เงินทองต้องรู้: ใช้สนุกแต่ไม่ทุกข์ถนัด

ได้รับอีเมลจากคุณแม่ท่านหนึ่งที่มีลูกชายวัย 15 ปี ซึ่งไม่เคยเก็บเงินเป็นเรื่องเป็นราว คุณแม่ท่านนี้ขอคำปรึกษาว่า ควรสอนให้ลูกเริ่มเก็บเงินหรือลงทุนอย่างไรดี นอกจากการนำเงินฝากธนาคารอย่างเดียว พร้อมทั้งบอกว่า แหล่งที่มาของเงินจะเป็นเงินค่าขนมที่เหลือเก็บประมาณเดือนละ 1,000 บาท และเงินจากซองอั่งเปาวันตรุษจีน 20,000 บาท

          ไม่ได้ถามคุณแม่ว่า คุณลูกได้เงินค่าขนมเดือนละเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะได้รับเท่าไหร่ เงินที่เหลือเดือนละ 1,000 บาท ก็ต้องถือว่า "มากพอสมควร" สำหรับเด็กชายวัยรุ่นที่อยู่ในวัยที่อยากได้โน่นอยากได้นี่ ต้องถือว่า "เก่งมากทีเดียว"

          ขออนุญาตเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังว่า ตอนเรียนชั้นประถมศึกษา เพราะมีตำแหน่งเป็น "หัวหน้าห้อง" ก็เลยมีหน้าที่ต้องควบคุม "เงินห้อง" ที่เก็บจากนักเรียนทุกคนเอาไว้ใช้สอยเวลามีกิจกรรมต่างๆ เพราะความเป็นเด็กที่อยากได้โน่นได้นี่ แล้วเงินค่าขนมก็ไม่พอ เพราะใช้แบบวันต่อวันจนหมด สุดท้ายก็สนองความอยากของตัวเองด้วยการหยิบยืมเงินห้องไปใช้ก่อน และคิดว่า เวลาได้ค่าขนม ก็เอามาใช้คืน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ใช้คืน เนื่องจากว่า พฤติกรรมการใช้ค่าขนมก็ยังเป็นแบบวันต่อวัน พอถึงเวลาที่มีกิจกรรม ต้องใช้เงินห้อง ก็ต้องเดือดร้อนถึงผู้ปกครองต้องช่วยเคลียร์

          แต่ก็โดนอบรมยกใหญ่ว่า ทำแบบนี้ก็เหมือนกับ "ขโมย" ถึงจะเป็นขโมยอย่างไม่ตั้งใจ เพราะคิดว่าจะใช้คืน แต่สุดท้ายก็คือ ขโมยนั่นแหละ

          โชคดีที่หลังเหตุการณ์นั้น ทำให้สามารถเปลี่ยนกระบวนการและวิธีคิดเรื่องเงิน โดยเฉพาะการจัดสรรปันส่วน แยกกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่มีงานทำ ก็จะแยกเงินออม เงินลงทุน เงินสำหรับใช้จ่าย ไว้อย่างชัดเจน รวมทั้ง "เงินที่ไม่ใช่ของเรา เอามาใช้ไม่ได้"

          อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเด็กชายวัยเยาว์กว่าลูกชายของคุณแม่ท่านนี้ ทุกครั้งที่เด็กชายคนนี้ได้เงินค่าขนม จะต้องซื้อจนหมด เขาจะเลือกซื้อของที่อยากได้ก่อน พอเงินเหลือ ได้รับเงินทอนกลับมา ก็ไม่ยอมออกจากร้าน  แต่จะเดินวนอยู่ในร้าน หยิบของชิ้นโน้นชิ้นนี้ขึ้นมาดูว่าพอจะซื้อเพิ่มได้มั้ย ถึงแม้ไม่ใช่ของจำเป็น ถึงแม้ไม่ใช่ของที่อยากได้ แต่ก็จะซื้อ เพราะไม่ต้องการให้ "เงินเหลือ"

          พฤติกรรมการใช้จ่ายนี้ติดตัวไปจนโต เพราะไม่ได้รับการแก้ไขหรือชี้แนะให้ทำอย่าง ถูกต้อง สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป เขาก้าวเข้าสู่วัยทำงานและยังใช้เงินแบบที่เคยใช้เมื่อวัยเยาว์ ไม่ว่าจะทำมาหาได้เท่าไหร่ ก็ไม่เคยเหลือเก็บ ไม่เคยพอ จนสุดท้ายก็ต้องหยิบ ยืมกลายเป็นภาระหนี้สินรุงรัง  และใช้ชีวิตยากลำบากมากขึ้น  ทั้งๆ ที่หน้าที่การงานดี รายได้ ของครอบครัวก็อยู่ในเกณฑ์ค่อนไปทางสูง

          คราวนี้กลับมาที่คำถามของคุณแม่ท่านนี้ว่า จะสอนลูกให้เก็บเงินหรือลงทุนอย่างไรดี นอกเหนือจากเรื่องฝากธนาคาร ต้องบอกว่า สำหรับเด็กวัยนี้แล้ว การสอนให้เก็บเงินด้วยการฝากธนาคารนั้นก็ดีที่สุดแล้ว เพราะวัตถุประสงค์ของการสอนลูกน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่การสอนให้รู้จัก "เก็บออม" และรู้จักใช้ เก็บสะสมอย่างมีวินัย และใช้จ่ายอย่างพอเพียง คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ

          คุณแม่ต้องแยกระหว่าง "การออม" กับ "การลงทุน" ว่าแตกต่างกัน เพราะ "ออม" จะเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อเรามีรายรับมากกว่ารายจ่าย ที่เหลือก็คือ เงินออม ซึ่งวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและได้ผลที่สุด คือ ต้องเอารายรับหักเงินออมก่อน ส่วนที่เหลือค่อยใช้จ่าย หมายถึงเมื่อมีรายรับเข้ามาในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน ให้หัก "เงินออม" ออกจากรายรับอย่างน้อย 10% เช่น ได้รับค่าขนมวันละ 100 บาท ก็หักออกอย่างน้อย 10 บาททุกวัน หยอดใส่กระปุกไว้ ถ้าได้สัปดาห์ละ 500 บาท ก็หักอย่างน้อย 50 บาท หยอดกระปุกไว้ ที่เหลืออีก 450 บาทค่อยนำไปใช้จ่าย

          ถ้าวัตถุประสงค์หลักของคุณแม่คือ การสอนลูกให้มีวินัยในการออม การฝากธนาคารอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนนั่นก็ถูก ต้องแล้ว

          แต่ถ้าคุณแม่ต้องการอะไรที่แอดวานซ์ขึ้น เพราะไม่ได้หวังแค่สอนลูกให้มีวินัยในการเก็บออมอย่างเดียว เช่น ต้องการ "ผลตอบแทน" ที่มากขึ้น แบบนี้จะเข้าสู่โลกของ "การลงทุน" ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงก็ย่อมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พอถึงตรงนี้ต้องย้อนถามตัวเองว่า "พร้อมหรือยังกับการรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น" เพราะเมื่อเข้าสู่การลงทุน ก็มีโอกาสที่ "เงินต้น" ของคุณลูกจะสร้างทั้งกำไรและขาดทุน

          ย้ำว่า "อายุ" จะน้อยหรือมากไม่สำคัญเท่า "ความรู้-ความเข้าใจ" และ "ความพร้อม"

          เพราะเคยมีผู้บริหารระดับสูงในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่เปิดบัญชี ซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นให้แก่ลูกชาย ตั้งแต่ลูกอายุแค่ 8-9 ขวบ จนปัจจุบันนี้ลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว พร้อมๆ กับเงินลงทุนในหุ้นผ่านกองทุนรวมที่บางช่วงก็กำไรมหาศาล ขณะที่บางช่วงทุนหายกำไรหด ตามการขึ้นลงของตลาดหุ้น

          ไม่ว่าจะเป็นการออมด้วยการฝากเงินในธนาคาร หรือการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน ก็ถือเป็นการสร้างวินัยในการบริหารจัดการเงินเหมือนกัน แตกต่างกันที่ "ผลตอบแทน" เพราะฝากแบงก์ก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่เงินต้นไม่หาย ผลตอบแทนก็เท่านั้น อาจจะขึ้นลงตามทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งถ้าเงินไม่มากก็ไม่เห็นผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น อาจจะได้กำไรมาก กำไรน้อย หรือขาดทุนมาก ขาดทุนน้อย ก็มีโอกาสทั้งนั้น เพียงแต่โอกาสที่กำไรมากก็มีอยู่มาก

          ถ้าคุณแม่ตัดสินใจจะพาคุณลูกเข้าสู่สนามการลงทุน เพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า หลังจากนี้ก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนเยอะๆ สะดวกที่สุดก็เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือจะเลือกดูจากเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ก็ได้ทั้งนั้น แนะนำให้พุ่งตรงไปที่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ลองศึกษาดูว่า รูปแบบเป็นอย่างไร ลงทุนอย่างไร ต้องใช้เงินเท่าไหร่ (เข้าใจว่า ขั้นต่ำต่อการซื้อ 1 ครั้งจะอยู่ที่ 2,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น อาจจะซื้อ 2 เดือนต่อครั้ง) และพิจารณาผลตอบแทนของกองทุนประกอบการตัดสินใจไปด้วย

          แต่หากคุณแม่อยากให้คุณลูกฝากเงินกับแบงก์ เพื่อสร้างวินัยการออมอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้คาดหวังเรื่องผลตอบแทน ก็อยากจะแนะนำเพิ่มเติมให้คุณแม่เพิ่มแรงบันดาลใจให้ลูกชายว่า ถ้าเดือนไหนมีเงินค่าขนมเหลือเกิน 1,000 บาท คุณแม่จะเติมเงินฝากให้เท่ากับส่วนที่เกิน เช่น เดือนนี้เหลือค่าขนม 1,200 บาท คุณแม่ก็เพิ่มอีก 200 บาท ลูกก็จะมีเงิน 1,400 บาท ลองดูว่าจะกระตุ้นให้ลูกเก็บออมได้มากขึ้นหรือไม่ แต่ก็มีข้อควรระวังว่า บางครั้งความมุ่งมั่นในการออมหรือการเคร่งครัดกับตัวเองมากไป อาจทำให้เกิดความเครียด ชีวิตหมดความสุข ซึ่งคุณแม่ต้องคอยดูแลเอง

          พยายามทำให้เรื่องเงินๆ ทองๆ เป็น เรื่องสนุก พยายามทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่า "เงินนั้นใช้ได้อย่างสนุก แต่ทุกข์ต้องไม่ถนัด" และการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ลูกตั้งแต่เด็ก จะทำให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพอย่างแน่นอน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘