อยากรู้ไหม...อะไรคือสิทธิบัตร

สิทธิบัตร คงเป็นคำที่คุ้นหูหลายๆคน แต่คงไม่มากนักที่มีความเข้าใจถูกต้อง และ ลึกซึ้งถึงความสำคัญ และขอบเขตของคำๆนี้ เหตุเพราะคนส่วนหนึ่งซึ่งมีมากมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทำความเข้าใจได้ยาก ทั้งที่จริงแล้ว เรื่องของ การจดสิทธิบัตร นั้น ไม่ได้ยากเกินความเข้าใจ และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิดเลย ตรงกันข้ามกลับมีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่วันใดก็วัน หนึ่ง

สิทธิบัตร เป็นเอกสารคุ้มครองการประดิษฐ์ คิดค้นเกี่ยวกับกลไก โครงสร้าง หรือส่วนประกอบรวมถึง กรรมวิธี กระบวนการ หรือวิธีการใหม่ๆในการผลิต การเก็บรักษา การถนอม สูตร เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ หรือ กรรมวิธีใหม่ๆที่ต่างไปจากเดิม ลวดลายและสีของผลิตภัณฑ์ หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปทรง ภายใต้หลักเกณฑ์ง่ายๆว่า สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน หากเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือมีคนอื่นทำมาก่อนไม่ว่าใน หรือ ต่างประเทศ เราก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะจดสิทธิบัตรได้

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่รับจดสิทธิบัตร คือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ถ้าไม่ทราบขั้นตอนวิธีการ เขาก็มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษา แนะนำ หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารบบและหนังสือสำคัญ สำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.0-2547-4637 หรือต่างจังหวัดสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่ง

สิทธิบัตรมี 2 ประเภท ซึ่งมีอายุการคุ้มครองที่ต่างกัน คือ สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุคุ้มครองเป็นเวลา 20 ปี นับแต่วันที่มีการยื่นจด ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์มีอายุการคุ้มครอง 10 ปี นับแต่วันยื่นจดสิทธิบัตรเช่นเดียวกัน การจดสิทธิบัตรในประเทศไทยจะคุ้มครองภายในประเทศเท่านั้น หากจะให้มีผลคุ้มครองในประเทศใด ก็ต้องไปยื่นจดในประเทศนั้น

เมื่อเข้าใจดังนี้ จะเห็นได้ว่า การจดสิทธิบัตร นั้นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้คิดค้น และยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการค้า แะการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเราอย่างมาก แม้ว่าการจดสิทธิบัตรเป็นการปิดกั้น ไม่ให้คนอื่นนำความรู้นั้นไปใช้ใช้ประโยชน์ในทางการค้าก็ตาม แต่เปิดโอกาสให้มีการนำสิ่งที่คนอื่นจดทะเบียนแล้วไปพัฒนาต่อยอด เป็นการส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์คิดค้นพัฒนาขึ้นอีกด้วยซ้ำไป ท้ายที่สุดแล้วประโยชน์จากการประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ใหม่ หรือที่เรียกว่า "นวัตกรรม" จะตกอยู่ที่ประชาชนทั่วไป ซึ่งก็เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคิดค้นต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘