วิธีใช้หนังสือเล่มนี้

(๑) ใช้เป็นหนังสือแบบเรียนของผู้ใหญ่

      ใช้ช่วยกันสอนด้วยปาก จนจำข้อความในบาลีนั้นได้สักบทหนึ่ง หรือสองบทก่อน แล้วจึงค่อยให้ผู้ที่จำได้แล้วนั้น ศึกษาแยกคำ แยกตัวอักษร เป็นคำๆ หรือเป็นตัว ๆ ไป จนจำตัวหนังสือ หรือคำทั้ง ๆ คำ อย่างเรียนหนังสือจีนได้ตลอดบทนั้น ๆ แล้วจึงเรียนบทอื่น ๆ ทำนองนั้น ไปจนตลอดเล่ม.

      ยกตัวอย่างเช่น สอนให้จำ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ได้, หรือจำพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ได้ปากเปล่าเสียก่อน, แล้วให้แยกคำว่า นะโม ออกให้ดู เป็นตัว น, เป็นสระ ะ, เป็นสระ โ , เป็น ตัว ม, เป็นต้น, จนจำได้ เข้าใจ และอ่านเองได้, แล้วให้หัดเอาสระ อะ หรือสระ โอ นั้น ไปใส่ เข้าที่ตัวอื่น จนอ่านออกได้เอง ด้วยการเทียบเคียง. วันพระหนึ่งเรียนเพียงบรรทัดเดียวไปก่อน, แล้วค่อยขยายเป็นสอง สาม สี่ บรรทัดตามลำดับไป, โดยวิธีนี้ ได้เคยทดลองจัดให้สอนคนแก่อายุ ๕๐ ปีเศษเป็นผู้หญิงชาวนาไม่เคยเรียนหนังสือ ให้รู้หนังสือ จนอ่านหนังสือเล่มนี้ ได้ด้วยตนเองมาแล้ว.

      ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องเป็นคนมีศรัทธาอยากเรียนรู้พระพุทธวจนะจริงๆ เป็นกำลังใจอันสำคัญ, และมีความมานะพยายามตามสมควร.

(๒) ใช้ศึกษาในฐานะเป็นหนังสือไหว้พระสวดมนต์

      ในความมุ่งหมายข้อนี้ ใช้เป็นหนังสืออ่านท่องจำสำหรับอุบาสกอุบาสิกา หรือแม้ที่สุดแต่เจ้านาคจะบวชพระและบวชเณร, จะท่องแค่คำบาลีก็ไค้ โดยเลือกดูแต่ทางที่เป็นคำบาลี, จะเรียนคำแปลทีหลังก็ไค้. แค่สำหรับอุบาสกอุบาสิกาสูงอายุแล้ว ต้องเรียนพร้อมกันไป สะดวกกว่า เพราะบางบท ก็มักจะจำได้กันอยู่แล้ว, ถ้ายังไม่รู้หนังสือ ก็เรียนในฐานะเป็นหนังสือไทย ไปในตัว, คนแก่ๆ จะต้องวานเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานให้สอนไปก่อน ด้วยความอดกลั้นอดทนและรักที่จะรู้พระพุทธศาสนา. เมื่อเขาว่ากัน ในตอนแรก ๆ ตนจะต้องว่าตามอยู่แต่ในใจ อย่าหาญว่าออกมาดัง ๆ ด้วยความโอ้อวด จะทำให้ผิดติดปากโดยไม่รู้ตัว แล้วแก้ยากไปจนตาย. เมื่อรู้สึกว่าตนว่าถูกต้องดีเหมือนเขาแล้ว จึงค่อยว่าดัง ๆ เฉพาะบทที่จำได้ดีแล้วนั้น. ในวันอุโบสถที่นอนค้างที่วัด มักมีการซ้อมกันหลาย ๆ ครั้ง ทุก ๆ วัน.

(๓) ใช้ศึกษาในฐานะเป็นหนังสือธรรมะ

ในความมุ่งหมายข้อนี้ หมายถึงเมื่อจำได้พอสมควรแล้ว ศึกษาเพื่อให้เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งของคำนั้น ๆ หรือหลักธรรมะข้อนั้น. เช่นได้ฟังคำว่า พระอรหันต์ ดับเพลิงกิเลส และเพลิงทุกข์สิ้นเชิง (ที่หน้า ๑ ของคำบูชาพระรัตนตรัย). ตนจะต้องไต่ถามท่านผู้รู้ หรือฟังท่านผู้รู้อธิบาย ว่าเพลิงกิเลสนั้น คืออะไร, เพลิงทุกข์นั้นคืออะไร, และดับสิ้นเชิง นั้นดับอย่างไร. ตามธรรมดา ตัวเองถูกเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ เผาอยู่ทั้งวันทั้ง คืน ก็หารู้สึกหรือรู้จักไม่. หรือว่า เมื่อสวดในบทว่า พระพุทธเจ้ามีพระคุณดุจห้วงมหรรณพ, (ที่หน้า ๖) ตนอาจไม่รู้แม้แต่ว่า มหรรณพ นั้นคืออะไร, จะต้องไต่ถามเขาจนทราบว่า มหรรณพ นั้น คือ มหาสมุทร. แม้เมื่อทราบว่ามีพระคุณดุจมหาสมุทร ก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ว่ามันเหมือนกับมหาสมุทรอย่างไร, จะต้องไต่ถามต่อไปจนได้ความว่า มีพระกรุณาแก่สัตว์กว้างและลึก อย่างไม่มีขอบขีด และมากเหลือที่จะคณนาดั่งน้ำในมหาสมุทร เป็นต้น; แล้วยังต้องเห็นจริงอีกว่า เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร.

หรือเมื่อศึกษาจบทั้งบท เช่นบท เขมาเขมสรณทีปิกคาถา ก็ต้องศึกษาจน เห็นชัดว่า ตนกำลังถือที่ พึ่งที่ไม่เกษมอยู่อย่างไร ; ไม่จำเป็นต้องตรงตามตัวอักษรใน เรื่องนั้นเสมอไป, เช่นตนกำลังเชื่อคุณตะกรุดหรือเครื่องรางบางอย่างอยู่. ก็มีค่าเท่ากับถือต้นไม้ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้นเหมือนกัน. ตลอดถึงมีความรู้เรื่อง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และอริยสัจสี่ อย่างละเอียดทั่วถึงยิ่งขึ้นไปจริง ๆ.

หวังว่า ท่านผู้ได้ใช้หนังสือนี้ จะสามารถถือเอาประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือครบทั้ง ๓ อย่าง จากหนังสือเล่มนี้ ได้ตามกำลังสติปัญญาของตนกัน ทุกๆคน.

พระอริยนันทมุนี
ในนามผู้อำนวยการคณะธรรมทาน
๑ ก.ย. ๒๔๙๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘