ถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ธรรมกาย" ถาม : ทำไมจึงบอกว่า ธรรมกายเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมมีหลักฐานหรือไม่ ?

ถาม-ตอบ ข้อสงสัยเกี่ยวกับ "ธรรมกาย"
ถาม : ทำไมจึงบอกว่า ธรรมกายเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมมีหลักฐานหรือไม่ ?
ตอบ : มีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกาบาลี รวมทั้งคัมภีร์ท้องถิ่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิภาวนา และยังมีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ของพระพุทธศาสนาในภาษาอื่นๆ ด้วย
ในพระไตรปิฎกบาลี พบคำว่า ธรรมกาย 4 แห่ง เป็นพุทธพจน์ 1 แห่ง คือในอัคคัญญสูตรที่บอกว่า ธรรมกายเป็นพระนามหนึ่งของพระตถาคต และอีก 3 แห่งพบในคัมภีร์อปทานที่กล่าวถึงความเป็นมาของพระปัจเจกพุทธเจ้า และภิกษุ-ภิกษุณีอรหันต์
ในอัคคัญญสูตร ซึ่งเป็นพุทธพจน์โดยตรงนั้น พระพุทธองค์ตรัสกับสามเณร 2 รูปที่เคยเป็นพราหมณ์แล้วมาบวชว่า พระสงฆ์สาวกแม้จะมาจากต่างชาติตระกูลกัน แต่เมื่อได้ออกจากเรือน บวชเป็นสมณะ ทั้งหมดก็ได้ชื่อว่าเป็นศากยบุตรเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะอริยสาวก(๑) ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เกิดจากพระโอษฐ์ เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทแห่งธรรม เพราะพระพุทธองค์ทรงพระนามว่า “ผู้มีธรรมเป็นกาย” (ธรรมกาย) หรือจะเรียกว่า “ผู้มีพรหมเป็นกาย” (พรหมกาย) “ผู้ที่เป็นธรรม” (ธรรมภูต) หรือ “ผู้ที่เป็นพรหม” (พรหมภูต) ก็ได้
"...ใครก็ตามที่มีศรัทธาตั้งมั่นในพระตถาคต หยั่งรากลึก มั่นคง โดยที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่อาจทำให้กลับกลายได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตร เกิดแต่พระอุระ เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้เกิดจากธรรม เป็นผู้ที่ธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทแห่งธรรม ถามว่า ทำไม ? ก็เพราะคำว่า ธรรมกาย พรหมกาย ธรรมภูต หรือ พรหมภูต ก็ตาม ล้วนเป็นชื่อของตถาคต..."
ในพุทธพจน์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็น “ธรรม” โดยเปรียบเทียบกับ “พรหม” ในทัศนะของพราหมณ์ที่เชื่อว่าพรหมเป็นพระบิดาผู้เนรมิตสรรพสิ่งให้เกิดขึ้น ดังนั้น “ธรรม” ในที่นี้จึงมีหน้าที่ “ให้กำเนิด” ซึ่งในพระพุทธศาสนาหมายถึงการทำให้เกิดใหม่ในอริยภูมิ เปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลซึ่งก็คือธรรมที่ทำให้ตรัสรู้ดังนั้น สมญานาม ธรรมกาย ในพระสูตรนี้จึงมีความหมายว่า พระพุทธองค์ทรงมี “ธรรมที่ทำให้ตรัสรู้” เป็นกายของพระองค์ ธรรมกาย ในอัคคัญญสูตร จึงหมายถึง “กายแห่งการตรัสรู้ธรรม”
(ที. ปา. 11/55/91-2)
ส่วนในคัมภีร์อปทาน ที่พบคำว่าธรรมกายนั้น มี 3 แห่ง
1. แห่งแรกกล่าวถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายว่า เป็นผู้มี
ธรรมกายมาก(๒) เนื้อหาบอกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีคุณธรรมและคุณวิเศษต่างๆ ในแง่ของความบริสุทธิ์ ความเพียร ปัญญา และคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้และการหลุดพ้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นเลิศของท่านที่ทำให้ตรัสรู้ด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องมีครู พบข้อความว่า “มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก” อยู่รวมกับคุณสมบัติเหล่านั้นด้วย บ่งบอกว่า “ธรรม” ในที่นี้ก็เป็นธรรมที่เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ธรรมนั่นเอง ดังนั้น ธรรมกาย ในข้อความนี้จึงหมายถึงกายแห่งการตรัสรู้ธรรมอีกเช่นกัน
2. อีกคัมภีร์หนึ่งเป็นถ้อยคำของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระ พุทธองค์เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ในวาระที่ท่านมากราบทูลลาพระพุทธองค์เพื่อจะปรินิพพานไปก่อน ท่านได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์ว่า พระองค์ทรงเป็น บิดาในทางธรรม ผู้ประทานความสุขจากพระสัทธรรม ให้ท่านได้เกิดใหม่ ทั้งยังทรงบำรุงเลี้ยง ธรรมกายของท่านให้เติบโตขึ้น และยังเปรียบเทียบว่า แม้ตัวท่านได้ชื่อว่าเป็น มารดา ผู้เลี้ยงดู รูปกาย ของพระพุทธองค์ให้เติบใหญ่ก็ตาม น้ำนมที่ท่านป้อนก็สามารถดับความกระหายได้เพียงชั่วครู่ แต่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานน้ำนมคือธรรมอันสงบระงับอย่างยิ่งแก่ท่าน... ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงมิได้เป็นหนี้ท่านเลย มีข้อความ
ที่เกี่ยวข้องดังนี้
"...ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ทรงเป็นบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดมผู้เป็นที่พึ่งผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้ว ข้าแต่พระสุคต รูปกายของพระองค์นี้หม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เติบโต ส่วนธรรมกายอันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉันพระองค์ทรงทำให้เติบโตแล้ว หม่อมฉันได้ถวายกษีรธารแด่พระองค์เพียงระงับดับกระหายได้ชั่วครู่ แต่พระองค์ทรงประทานกษีรธารคือธรรมอันสงบระงับอย่างยิ่งแก่หม่อมฉัน..."
(ขุ. อป. 33/157/284)
ถ้อยคำที่ยกมานี้ระบุถึงธรรมกายในลักษณะที่เป็นชีวิตใหม่ของท่านผู้เป็น ภิกษุณีอรหันต์ และเกี่ยวข้องกับ “การเกิดใหม่ในอริยภูมิ” ซึ่งเป็นความหมายของกายแห่งการตรัสรู้ธรรม
3. ส่วนคัมภีร์สุดท้ายในพระไตรปิฎกบาลีที่พบคำว่า ธรรมกาย กล่าวถึงอดีตชาติของพระอัตถสันทัสสกเถระ เมื่อครั้งที่ท่านเป็นพราหมณ์ชื่อนารทะ ท่านได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า โดยเรียกพระองค์ว่า พระผู้มีธรรมเป็นกาย (ธรรมกาย) หรือ ผู้ยังธรรมกายให้สว่างไสว24 ในทำนองเดียวกันกับในอัคคัญญสูตรที่กล่าวถึงธรรมกายในฐานะที่เป็นสมญานามของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
___________________________
(๑) หมายถึงผู้บรรลุธรรมตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป ได้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมด้วยตนเอง จึงหมดความสงสัยในธรรม และจึงมีศรัทธาที่มั่นคงในพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยไม่มีสิ่งใดมาทำให้กลับกลายหรือคลอนแคลนได้ จึงนับว่าเป็นผู้สามารถตัดกิเลสคือความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) ได้โดยสิ้นเชิงด้วยอริยมรรค
(๒) “ปราชญ์เหล่าใด มีศีลและปัญญาบริสุทธิ์อย่างยิ่ง มีจิตตั้งมั่น พากเพียร เห็นแจ้งธรรมอันวิเศษ รู้แจ้งธรรมอันประกอบด้วยองค์แห่งมรรคและองค์แห่งการตรัสรู้ หมั่นเจริญวิโมกข์ทั้งสาม ไม่เข้าถึงความเป็นสาวกในศาสนาของพระชินเจ้า ย่อมตรัสรู้ด้วยตนเองเป็นพระปัจเจกชินเจ้า ท่านเหล่านั้นมีธรรมยิ่งใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามพ้นห้วงทุกข์ทั้งปวงได้ มีจิตแช่มชื่นเบิกบาน มองเห็นประโยชน์อันสูงสุด แกล้วกล้าดุจราชสีห์ และเที่ยวไปลำพังดังนอแรด” ขุ. อป. 32/2/20.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘