พ่อมดกองทุน Windsor "จอห์น เนฟฟ์"

สำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า บุคคลที่เป็นนักลงทุนต้นแบบอีกคนคือ จอห์น เนฟฟ์ (John Neff)

เนฟฟ์เป็นผู้จัดการกองทุนรวมแวนการ์ด วินเซอร์ (Vanguard Windsor) เขา เน้นหนักไปในการลงทุนแบบเน้นคุณค่าโดยลงทุนในธุรกิจที่ดี มีการเจริญเติบโตต่อเนื่อง จ่ายเงินปันผลสูง และขายเมื่อราคาเกินกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ผลงานตลอด 30 ปีที่ผ่านมา กองทุนของเขาสามารถครองอันดับสูงสุดห้าอันดับแรกมาตลอด

เนฟฟ์จบการศึกษาด้านการตลาดอุตสาหกรรม และเข้าศึกษาวิชาการเงินการธนาคารภาคค่ำในปี 1954 เขาเริ่มงานเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กับ The National City Bank of Cleveland จากนั้นก็ทำงานกับ Wellington Management เขายึดหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าตามแบบของเบน เกรแฮม (Ben Graham) มาโดยตลอด

ในปี 1984 เนฟฟ์ลงทุนอย่างหนักในหุ้นฟอร์ด (FORD) ในขณะที่ทุกคนกลัวว่าบริษัทกำลังจะไปไม่รอด ขณะนั้นพีอี (P/E) ของบริษัทเท่ากับ 2.5 เท่า เขาซื้อหุ้นฟอร์ดในราคา 14 ดอลลาร์ต่อหุ้น ภายในสามปีราคาหุ้นขึ้นไปสูงถึง 50 ดอลลาร์ต่อหุ้น ทำผลตอบแทนได้สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนที่เขาบริหาร

GYP ratio (Growth & Yield: P/E) = (Earnings Growth + Dividend Yield) / (P/E ratio) เนฟฟ์แนะนำให้เทียบอัตราส่วน GYP บนหุ้นและทั้งพอร์ตของนักลงทุนเทียบกับตลาด

เนฟฟ์จะใช้หลักการง่ายๆ เพื่อเลือกลงทุน 7 ประการดังนี้

1.อัตราส่วน P/E ต่ำ

2.อัตราการเติบโตของกำไรสูงกว่า 7% ขึ้นไป

3.มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ และเพิ่มขึ้นตลอด

4.ผลตอบแทนที่ได้รับจะต้องสูงกว่าอัตราส่วนพี/อี (P/E)

5.ไม่เป็นธุรกิจที่ขึ้นลงตามรอบที่กำลังจะลง โดยปราศจากการลดลงของอัตราส่วนพี/อีที่ต่ำพอจนน่าลงทุน

6. เป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในการสร้างการเติบโต

7. เป็นบริษัทที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งเหมาะกับการลงทุน

การลงทุนที่ดีที่สุดคือการหาหุ้นดีๆ ที่กำลังทำจุดต่ำใหม่ ดูว่าที่มันลงนั้นลงเพราะข่าวร้ายหรือไม่ หากเราเห็นว่ามันเป็นบริษัทที่ดีที่บางครั้งราคาตกลง ให้เรานำหลักการทั้ง 7 ข้อมาประเมิน ถ้าใช่ก็เป็นโอกาสในการลงทุน

เนฟฟ์แนะนำว่าอย่าไล่ซื้อหุ้นที่มีการเติบโตสูงที่หลายคน สนใจ อัตราส่วนพี/อีที่สูงขึ้นจะผลักดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นจนถึงระดับที่น่าตกใจ และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวนักลงทุนเอง เขาบอกว่ามีเหตุผล 2 ประการในการตัดสินใจขายหุ้นคือหนึ่งพื้นฐานเริ่มเลวลงหรือสองราคาขึ้นมาสูง ถึงจุดที่ต้องการแล้ว

เขาให้ความสำคัญกับอัตราส่วน GYP ในพอร์ตมากกว่า หากตลาดขึ้นสูงมากจนราคาหุ้นที่ต้องการสูงจนเกินไปก็ควรจะถือเงินสดไว้ ประมาณ 20% ของทุนทั้งหมดจนกว่าจะพบโอกาสดีอีกครั้งและโอกาสทำกำไรดีๆ มักจะเกิดหลังจากการตื่นตระหนก (Panic) ของตลาด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘