สารเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร

สารเพิ่มประสิทธิภาพ หมายถึง สารใดก็ตามที่ใช้ผสมกับ PGRC แล้วทำให้ประสิทธิภาพของ PGRC สูงขึ้น เช่น อาจทำให้การดูดซึม PGRC เข้าไปในพืชดีขึ้น ทำให้สารคงทนอยู่บนใบพืชหรือในต้นพืชนานขึ้น หรืออาจปรับปรุงคุณสมบัติในการละลายของ PGRC ให้ดีขึ้นถ้าจะแบ่งกลุ่มของสารเพิ่มประสิทธิภาพออกเป็นพวกๆ เพื่อสะดวกต่อการเข้าใจจะได้ดังนี้
1. surfactants หรือ surface active agents เป็นสารที่มีผลต่อผิวสัมผัสระหว่างหยดของสารและผิวใบ ซึ่งแบ่งย่อยได้ดังนี้
1.1 สารเปียกใบ หรือยาเปียกใบ (wetting agents) เป็นสารที่ช่วยลดแรงตึผิวของสารละลายจึงมีผลทำให้หยดของสารแผ่กระจายแบนราบ ไปกับผิวใบ ดังนั้นโอกาสที่สารจะถูกดูดซึมเข้าไปภายในใบจึงมีมากขึ้นเนื่องจากพื้นที่ ที่หยดสารสัมผัสกับใบมีมากขึ้น
1.2 สารจับใบ หรือยาจับใบ (stickers หรือ sticking agents) เป็นสารที่ทำหน้าที่คล้ายกาว เมื่อผสมลงไปในสารละลายพ่นให้พืช จะทำให้หยดของสารเกาะติดแน่นอยู่บนพืช จึงป้องกันการชะล้างเนื่องจากน้ำฝนได้พอสมควร สารจับใบบางชนิดมีคุณสมบัติเป็นสารเปียกใบด้วยในตัว จึงทำให้หยดสารแผ่กระจายแบนราบและติดแน่นบนผิวใบ ทำให้การดูดสารดีขึ้น
1.3 ผงซักฟอก (detergents) เป็นสารที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของสารละลาย เช่นเดียวกับสารเปียกใบ และยังมีคุณสมบัติในการละลายหรือทำลายไขมันได้ดี ดังนั้นเมื่อผงซักฟอกผสมในสารละลายพ่นให้พืช จะทำให้หยดสารแผ่แบนราบบนใบและยังทำลายไข (wax)บนใบอีกด้วย สารจึงผ่านเข้าทางเนื้อใบได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผงซักฟอกมีฤทธิ์เป็นด่างและมีคุณสมบัติในการทำลายไขมันบนใบพืชจึง ไม่แนะนำให้ใช้ผสมกับสารละลาย PGRC อาจทำให้สารเสื่อมประสิทธิภาพ หรือเกิดอันตรายต่อใบพืช
2. emulsifying agents หรือ emulsifiers เป็นสารที่มีคุณสมบัติในการละลายได้ดีทั้งในนํ้าหรือนํ้ามัน จึงใช้เป็นตัวกลางในการผสมนํ้ากับน้ำมันให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่แยก ชั้น PGRC ที่อยู่ในรูปสารละลายนํ้ามัน (emulsifiable concentrate) จะต้องมีการผสมสารนี้ด้วยเสมอ เมื่อนำมาผสมกับนํ้า จะได้สารผสมซึ่งมีลักษณะขุ่นคล้ายนํ้านมซึ่งเรียกว่าอีมัลชัน (emulsion) การขุ่นของสารผสมเกิดจากหยดนํ้ามันขนาดเล็กมากแตกตัวกระจายแทรกอยู่ในน้ำ โดยมี emulsifiers เป็นตัวกลาง ซึ่งพยุงหยดนํ้ามันเหล่านี้ให้แขวนลอยอยู่ได้ในนํ้า และในหยดนํ้ามันเหล่านี้จะมีเนื้อสารออกฤทธิ์ผสมอยู่ ดังนั้นเมื่อพ่นสารผสมดังกล่าวบนใบพืช จะมีผลทำให้หยดนํ้ามันกระจายอย่างสมํ่าเสมอบนใบพืชและค่อยๆ ปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ เข้าสู่ใบพืช ใบพืชมีไขมันเคลือบอยู่ซึ่งสามารถเข้ากันได้ดีกับหยดนํ้ามัน ดังนั้นจึงทำให้สารออกฤทธิ์ซึมผ่านเข้าไปในเนื้อใบได้ดี
3. dispersing agents หรือ dispersants เป็นสารที่มีคุณสมบัติผลักดันอนุภาคของแข็งชนิดเดียวกัน ให้แยกออกจากกัน ดังนั้นจึงใช้ผสมในสารเคมีเกษตรที่อยู่ในรูปผงเปียกนํ้า (wettable powder หรือ w.p.) หรือสารแขวนลอยเข้มข้น (suspension concentrate) เมื่อนำสารเคมีเกษตรเหล่านี้มาผสมนํ้าจะได้สารผสมซึ่งมีลักษณะขุ่นคล้ายแป้ง ผสมนํ้า แต่ไม่ ตกตะกอน เนื่องจากมีสารพวก dispersants ผสมอยู่ซึ่งจะผลักดันไม่ให้อนุภาคของแข็งซึ่งผสมสารออกฤทธิ์ เข้ามารวมกันเป็นอนุภาคใหญ่ จึงทำให้อนุภาคเล็กๆ เหล่านี้แขวนลอยอยู่ได้นานโดยไม่ตกตะกอน
นอกจากสารที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเภทนี้แล้วยังมีสารเพิ่มประสิทธิภาพชนิดอื่นๆ อีก ซึ่งมีความสำคัญทางการเกษตรค่อนข้างน้อย จึงไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียด
สารพวก emulsifier และ dispersant จะมีอยู่ในผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรที่อยู่ในรูปสารละลายน้ำมันหรือสารแขวนลอยเข้ม ข้น และผงเปียกน้ำ ซึ่งมีการผสมมาจากโรงงานผลิตโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องจัดหามาผสมเพิ่มเติมลงไปอีก แต่สารประเภทแรกคือ พวกสารเปียกใบ หรือสารจับใบ อาจมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนสลากของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ว่าจำเป็นต้องใช้หรือไม่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิดมีการผสมมาเรียบร้อยแล้วจากโรงงานผลิต การผสมเพิ่มเติมเข้าไปอีก อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี วิธีทดสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีการผสมสารพวก surfactants มาเรียบร้อยแล้วหรือไม่ สามารถทำได้ง่ายโดยการผสมสารตามอัตราที่กำหนดในสลากแล้วพ่นไปยังใบพืชเปรียบ เทียบกับการใช้นํ้าเปล่า ถ้าหยดสารแบนราบและเกาะติดบนผิวใบอย่างสมํ่าเสมอ แสดงว่ามีการผสม surfactants อยู่ด้วย และในทางตรงกันข้ามถ้าหยดสารเกาะ เป็นเม็ดขนาดใหญ่ไม่สมํ่าเสมอ และไม่ต่างจากการใช้นํ้าเปล่า แสดงว่าไม่มี surfactants ผสมอยู่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘