ตามรอยสามก๊ก (๒) : ย้อนรอยเกียงอุย ตะลุยเกียมโก๊ะ

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

หลังจากไปคารวะสุสาน "เจ้าหงส์ดรุณ" บังทอง เราก็เดินทางสู่เมืองอันเสี้ยน เมืองที่มีชื่อเสียงด้านน้ำแร่ธรรมชาติ ทันทีที่ถึงโรงแรมที่พัก พวกเราก็ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากท่านผู้ว่าการท่องเที่ยว ด้วยการจัดเลี้ยงอย่างสมเกียรติ 

ที่ "ฟินสุดๆ" คือช่วงเวลาหลังมื้ออาหาร เพราะพวกเราได้ลงไปแช่น้ำแร่ธรรมชาติภายในโรงแรมให้คลายความเมื่อยล้าจากการ เดินทาง เนื่องจากเมืองอันเสี้ยนเป็นแหล่งน้ำแร่กำมะถันชั้นดี ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนในคืนแรก

ตามรอยสามก๊ก วันที่ ๒

เช้า วันรุ่งขึ้น คณะของเราออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ "ด่านเกียมโก๊ะ" หรือ เจี้ยนเหมินกวน สถานที่ประวัติศาสตร์ที่ผู้อ่านสามก๊กทุกคนย่อมเคยผ่านตามาแล้ว

null
[มีป้ายไฟต้อนรับคณะตามรอยสามก๊กจากประเทศไทยด้วย]

ทันที ที่ไปถึง เราได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากท่านผู้ว่าการเมือง รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่าน โดยมีพิธีต้อนรับ มีสื่อมวลชนท้องถิ่นมาทำข่าวมากมาย จากนั้นจึงไปรับประทานอาหารกลางวันกัน

null
[เต้าหู้ขงเบ้ง]

อาหาร มื้อนี้ถือเป็น "ทีเด็ด" อย่างแท้จริง เพราะทำจาก "เต้าหู้" ทุกเมนู เนื่องจากบริเวณด่านเจี้ยนเหมินนี้ ขึ้นชื่อเรื่อง "เต้าหู้" ที่สุดแล้ว แถมยังมีตำนานเกี่ยวพันกับเรื่องสามก๊กด้วย (อ่านต่อไปเรื่อยๆ นะครับ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง)

ร้านอาหารที่นี่ก็รู้จักหาจุดขาย ตั้งชื่อเมนูเป็น "เกียงอุย" บ้าง "ขงเบ้ง" บ้าง "ฮองตง" บ้าง เรียกได้ว่ายก "เซเลบจ๊กก๊ก" มาเกือบหมด

ผมจำชื่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่จำได้ว่าเต้าหู้เกียงอุยหน้าตาเหมือนไข่ตุ๋น รสออกหวานเหมือนใส่น้ำตาล ส่วนเต้าหู้ขงเบ้งราดน้ำข้นๆ แดงๆ (ดูภาพประกอบ) 

null
[ด่านเจี้ยนเหมินกวน (เกียมโก๊ะ)]

พอ ทานข้าวเสร็จ เรามุ่งหน้าไปยังด่านเกียมโก๊ะ หรือเจี้ยนเหมินกวน เหตุที่ชื่อ "เจี้ยนเหมิน" ซึ่งแปลว่า "ประตูกระบี่" ก็เพราะด่านแห่งนี้มีประตูที่แคบมากเหมือนปลายกระบี่

มีคำโบราณกล่าวว่า ด่านเจี้ยนเหมิน ..."หนึ่งคนเฝ้า หมื่นคนผ่านไม่ได้"


เมื่อ เข้าไปในอุทยาน ระหว่างทางขึ้นเขา มุ่งหน้าไปยังด่านเกียมโก๊ะ เราเจอกับรูปปั้นของ เกียงอุย ซึ่งถือเป็นพระเอกของที่นี่ รวมทั้งกุนซือขงเบ้ง อาจารย์ของเกียงอุยด้วย

null
[รูปปั้นกุนซือขงเบ้ง ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแคว้นสู่]

ด่าน เกียมโก๊ะวันนี้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ส่วนของจริงนั้นเคยตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นที่แคบๆ ริมเขาใกล้ๆ กัน มีธงแดงปักบอกตำแหน่งแห่งที่ไว้ชัดเจน

ใครได้เห็นกับตาตัวเองเหมือนผมจะเข้าใจเลยว่า ด่านแห่งนี้ "ผ่านยาก" ขนาดไหน ... 

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเหตุใด เกียงอุยจึงเสียให้กับจงโฮยได้?!!


null
[ผมบรรยายเหตุการณ์ เกียงอุย รบ จงโฮย ให้ลูกทัวร์ฟัง]

คำตอบก็คือ ที่จริงแล้วเกียงอุยยังไม่ได้เสียด่านให้จงโฮย ตรงกันข้าม เขาสามารถตั้งยันทัพวุยไว้ได้เป็นเวลาหลายเดือน

ระหว่าง นั้น ทัพของนายพลเกียงเสบียงหมด จึงให้ทหารไปช่วยชาวบ้านทำไร่ไถนา ซึ่งบริเวณนี้เขาปลูกถั่วเหลืองกันเป็นหลัก เมื่อได้ถั่วเหลืองมาก็ขอแบ่งปันกับชาวบ้าน เอาถั่วเหลืองมาทำเป็นน้ำ ทำเป็นเต้าหู้ให้ทหารกิน

"เต้าหู้เจี้ยนเหมิน" ยังเลื่องชื่อจนถึงทุกวันนี้ 

อย่าง ไรก็ตาม เนื่องจากพระเจ้าเล่าเสี้ยน กษัตริย์จ๊กก๊ก เป็นเสมือนคนปัญญาอ่อน จึงตัดสินใจยอมแพ้ต่อเตงงาย แม่ทัพคู่กัดของจงโฮย ที่บุกไปถึงเมืองเซงโต๋ (เฉิงตู) ก่อน โดยไม่เห็นแก่ความยากลำบากของเสด็จพ่อเล่าปี่ กว่าจะได้แผ่นดินเสฉวนมา

เมื่อตัดสินใจแล้วที่จะยอมศิโรราบ เล่าเสี้ยนได้ให้ม้าเร็วนำสาล์นมาให้เกียงอุยที่ด่านเกียมโก๊ะแห่งนี้ มีเนื้อความสั่งให้แม่ทัพแซ่เกียงยอมจำนนต่อศัตรู

เกียงอุยสู้ อุตส่าห์ตั้งยันทัพของจงโฮยไว้ได้หลายเดือน พอได้อ่านสาล์นของเล่าเสี้ยนก็สุดแสนจะคับแค้นในหัวอก แผดร้องออกมาด้วยเสียงอันดัง ผมยังเห็นป้ายอธิบายความไว้ด้วยว่า...

เกียงอุยแค้นมาก ชักดาบออกมา แล้วเอาดาบฟันลงบน "หิน" จนหินนั้น "ขาดเป็นสองท่อน" 

สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) บรรยายไว้อย่างออกรสเช่นกันว่า

"เกียง อุยแจ้งเนื้อความในข้อรับสั่งก็ตกใจนิ่งตะลึงไปทั้งตัว ทหารทั้งปวงรู้ดังนั้นก็ชวนกันร้องไห้อึงคะนึงขึ้นว่า เราทั้งหลายอุตส่าห์ออกมาทรมานอยู่ ปรารถนาจะกำจัดศัตรูเสีย เหตุใดพระเจ้าเล่าเสี้ยนจึงมายกเมืองให้เตงงายโดยง่ายฉะนี้มิควรเลย"

"จ๊ก" จึงเสียเอกราชให้ "วุย" ด้วยประการละฉะนี้

null
[แว่นตาสำหรับชมภาพยนตร์ 4D]

หลัง จากบันทึกภาพด่านเกียมโก๊ะไว้เป็นที่ระลึกแล้ว เราก็เดินขึ้นเขาต่อไป เพื่อไปชมภาพยนตร์สี่มิติ หรือ 4D ในโรงหนังบนยอดเขา ยอมรับเลยว่าเขาทำได้น่าตื่นเต้นจริงๆ

ช่วงบ่าย พวกเราเดินทางต่อไปยังเมืองโบราณจาวฮว่า อดีตเคยเป็นที่ตั้งของด่าน "แฮบังก๋วน" สมรภูมิสำคัญที่ "ม้าเฉียว" รบกับ "เตียวหุย" 300 เพลงไม่รู้แพ้ชนะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘