบูรณ์ยิ่ง
เพราะตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มกว้างใหญ่
มีแม่น้ำ 3 สาย คือ จัมปา คงคาและโสณะ
ไหลคดเคี้ยวไปตามพรมแดนด้านตะวันออก
เหนือ และตะวันตก ตามลำดับตลอดทั้งปี
ส่วนทางด้านเหนือมีเทือกเขาหิมาลัย
อันสูงทะมึน ซึ่งปกคลุมด้วยป่าทึบและ
เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายขวางปิดกั้นพรมแดนไว้
เมืองหลวงของแคว้นนี้มีชื่อว่า “กรุงราชคฤห์”
ที่เลืองลือกันว่าเป็นนครแห่ง
ความร่ำรวยมั่งคั่งมหาศาล
บรรดาเศรษฐีและมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ
เช่น เมฑกเศรษฐี เป็นต้น ล้วนอาศัยอยู่
ในกรุงราชคฤห์ บรรดาประชาราษฎร์ในนครนี้
ล้วนใฝ่รู้รักการเล่าเรียน มีความเชี่ยวชาญใน
เชิงศิลปวิทยาการต่างๆยิ่งนัก
จึงมีความฉลาดเฉลียวในการหาทรัพย์
นำความมั่งคั่งร่ำรวยมาสู่แว่นแคว้น
ถึงกับต้องเจาะภูเขาเป็นถ้ำเพื่อใช้เป็น
พระคลังหลวง สำหรับเก็บมหาสมบัติ
และอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ

กล่าวได้ว่า แคว้นมคธในสมัยพุทธกาลนั้น
เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุกด้าน
ทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม
ศาสนา และลัทธิต่างๆ บรรดาศาสดาเจ้าลัทธิ
และนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย
ต่างมาชุมนุมกันในแคว้นนี้
สมกับที่ป็นดินแดนแห่งการตรัสรู้ธรรม
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้
พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ
ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย
รวมทั้งพระมหากัสสปะเถระ
ต่างก็เป็นชาวแคว้นมคธทั้งสิ้น

เพราะเหตุที่เป็นศุนย์กลางแห่งความเจริญทั้งปวง
แคว้นมคธจึงได้รับยกย่องให้เป็น
แว่นแคว้นแห่งมหาอำนาจ หนึ่งในสี่ของชมพูทวีป*
ยังความครั่นคร้ามยำเกรงแก่
บรรดาแคว้นต่างๆในยุคนั้น และเพราะเหตุนี้เอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงประดิษฐาน
พระพุทธศาสนา ณ แคว้นนี้เป็นแห่งแรก

*แคว้นที่เป็นมหาอำนาจทั้ง 4 ของชมพูทวีป
ได้แก่ มคธ โกศล อวันตี และวังสะ

ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
2.ธรรมราชาพิมพิสาร


พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นมคธในขณะนั้น
คือ พระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ทรงมี
พระปรีชาสามารถ ทั้งในด้านการบริหาร
ประเทศและการสงคราม พระองค์ทรงดำเนิน
กุศโลบายด้านต่างประเทศ โดยทรงผูกไมตรี
กับแคว้นมหาอำนาจต่างๆอย่างแยบคาย
เป็นต้นว่า ได้อภิเษกสมรสกับพระนางเวเทหิ
พระราชธิดาแห่งแคว้นโกศล
เมื่อพระราชอำนาจมั่นคงแล้ว
จึงทรงแผ่ขยายดินแดนด้วยการทำสงคราม
เช่น ทรงกรีฑาทัพบุกเข้ายึดแคว้นอังคะ
อันเป็นเหตุให้พระเจ้าพรมทัต
กษัตริย์แห่งแคว้นอังคะสิ้นพระชนม์ในสนามรบ
พระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงก่อเวรปาณาติบาตอีกมาก
หากไม่ทรงพบและได้ฟังธรรมจาก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนทรงบรรลุ
โสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน

นับแต่พระเจ้าพิมพิสารทรงบรรลุธรรม
เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา
ความกระหายต่ออำนาจก็ลบเลือนไปจาก
พระทัยของพระองค์ ทรงยุติสงคราม
นองเลือดทั้งปวงหันมาดำเนินกุศโลบายใหม่
โดยใช้ธรรมเป็นเครื่องผูกไมตรี
ดังเช่น ทรงแจ้งข่าวและพรรณนาสรรเสริญ
การบังเกิดขึ้นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แก่พระเจ้าปุกกุสาติแห่งแคว้นคันธาระ
ทรงส่งหมอชีวกโกมารภัจจ์ไปถวายการรักษา
พยาบาลพระเจ้าจัณฑปัชโชติ แห่งแคว้นอวันตี เป็นต้น
นับแต่นั้นแคว้นมคธก็มีแต่ความสงบร่มเย็น
เสมอมา เพราะมีพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรม

ในด้านการศาสนา พระองค์ทรงเป็นอุปัฏฐากสำคัญ
ผู้เปี่ยมด้วยความเคารพ และศรัทธา
ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา
โดยทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวัน
สร้างเป็นวัดชื่อ “เวฬุวันมหาวิหาร”
นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
พระองค์ได้ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก
ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไปจนตลอดพระชนม์ชีพ

เพราะทรงเป็นพระโสดาบัน
พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงตระหนักดีว่า
การแผ่ขยายพระราชอำนาจด้วยการรบพุ่ง
ฆ่าฟันกันดังเช่นที่พระองค์ทรงเคยกระทำ
มาในอดีตนั้น เป็นบาปกรรมอันจะนำมา
ซึ่งความทุกข์ในเบื้องหน้า
ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงซาบซึ้งใน
คุณของพระรัตนตรัยเป็นอย่างดีว่า
มีเพียงพระรัตนตรัยเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง
อันแท้จริงของทุกชีวิต พระองค์จึงเพียรพยายาม
พาอชาตศัตรูราชกุมารไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อจะปลูกฝังพระโอรสให้เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล
มีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยตั้งแต่เยาว์วัย

ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
3.พระเทวทัตผู้มีใจริษยา


ในช่วงที่อาชาตศัตรูราชกุมารได้เสด็จ
ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเอง
เป็นเวลาที่พระเทวทัตผู้เป็นสาวกองค์หนึ่ง
ของพระพุทธองค์กำลังหาทางเป็นใหญ่
ทั้งที่ตนเองมิได้บรรลุมรรคผลอันใดดังเช่นที่
พุทธสาวกสำคัญองค์อื่นๆจะบรรลุก็เพียง
โลกียฌานเท่านั้น พระเทวทัตมีใจริษยา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระอสีติมหาสาวก*ทั้งหลาย
ที่มีผู้คนหลั่งไหลนำเครื่องสักการะ
ไปน้อมถวายพร้อมบริบูรณ์
ส่วนตนเองนั้นไม่ใคร่มีโอกาส
ได้รับเครื่องสักการะใดๆเลย

ด้วยฤทธิ์แห่งเพลิงริษยา
ที่แผดเผาใจให้ร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา
พระเทวทัตจึงคิดวางแผนด้วยเล่ห์เพทุบาย
ให้อชาตศัตรูราชกุมารเลื่อมใสศรัทธาในตน
เพื่อเป็นขุมกำลังในการล้มล้างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเห็นว่าอชาตศัตรูราชกุมารทรงอยู่ในวัยหนุ่ม
มีความทะเยอทะยาน
ย่อมชักจูงให้หลงเชื่อได้โดยไม่ยาก

เมื่อกำหนดแผนร้ายไว้ในใจเช่นนี้แล้ว
พระเทวทัตจึงรีบเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์
ใช้อำนาจฌานสมาบัติสำแดงฤทธิ์
แปลงเพศเป็นเด็กน้อย มีงูพิษพันที่ มือ เท้า คอ
ศรีษะและบ่า ปรากฏกายบนพระเพลา
ของอชาตศัตรูราชกุมาร เป็นเหตุให้อชาตศัตรู
ราชกุมารทรงตกพระทัยหวาดกลัวยิ่งนัก
ครั้นต่อมาอชาตศัตรูราชกุมารทรงทราบ
จากเด็กน้อยนั้นว่า เขาคือ พระเทวทัตอชาตศัตรู
ราชกุมารจึงทรงขอร้องให้กลับกลายร่าง
เป็นสมณะตามเดิม

เมื่ออชาตศัตรูราชกุมารทอดพระเนตเห็น
เด็กน้อยนั้นกลับกลายร่างเป็นสมณะ
ดูน่าเลื่อมใสจึงทรงบังเกิดความรู้สึกเลื่อมใส
ศรัทธาในปาฎิหารย์ของพระเทวทัตยิ่งนัก
ทรงหลงเชื่ออย่างสนิทพระทัยว่า
พระเทวทัตเป็นผู้มีอานุภาพยิ่งกว่าผู้ใดในโลก
นับแต่นั้นมาจึงทรงเป็นอุปัฏฐากสำคัญ
ของพระเทวทัต ถวายการบำรุงด้วย
ปัจจัยไทยทานอย่างพร้อมบริบูรณ์
อีกทั้งทรงยอมทำตามคำแนะนำของ
พระเทวทัตทุกอย่างโดยมิทรงไตร่ตรองให้ถ่องแท้

เมื่อได้รับลาภสักการะและพลังสนับสนุน
จากเจ้าชายผู้เป็นรัชทายาทแห่งแคว้นมคธแล้ว
พระเทวทัตก็มีใจกำเริบเสิบสานคิดการใหญ่
อันชั่วร้าย ถึงขั้นจะยึดอำนาจการปกครองสงฆ์
แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อำนาจกิเลสที่เข้า
ครอบงำใจทำให้ฌานโลกีย์ที่เคยมีอยู่กลับ
เสื่อมสิ้นไปหมด คุณธรรมที่พระเทวทัตได้
พากเพียรปลูกฝังอบรมมาตั้งแต่เริ่มบวช
ได้อันตรธานไป สิ้น จิตใจในขณะนั้นศร้าหมอง
ขุ่นมัวด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ **
เสมือนความมืดที่เข้ามาแทนความสว่าง
เพราะไฟดับฉะนั้น

วันหนึ่ง ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง
ทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัทและ
พระราชาจากเมืองต่างๆ
พระเทวทัตได้เข้าไปกราบทูล
ขอปกครองสงฆ์แทนพระพุทธองค์
โดยอ้างเหตุผลว่า พระพุทธองค์ชราภาพแล้ว
ถึงเวลาที่ควรจะทรงพักผ่อนให้สบาย
แม้พระพุทธองค์จะทรงปฎิเสธ
พระเทวทัตก็ยังดึงดันกราบทูลซ้ำถึง 3 ครั้ง
การปฏิเสธในครั้งที่ 3
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ดู ก่อนเทวทัต แม้แต่สารีบุตรและ
โมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้
ไฉนจะพึงมอบให้เธอ ผู้เป็นเช่นซากศพ
และบริโภคปัจจัยเช่นก้อนน้ำลายเล่า”***

คำปฏิเสธและคำตำหนินี้
ทำให้พระเทวทัตขุ่นเคืองยิ่งนักและ
ผูกใจอาฆาตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่นั้นมา

* พระสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป
บางแห่งเรียกว่า พระอนุพุทธ 80 รูป

** มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว มารดาบิดาไม่มีคุณเป็นต้น และความเห็น ที่ไม่นำไปสู้ความพ้นทุกข์

*** พระไตรปิฏก สำหรับเยาวชน เล่ม 3 หน้า 129

ที่มาแห่งสามัญญผลสูตร
4.อชาตศัตรูราชกุมาร
ทรงกระทำปิตุฆาต


พระเทวทัตได้หมั่นไปเฝ้าอชาตศัตรูราชกุมาร
แล้วถวายคำแนะนำยุยงเนืองๆว่า
สมัยก่อนคนเราอายุยืน แต่สมัยนี้คนอายุสั้น
ด้วยเหตุนี้อชาตศัตรูราชกุมารอาจจะ
สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่ได้ขึ้นครองราชย์ก็ได้
ดังนั้นพระองค์จึงน่าจะปลงพระชนม์พระราชบิดา
แล้วยึดครองราชสมบัติเสีย
ส่วนตนเองก็จะปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วปกครองสงฆ์แทนเสียเอง

ด้วยเหตุที่อชาตศัตรูราชกุมาร ทรงหลงเลื่อมใส
พระเทวทัตมากมายเพียงไรก็ตาม
แต่ด้วยความผูกพันเกรงกลัวในฐานะพระโอรส
ที่ทรงมีต่อพระราชบิดา
อชาตศัตรูราชกุมารก็ไม่อาจสะกด
ความหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวไว้ได้
ทรงส่ออาการเป็นพิรุธ
ครั้นเมื่อถูกเหล่ามหาอำมาตย์จับได้
อชาตศัตรูราชกุมารจึงทรงสารภาพความจริงว่า
ทรงประสงค์จะปลงพระชนม์พระราชบิดา
เพื่อราชสมบัติ ตามคำแนะนำของพระเทวทัต

มหาอำมาตย์เหล่านั้นมีความเห็นแตกแยก
ออกเป็น 3 พวก คือ
พวกที่หนึ่งเห็นว่า
ควรปลงพระชนม์อชาตศัตรูราชกุมาร
และฆ่าพระเทวทัตกับลูกศิษย์ทั้งหมดเสีย
พวกที่สองเห็นว่า
ไม่ควรฆ่าพวกพระผู้ไม่มีส่วนร่วมกระทำผิด
ควรฆ่าเฉพาะพระเทวทัต
และปลงพระชนม์อชาตศัตรูราชกุมารก็พอ
ส่วนพวกที่สามเห็นว่า
ควรกราบทูลเรื่องทั้งหมดนี้ให้พระเจ้าพิมพิสาร
ทรงทราบและขอให้อยู่ใน
พระราชวินิจฉัยของพระองค์เอง
ผลปรากฏว่า พวกที่สามเป็นฝ่ายชนะ
จึงพากันนำอชาตศัตรูราชกุมารเข้าเฝ้า
พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมทั้งกราบทูล
เรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ

พระเจ้าพิมพิสารแทนที่จะทรงพิโรธโกรธแค้น
กลับทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรส
ด้วยความเต็มพระทัยยิ่ง แล้วทรงมีรับสั่งให้แก่
พระราชโอรสด้วยความเต็มพระทัยยิ่ง
แล้วทรงมีรับสั่งให้ถอดยศมหาอำมาตย์พวกแรก
ทรงให้ลดตำแหน่งมหาอำมาตย์พวกที่สอง
และทรงเลื่อนตำแหน่ง พร้อมทั้งปูนบำเหน็จ
รางวัลให้มหาอำมาตย์พวกที่สามตามลำดับ
อชาตศัตรูราชกุมารจึงขึ้นครองราชสมบัติ
เป็นพระเจ้าอชาตศัตรูตั้งแต่นั้นมา

การปฏิบัติของพระเจ้าพิมพิสารต่
อมหาอำมาตย์ทั้ง 3 พวกนั้น
ย่อมจะก่อให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
แก่มหาอำมาตย์พวกที่ 1 และ 2 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ย่อมหมายความว่า
ความแตกสามัคคีและความอาฆาตพยาบาท
ระหว่างหมู่มหาอำมาตย์แห่งกรุงราชคฤห์
กับพระราชาองค์ใหม่ ได้ฟักตัวขึ้นอย่างเงียบๆ
รอเวลาที่จะปะทุขึ้นมาเท่านั้น

แม้พระเจ้าอชาตศัตรูจะเป็นพระราชา
ผู้มีอำนาจเต็มที่แล้ว
เรื่องก็ยังไม่ยุติเพียงเท่านั้น
เพราะพระเทวทัตยังปลุกปั่นพระองค์
ให้ทรงหวาดระแวงพระราชบิดาต่อไปอีกว่า
หากปล่อยพระเจ้าพิมพิสารไว้ก็จะเป็น
อันตรายต่อการครองราชบัลลังก์ของพระองค์
ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้สั่ง
ให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
ด้วยการทรมานอย่างสุดแสนโหดร้ายทารุณ
ครั้งนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสั่งให้
ขังพระราชบิดาไว้ในห้องแล้วรมควัน
สั่งห้ามส่งพระกระยาหารและ
ห้ามเยี่ยมโดยเด็ดขาด
แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร
เป็นพระโสดาบันบุคคล
ดังนั้นแม้จะขาดพระกระยาหาร
ทั้งยังถูกรมด้วยควันไฟ
ก็ยังสามารถดำรงพระชนม์ชีพอยู่ได้
โดยอาศัยปิติสุขอันเกิดจากมรรคผล
ด้วยวิธีเดินจงกรม
มิหนำซ้ำพระวรกายยังเปล่งปลั่งยิ่งขึ้นอีกด้วย
เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเรื่อง
จึงรับสั่งให้ช่างตัดผมเอามีดโกนกรีด
ฝ่าพระบาททั้งสองข้างของพระเจ้าพิมพิสาร
เอาน้ำมันผสมเกลือทา
แล้วย่างด้วยถ่านไม้ตะเคียนที่กำลังคุแดง
อีกต่อหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงเกิด
ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าไม่นานนักก็สวรรคต
กล่าวกันว่า ในภพชาติหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร
ทรงลบหลู่ดูถูกพระรัตนตรัย
ด้วยการทรงฉลองพระบาทเข้าไปยัง
ลานพระเจดีย์และเอาพระบาทที่เปรอะเปื้อน
เหยียบเสื่อกกที่เขาปูไว้สำหรับนั่งฟังธรรม
บาปกรรมในครั้งนั้นรวมกับผลกรรม
ที่ทรงเคยก่อเวรปาณาติบาตจากการศึก
สงครามใน อดีตได้ตามมาสนองพระองค์ในที่สุด

ในวันที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคต
พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติ
เมื่อได้ทรงทราบข่าวการประสูติ
ของพระโอรสจากอำมาตย์
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงบังเกิดความรัก
พระโอรสอย่างลึกซึ้ง
ทั้งทรงตระหนักในพระทัยว่า
พระราชบิดาของพระองค์ก็ทรง
มีความรักต่อพระองค์ไม่แตกต่างกับ
ที่พระองค์ทรงมี ต่อพระโอรส

พระเจ้าอชาศัตรูทรงสำนึกในทันทีว่า
พระองค์ได้ทำความผิดอย่างใหญ่หลวง
จึงมีรับสั่งให้ปล่อยพระราชบิดา
แต่อำมาตย์ได้ถวายรายงานว่า
พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตเสียแล้ว
ข่าวนี้ทำให้พระเจ้าอชาตศรัตรูทรงทุกข์
โทมนัสอย่างสุดซึ้ง ถึงกับทรงกันแสงคร่ำครวญ
น้ำพระเนตรไหลนองพระพักตร์
ขณะเสด็จไปเฝ้าพระราชมารดา

หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตแล้ว
พระนางเวเทหิ พระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู
ผู้เป็นขนิษฐภคินของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงรู้สึกอดสูเกินกว่าจะอยู่ร่วมกับ
พระราชโอรสอกตัญญู
จึงเสด็จกลับไปประทับอย่างถาวร ณ กรุงสาวัตถี
เมืองหลวงของแคว้นโกศล
ต่อมาไม่นานก็สวรรคตด้วยความตรอมพระทัย

เมื่อพระญาติและสหายของพระเจ้าพิมพิสาร
ได้ทราบเรื่องความโหดร้ายทารุณ
และอกตัญญูของพระเจ้าอชาตศรัตรู
ต่างก็พากันเคียดแค้นเป็นอย่างยิ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับทรงกรีฑาทัพ
บุกยึดหมู่บ้านกาลิกคามของแคว้นมคธ
ส่วนพระจัณฑปัชโชติแห่วแคว้นอวันตี
ซึ่งเป็นแคว้นมหาอำนาจด้านตะวันตก
ก็ทรงเตรียมทัพบุกมคธเช่นเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าอำมาตย์ราชบริพาร
ยังแตกความสามัคคีกันอีกด้วย
พระเจ้าอชาตศรัตรู จึงต้องผจญศึก
ทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร

นับแต่วันที่ปลงพระชนม์พระราชบิดา
ครั้งใดที่พระเจ้าอชาตศรัตรูหลับพระเนตรลง
ด้วยความหวาดระแวงภัยทุกครั้ง
พระองค์จึงไม่อาจบรรทมหลับได้เลย
ไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน
ได้แต่ประทับนั่งเพื่อบรรเท่าความง่วงเท่านั้น

สามัญญผล
อานิสงส์ของความเป็นสมณะ


คำว่า “สามัญญผล” ในสามัญญผลสูตร
หมายถึง ผลหรืออานิสงส์ของความเป็นสมณะ
หรือผลดีของการเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ผู้ครองชีวิตเป็นนักบวชที่บริบูรณ์บริสุทธิ์
อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนานั้น
ย่อมได้รับอานิสงส์มากมายนานัปการ

ตามธรรมดาของสิ่งต่างๆในโลกนี้
สิ่งใดมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นมักจะมีโทษมหันต์
แฝงอยู่เป็นของควบคู่กัน

แต่การเป็นนักบวชที่บริบูรณ์บริสุทธิ์
อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา
จะบังเกิดแต่ผลดีเท่านั้น
ไม่มีผลร้ายหรือโทษเลย

ผลดีที่นักบวชจะพึงได้รับนั้น
ย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับ
ที่เห็นได้ชัดเจนในทันทีก็คือ
การได้รับความเคารพยกย่อง
จากบุคคลโดยทั้วไป นอกจากนี้
การเป็นนักบวชยังทำให้เป็น
ผู้มีความสงบกาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะ
มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องต่างๆ
รอบคอบขึ้น มีความเข้าใจเรื่องโลกและ
ชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้
นักบวชสามารถเป็นกัลยาญมิตร
ให้กับตนเอง เพื่อการครองชีวิตโดยถูกต้อง
ตามทำนองคลองธรรม ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส
และยังสามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับผู้อื่น
คือเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกต้องดีงามให้แก่
บุคคลรอบข้างและชาวโลกได้อีกด้วย
การเป็นนักบวชย่อมจะได้รับแต่ผลดี
ยิ่งๆขึ้นไปเช่นนี้ จนกระทั่งบรรลุถึงผลขั้นสูงสุด
คือ มรรคผลนิพพาน

หากยังไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน
ในชาตินี้ได้ ประสบการณ์ และบุญกุศลทั้งปวง
ที่นักบวชได้บำเพ็ญไว้ในปัจจุบันชาติก็ไม่สูญเปล่า
ย่อมสั่งสมไว้เป็นรากฐานหรือกองทุน
เพื่อรอเวลาออกผลในภพชาติต่อๆไป
สมดังพุทธภาษิตที่ว่า

“แม้หม้อน้ำ ย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำ
ที่ตกทีละหยด ฉันใด
ผู้มีปัญญาสั่งสมบุญทีละน้อย
ย่อมเต็มไปด้วยบุญ ฉันนั้น”

เมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้ว
ย่อมเป็นเหตุให้ได้บรรลบุนิพพาน
อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ความย่อ

ในปลายสมัยพุทธกาล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ สวนอัมวัน
ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ในเขตกรุงราชคฤห์
เมืองหลวงของแคว้นมคธ
ครั้งนั้นพระเจ้าอชาตศัตรู
พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ
ได้เสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพื่อกราบทูลถามปัญหา
ซึ่งค้างพระทัยพระองค์มานาน

ปัญหานั้นคือ
“สมณพราหมณ์ หรือผู้ที่เป็นนักบวชทั้งหลายนั้น
ได้รับประโยชน์อะไรจากการบวช ที่สามารถ
เห็นประจักษ์ในปัจจุบันชาติบ้าง”
ทั้งได้กราบทูลด้วยว่า
ก่อนหน้านี้พระองค์ได้เคยเสด็จไปถาม
ครูเจ้าลัทธิทั้ง 6 ท่าน ซึ่งมีชื่อเสียงมาก
ในยุคนั้นมาแล้ว แต่ได้รับคำตอบที่ไม่กระจ่างแจ้ง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงประโยชน์
หรือคุณค่าของการบวชตั้งแต่ประการแรกสุด
ซึ่งจัดเป็น
สามัญญผลเบื้องต้น คือการยกฐานะของผู้บวชเอง
โดยเปลี่ยนจากสถานภาพเดิมไปสู่
สถานภาพของบุคคลที่ควรแก่การบูชา
กราบไหว้ เรื่อยขึ้นไปจนถึง
สามัญญผลเบื้องกลาง
อันได้แก่การบรรลุสมาธิในระดับต่างๆ
ตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน
ตติยฌาน จตุตถฌาน
ซึ่งล้วนทำให้จิตใจมั่นคงและสงบสุข
และสามัญญผลเบื้องสูงคือ
การบรรลุวิชชา 8
อันได้แก่
วิปัสสนาญาณ
มโนมยิทธิ
อิทธิวิธี
ทิพยโสต
เจโตปริยญาณ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
จุตูปปาตญาณ และ
อาสวักขยญาณ ตามลำดับ

ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสถึง
สามัญญผลเบื้องกลางและเบื้องสูงนั้น
ได้ทรงแสดงถึงข้อปฏิบัติ
ที่นักบวชต้องปฏิบัติให้บริบูรณ์บริสุทธิ์
เพื่อการบรรลุสามัญญผลแต่ละขั้น
ข้อปฏิบัติสำคัญที่ทรงแสดงไว้
ในพระสูตรนี้คือ

“การถึงพร้อมด้วยศีล
การคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
การมีสติสัมปชัญญะ
การเป็นผู้สันโดษ และ
การเจริญภาวนา”

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลง
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงปฏิญาณพระองค์
เป็นอุบสก ขอถึงพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่ง
ตลอดพระชนม์ชีพ ทั้งกราบทูลขอขมา
ในการที่ปลงพระชนม์ชีพพระเจ้าพิมพิสาร
ผู้เป็นพระราชบิดา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ตรัสรับการขอขมานั้น

เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จกลับไปแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา
ก็จะต้องได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันในค่ำคืนนี้

ผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล
หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ยึดถือ
“เหตุ” และ “ผล” เป็นหัวใจสำคัญ
สามัญญผลอันจะบังเกิดแก่นักบวชนั้น
ใช้ว่าจะมีเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
ดลบันดาลให้เกิดขึ้นก็หาไม่
นักบวชจะต้องประกอบเหตุด้วยตนเอง
จึงจะได้รับผลเป็นของตน
เมื่อประกอบเหตุดี ย่อมจะต้องได้รับผลดี
ดังพุทธภาษิตที่ว่า

“หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”

ในสามัญญผลสูตรนี้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนด
ข้อปฏิบัติอันเป็นทางแห่งการบรรลุมรรคผลไว้
อย่างชัดเจน ถ้านักบวชรูปใดปฏิบัติตาม
อย่างเคร่งครัด ไม่มีขาดตกบกพร่อง
ไม่มีการพลิกแพลงดัดแปลงการปฏิบัติ
ให้ผิดเพื้ยนแตกต่างออกไป
เพื่ออนุโลมตามความสะดวกหรือความพอใจของตน
ก็ถือได้ว่าประกอบเหตุดี
ดังนั้น ผลดีคือสามัญญผลอันประณีต
ก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่นักบวชผู้นั้น
ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ดีแล้วอย่างแน่นอน

นักบวชผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล
หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช
จึงจำเป็นต้องขวนขวายในการประกอบเหตุดี
นำข้อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินั
ยมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง
มิใช่เพียงแค่จำพระคัมภีร์ หรือ
แตกฉานในพระไตรปิฏกแต่มิได้นำมาปฏิบัติ
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว
นักบวชย่อมไม่ได้รับผลดีอันใดแก่ตนเลย
ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

“ หากกล่าวพุทธพจน์ได้มาก
แต่เป็นคนประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น
ก็ไม่มีส่วนแห่งสามัญญผล
เหมือนคนเลี้ยงโค คอยนับโคให้ผู้อื่นฉะนั้น”

พุทธศาสนสุภาษิตนี้มีความหมายว่า
บุคคลที่สามารถจำพระธรรมคำสั่งสอน
ได้มากแต่ไม่ประพฤติธรรมนั้น
เปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค
รุ่งเช้าก็รับโคไปเลี้ยง
เย็นลงก็นับโคไปส่งคืน
แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสนมโคหรือ
ผลิตภัณฑ์จากโคนมเลย
เทียบได้กับผู้รู้ธรรมมาก
แสดงธรรมได้มาก มีชื่อเสียงมาก
แต่หากมิได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติ
ก็ย่อมไม่มีโอกาสบรรลุผลนิพานได้เลย

ชีวิตนักบวชนั้นประเสริฐสุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสามัญญผลสูตรว่า
“ฆราวาสเป็นทางคับแคบ
เป็นทางมาแห่งธุลี
บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง”
หมายความว่า
การครองชีวิตเป็นฆราวาสนั้น
ย่อมมีโอกาสปฏิบัติกุศลธรรมได้น้อยกว่า
การเป็นนักบวช ดังที่เราท่านเป็นประจักษ์
แจ้งแก่ใจกันดี ทั้งนี้เพราะการดำรงตน
เป็นฆราวาสต้องใช้เวลาในวันหนึ่ง
ให้หมดไปกับการทำมาหา
กินเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว
จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์
ไหว้พระในแต่ละวัน ซ้ำร้ายกว่านั้น
บางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้
เรื่องพระธรรมเลยทั้งๆที่
เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน
แต่ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา
จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต
ขาดหลักคิดด้วยโยนิโสมนสิการ
เมื่อขาดสิ่งนี้เสียแล้ว
คนเราย่อมประพฤติตนไปตาม
อำนาจกิเลส อันได้แก่
ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น
การที่ต้องเสียเวลาไปกับกิจทางโลกเช่นนี้
ย่อมยากที่จะมีโอกาสในการประพฤติธรรม
ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงาม
ความดีอย่างเต็มที่ จึงกล่าวได้ว่า
“ฆราวาสเป็นทางคับแคบ”

สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับ ทุกสังคม
ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับผู้บริหารประเทศ
ไปจนกระทั้งสังคมของบุคคลระดับหาเช้ากินค่ำ
ต่างก็ตกอยู่ในทางคับแคบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้การที่ต้องอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วย
ทั้งคนดีและคนชั่ว ซึ่งบางครั้งก็เลือกคบได้
บางครั้งก็เลือกไม่ได้ จึงมีโอกาสที่บุคคล
จะก่อกรรมทำเข็ญต่อกัน แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ
มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แก่งแย่งชิงดีกัน
ให้ร้ายป้ายสีกันหรือหักหลังกัน
จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้
เหล่านี้คือ “ทางมาแห่งธุลี”

ตราบใดที่คนเรายังครองชีวิตอยู่ในฆราวาสวิสัย
ก็ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม
เพื่อขัดเกลาตนเองให้หมดจากกิเลสทั้งปวงได้
นั่นย่อมหมายความว่า
เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ใน
วัฏฏสงสารอีกมิรู้สิ้น
ซึ่งหากพลาดพลั้งไปก่อกรรมทำเข็ญขั้นรุนแรงเข้า
ก็ย่อมจะต้องเสวยผลกรรมอยู่ในนรกโดย
ไม่มีผู้ใดสามารถช่วยลดหย่อนให้ได้
ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงทรงสนับสนุนการบวช ทั้งนี้ทรงชี้
ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐยิ่งของการบวช
ซึ่งแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรนี้อย่างชัดเจน
นั่นคือ “บรรพชาหรือการดำเนินชีวิต
เป็นนักบวชเป็นทางปลอดโปร่ง”

โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดตริตรอง
พิจารณาหาเหตุผล รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว
แล้วยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้น ยังอกุศลธรมให้เสื่อมไป
หรือการคิดถูกวิธีจนสามารถสาวไปหาต้นเหตุได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘