การผจญภัยกับจีนกลาง – ความสำคัญของการฝึกหัดคัดตัวจีน

ไหนๆ ก็เรียนภาษาจีนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนตามหลักสูตรปกติ หรือ จะเสียเงินเสียทองไปเรียนตามสถาบันภาษา (แบบผม) ผมก็อยากขอฝากเอาไว้ว่า อย่าตั้งเป้าไว้แค่ฟังกับพูดเท่านั้นนะครับ อยากให้มุมานะ ศึกษาไปถึงการอ่านและการเขียนด้วยเลย … หลังๆ มานี่ ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์พกพา ทำให้หลายๆ คน เริ่มเขียนน้อยลงไปเยอะ เพราะเวลาแชทเวลาคุยกับคนจีน ก็มักจะใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต พิมพ์ๆๆ เอา ซึ่งพิมพ์ไปเป็น 拼音 (Pīnyīn) แล้วโปรแกรมมันก็หาตัวจีนที่เหมาะสมมาให้ (อาจจะต้องมีเลือกจากตัวเลือกบ้างเล็กน้อย) มันสะดวกดี ไม่ต้องไปยุ่งยากจำเส้นยุ่บยั่บ
แต่โดยความเห็นส่วนตัว ความสำคัญของการอ่านและเขียน ก็ยังไม่เสื่อมคลายไปอยู่ดีนั่นแหละครับ ดังนั้น เรียนภาษาจีนทั้งที เอาให้ครบทั้ง 听 说 读 写 (Tīng shuō dú xiě) หรือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ไปเลยนะครับ
และก็อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละครับ ภาษาจีนเป็นตัวอักษรที่เขียนยากเอาเรื่อง เพราะแต่ละคำ ก็มีตัวอักษรเป็นของตัวเองไปเลย บางตัวเขียนเหมือนกันแต่ออกเสียงต่างกัน บางตัวเขียนต่างกันแต่ออกเสียงเหมือนกัน บางตัวอ่านได้หลายแบบ ความหมายก็เปลี่ยนไปตามคำอ่านเลย … ฉะนั้นการฝึกหัดคัดตัวจีนก็เป็นเรื่องจำเป็นครับ เพื่อจะได้คุ้นเคยกับตัวอักษรจีน ได้รู้ว่าตัวไหนเขียนยังไง มีเส้นอยู่ตรงไหนบ้าง
ผมไม่ได้ฝึกคัดตัวจีนทุกวัน (เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีซักเท่าไหร่) แต่หากมีเวลาว่าง ผมก็จะมาไล่คัดครับ แต่ผมจะคัดตัวจีนเป็นสองส่วน
  • ส่วนแรก ผมจะคัดตัวจีนที่เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ได้มาจากบทเรียนใหม่ๆ ที่ 老师 สอนตอนไปเรียน (ปัจจุบันเรียนทุกวันเสาร์)
  • ส่วนที่สอง ระหว่างที่ผมนั่งๆ นึกๆ ทบทวน หรือ กำลังทำการบ้านแต่งประโยคที่ 老师 ให้มา แล้วเกิดผมเขียนตัวจีนตัวไหนไม่ได้ ต้องกลับไปเปิดดูตัวอย่าง คำเหล่านั้นผมจะเอากลับมาคัดอีกรอบ เพราะถ้าต้องกลับไปเปิดดูตัวอย่าง นั่นหมายความว่าผมลืมไปแล้ว ดังนั้นต้องมาคัดทบทวนกันใหม่ไงล่ะ
นอกจากนี้ 老师 แนะนำว่า ก่อนจะคัด ก็เขียน 拼音 ของคำที่จะคัด พร้อมกับความหมายเอาไว้ด้วย จะได้เป็นการฝึกจำการออกเสียง และ ความหมายของคำนั้นๆ อีก … ส่วนผม ผมเพิ่มเข้าไปอีกว่า ระหว่างที่คัด ก็อ่านออกเสียง พร้อมความหมายไปด้วยในตัวซะเลย
ต้องไม่ลืมครับ มนุษย์เรามีความจำอยู่ 3 ระดับ
  • ระดับแรกเรียก Sensory memory เป็นความทรงจำระดับประสาทสัมผัส ชั่วคราวสุดๆ ทิ้งไว้แป๊บเดียวหาย เช่น เวลาหยิกเนื้อตัวเองแล้ว ความเจ็บจากการหยิกจะยังคงอยู่กับผิวหนังของเราไปอีกระยะหนึ่ง เป็นต้ย
  • ระดับที่สองเรียก Short-term memory เป็นความทรงจำระยะสั้น จำได้ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ก็นานกว่า Sensory memory พอสมควร ตัวอย่างของความทรงจำระดับนี้คือ เวลามีคนบอกเบอร์โทรศัพท์เรามา เราก็จำได้แว้บนึงเพื่อเอาไปบันทึกลงโทรศัพท์ แต่พอผ่านไปซักหลายๆ นาที เราก็อาจจะลืมเบอร์โทรศัพท์นั้นไปแล้ว
  • ระดับที่สามเรียก Long-term memory ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่าเป็นความทรงจำระดับที่ไม่มีทางหายไปจากสมองของ มนุษย์ แต่หากไม่ได้เรียกใช้บ่อยๆ ก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ลืม” ได้ แต่หากมีอะไรบางอย่างมากระตุ้น ก็อาจจะทำให้จดจำได้อีกครั้ง เช่น คนที่เคยเรียนภาษาจีนมาก่อนแต่ห่างหายไปนาน หากกลับมาเรียนใหม่ ก็มีแนวโน้มที่จะเรียนได้ไวกว่าคนอื่น … การที่จะให้จดจำสิ่งต่างๆ ถึงในระดับนี้ได้ ก็ต้องเกิดจากการพบเห็น ได้ยิน หรือทำซ้ำๆ ครับ และหลังจากนั้นจะจำได้แม่นหรือลืมไปเลย ก็อยู่ที่ว่าเราได้ทำการทบทวนสิ่งนั้นบ่อยแค่ไหน
เมื่อเข้าใจถึงความจำ 3 ระดับนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า การฝึกหัดคัดตัวจีน ก็คือการพยายามบันทึกตัวจีนเหล่านั้น (และหากฝึกอ่าน 拼音 พร้อมความหมายไปด้วยในตัว ก็จะได้ทั้งการอ่านและความหมายอีก) ก็คือการพยายามจดจำตัวจีนเหล่านี้เข้าไปในความทรงจำระดับ Long-term memory นั่นเอง ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายเราอาจจะลืมไป แต่มันก็ยังคงมีประโยชน์ในกรณีที่เรากลับมาเรียนทบทวน ก็จะจดจำได้ไวขึ้นครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘