Magic Formula/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปัญหาของนักลงทุนแบบ เน้นคุณค่าหรือ Value Investor ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ  เขาไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะวิเคราะห์ตัวหุ้นที่เขาจะเลือกลงทุน  นอกจากนั้น  เขาก็อาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะวิเคราะห์คุณภาพของกิจการหรือคาด การณ์อนาคตของบริษัทว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง  เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าเขา  “ไม่เก่งพอ”  หรืออาจจะเพราะว่าเขาไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้น  เช่น  การลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่เขามักไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสกับธุรกิจของบริษัท มากนัก  ในกรณีแบบนี้ VI จะทำอย่างไร?

    ถ้าเป็นในอดีตที่ข้อมูลโดยเฉพาะที่เป็นตัวเลขของกิจการและหุ้นยังเป็นสิ่ง ที่หาได้ยาก  การลงทุนในแบบ VI ก็ทำได้ยาก  แต่ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าสูงมากในด้านของอินเตอร์เน็ตและข้อมูลต่าง ๆ  ที่หาได้ง่าย  “เพียงแค่ปลายนิ้ว”  การลงทุน “แบบ VI” ก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก  และอาจจะไม่ต่างจากการลงทุน “แบบเทคนิค” ที่ทำได้ในชั่วพริบตา    ลองมาดูกันว่าทำอย่างไร

    วิธีลงทุนแบบ VI ที่ “ไม่ต้องวิเคราะห์” นี้ก็คือการลงทุนที่เรียกว่า Mechanical Trading หรือการลงทุนโดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่จะมากรองหุ้นเพื่อที่จะเลือกหุ้นลง ทุน  สูตรที่ใช้ก็คือตัวเลขที่เกี่ยวกับพื้นฐาน เช่น  อัตราการทำกำไรและการเติบโตของกิจการ  และอัตราความถูกความแพงของราคาหุ้น  เป็นต้น  ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สามารถที่จะหาได้ง่าย ๆ  จากข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์หรือในเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ  ทั้งที่ให้ฟรีและต้องเสียเงินซื้อ

    สูตรที่มีการศึกษาในอดีตและพบว่าสามารถเลือกหุ้นเป็นพอร์ตและทำกำไรและผลตอบ แทนได้น่าประทับใจนั้น  เริ่มแรกก็เป็นสูตรที่เน้นเลือกหุ้นที่มีราคาถูกแนว “VI ดั้งเดิม”  ซึ่งสูตรหนึ่งที่ใช้กันมากก็คือ  เลือกหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ เช่น  ไม่เกิน 10 เท่า  และค่า PB ต่ำ  เช่นไม่เกิน 1 เท่า  และค่า Dividend Yield สูง  เช่น  ไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปีในปีล่าสุด  หุ้นตัวไหนที่เข้าข่ายทั้งสามข้อก็จะถูกเลือกเข้ามาลงทุนในพอร์ต  โดยที่ทุกตัวจะลงทุนเท่า ๆ  กันเช่นอาจจะตัวละ 10,000 บาท  จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายอาจจะประมาณ 50 ตัว  ใช้เงินไปประมาณ 500,000 บาท  หลังจากซื้อในตอนต้นปีก็จะถือไปถึงสิ้นปีแล้วเราก็จะคำนวณว่าพอร์ตมีมูลค่า เท่าไร  อาจจะเป็น 700,000 บาทหรือกำไร 40% ต่อปี (รวมเงินปันผลแล้ว) ในปีแรก  หลังจากนั้นเราก็จะเอาหุ้นทั้งตลาดมาเลือกใหม่ด้วยสูตรเดิม  เราอาจจะได้หุ้นจำนวน 35 ตัวที่เข้าเกณฑ์ที่จะลงทุน  โดยที่แต่ละตัวเราจะลงทุนเท่า ๆ  กันคิดเป็นเงินตัวละ 20,000 บาท  ซึ่งสิ่งที่เราจะทำก็คือการ “Rebalance” หรือการปรับพอร์ตหุ้น 50 ตัวของเราให้เป็นไปตามพอร์ตใหม่ 35 ตัวที่เราคัดไว้แล้ว  เราจะทำแบบนี้ซ้ำ ๆ  ไปเรื่อย ๆ  ทุกปีตราบที่เรายังลงทุนอยู่และนี่ก็คือสูตรแรก

    สูตรแบบที่สองที่ภายหลังเริ่มมีคนเสนอและใช้กันมากขึ้นจนอาจจะมากกว่าสูตร แบบแรก  นั่นก็คือสูตรที่ใช้ข้อมูลด้าน “คุณภาพ” ของกิจการ  เช่นการทำกำไรที่วัดโดยผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ประกอบกับข้อมูลความถูกความแพงที่วัดด้วยค่า PE ของหุ้น  และสูตรหนึ่งที่น่าจะเป็นที่นิยมไม่น้อยนั้นเสนอโดย Joel Greenblat ในหนังสือชื่อ The Little Book That Beats The Market ซึ่งเขาเรียกมันว่า  Magic Formula (MF) หรือ  “สูตรมหัศจรรย์” เพราะจากการศึกษาย้อนหลังพบว่ามันให้ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดมหาศาลคิดเป็น ปีละกว่า 20-30% โดยเฉลี่ยเป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2004 เปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์อเมริกาที่ประมาณ 10% ต้น ๆ  ต่อปี

    เกณฑ์ของ MF คร่าว ๆ ก็คือ  การเลือกหุ้นที่มี “ROE สูงที่สุด และ PE ต่ำที่สุด”  พูดง่าย ๆ  ก็คือ “คุณภาพดีสุดแต่ราคาต่ำสุด”  โดยวิธีที่เขาทำก็คือ  ข้อแรก  เขาจะเรียงลำดับหุ้นทุกตัวในตลาดด้วยค่า ROE แล้วก็จะกำหนดตัวเลข 1 ให้แก่ตัวที่มี ROE สูงที่สุด  ตัวเลข 2 ให้แก่หุ้นตัวที่มี ROE สูงที่สุดอันดับสอง  และไล่ไปเรื่อย ๆ  กับหุ้นทุกตัว  ขั้นตอนที่สอง  เขาจะเรียงลำดับหุ้นทุกตัวใหม่ด้วยค่า PE จากต่ำสุดไปสูงสุด  จากนั้นก็ให้ตัวเลขหุ้นที่มีค่า PE ต่ำสุดเป็นเลข 1  หุ้นที่มีค่า PE ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองก็ได้ตัวเลข 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ  กับหุ้นทุกตัว  ในขั้นตอนที่สาม เขาจะเอาตัวเลขค่า ROE กับค่า PE ของหุ้นแต่ละตัวมาบวกกันหรือรวมกันเพื่อให้ได้ตัวเลขที่เรียกว่า  “คะแนน”  ของหุ้น  โดยที่คะแนนน้อยคือหุ้นที่ดีเพราะจะเป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีแต่ราคาถูก  ในขั้นตอนที่สี่นั้น  เขาจะเอาหุ้นทุกตัวมาเรียงลำดับตามคะแนนและเลือกเฉพาะหุ้นที่มีคะแนนต่ำที่ สุด 30 ตัวแรกมาลงทุนตั้งแต่ต้นปี  เมื่อถึงปลายปี  เขาก็จะปรับพอร์ตใหม่โดยใช้เกณฑ์เดิมและทำซ้ำ ๆ  แบบเดียวกับในกรณีแรกที่ใช้สูตรหุ้นถูกที่ผมกล่าวถึงแล้ว

    ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น  ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ที่นิด้าได้ทำการศึกษาทดสอบผลการลงทุนโดยใช้ทั้งเกณฑ์แบบแรกและ Magic Formula กับตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 1996 -2010 คิดเป็นเวลา 15 ปี ก็พบว่าพอร์ตสามารถทำผลตอบแทนสูงอย่าง “น่ามหัศจรรย์”  คือแบบ VI ดั้งเดิมให้ผลตอบแทนทบต้นโดยเฉลี่ยปีละ 36.69% เทียบกับตลาดที่เพียง 2.4% เงิน 1 ล้านบาทกลายเป็น 108.7 ล้านบาทเทียบกับ 1.42 ล้านบาทในกรณีของตลาด  และในกรณีที่ใช้ MF นั้น  ให้ผลตอบแทนปีละถึง 66.18% เทียบกับ 2.4% ของตลาด  เงิน 1 ล้านบาทกลายเป็น 2,035 ล้านบาทเทียบกับตลาดที่เพียง 1.42 ล้านบาทในเวลา 15 ปี

    นั่นคือ  “การศึกษาข้อมูลจากอดีต”  ที่มีการตั้งสมมุติฐานหลายอย่าง เช่น  เราสามารถซื้อขายหุ้นได้จริงตามที่เรากำหนด  แต่ความเป็นจริงอาจจะทำไม่ได้ เช่น  หุ้นมีสภาพคล่องน้อย  เวลาเราซื้อ  หุ้นอาจจะวิ่งขึ้นไปมากทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าที่เห็นในตัวเลขย้อนหลัง  เช่นเดียวกับที่เวลาขาย  เราอาจจะขายไม่ได้ราคาที่เห็น  นอกจากนั้น  พฤติกรรมของหุ้นใน  “อนาคต” ก็อาจจะไม่เป็นแบบเดิมเพราะสถานการณ์ต่าง ๆ  อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากเช่นเดียวกับนักลงทุนที่ก็อาจจะเปลี่ยนความนิยมจาก หุ้นที่เข้าเกณฑ์ VI ในสมัยก่อน  เช่น  นักลงทุนอาจจะสนใจลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วมากกว่าหุ้นที่ถูกอย่างในอดีต เป็นต้น

    ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การใช้เกณฑ์การลงทุนแนว VI นั้น  ก็น่าจะเป็นวิธีที่น่าสนใจอยู่โดยเฉพาะในโลกที่เป็นโลกาภิวัตรและการลงทุน ข้ามประเทศมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจของหุ้นมีจำกัด  ผมเองได้เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามโดยอาศัยเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นทั้งแบบ แรกและ MF โดยมีการผสมผสานบ้าง  จำนวนหุ้นที่ถืออยู่มีถึงกว่า 50 ตัว  การลงทุนผ่านมาเกือบ 2 ปี  ผลตอบแทนที่ได้นั้นต้องถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่งแต่ปัญหาก็คือ  ผมไม่สามารถขายทำกำไรได้เนื่องจากสภาพคล่องของหุ้นดูเหมือนจะไม่ใคร่พอ เนื่องจากหุ้นที่ถือนั้นมีขนาดเล็กเกินไป  ผมคงต้องรอไปอีก  อาจจะหลายปีถ้าต้องการขาย  ผมคิดว่าเกณฑ์ที่ผมใช้นั้นอาจจะไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในแง่ของขนาดและสภาพคล่อง ของหุ้น  นั่นทำให้ผมไม่ได้ปรับพอร์ตในแต่ละปีตามเกณฑ์  ผมไม่รู้ว่าหลังจากการลงทุนอาจจะซัก 4-5 ปี อะไรจะเกิดขึ้น  ในขณะนี้ถ้าจะเรียกว่าผม  “ติดหุ้น” ก็ไม่ใช่  จะเรียกว่าประสพผลสำเร็จก็ไม่น่าจะใช่  เวลาและผลตอบแทนที่จะได้รับที่แท้จริงคือ  “ขายหุ้นได้”  จะเป็นตัวบอก  แต่บทเรียนสำหรับคนที่จะใช้หลักเกณฑ์การลงทุนตามสูตรก็คือ  ผลตอบแทนที่จะได้จาก “สูตรมหัศจรรย์”  อาจจะไม่ได้มหัศจรรย์อย่างที่เขาบอก  ดังนั้นก่อนที่จะใช้ต้องคิดดูให้ดีและต้องพร้อมที่จะรับผลของมันด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘