ความเป็นมาของ "ลินุกซ์ทะเล"

หลายคนที่ได้มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ในอดีตจะต้องเคยคิดที่อยากจะได้ คอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้กับภาษาไทย แทนที่ต้องอ่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็ต้องทนใช้อักษรโรมันเขียนเป็นคำอ่านสำหรับคำไทย. ยิ่งคนที่มีโอกาสเรียนรู้วิธีเขียนโปรแกรมแล้วก็ยิ่งอยากจะท้าทายตัวเองโดย การเขียนโปรแกรมให้สามารถพิมพ์และแสดงผลภาษาไทย. "ดวงจันทร์", "ขวัญใจนักพิมพ์ดีด", "เวิร์ดสตาร์ภาษาไทย", "เวิร์ดจุฬา", "เวิร์ดรามา", "เวิร์ดราชวิถี" จึงได้ปรากฏให้เห็นต่อๆ กันมา. รหัสสำหรับอักษรไทยก็ได้มีความพยายามเสนอกันขึ้นมามากมายจนในที่สุดก็ได้ tis-620, iso-8859-11 เป็นมาตรฐาน, โดยมี Windows-874 เป็น defacto standard ที่แพร่หลายมากแม้ในขณะนี้.

เมื่อ จำเป็นต้องใช้ UNIX เพื่องานวิจัยการแก้ปัญหาจึงต่างออกไป เนื่องจาก ตั้งแต่ความเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นมีความซับซ้อนมากจึงได้มีการแยกการประมวลผล เป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน. มี UNIX เป็นแกน (kernel) แล้วมีโปรแกรมประยุกต์ประกอบอยู่รอบๆ เป็น shell. X Window ก็ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ที่มีวิธีการ (method) ที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน. X Window จึงได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับโดยมี Graphical User Interface (GUI) ที่ได้รับการพัฒนาให้เป็น object-oriented class หรือที่เรียกว่า widget ใน X Toolkit (Xt และ Xaw --Athena Widget--) หรือ XFree86 ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายบนลินุกซ์ใน ปัจจุบันนี้. จาก tterm สู่ txedit จนในที่สุดเป็น widget ใน X Toolkit ที่สนับสนุนการ พัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับใช้งานภายใต้ X Window จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งที่มุ่งสู่การ เปิดโลกสำหรับการใช้งานภาษาไทยภายใต้ระบบปฏิบัติการ UNIX.

เมื่อ กันยายน 2535 ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาภาษาและวิทยาการความรู้ (Linguistics and Knowledge Science Laboratory) หรือที่รู้จักกันในนามของ LINKS ได้ตั้งขึ้นเพื่อบุกเบิกงานวิจัยด้านการประมวลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing). ความตั้งใจแรกสุดคือการพัฒนาระบบแปลภาษาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และพจนานุกรม อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ที่ได้เริ่มไปบ้างแล้วในครั้งเมื่อเนคเทคได้มีโอกาส เข้าร่วมใน โครงการวิจัยระบบแปลภาษาแบบหลากภาษากับประเทศต่างๆ ในเอเชีย. ผลพลอยได้จากงาน วิจัยนี้เองทำให้เราได้ฟอนต์บิทแม็ป, ระบบป้อนอักขระไทย, ระบบแสดงผล, โปรแกรมตัดคำโดยใช้พจนานุกรม, ระบบพจนานุกรมแบบ btree และ trie, ตลอดจนโปรแกรมเครื่องมือต่างๆ ในการแปลงรหัสที่มีอยู่มากชนิดในขณะนั้น. ด้วยงานส่วนใหญ่ได้พัฒนาภายใต้ระบบปฏิบัติการยูนิกส์และ X Window กอรป์กับความต้องการที่จะเผยแพร่และเสนอเป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตจึงได้มีการ รวบรวมผลงานเพื่อประกอบให้กับลินุกซ์และ Emacs เป็นการประเมินงานวิจัยในการใช้งานจริง.

มหกรรม โอเพนซอร์ส/ลินุกซ์ ครั้งที่ 1 (Workshop on Thailand Open Source / Linux I) จึงได้จัดขึ้นเมื่อ 15 กค. 2542. งานครั้งนี้ถือเป็นกำเนิดของ "ลินุกซ์ทะเล (LinuxTLE)" ("ลินุกซ์ทะเล (LinuxTLE)" เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการพร้อมโลโก้ปลาโลมาตั้งเวอร์ชัน 3.0 เป็นต้นมา) โดยเกิดจากความมุ่งมั่นจากหลายฝ่ายทีเดียว: ไม่ว่าจะเป็น ผู้คนในห้องแล็ป LINKS, เนคเทคที่ช่วยพัฒนาและประสานงาน; Dr Satoru Tomura, Dr Mikiko Nishikimi, Dr Ken-ichi Handa, Dr Naoto Takahashi จากกลุ่ม Free Software ใน ETL (Electro-Technical Laboratory, Japan) ที่เป็นแหล่งพักพิงและให้ความช่วยเหลือมากมายเมื่อยามเริ่มหาทางให้กับลินุก ซ์ฉบับภาษาไทย และ Emacs สำหรับภาษาไทย; Mr Steve Baur, Mr Martin Buchholz และ Dr Tomohiko Morioka จากกลุ่ม Free Software ใน ETL (Electro-Technical Laboratory, Japan) ที่ช่วยให้ Thai-XTIS ได้ทดลองใช้ใน XEmacs; Dr Yannis Haralambous และ Ms Tereza Tranaka ภรรยา ที่ช่วยพัฒนาให้ฟอนต์ต้นฉบับสำหรับสร้างเป็นฟอนต์นรสีห์เป็นจริงขึ้นมาได้; กลุ่ม TLWG (Thai Linux Working Group) ที่ช่วยทำ package และทดสอบให้กับลินุกซ์ทะเล; และที่ขาดเสียมิได้คือ Mr Masaki Komurasaki จาก CICC ญี่ปุ่นประจำสิงคโปร์ที่เห็นความสำคัญให้เงินทุนอุดหนุนทั้งการจัดงานและผลิ ตซีดีรอมทั้งหมด.

จึงกล่าวได้ว่า "ลินุกซ์ทะเล" กำหนดขึ้นได้จากความเหมาะเจาะและลงตัวของหลายๆ สิ่งซึ่งเราอาจไม่มีตัวเลือกมากนักในงานสร้างสรรค์เช่นนี้. บุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนที่อยู่เบื้องหลังความพยายามทั ้งหมด. ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้รวมทั้ง Richard Stallman ที่จุดประกายและ Linus Torvalds ที่สร้าง GNU/Linux ขึ้นมาเป็นต้น. "ลินุกซ์ทะเล" จึงเป็นของทุกคนมีคุณค่าแก่การรักษาและให้คงอยู่สืบไปตามเจตนารมณ์แห่งโอเพน ซอร์ส. ขอระลึกถึงด้วยความขอบคุณมา ณ ที่นี้.

การใช้ Linux ในประเทศไทยนั้นมีมานานแล้ว ในระยะแรกนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จะมีอยู่ตาม สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย หลังจากนั้นก็ได้แพร่หลายไปยังบริษัทเอกชน ที่ประกอบธุรกิจด้าน Internet และภาคเอกชนอื่นๆ รวมถึงภาครัฐ อย่างไรก็ดี การใช้งาน Linux ในระยะแรกยังเป็นไปอย่างไม่ง่ายดายสำหรับผู้ใช้ทั่วไปนัก เนื่องจากวิธีการใช้งานที่ค่อนข้างซับซ้อน และ เอกสารภาษาไทยยังมีไม่มาก ผลิตผลของคนไทยหรือที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยบน Linux มีกลุ่มที่เด่นๆ เช่น ไกวัล ลินุกซ์ เน้นทำ Distribution แบบธุรกิจ, บูรพาลินุกซ์เป็น Distribution จากมหาวิทยาลัยบูรพา และกลุ่ม ZzzThai ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนไทยในมหาวิทยาลัย Electro Communications ที่โตเกียว ทำการพัฒนาด้านภาษาไทย และ Thai Extension (ชุดซอฟต์แวร์ที่ลงเพิ่มบน Linux ปกติแล้วทำให้ใช้งานภาษาไทยได้) นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาอิสระกระจายอยู่ทั่วไป

ในปี 2540 (1997) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดย ห้องปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ได้มีการนำเอาซอฟต์แวร์ Linux มาพัฒนาเป็น Internet Server สำหรับโรงเรียน เพื่อใช้เป็นเครื่องบริการในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของโรงเรียน ใน โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อโรงเรียนไทย (SchoolNet) ) ภายใต้ชื่อ Linux School Internet Server (Linux SIS) โดยเน้นการพัฒนาให้ง่ายต่อการติดตั้งและการใช้งาน สำหรับครูในโรงเรียน และประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถใช้งานแทนอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ราคาสูง โดย Linux-SIS 1.0 ได้ออกเผยแพร่ในเดือนเมษายนปี 2540 (1997) เวอร์ชั่น 2.0 ในเดือนมีนาคมปี 2541 (1998)

หลังจากที่ Linux-SIS 2.0 ได้ออกเผยแพร่ ทีมพัฒนา Linux-SIS ของเนคเทค ได้มีโอกาสพบปะกับกับ ผู้ใช้และนักพัฒนาจากสถาบันและหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และมีความเห็นตรงกันที่จะรวมกลุ่มกันขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และร่วมกันพัฒนาซอฟต์แวร์ Linux ให้เหมาะกับการใช้งานของคนไทยมากขึ้น ให้ทำงานไม่ซ้ำซ้อนกัน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Thai Linux Working Group และเวบไซต์ http://linux.thai.net (LTN) ในเดือนกันยายน 2541 (1998)

เป้าหมาย อันดับแรกของ TLWG และ LTN ก็คือ จัดทำบริการ mailing list ที่มีการเชื่อมต่อกับ newsgroup (โดยความสนับสนุนจากคุณวุฒิชัย ที่ประเทศญี่ปุ่น) และ wwwboard เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้มาสนทนากันได้โดยสะดวก และเปิดเผย ตามวิธีที่ชอบ และมีการรวบรวมงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษาไทย ซึ่งตอนแรกนั้นอยู่ กระจัดกระจายกันไป เข้ามาไว้ด้วยกัน และมีแผนหนึ่งปีคร่าวๆ ที่จะทำ Linux Distribution ที่เน้นการใช้งานภาษาไทยบน Desktop โครงร่างแผนการคร่าวๆ สามารถดูได้ที่ http://linux.thai.net/old-proposal.html โดยขณะนั้นยังตั้งชื่อเป้าหมายผลิตภัณฑ์เป็น Thai Linux 1.0 (ภายหลังเมื่อเสร็จแล้ว ถูกตั้งชื่อเป็น MaTEL และ Linux-TLE ตามลำดับ ดังจะกล่าวต่อไป) การทำงานของ TLWG ได้รับการสนับสนุนอย่างมากด้านทรัพยากรจาก NECTEC

งานพัฒนาของกลุ่ม คน TLWG ได้เริ่มโดยการปรับปรุง Thai Extension (ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมภาษาไทย ที่จะไปลงเพิ่มเติมบนซอฟต์แวร์ Linux แล้วทำให้ใช้งานภาษาไทยได้) ต่อจากที่ตัวที่ คุณพูลลาภและคุณไพศาล (ขณะนั้นเป็นนักเรียนไทยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น, กลุ่ม ZzzThai ที่กล่าวข้างต้น) ได้พัฒนาไว้ (TE_Jan22.tar.gz ซึ่งประกอบด้วยฟอนต์ไทย, ผังแป้นพิมพ์ไทย, เทอร์มินัลภาษาไทย และอื่นๆ) ให้ใช้งานได้บน Red Hat 6.0/Mandrake 6.0 โดยคุณพูลลาภยังเป็นกำลังสำคัญในการทำงานดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากนักพัฒนาในแหล่งอื่น เช่น NECTEC โดยเฉพาะทางฝ่าย ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาภาษาและวิทยาการความรู้ (Linguistics and Knowledge Science Laboratory) หรือที่รู้จักกันในนามของ LINKS ซึ่งในขณะนั้นมีงานพัฒนาภาษาไทยใน Mule/Emacs (โดย ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช ร่วมกับทาง ElectroTechnical Laboratory (ETL) ประเทศญี่ปุ่น), LaTeX ภาษาไทย (โดย ดร. สุรพันธ์ เมฆนาวิน พร้อมฟอนต์จากการทำงานร่วมกันของ ดร.วิรัช และ Yannis Haralambous ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานชื่อฟอนต์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ว่า "นรสีห์"), โปรแกรมตัดคำภาษาไทย swath (โดย คุณไพศาล เจริญพรสวัสดิ์), พจนานุกรมไทย-อังกฤษ Lexitron และ th_TH locale หรือข้อกำหนดธรรมเนียมท้องถิ่นไทย (โดยคุณเทพพิทักษ์ การุญบุญญานันท์); คุณวุฒิชัย อัมพรอร่ามเวทย์ ซึ่งพัฒนาเทอร์มินัลภาษาไทยและโปรแกรมตัดคำไทย cttex; คุณพฤษภ์ บุญมา ซึ่งพัฒนาการเรียงคำไทยใน MySQL; คุณ ]d ซึ่งพัฒนา windowmaker และโปรแกรมแสดงสถานะภาษาแป้นพิมพ์ nonlock; ไกวัลซอฟต์แวร์ซึ่งช่วยพัฒนา KDE front-end สำหรับ Lexitron และอื่นๆ อีกพอสมควร รายละเอียดสามารถดูได้ที่ ftp://linux.thai.net/pub/thailinux/software/software.old/TE/redhat-6.0-6.1 (เดิมอยู่ที่ NECTEC FTP: ftp://ftp.nectec.or.th/pub/thailinux/software/TE/redhat-6.0-6.1/)

หลัง จากที่มี Thai Extension แล้ว ก็มีแนวความคิด ที่จะทำให้ใช้งาน Linux กับภาษาไทย ได้ง่ายขึ้นไปอีก โดยจัดทำเป็น Linux Distribution ที่มีการติดตั้ง Thai Extension ไว้ให้เรียบร้อยเลย ตามแผนที่วางไว้คร่าวๆ ในตอนแรก (Thai Linux 1.0) โดยมุ่งจะให้เข้าถึงผู้ใช้ทั่วไป (ต่างจาก Linux-SIS ที่มุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ดูแลระบบ สำหรับการใช้งานด้าน Server) เน้นการใช้งานเป็นเครื่อง Desktop PC โดยรวบรวมซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทยต่างๆ ที่มีและพัฒนาบางส่วนที่ยังขาด

ในเดือนกรกฏาคม 2542 (1999) (ประมาณสิบเดือนหลังจากเริ่มก่อตั้ง TLWG) Linux Distribution ใหม่ ในนาม MaTEL (Mandrake and Thai Extension Linux) ก็ได้ออก เผยแพร่เวอร์ชั่น 6.0 โดย NECTEC มีการจัดงานสัมมนา Workshop on Open Source/Linux I โดยการสนับสนุนของ ETL และ CICC และ MaTEL-Linux ก็ถูกเผยแพร่ในรูป CD ในงานนั้นด้วย

หลังจากนั้น การพัฒนาได้ดำเนินต่อไป และ MaTEL ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Linux-TLE (Linux Thai Language Extension) เนื่องจากเพื่อไม่เป็นการยึดติดกับ Mandrake Linux มากเกินไป เวอร์ชั่น 6.01 และ 6.1 ได้ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน ต่อมาในเดือน กันยายน 2542

Linux-TLE มีให้ดาวน์โหลดฟรีจาก ftp.nectec.or.th และแจกในรูป CD ในงานสัมมนาต่างๆ เช่น Linux Demo Day (ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) หรือ ตามโอกาสที่มีผู้ให้การสนับสนุน เช่น จาก www.linuxboard.com และนิตยสาร IT Soft

การใช้งาน Linux ในกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป ได้เป็นไปอย่างแพร่หลายมากขึ้น Linux มีการสนับสนุนการใช้งานภาษาไทยที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม Linux ยังไม่อยู่ในจุดที่เรียกว่าสมบูรณ์แก่การใช้งาน Desktop ทั่วไป ยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกพอสมควร งานพัฒนา จึงมีดำเนินต่อไป โดยมุ่งพัฒนาปรับปรุงให้การใช้งาน Linux ในงาน Desktop เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ขอบเขตงานของ Linux-TLE ได้ขยายกว้างขึ้น และมีงานที่ต้องทำมากขึ้น เกินแรงที่ทางกลุ่ม TLWG ซึ่งเป็นเพียงอาสาสมัครอิสระจะนำการพัฒนา Distribution และเผยแพร่ได้ ทางเนคเทคซึ่งมีส่วนร่วมในทีมพัฒนา Linux-TLE มาตั้งแต่แรกๆ จึงได้รับช่วงต่อเป็นผู้นำการพัฒนาและเผยแพร่ Linux-TLE ในเวอร์ชั่นถัดๆ มา ตั้งแต่ต้นปี 2543 (2000)

ภายใต้การดูแลของเนคเทค Linux-TLE ได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยว่า "ลินุกซ์ทะเล" และใช้สัญลักษณ์รูปปลาโลมาตั้งแต่เวอร์ชัน 3.0 เป็นต้นมา โดยมาจากแนวคิดของ ดร. วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช นอกจากนี้ ยังได้กำหนดชื่อรหัสประจำรุ่นเป็นชื่อทะเลของไทยอีกด้วย

ลินุกซ์ ทะเล 3.0 ชื่อรหัส "ตะรุเตา" ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานนิทรรศการของเนคเทค เมื่อ 14 มิถุนายน 2543 (2000) ใช้ RedHat 6.2 เป็นฐาน ซึ่งรุ่นนี้ เริ่มมีการแพตช์ไฟล์บางไฟล์ของ XFree86 แต่ก็โดยอาศัย RPM script ในแพกเกจพิเศษ ยังไม่มีการ patch upstream source โดยตรง

ในระหว่างนี้ ในหมู่ TLWG ได้มีการพบโค้ด XIM (ระบบการป้อนอักขระ) ภาษาไทยในซอร์สของ XFree86 (พบโดย คุณพฤษภ์ บุญมา) ซึ่งยังทำงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งทำให้เริ่มเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพิ่มใน XFree86 แต่ใน Linux-TLE 3.0 ได้ใช้วิธีขัดตาทัพ เลี่ยงปัญหาไปก่อน

ลินุกซ์ทะเล 4.0 ชื่อรหัส "สิมิลัน" เปิดตัวเมื่อ 13 ตุลาคม 2544 (2001) ดูแลโดยทีมงานของคุณโดม เจริญยศ ตามที่เนคเทคว่าจ้าง โดยคุณโดมได้เปลี่ยนไปใช้ Redmond Linux (ปัจจุบันคือ Lycoris) รุ่น beta เป็นฐาน และได้เผยแพร่ไปกับหนังสือ "ลินุกซ์ทะเล" ซึ่งเขียนโดยคุณกริช นาสิงห์ขันธุ์ จัดพิมพ์โดยบริษัท ซีเอ็ดยูเคชัน จำกัด นับเป็นลินุกซ์ทะเลรุ่นแรก ที่แพร่กระจายไปสู่ผู้ใช้ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง และในรุ่นนี้ ได้รวบรวมงานที่นักพัฒนาใน TLWG ได้ทำงานร่วมกับโครงการต้นน้ำอย่าง XFree86 ไว้ด้วย คือการแก้ไขปัญหาการป้อนอักขระภาษาไทยด้วย XIM โดยใช้ key symbol ของไทยแท้ๆ จากเดิมที่ใช้การ hack ผ่าน symbol ของภาษาละติน รวมทั้งการแก้ไขชื่อรหัสภาษาไทยใน X จาก TACTIS เป็น TIS-620 ด้วย

สำหรับ การแก้ไข XIM นี้ ความจริงมองเห็นกันมานานแล้ว แต่ถูกเร่งโดยปัญหาที่เกิดจากการแก้ผังแป้นพิมพ์ไทยของนักพัฒนา Mandrake ทำให้เราใช้ Latin hack ต่อไปไม่ได้ แต่ผลดีที่ได้ ก็คือการป้อนข้อมูลภาษาไทยที่มีการตรวจลำดับตามข้อกำหนด วทท (รายละเอียดทางเทคนิคเพิ่มเติม) นับเป็นจุดเริ่มต้นอีกจุดของการทำงานเรื่องภาษาไทยบนระบบเดสก์ทอปขนานใหญ่ใน เวลาต่อมา

ลินุกซ์ทะเล 4.1 ชื่อรหัส "พีพี" เปิดตัวเมื่อ 14 มีนาคม 2545 (2002) ในงานประชุม TLUG ที่ Software Park ลินุกซ์ทะเล 4.1 ออกตามรุ่น 4.0 มาติดๆ ด้วยปัญหาเรื่องการตอบคำถามผู้ใช้ เนื่องจากทีมงานไม่คุ้นเคยกับ Redmond Linux และการทำลินุกซ์แผ่นเดียวทำให้ขาดแคลนเครื่องมือหลายอย่าง ลินุกซ์ทะเล 4.1 ได้ย้อนกลับมาใช้ RedHat เป็นฐานอีกครั้ง โดยทำเพิ่มจาก RedHat 7.2 ในรุ่นนี้ เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือมากมายจากบุคคลในชุมชน TLWG ทั้งผ่านเมลส่วนบุคคล และผ่าน mailing list เช่น การแก้ gswitchit applet เพื่อแสดงภาษาไทย (คุณพฤษภ์ บุญมา), การปรับปรุง ThaiLaTeX (คุณชนพ ศิลปอนันต์) ฯลฯ ดังรายนามที่ปรากฏในปกซีดี ทำให้ระบบภาษาไทยสมบูรณ์ขึ้นมาก และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่าง คือการใช้ระบบ apt เป็นครั้งแรก

ลินุกซ์ทะเล 4.1 เป็นรุ่นแรกที่มีกระแสตอบรับผ่านสื่อต่างๆ มากมาย เพราะเป็นช่วงที่มีการตื่นตัวเรื่องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศ อันเนื่องมาจากการตรวจจับของ BSA ซึ่งเสียงตอบรับก็มีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะความไม่คุ้นเคยของผู้ใช้ และความไม่พร้อมต่อความคาดหวังของมหาชนในการใช้งานเดสก์ทอปของลินุกซ์นั่นเอ ง

ท่ามกลางกระแสลินุกซ์และโอเพนซอร์สในประเทศที่ทะลักเข้ามา ชุมชน TLWG ไม่สามารถรองรับผู้ใช้ลินุกซ์ทะเลได้เพียงพอ จึงได้เกิดเว็บ OpenTLE ขึ้นมารองรับโครงการโอเพนซอร์สของเนคเทคโดยเฉพาะ โดยเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ลินุกซ์ทะเล 5.0 เป็นต้นมา

Linux-TLE เวอร์ชั่นถัดๆ มามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมาก รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Linux-TLE ในปัจจุบันสามารถดูได้ที่ OpenTLE

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘