สับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF เพื่อไม่ให้มีปัญหาภาษี (พร้อมวิธีทำ)

สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งกับ “บล็อกภาษีข้างถนน” โดยพรี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่าที่จะมาเล่าเรื่องภาษีให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆฟังกันอีกครั้งครับ และหัวข้อของบทความในวันนี้คือการแชร์ประสบการณ์ในการสับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF เพื่อวางแผนลงทุนและประหยัดภาษีของตัวผมเองครับ
อะแฮ่มๆๆ ขออนุญาตออกตัวไว้สักเล็กน้อยก่อนนะครับว่าบทความในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องทฤษฎีหรือเน้นทางกฎหมายสักเท่าไร แต่เป็นประสบการณ์เชิงปฏิบัติกึ่งๆ ฮาเฮแบบขำไม่ออกของตัวผมเองนั่นแหละครับ อาจจะมีคำไม่สุภาพบ้างอะไรบ้าง ดังนั้นโปรดทำใจก่อนอ่านนะคร้าบบ (อิอิ)
แรกเริ่มเดิมทีเมื่อประมาณสองปีก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนบทความเรื่องการสับเปลี่ยนกองทุน LTF ไว้เหมือนกันครับ หากใครสนใจอ่านบทความและหลักการทางทฤษฏีเพิ่มเติมก็สามารถอ่านได้ในบทความ ที่มีชือว่า รู้ทะลุ LTF ตอนที่ 2 : ถ้าไม่ดีก็สับแม่มเลย! FEAT. TIF ครับ
เอาล่ะครับ อารัมภบทมาครบ 3 ย่อหน้า ก็คงถึงเวลาที่จะเข้าเรื่องแล้วสินะ – -”

ทำไมต้องสับเปลี่ยนกองทุน ?

เนื่องจากการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีในกองทุน LTF และ RMF นั้นถูกจำกัดโดยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่ให้ขายก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบันการขาย LTF นั้นถูกกำหนดไว้ที่ 5 ปีปฎิทินและกำลังจะเปลี่ยนเป็น 7 ปีปฎิทินเร็วๆนี้ #รอกฎหมายออกอีกทีนะครับ ส่วน RMF นั้นถูกวางไว้ให้เป็นกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ จึงกำหนดอายุในการถือครองไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์จึงจะสามารถขายได้
แต่อย่างที่ว่า .. กองทุน LTF และ RMF ที่เราเคยเลือกลงทุนนั้นอาจจะทำผลงานได้ไม่ดีอย่างที่เราคิดไว้ แถมทาง บลจ. ที่เป็นผู้ดูแลกองทุนทั้งหลายก็มักจะมีคำพูดให้เจ็บใจเล่นๆว่า ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต #แต่เวลาเลือกเราก็ต้องมาดูผลตอบแทนในอดีตอยู่ดี #เวรกรรม TwT
ดังนั้น ถ้าหากเราไม่พอใจในผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม หรือ นโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้ สิ่งที่เราทำได้มีอยู่ 3 วิธี คือ ตัดสินใจขายและเสียสิทธิเรื่องลดหย่อนภาษี (ไปยื่นแบบเพิ่มเติมเสียเงินเพิ่มก็ว่ากันไป) หรือ รอให้ครบกำหนดแล้วค่อยขาย (LTF รอไม่นานหน่อย ส่วน RMF อาจจะรอนานมาก) หรือ การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนในกองทุนที่เรามีไปยังบลจ.เดียวกันหรือบลจ.อื่น ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการ “ขาย” และ ผิดเงื่อนไขในการลงทุน
โดยปกติแล้วเรามักจะเลือกหนทางที่ 2 สำหรับการลงทุนใน LTF เพราะทนถือไปไม่นานเท่าไร (3 ปี 2 วันก็คือ 5 ปีปฎิทิน) พอครบแล้วก็ขายๆมันทิ้งไปลงทุนใหม่ในกอง LTD อื่นๆ ที่คิดว่าดีกว่า ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดครับ และที่ผ่านมาผมเองก็ใช้วิธีรอถือกองทุน LTF ให้ครบกำหนดแล้วขายนี่แหละครับ
แต่เนื่องจากมีเหตุให้ต้องวางแผนเรื่องการเงินของตัวเองใหม่ หลังจากที่ทบทวนแผนการลงทุนตามที่เขียนไว้ในบทความ เมื่อนักวางแผนการเงินบอกว่า “ผมจะมีเงินเกษียณ 30 ล้านบาท” ผม เลยตั้งใจว่าในเดือนเมษายน 2559 นี้ จะทำการปรับปรุงพอร์ทการลงทุนของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ให้เรียบร้อย
LTF-RMF-1
จากภาพประกอบข้างบนนี้ คือ การลงทุนใน LTF และ RMF ที่ผ่านมาของผมครับ สำหรับ LTF ผมซื้อกองทุนมากมายหลากหลายที่ผลตอบแทนไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไร (แน่ล่ะ! แกเลือกกองที่ลงทุนในหุ้นต้วเดียวกันนี่ อีพรี่หนอม #อ่านหนังสือชี้ชวนหรือสรุปข้อมูลการลงทุนบ้างอะไรบ้าง) ส่วน RMF ก็ไม่ยอมน้อยหน้าเช่นเดียวกัน เลือกลงทุนในกองทุนที่ลงทุนหลากหลายมากมายประมาณ 6 กองทุน หุ้น ทองคำ หนี้ ตลาดเงิน สินทรัพย์ทางเลือก และก็พบความจริงว่า ผลตอบแทนมันช่างกระจัดกระจายคล้ายจะเป็นลม  ซึ่งมันไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนที่แท้จริงของตัวเองตามที่วางไว้
เป้าหมายการลงทุน และ การจัดพอร์ท
เมื่อทบทวนดูแล้ว ผมพบสิ่งหนึ่งที่ทำให้แผนการลงทุนค่อนข้างพลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเรื่องของการวางเป้าหมายการลงทุนของตัวเองที่ไม่ค่อยชัดเจนครับ ถึงแม้จะนำเงินมาลงทุนได้มากขึ้นแต่กลายเป็นว่ากระจายการลงทุนไปมากเกิน เลยทำให้เพลิดเพลินเสียเปล่าไปกับค่าธรรมเนียมและกองทุนที่ไม่รู้จะลงทุนไป ทำไมมากมาย – -“
หลังจากที่ตั้งสติและยอมรับความจริงว่า “เราพลาด” ซึ่งคำว่าพลาดในที่นี้ไม่ใช่พลาดที่เลือกกองทุนเยอะเกินไปนะครับ แต่พลาดที่เลือกกองทุนไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการลงทุนของตัวเอง ซึ่งหลังจากปรับพอร์ทการลงทุนใหม่แล้ว ก็พบความจริงว่า เอ๊ะ! จริงๆเราซื้อแค่กองทุน LTF และ RMF อย่างละกองก็พอแล้วนี่หว่า #แล้วที่ผ่านมาคืออะไร
… ดังนั้นมันคงถึงเวลาที่จะต้องย้ายกองทุนหลากหลายมารวมกันในที่เดียวแล้วสินะ!
เมื่อสับเปลี่ยนกองทุน ไม่ใช่การขาย ชีวิตเลยโดยทำร้ายโดยไม่รู้ตัว
หากใครเป็นเพื่อนหรือติดตามเฟสบุ๊กส่วนตัวของผมคงจะได้เห็น Status ที่เล่าเรื่องการสับเปลี่ยนกองทุนรวม LTF และ RMF ของตัวเองที่ยาวเหยียดพร้อมกับคอมเม้นท์ต่างๆของเพื่อนร่วมชะตากรรมเหมือนๆ กันไปแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เห็นก็สามารถอ่านได้ที่นี่ครับ

Status ที่พูดมานั้นไม่ได้จะก่นด่าแต่ละ บลจ.นะครับ (เห็นไหมว่าไม่ได้เปิดเผยชื่อว่าที่ไหน – -“) แต่อยากจะชี้ประเด็นให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อน ที่จะสับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF โดยการตรวจสอบเรื่องต่อไปนี้ครับ
1. ตรวจสอบนโยบายและวิธีการสับเปลี่ยนกองทุนของแต่ละบลจ.ให้เรียบร้อย โดยสิ่งที่ต้องเตรียมนั้นมีดังนี้ครับ
เอกสาร บางบลจ.ต้องการใบสับเปลี่ยนกองทุนของทางกองทุนต้นทาง (บลจ.เดิม) และกองทุนปลายทาง (บลจ.ใหม่) รวมถึงเอกสารสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเราต้องตรวจสอบให้ดีว่าแต่ละแห่งต้องการอะไรแน่ๆครับ แต่ผมแนะนำให้เตรียมไปให้ครบไว้ล่วงหน้าเลยครับเพราะแม้แต่บลจ.เดียวกันนั้น อาจจะต้องการเอกสารไม่เหมือนกันตามแต่ละสาขา (แป่ววว)
การเจรจากับพนักงาน สิ่งหนึ่งที่เราต้องมีนอก จากเอกสารพร้อมแล้ว คือ ข้อมูลต้องเป๊ะ รู้ว่ากองทุนเรานั้นไปลงทุนอะไร สาเหตุในการสับเปลี่ยน เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละบลจ. รวมถึงพนักงานแต่ละสาขาของทางธนาคาร บางสาขาก็ทราบเรื่องดีมาก บางสาขาก็ไม่ทราบเลยว่าต้องทำยังไง บางสาขาก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ดังนั้นภาระเลยตกเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคระดับเทพอย่างเรา คือ เตรียมข้อมูลทั้งหมดไปให้พร้อมด้วยครับ
ค่าธรรมเนียม ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการสับเปลี่ยนกองทุนที่แตกต่างในกันแต่ละ บลจ. บางทีคิดค่าสับเปลี่ยนเป็นค่าธรรมเนียม บางแห่งคิดเป็น % ของ NAV บางแห่งคิดหมดทุกอย่าง ตังนั้นเตรียมค่าใช้จ่ายต่างๆไปให้พร้อมด้วยครับ อาจจะต้องมีการชำระเงินเพิ่มในบางที่
2. ตรวจสอบความต้องการและเป้าหมายของตัวเองให้ครบถ้วน นอกจากทางฝั่งของบลจ.แล้ว ในตัวเราเองก็ต้องพร้อมเช่นเดียวกันครับ สำรวจตัวเองให้ดีก่อนว่าเป้าหมายในการลงทุนของเรานั้นต้องการอะไร มองให้ลึกลงไปถึงความต้องการจริงๆของตัวเอง เพราะการสับเปลี่ยนในแต่ละครั้งกินเวลานานมาก รวมถึงบางครั้งก็ต้องไปๆกลับๆธนาคารหลายสาขาเพื่อหาสาขาที่ทำรายการให้เรา ได้ ดังนั้นคิดให้ดีครับ #สับกองทุนไม่ใช่สับหมูที่เหนื่อยแล้วจะเก็บเข้าตู้เย็นได้
3. เก็บเอกสารหลักฐานหลังจากสับเปลี่ยนกองทุนไว้ด้วย เนื่อง จากการสับเปลี่ยนไม่ใช่การขาย ดังนั้นเราต้องมีหลักฐานเพื่อใช้ยืนยันเผื่อว่าอาจจะมีปัญหาในการตรวจสอบ เอกสารกับทางสรรพากร โดยทาง บลจ.จะมีการส่งเอกสารใบสับเปลี่ยนกองทุนมาให้กับเราถึงบ้านครับ ซึ่งตรงนี้แนะนำให้เก็บให้ดีและเรียบร้อยด้วยนะครับ

คำแนะนำและแนวทางการแก้ปัญหา

ผมอยากบอกว่ามีเรื่องน่าตลกอยู่นิดหน่อยครับ เพราะปัญหาในการสับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF จะไม่เกิดขึ้นเลยครับ ถ้าหากการซื้อกองทุนของเรานั้น ไม่ได้ซื้อผ่านกับทาง บลจ.โดยตรง แต่ไปซื้อผ่านตัวแทนนายหน้า (Broker) ต่างๆที่สามารถซื้อขายกองทุนได้หลากหลาย บลจ. เพราะทาง Broker เองจะเป็นผู้จัดการเอกสารให้เราหมดทุกอย่าง เพียงแค่เราแจ้งว่าจะสับเปลี่ยนกองทุน คุณก็จะได้พบกับพี่ Messenger (ไม่ใช่พี่แบงค์เจ้าของเพจสินธรนะครับ) ขับมอไซด์มารับเอกสารของเราถึงที่ แล้วก็รออัพเดทผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์สบายๆได้เลยครับ
หรือไม่ก็มีวิธีอีกทางหนึ่งคือ เราต้องเป็นคนรักและภักดีกับ บลจ.แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงที่เดียว โยกย้ายกองทุนทั้งหมดไปลงทุนใน บลจ.นั้นๆ แม้ว่าผลตอบแทนบางกองอาจจะทำให้เราฝันร้าย แต่ก็เพื่อความสบายใจการสับเปลี่ยนกองทุนที่ง่ายกับชีวิต แถมอาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีที่เงินลงทุนเยอะๆ หลักหลายล้าน เฮ้อออ อันนี้ก็เลือกเอาตามที่สบายใจนะครับ ผมคงบอกไม่ได้ว่าวิธีไหนดีกว่า

สรุป

สุดท้ายก่อนจากกัน ผมอยากจะฝากให้คิดสั้นๆสำหรับประสบการณ์ทั้งหมดที่แชร์มาครับว่า การสับเปลี่ยนกองทุน LTF และ RMF นั้นไม่ใช่เรื่องยาก (แม้จะลำบากหน่อยก็ตาม) แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการลงทุน คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเลือกเครื่องมือที่ใช้ลงทุนอย่างถูกต้อง เพื่อให้ทั้งสองอย่างสอดคล้องไปกับสิ่งที่เราต้องการคร้าบบ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘