คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (3)


คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (3) 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
htpp//:viratts.wordpress.com

          หมายเหตุ - ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

          เรื่องราวชีวิตบางตอน ศุภชัย เจียรวนนท์ ให้ภาพบางมิติในช่วงเวลาการสร้างอาณาจักรธุรกิจซีพี ในรุ่นบิดา--ธนินท์ เจียรวนนท์ ในยุคสงครามเวียดนาม

          ธนินท์ เจียรวนนท์ มีบุตร-บุตรีรวม 4 คน (วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ศุภกิต เจียรวนนท์ ณรงค์ เจียรวนนท์ ศุภชัย เจียรวนนท์ และ ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์) พวกเขาและเธอเกิดและเติบโตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในยุคต้นๆ สงครามเวียดนาม กับยุคเชื่อมต่อระหว่างจากเจียไต๋ สู่เจริญโภคภัณฑ์

          สังคมไทยเปิดเข้าสู่ยุคใหม่ อยู่ภายใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา มาพร้อมกับยุทธศาสตร์การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ภัยของโลกเสรีกำลังขยายอิทธิพลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่

          ขณะนั้นเจียไต๋ลงหลักปักฐานธุรกิจในเมืองไทย อาศัยสายสัมพันธ์ไทย-จีน บิดาของ ธนินท์ เจียรวนนท์ (เจี่ย เอ็กชอ) ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ แม้ว่าเขาจำต้องพำนักอยู่นอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ ว่าไปแล้วในบางมิติเป็นความต่อเนื่อง

          "ในช่วงยากลำบากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าสำคัญมาก บิดาของเขาจำต้องอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก แต่แสวงหาโอกาสทางธุรกิจได้ เมื่อเขามีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนหนังสือในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง เขาได้มองเห็นภาพที่เป็นจริงของโอกาสทางธุรกิจ เห็นภาพที่เป็นจริงของการก่อร่างสร้างกิจการของบิดา..."

          ผมเคยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-18 กันยายน 2552) สอดคล้องกับข้อมูลโปรไฟล์          ประธานกลุ่มซีพี (ระบุว่า ธนินท์ เจียรวนนท์ จบการศึกษา Shantou Secondary School สาธารณรัฐประชาชนจีน และ Commercial School ประเทศฮ่องกง)

          เชื่อว่าเป็นบทเรียนนั้นได้ตกทอดมาสู่รุ่นต่อมาด้วย

          เป็นที่รู้กันอยู่บ้างว่า บุตร-บุตรีของ ธนินท์ เจียนวนนท์ โดยเฉพาะพี่ๆ ของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ใช้ชีวิตการศึกษาช่วงต้นๆ ในประเทศสิงคโปร์ ในช่วงปู่ของพวกเขา-เธอ ปักหลักที่นั่น เพื่อให้มีโอกาสศึกษาภาษาจีน

          "เจี่ย เอ็กชอ พำนักทำงานบุกเบิก หรือติดตามความเป็นไปของการค้าที่สิงคโปร์ ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ของภูมิภาค ช่วงเวลาซีพีกำลังเติบโต หลังปี 2505 เมื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ เปิดฉากธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ในไทย จนครองตลาดไทยไว้เกือบทั้งหมด ต่อมาขยายโรงงานไปในภูมิภาค รวมทั้งสร้างโรงานผลิตอาหารสัตว์ที่สิงคโปร์ในปี 2519" ข้อเขียนบางตอนของบางชิ้นที่ผมเคยเสนอ (ราวๆ ปี 2545) ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารสัตว์ มีความสำคัญในฐานะ "ต้นธาร" ธุรกิจครบวงจร

          อีกมิติหนึ่ง เชื่อมโยงมาจากบทบาทและความเชื่อของ ธนินท์ เจียรวนนท์ โดยตรง

          "ในช่วงเริ่มต้นเข้ามาทำงานซีพี อิทธิพลสหรัฐมีต่อประเทศไทยย่างมาก ตั้งแต่ระดับนโยบายทางเศรษฐกิจ การเข้ามาลงทุนของบริษัทอเมริกัน ธนินท์ เจียรวนนท์ เคยทำงานหน่วยงานราชการซึ่งได้รับกระทบจากอิทธิพลสหรัฐ ทั้งมองเห็นปรากฏการณ์สังคมธุรกิจ ...สุดท้ายได้ความรู้จากสหรัฐว่าด้วยการเกษตรกรรมใหม่ ซีพีเชื่อมั่นและนำมาประยุกต์ด้วยความสำเร็จ อิทธิพลของสหรัฐในมิติทางเทคโนโลยีและการจัดการทางธุรกิจ จึงมีอิทธิพลต่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ เสมอมา...ประสบการณ์จากเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ครบวงจรจากสหรัฐ นำมาใช้ในสังคมไทย ไม่เพียงสร้างโอกาสใหม่เท่านั้น หากเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในยุคก้าวกระโดดครั้งแรกเลยที เดียว" (อีกบางตอน)

          ขณะที่พี่ๆ ใกล้ชิดกับปู่ (เจี่ย เอ็กชอ) ไปเรียนหนังสืออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลานานนับสิบปี แต่ ศุภชัย เจียรวนนท์ อยู่กับบิดามารดาในเมืองไทย เขาจึงกลายเป็นบุตรใกล้ชิดผู้เป็นพ่อมากที่สุด ในช่วงแรกๆ ธนินท์ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ ในการบุกเบิกธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจร ศุภชัยจึงอยู่ภายใต้การดูแลของมารดา เข้าโรงเรียนใกล้บ้าน แต่เมื่อธนินท์จำเป็นต้องเดินทางไปบุกเบิกธุรกิจที่ไต้หวัน ศุภชัย ก็ต้องเดินทางไปด้วย เข้าโรงเรียนนานาชาติที่นั่นในช่วงประถม 3 เป็นเวลา 1 ปี ในช่วงเดียวกับโรงงานอาหารสัตว์ที่ไต้หวันก่อสร้างขึ้นในปี 2520

          ที่น่าสนใจการเรียนระดับประถมศึกษาในระบบการศึกษาแบบอเมริกันในไต้หวันเพียงปีเดียว แต่เป็นประสบการณ์ที่สำคัญของ ศุภชัย เจียรวนนท์

          Taipei American School หรือ TAS ก่อตั้งขึ้นในปี 2492 เพื่อสนับสนุนให้การศึกษาบุตรหลานกองกำลังสหรัฐ ซึ่งประจำการอยู่ที่นั่น ตามนโยบายต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ ระหว่างในช่วงปี 2492-2522 เมื่อสหรัฐต้องถอนกำลังทหารออกจากไต้หวัน TAS จึงกลายเป็นโรงเรียนเอกชน เข้าใจว่า ศุภชัย เจียรวนนท์ เข้าเรียนอยู่ในช่วงท้ายๆ สงครามเวียดนาม

          ธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นกรรมการผู้จัดการเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เมื่อปี 2522 เวลานั้นซีพีเป็นอาณาจักรธุรกิจใหญ่ มีเครือข่ายทั้งในประเทศและเอเชียอาคเนย์ แม้เป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนัก เมื่อสังคมธุรกิจไทยและฮ่องกงเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

          แต่ในภาพใหญ่กว่านั้น เป็นโอกาสเนื่องมาจากการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม สหรัฐพ่ายแพ้และต้องถอนฐานทัพออกจากภูมิภาค

          จีนแผ่นดินใหญ่เริ่มแง้มประตูเปิดประเทศ ซีพีบุกเข้าไปในฐานะบริษัทต่างชาติรายแรก

          แต่อีกด้านหนึ่ง ธนินทร์ เจียรวนนท์ ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองโอกาส ใหม่ๆ ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็น Holding company ตามโมเดลแบบฉบับการบริหารธุรกิจแบบอเมริกัน

          ว่าไปแล้วเป็นช่วงเดียวกับบรรดาบุตร-บุตรีของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ทยอยกันเข้าศึกษาระดับมัธยมในโรงเรียนชื่อดัง อยู่ภายใต้แวดล้อม เชื่อมโยงกับเมืองใหญ่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกอย่าง New York สหรัฐอเมริกาด้วย

          เรื่องราวข้างต้นสะท้อนบริบทสังคมธุรกิจไทยเชื่อมโยง อ้างอิงกับการศึกษาระบบอเมริกันอย่างลึกซึ้ง ตามแนวทางหนังสือของผม ("หาโรงเรียนให้ลูก" ข้อมูลและบริบทว่าด้วยการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วโลก พิมพ์ครั้งแรกปี 2545) นำเสนอมิติที่สำคัญบางมิติซึ่งขาดหายไป ว่าด้วยความสำคัญเรื่องราวการส่งบุตรหลานของชนชั้นนำไทย เข้าสู่ระบบการศึกษาในโลกตะวันตก ตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงยุคอิทธิพลสหรัฐ

          อ้างอิงกับกรณีเริ่มจากตระกูลสารสิน สู่ตระกูลนิมมานเหมินท์ (โดยเฉพาะ ธารินทร์-ศิรินทร์) ตระกูลล่ำซำ (ต่อเนื่องจากบัญชา สู่บัณฑูร) จนมาถึงรุ่น ธนินท์ เจียรวนนท์

          ศุภชัย เจียรวนนท์ เข้าเรียนระดับมัธยมในสหรัฐหลังจากจบมัธยมศึกษาที่ 3 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ครั้งแรกเรียนที่ The Shipley School โรงเรียนมัธยมเอกชนชั้นนำในสหรัฐ ก่อตั้งมานานตั้งแต่ในปี 2437 อยู่ในชุมชนชานเมือง ห่างไปทางทิศตะวันตกเพียง 12 ไมล์ของ Philadelphia อยู่ห่างจากศูนย์กลางธุรกิจ New York ประมาณ 90 ไมล์ และห่างจากเมืองหลวง Washington D.C. ประมาณ 140 ไมล์

          ต่อมาไม่นานได้ย้ายมาที่ Dwight-Englewood School (D-E) ตามพี่สาวคนโต (วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ปัจจุบันบริหารโรงเรียน Concordian International School ตั้งอยู่บางแก้ว สมุทรปราการ เชื่อกันว่ามาจากประสบการณ์และความเชื่อมเกี่ยวกับระบบการศึกษา ผสมตะวันออก-ตะวันตกโดยเฉพาะจีน-สหรัฐ) ซึ่งเช่าอพาร์ตเมนต์ที่นิวยอร์ก D-E เป็นโรงเรียนแบบไป-กลับ ก่อตั้งมากว่า 100 ปีเช่นเดียวกัน ตั้งอยู่ในเมือง Englewood, New Jersey ถือว่าอยู่ในอาณาบริเวณชานเมือง New York ด้วยห่างเพียง 10 กว่าไมล์

          วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ เป็นลูกคนแรกของ ธนินท์ เจียรวนนท์ จึงเป็นผู้บุกเบิกเดินทางไปเรียนมัธยมที่สหรัฐ หลังจบจาก DwightEnglewood School

          เธอได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่ Fordham University อย่างต่อเนื่องจากด้านเทคโนโลยีข้อมูล จนจบปริญญาตรี (BA, MIS ในปี 2528) ต่อมาเข้าเรียนปริญญาโทด้านธุรกิจ (MBA Marketing  2529-2531) Fordham University อยู่ไม่ห่างไกลจาก New York University ซึ่งเป็นที่น้องชายอีก 2 คน (ศุภกิต และ ณรงค์ เจียรวนนท์) เรียนอยู่ ส่วน ศุภชัย เจียรวนนท์ ตัดสินไปเรียนที่ไกลกว่า New York ประมาณ 200 ไมล์-Boston University

          ศุภชัย เจียรวนนท์ ตัดสินใจเข้าเรียนที่ Boston University ซึ่งว่ากันว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่พวกยิวชอบเรียน เต็มไปด้วยบรรยากาศการค้า ในสาขาบริหารธุรกิจ (การเงิน) ตามคำแนะนำของบิดา

          "ความจริงแล้วช่วงไฮสคูล ถนัดฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ ก็คิดว่าจะเข้าคณะวิศวะ และสอบติดด้วย ในเวลาเดียวกันก็สมัครอย่างอื่นด้วย และก็เป็นครั้งแรกที่ถามคุณพ่อ ซึ่งปกติแล้วไม่เคยถามเลย คุณพ่อถามว่า จบแล้วอยากทำงานอะไร ผมบอกว่า เป็นนักบริหารอย่างพ่อก็ดี..." เขาเคยเล่าให้ผมฟังเอง (อ้างจากเรื่อง ศุภชัย เจียรวนนท์ Sky is Opening โดย วิรัตน์ แสงทองคำ นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2545)

          ความจริงแล้วเป็นไปตามกระแสสังคมธุรกิจครอบครัวไทยเวลานั้น มุ่งให้ทายาทศึกษาเล่าเรียนด้านบริหารธุรกิจ (โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา) เพื่อมาสืบทอดกิจการ เช่นเดียวกับกรณี ธนินทร์ เจียรวนนท์ บุตร-บุตรของเขา ไม่เพียง ศุภชัย เจียรวนนท์ เท่านั้น ทั้งหมดล้วนผ่านการศึกษาด้านบริหารธุรกิจ อีก 2 คนที่ควรกล่าวถึง ในฐานะผู้บริหารธุรกิจในกลุ่มซีพีโดยเฉพาะในกลุ่มซีพีออลล์ และทรู คอร์ปอเรชั่น นั่นคือพี่ชายทั้งสองของศุภชัย (ศุภกิต และ ณรงค์ เจียรวนนท์) ล้วนจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจเหมือนกัน จากที่เดียวกัน (New York University)

          ทว่า ประสบการณ์ชีวิตอันหลากหลาย นอกเหนือจากห้องเรียนและสถาบันการศึกษา กลายเป็นปัจจัยสำคัญโดยเปรียบเทียบ ส่งให้ ศุภชัย เจียรวนนท์ มีบทบาทโดดเด่น ดูเหมือนจะมีบทบาทเทียบเคียงรอยเท้าผู้พ่อมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

          ทว่า บทสรุปดังกล่าว คงจะยังไม่มาถึงเร็วเช่นนั้น เมื่ออ้างอิงพัฒนาการกับกลุ่มธุรกิจทรู คอร์ปอเรชั่น ทั้งในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะเป็นไปต่อจากนี้




ที่มา
คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (3)
หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2559  (หน้า 28,29)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘