คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (1)


คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (1) 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
htpp//:viratts.wordpress.com

          หมายเหตุ - ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วยการติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์


         ศุภชัย เจียรวนนท์ กับทรูคอร์ปอเรชั่น เป็น "ชิ้นส่วน" สำคัญ ของภาพใหญ่ยุทธศาสตร์ธุรกิจซีพี ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปรับตัวอย่างกระตือรือร้น ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษมานี้

          "ในปี 2559 ภาพรวมของสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกและประเทศไทย มีแนวโน้มที่น่าจะปรับตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของทั่วโลกยังคงมีอนาคตที่ดี มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยเริ่มมีการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นโอกาสที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่จะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด บนพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพื่อร่วมสร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย มีโครงข่ายพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมที่เทียบเท่าประเทศพัฒนาอื่นๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่จะขับเคลื่อนไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC" ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวในสารจากประธานกรรมการ (http://true-th.listedcompany.com/) ด้วยมุมมองเชื่อมั่นในอนาคตธุรกิจสื่อสาร ขณะเดียวกันหวังว่า "ทรูจะสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด" ทั้งนี้ อ้างอิงกับเหตุการณ์สำคัญ

          "การชนะการประมูลคลื่นทั้ง 1800 MHz
          และ 900 MHz ซึ่งจะเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการขยายเครือข่ายที่ครอบคลุมได้ทั่วประเทศอัน เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม"

          และย้ำอีกว่า
          "ปี 2559 จึงนับได้ว่าเป็นอีกปีที่สำคัญยิ่งสำหรับกลุ่มทรู ที่มุ่งมั่นจะขยายธุรกิจก้าวสู่ผู้ให้บริการอันดับ 1 ของไทย ในด้านธุรกิจโมบาย"

          ขณะที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวถึงความสำเร็จในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งสำคัญ อย่างระมัดระวัง "ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบทั้งในด้านการสื่อ สารและคอนเทนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยก็ได้ขับเคลื่อนสู่ระบบเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น โดยความสำเร็จจากการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มทรูขณะนี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะตอบสนองความต้องการใช้งาน อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งแบบมีสายและแบบไร้สายที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ บริโภค และพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมในยุคดิจิตอลนี้ได้อย่างเต็ม รูปแบบ" (อ้างจากแหล่งเดียวกัน--ศุภชัย เจียรวนนท์ สารจากกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร)

          เหตุการณ์สำคัญอ้างอิงถึงข้างต้น สะท้อนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของธุรกิจสื่อสารไทย นั่นคือการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือที่เรียกว่า 4G) เกิดขึ้น 2 ครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา (12 พฤศจิกายน 2558 กับ 19 ธันวาคม 2558) ปรากฏว่า กลุ่มทรูคอร์ปอเรชั่น เป็นผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว สามารถคว้าใบอนุญาตทั้งสองครั้ง ทั้งย่าน

          ความถี่ 900 และ 1800 MHz
          เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างซีพีกับทรู ดำเนินไปเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างธนินท์ กับ ศุภชัย เจียรวนนท์ แม้ว่าทรูเป็นเพียง 1 ใน 3 กิจการหลักของซีพี (ซีพีเอฟ ซีพีออลล์ และทรู) ธุรกิจในตลาดหุ้นไทย โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการทั้งสามบริษัท
          (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ)



          "หากถามผมว่า ผู้นำนักธุรกิจคนใด แสดงบทบาทเชิงตัวแทนการปรับตัวของธุรกิจไทยในช่วง 3-4 ทศวรรษสำคัญที่ผ่านมาได้อย่างน่าทึ่ง ก็คงยกให้ ธนินท์ เจียรวนนท์" ผมเคยนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ไว้เป็นการเฉพาะเมื่อ 7 ปีที่แล้ว (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-18 กันยายน 2552) ความเชื่อนั้น ยังคงอยู่

          เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ก่อตั้งขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 วิวัฒนาการอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้เกิดขึ้นในอีก 3 ทศวรรษต่อมา

          ทศวรรษแรก เริ่มต้นธุรกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าระหว่างประเทศเปิดขึ้น ด้วยเครือข่ายอันแข็งแรงของชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไทย เปิดฉากธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอาหารสัตว์

          ทศวรรษที่ 2  ซีพีบุกเบิกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เกิดในประเทศไทย

          และ ทศวรรษที่ 3 ซีพีได้ค้นพบและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ สร้างผลสะเทือนไปทั่วชนบทไทย ด้วยสิ่งเรียกว่า Contract farming เป็นแนวคิดการขยายตัวทางธุรกิจโดยอาศัยโมเมนตัมทางสังคม แรงขับดันการพัฒนาการผลิตอาหารเชิงการค้า

          แรงบันดาลใจนั้น มาพร้อมกับแรงกดดันทางสังคมระดับหนึ่ง ซีพีปรับตัวได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการสร้างโอกาสใหม่ในต่างประเทศ

          ธนินท์ เจียรวนนท์ มีบทบาทสำคัญเมื่อซีพีก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งผมมักอรรถาธิบายว่าเป็นจุดเริ่มต้นยุคธุรกิจไทย ภายใต้อิทธิพลธุรกิจอเมริกัน ซึ่งพาเหรดอย่างเป็นขบวนเข้ามาในภูมิภาค เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปในวัยเพียง 25 ปี

          มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจปศุสัตว์สมัยใหม่ ด้วยความรู้แบบอเมริกัน เป็นจังหวะก้าวสำคัญไปสู่ยุคใหม่

          ขณะที่ธุรกิจเดิมอ้างอิงเครือข่ายจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ราบรื่น ในช่วงเวลาสงครามเวียดนาม ในช่วงเวลารัฐไทยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

          เขาก้าวขึ้นกรรมการผู้จัดการเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี 2522 นับเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนักสำหรับสังคมธุรกิจไทย ช่วงเวลาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันในระดับโลก ตามมาด้วยวิกฤตสถาบันการเงินและตลาดหุ้นในประเทศไทย ถือเป็นช่วงเวลาท้าทายสำหรับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น ในฐานะผู้บริหารวัยเพียง 40 ปี ผู้มีอำนาจเต็มที่ในการนำพาธุรกิจผ่านพ้นช่วงวิกฤตครั้งหนึ่ง เวลานั้นซีพีเป็นอาณาจักรธุรกิจใหญ่แล้ว เครือข่ายทั้งในประเทศและในเอเชียอาคเนย์ เขาได้ฉวยจังหวะนั้น ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็น Holding company กำหนดยุทธศาสตร์ และกำกับแผนการของธุรกิจที่เคยค่อนข้างกระจัดกระจายให้กระชับรัดกุม รวมทั้งดำเนินแผนบุกเบิกธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่อย่างจริงจัง พร้อมๆ กันนั้น การปรับโครงสร้างการบริหารนำบุคคลภายนอกที่มีความรู้ประสบการณ์เข้ามาเสริม

          ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งเกิดขึ้น เมื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ สู่วัย 50 ปี (ในปี 2532) นับเป็นช่วงเวลาควรแก่การฉลองความสำเร็จด้วยตำแหน่งใหม่ ดูคล้ายๆ กิจการระดับโลก เรียกว่า Chief Executive Officer  (CEO) เป็นช่วงเวลาระบบเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเติบโต โอกาสเปิดกว้างอย่างมากๆ ทั้งสำหรับธุรกิจระดับโลกและธุรกิจระดับภูมิภาคอย่างซีพี

          เป็นจังหวะที่ดีให้ซีพีพยายามปรับตัวทางธุรกิจ ปรับยุทธศาสตร์เพื่อก้าวสู่บทบาทใหม่ในฐานะธุรกิจระดับโลก ช่วงนั้นสื่อโลกตะวันตกกล่าวถึง ธนินท์ เจียรวนนท์ กับซีพี อย่างตื่นเต้น อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่า Far Eastern Economic Review (2533) Forbes (2534) Fortune, Financial Times (2535) ที่สำคัญในปีเดียวกันนั้น Harvard Business School ได้ทำกรณีศึกษา (Case study) ซีพีด้วย

          ช่วงเวลาเดียวกัน ซีพี มีดีลสำคัญๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนอย่างครึกโครม

          ซีพีนำกิจการในเครือข่ายต่างประเทศ เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นสำคัญระดับโลก เริ่มจากไต้หวัน (2530) ฮ่องกง (2531) ไปจนถึงตลาดหุ้นลอนดอน (2533)

          ร่วมทุนกับธุรกิจระดับโลก เข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับธุรกิจเดิมเลย ปี 2531 เพียงปีเดียว ก็คึกคักอย่างเหลือเชื่อ ทั้ง Solvay (Belgium) สู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ Makro (Netherland) เข้าสู่ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก และซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven จากสหรัฐอเมริกา เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก เรียกว่า ร้านสะดวกซื้อ (Convenience store)

          จากนั้นในปี 2533 ซีพีก้าวไปไกลและซับซ้อนยิ่งขึ้น เข้าสู่ธุรกิจสื่อสาร ด้วยสามารถคว้าสัมปทานสำคัญโทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ ได้ในที่สุด พร้อมด้วยได้มีความร่วมมือกับธุรกิจสื่อสารระดับโลกแห่งสหรัฐ-- Bell Atlantic (ปัจจุบันคือ Verizon Communications)

          ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าด้วยโอกาส ที่เปิดกว้าง ดูเหมือนชุลมุนพอสมควร ศุภชัย เจียรวนนท์ ปรากฏตัวขึ้น พร้อมๆ กับช่วงเวลาพลิกผันของธุรกิจสื่อสาร


ที่มา
คอลัมน์ วิรัตน์ แสงทองคำ: ศุภชัย เจียรวนนท์ (1) 
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 28,29)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘