การเตรียมตัวก่อนบวช

เพราะมีแรงจูงใจ บุรุษจึงตัดสินใจเข้ามาบวช
ดังนั้นจึงเป็นการบวชที่มีเป้าหมายดีงาม สูงส่ง
มิใช่บวชอย่างคนสิ้นคิด
บุรุษผู้มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตฆราวาสว่า
ทั้งคับแคบและเป็นที่มาของกิเลส
โดยตรองเห็นคุณของชีวิตนักบวชว่า
มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์

การบวชนั้น บางคนบวชแต่กาย แต่ใจไม่บวช
บางคนบวชใจ แต่กายไม่บวช
บางคนบวชทั้งกายบวช ทั้งใจ

ถึงแม้บวชชั่วคราวก็ถือว่าบวชเหมือนกัน
เพราะคำว่า " บวช " หมายถึง การงดเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี
สิ่งที่ทำใจเราให้ต่ำ สิ่งที่ขัดขวางความก้าวหน้าในชีวิต

ฉะนั้นผู้บวชเข้ามาจึงมีหลายประเภท
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการบวช ในพระพุทธศาสนา
ก็คือ นิพพาน อันเป็นความสิ้นทุกข์
ทุกข์มันทำความเดือดร้อนให้อย่างไร?
ทำไม? จึงต้องให้มันสิ้นเสีย
เพราะตัวทุกข์นี่เองทำให้เราต้องเดือดร้อนวุ่นวาย
อันเป็นผลมาจากกิเลส ทำให้สัตว์โลกต้อง
เวียนว่าย ตาย เกิด ไม่มีที่สิ้นสุด เกิดแล้วเกิดอีก
ทำให้เราถูกแผดเผาด้วยอำนาจเพลิงกิเลส
คือ โลภ โกรธ หลง

วิตามินแห่งการเป็นพระ

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

เมื่อบวชเป็นพระแล้วต้องตั้งใจบำเพ็ญ
สมณธรรมตลอดชีวิต ต้องดูแลตัวเองให้ดี
เพื่อที่จะไปดูแลผู้อื่นได้ แล้วก็ให้ศึกษาที่
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เทศนา และวิชชาธรรมกาย
ให้แตกฉาน ถ้าบวชแล้วบำเพ็ญสมณธรรม
ไม่เจริญศีล สมาธิ ปัญญา หรือพูดง่ายๆว่า
ไม่ได้นั่งสมาธิ บวชมาก็อย่างนั้นๆไม่ได้อะไร
เพราะบวชแล้วก็ยังไม่รู้ว่า
ความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร

หรือวิตามินของความเป็นพระ
มันมีรสอร่อยโอชาอย่างไร

เราจะไม่มีวันรู้จักเลย ถ้าไม่บำเพ็ญสมณธรรม
ถ้าไม่ทำสมาธิ แค่อ่านจากตำรับตำรา
มันทราบ แต่มันไม่ลึกซึ้ง คือทราบว่า มันเป็นอย่างนั้น
อย่างนี้ แต่ไม่ซึ้ง เพราะอ่านไปก็ยังสงสัยอยู่
เอ๊ะ ใช่หรือเปล่า เอ๊ะ มีจริงไหม พอเอ๊ะ ทีไรมันแปล๊บ
เข้าไปในใจทุกครั้ง เพราะมันยังไม่ค่อยมั่นใจ
ถ้าเราไม่มั่นใจแล้วเวลาญาติโยมถาม
นรกสวรรค์มีจริงไหม บาปบุญคุณโทษมีไหม
มันก็ไม่ค่อยจะมั่นใจตอบแบบคลุมๆ เครือๆ
ตอบแบบกำกวม มันก็น่าจะมีนะอะไรอย่างนี้
โยมได้ฟังแล้วก็ เอ้อ บุญก็น่าจะทำนะ แล้วก็ไม่ทำ
แต่ถ้าบอกมีจริง อ่ะ ทำ ถ้าบอกไม่มีก็ไม่ทำ
ถ้าบอกน่าจะมี ก็น่าจะทำ มันเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บวชแล้วอยากรู้รสชาติของการบวชว่า
ปวัชชะ เว้นจากการกระทำแบบคฤหัสถ์
ที่สงัดจากกามและบาปอกุศลธรรม
ละวิตก วิจาร เข้าถึงปิติ สุข เอกัคคตา เป็นอย่างไร
การที่จะไปอ่านตำรับตำราอย่างเดียว ไม่มีวันรู้เรื่อง
มันต้องลงมือปฏิบัติ จนกระทั่งใจหยุดนิ่ง
พอใจใสแล้ว สงัดจากกาม ใจจะกว้างขวาง
เราจะซาบซึ้งว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
การเป็นคฤหัสถ์ การครองเรือนนั้น
มันอึดอัด
มันคับแคบ
การที่เราจะรู้ว่ามันอึดอัดมันคับแคบเป็นอย่างไร

เราก็จะต้องรู้จักว่า ใจที่มันกว้างขวาง
ที่มันขยายนั้นเป็นอย่างไร
ทีนี้ใจจะขยายได้ ใจต้องหยุดนิ่ง

การทำบุญใหญ่ด้วยมหาทานบารมี
ก็ได้รู้จักบ้างเล็กน้อย

ตอนเกิดปิติสุข ขนลุก ขนพอง
แต่ปริมาณยังไม่เท่ากับใจหยุดนิ่ง

เมื่อใจหยุดนิ่งแล้ว ใจจะขยายออกไปเลย
มันมีปิติ มีความสุข แล้วมีความเบิกบาน
อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และไม่มีสิ่งใดที่จะมาเปรียบเทียบได้
เพราะฉะนั้นจะรู้จักวิตามินพระได้ ต้องนั่งสมาธิ
ต้องทำตรงนี้ ถ้ามัวแต่เม้าท์กัน โม้กันก็ไม่มีวันรู้จัก
อีกประการหนึ่ง เราจะได้ขบฉันด้วยความเป็นนาย
ไม่ฉันด้วยความเป็นหนี้ เป็นผู้ให้ เป็นทักขิไณยบุคคล
เป็นเนื้อนาบุญ เราจะเป็นเนื้อนาบุญได้
ก็ต้องเข้าถึงนาบุญซึ่งอยู่ภายใน
ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตรงนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วย
ปุ๋ยแห่งความดี เป็นพลังงานอันบริสุทธิ์ที่
มีอานุภาพไม่มีวันสิ้นสุด เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและ
ความสำเร็จในชีวิต ญาติโยมที่เขามาทำบุญกับเรา
ที่เขานำภัตตราหารมาถวาย
แล้วทุกคำกลืนที่เรากลืนไป

เปรียบเหมือนกับกลืนเพชรกลืนพลอย
มันใสยิ่งกว่าอาหารทิพย์ เพราะขณะที่ฉันนั้น
ใจเราใสสว่าง ทุกคำกลืนก็เปลี่ยนเป็นบุญเกิดขึ้น
กับเราก่อน แล้วไปถึงญาติโยมด้วย อย่างนี้
ฉันด้วยความไม่เป็นหนี้ แต่ฉันด้วยความเป็นนาย
และอีกประการหนึ่ง ที่หลวงพ่ออยากจะฝากเอาไว้
ทั้งลูกพระลูกเณรในวัดและประจำที่ศูนย์สาขาต่างๆ
ก็ดีว่า
บวชเป็นพระเป็นเณรแล้วอย่าดูหนัง
ดูละครนะลูกนะ
ดีอย่างที่นี่ไม่มีทีวีเอาไว้สำหรับ
ดูหนังดูละคร
เพราะมีความคิดว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร
อีกอย่างโยมเขาถือศีล 8 ถือศีลอุโบสถ
โยมเขายังไม่ดูหนังดูละครเลย เพราะฉะนั้น
ลูกพระลูกเณร อย่าไปดูนะลูกนะ มันไม่เกิดประโยชน์
มันก็อย่างนั้นแหละ คิดดูก็แล้วกัน เราถือศีล 227 ข้อ
โยมถือศีล 8 ข้อ เขายังทำได้ เราถือศีล 227 ข้อ
ทำไม่ได้มันก็พิลึก ถ้าอย่างนั้นก็อย่า
ไปฉันข้าวของโยมเลย
อย่างนี้ต้องถือศีล
กินวาตา กินลม จะได้ไม่เป็นหนี้

หากเราดูหนังดูละครมันเป็นหนี้เขานะ
ต้องไปเกิดเป็นอะไร
ให้เขาใช้ ทำข้าวให้เขากินแทน
เพราะเรากินข้าวของเขาน่ะ มันก็ต้องผลัดกัน
เพราะฉะนั้น ลูกพระลูกเณรอย่านะลูกนะ
บวชเป็นพระแล้วต้องบำเพ็ญสมณธรรม
วิตามินของพระ คือ บำเพ็ญสมณธรรม
อย่าลืมประโยคนี้

แล้วจะสนุกกันใหญ่เลย เรามีโอกาสสว่าง
ชีวิตเราไม่คับแคบ ไม่มีเครื่องกังวล
จะแสวงหาความรู้ภายในได้ไปเรื่อยๆ
เป็นความรู้คู่ความสุข ความรู้จะไม่มีวันสิ้นสุด
เมื่อใจหยุดนิ่งแล้ว


พระสูตรที่ต้องศึกษา

การศึกษาสามัญญผลสูตร จะช่วยให้เกิดความเข้าใจว่า
เหตุใดมนุษย์เราจึงควรบวช เมื่อบวชแล้ว
จะต้องปฏิบัติตนอย่างใดบ้าง
และเมื่อปฎิบัติตนตามขั้นตอนเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าประพฤพรหมจรรย์
โดยบริบูรณ์แล้วจะเกิดผลดีต่อ
ผู้ประพฤติเองอย่างไรบ้าง
ความรู้เหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ศึกษาตรองเห็นด้วยปัญญาว่า
การดำเนินชีวิตเป็นนักบวชแท้ๆในพระธรรมวินัยนั้น
ประเสริฐสุด ไม่มีการดำเนินชีวิตแบบใดๆจะเทียบได้เลย
สามัญญผลสูตรนี้ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
ทั้งต่อนักบวชและฆราวาสในด้านต่างๆหลายประการ
ดังต่อไปนี้คือ

1. มาตราฐานของนักบวช

ธรรมะที่ปรากฏอยู่ในสามัญญผลสูตรนี้ถือได้ว่า
เป็นเกณฑ์มาตราฐานด้านหลักการและคุณธรรม
ของนักบวชอย่างแท้จริง เพราะได้ให้ภาพที่ชัดเจน
เกี่ยวกับมาตราฐานของนักบวชว่า
นักบวชที่สมบูรณ์แบบ
ไม่ว่าจะเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาหรือ
ศาสนาใดๆก็ตาม
จะต้องมีหลักการและคุณธรรมอย่างใดบ้าง
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักบวชโดยตรง
ยิ่งกว่านั้นความเข้าใจนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ต่อฆราวาสทั้งหลาย ในการพิจารณาว่า
นักบวชรูปใดดีหรือไม่ดี จริงหรือปลอม
สามารถยึดเป็นที่พึ่งที่ระลึกได้หรือไม่
เพื่อว่าจะได้หลีกเลี่ยงจากนักบวชซึ่งเผยแพร่
ลัทธิคำสอนที่เป็นอันตรายต่อ ชาวโลก
หรือเพื่อป้องกันตัวไม่ให้
เป็นเครื่องมือของนักบวชทุศีล
หรือเพื่อไม่ให้หลงงมงายตามคำสอนของนักบวชที่
ปฏิบัตินอกลู่นอกทางไปจากพระธรรม
คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. การปฏิบัติตนต่อนักบวช

ฆราวาสโดยทั่วไปเมื่ออ่านพระสูตรนี้แล้ว
ย่อมเข้าใจได้เองว่าควรจะประพฤติปฏิบัติตน
ต่อนักบวชอย่างไรจึงจะไม่ขัดต่อพระวินัย
หรือศีลของนักบวช อันมีจุลศีล
มัชฌิมศีล มหาศีล เป็นต้น
และถ้าปรารถนาจะได้รับความรู้ ความดีหรือ
บุญกุศลจากนักบวช ก็ควรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร
และจะสนับสนุนนักบวชอย่างไรบ้าง เป็นต้น
ทั้งเกิดความเข้าใจว่าแม้ตนเองไม่ได้บว
ชก็จะสามารถบำเพ็ญกุศลธรรมได้
โดยทำหน้าที่เป็นกำลังสนับสนุนนักบวช
ให้ส่งเสริมสันติสุขแก่โลกได้อย่างกว้างขวาง

3. การเตรียมตัวก่อนบวช

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้บวชหากวันใดวันหนึ่
งคิดจะออกบวชบ้างก็จะสามารถเตรียมตัว
เตรียมใจล่วงหน้าได้ถูกต้อง
จึงจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการบวช
ทั้งไม่เป็นนักบวชที่มีส่วนทำลายพระพุทธศาสนา
ไม่เป็นนักบวชที่มอมเมาประชาชน
และไม่เป็นนักบวชที่สร้างความสับสนจนทำให้
ประชาชนเข้าใจพระพุทธศาสนาผิด
ถ้าเป็นการบวชตลอดชีวิต ก็จะเป็นการบวช
เพื่อมรรคผลนิพพานโดยแท้
หรือแม้ว่าจะเป็นการบวชระยะสั้น
ดังที่นิยมบวชกันตามประเพณีของไทย
ในช่วงฤดูเข้าพรรษา
ผู้บวชก็จะได้รับรสพระธรรมอันประเสริฐ
ถูกต้องตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตรัสไว้ดีแล้วซึ่งจะช่วยให้ผู้บวชเกิด
โยนิโสมนสิการอันเป็นประโยชน์โดยตรง
ต่อการครองชีวิตฆราวาส
เมื่อลาสิกขาแล้ว และเป็นประโยชน์ทางอ้อม
ต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
ทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุง
พระพุทธศาสนาให้ยืนยาวอยู่คู่โลกอีกด้วย

4. บทสรุปหลักศาสนา

สามัญญผลสูตรเป็นบทสรุปหลักการและวิธีการปฏิบัติ
ในพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ยิ่งสูตรหนึ่ง
เพราะสามารถสะท้อนภาพรวมแห่ง เหตุ และ ผล
อันเป็นหัวใจคำสอนในพระพุทธศาสนา
ออกมาได้อย่างชัดเจน
“เหตุ” คือข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ
ไว้ให้นักบวชประพฤติปฏิบัติตาม
รวมทั้งต้องไม่ปฏิบัติในข้อที่ทรงห้ามไว้ด้วย
“ผล” คือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้รับจากการปฏิบัตินั้น
ซึ่งมีอยู่หลายระดับ
สามัญญผลสูตรจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อ
นักการศาสนารวมถึงนักบวชทั้งหลาย
เพราะเป็นหลักเกณฑ์มาตราฐานแห่งการครองตน
ในฐานะนักบวช ที่สามารถใช้เป็นเครื่องตรวจสอบ
การประพฤติปฏิบัติของนักบวชเอง
และนักบวชผู้อยู่ในความดูแล
ยิ่งกว่านั้นผู้ที่มีความเข้าใจสามัญยผลสูตรอย่างถ่องแท้
ย่อมจะสามารถอธิบายหลักการและ
วิธีการสำคัญในพระพุทธศาสนา
ให้ผู้ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา
หรือให้บุคคลต่างศาสนาเข้าใจได้ในระยะเวลาสั้นๆ
แม้เพียง 5 หรือ 10 นาที ถ้าเราสามารถอธิบาย
หลักการและวิธีการของพระพุทธศาสนา
ได้อย่างชัดเจนแล้ว ผู้ฟังที่มีปัญญาไตร่ตรอง
แม้จะนับถือศาสนาอื่น
ก็ย่อมจะนำสิ่งที่ได้ฟังไปพิจารณาเปรียบเทียบกับ
หลักการและวิธีการในศาสนาของเขา
ซึ่งในที่สุดอาจจะเห็นแนวทางที่จะปรับเข้าหากันได้
ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นสามารถอยู่ร่วมกับ
ชาวพุทธได้อย่างสันติสุข โดยปราศจากความขัดแย้ง
ซึ่งกันและกันในด้านทิฐิ

5. การสั่งสมบุญบารมี

สามัญญผลสูตรเหมาะสำหรับผู้ตั้งใจสั่งสมบุญบารมี
เป็นอย่างยิ่ง นักสร้างบุญบารมีทั้งหลาย
ถ้าทำความเข้าใจ
สามัญญผลสูตรได้เป็นอย่างดีแล้วจะสามารถ
สร้างบารมีได้อย่างยิ่งยวด สามารถเดินหรือ
ปฏิบัติตามรอยบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้
และเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย
ไปได้อย่างองอาจ ไม่มีผิดพลาด
จนบรรลุมรรคผลได้อย่างอัศจรรย์
แม้ในระหว่างที่ยังไม่บรรลุ ก็รู้ได้ว่ามีสิ่งใดบ้าง
ที่ต้องระมัดระวังหรือต้องปรับปรุงให้ดียิ่งๆขื้นไป

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า “สามัญญผลสูตร”
เป็นพระสูตรอันมหัศจรรย์อย่างยิ่งเพราะนอกจากจะ
ชี้ทางสว่างให้แก่นักบวชและ
ผู้ปรารถนามรรคผลนิพพานแล้ว
ยังให้แนวคิดที่มีคุณค่ายิ่งต่อผู้ครองเรือน
โดยอเนกประการดังได้กล่าวแล้ว

ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘