จิตวิทยาการลงทุน: Forer effect

บทวิเคราะห์อันนี้แม่นจริง ๆ (Forer effect)

เคยอ่านบทวิเคราะห์หุ้นแล้วเจอบทวิเคราะห์ในลักษณะนี้ไหมครับ

“จาก การวิเคราะห์ของเราพบว่า หากราคาน้ำมันยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานก็จะยังคงปรับตัวต่ำลง แต่หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานจะปรับตัว เพิ่มสูงขึ้นตาม”

หรือ

“หาก ตลาดยังมีความกังวลในเศรษฐกิจของยุโรปอยู่ ดัชนีก็ยังคงปรับตัวลดลง แต่ถ้าเศรษฐกิจของยุโรป เริ่มที่จะมีความชัดเจน และหาทางออกได้ตลาดจะกลับมาบวกอีกครั้ง”

พอเวลาผ่านไปสักพัก ราคาน้ำมันลดลง ราคาหุ้นพลังงานลดลง เราก็คิดว่า เออ บทวิเคราะห์นี่แม่นจริง ๆ หรือเศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัวขึ้น ตลาดก็บวก เออ คนวิเคราะห์นี่เก่งเนอะ

แต่ถ้ากลับไปอ่านดี ๆ ข้อความข้างบนนั้น มันบอกแบบคลุมเครือ กลาง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ยังไงก็ต้องถูกนั่นเอง

อารมณ์ที่เรามีแนวโน้มเชื่อข้อความในลักษณะนี้ มีชื่อเรียกว่า Forer effect ครับ

ชื่อ Forer เป็นนามสกุลของนักจิตวิทยาชื่อดังที่ชื่อ Bertram R. Forer ซึ่งเขาได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ในปี 1948

ในการศึกษานั้น Forer ได้ให้นักเรียนของเขาทำ Personality Test แล้วบอกว่าเขาจะทำนายลักษณะนิสัยจากผลของการทดสอบนี้

โดย เขาจะเขียนข้อความเกี่ยวกับลักษณะนิสัยให้กับคนที่ทำการทดสอบ และให้คนที่อ่านข้อความ ประเมินว่าสิ่งที่เขาอ่านเกี่ยวกับนิสัยเขานั้น มันตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ใน Scale 0 – 5 (0 คือไม่ตรงเลยและ 5 คือมีความเที่ยงตรงมาก)

ผลปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของความแม่นยำสูงถึง 4.26 หลายท่านคงคิดว่า แบบทดสอบนี้แม่นยำสินะครับ

ไม่ใช่เลยครับ เพราะสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนได้ไปนั้นมันเป็นข้อความที่เหมือนกันทุกคนครับ !!!

อ้าว แล้วทำไม พวกเขาถึงบอกว่ามันแม่นยำล่ะครับ เพราะข้อความที่ Forer ให้ไปนั้น มันกำกวม กลาง ๆ และแทบจะไม่มีทางผิดเลยครับ

ยกตัวอย่างเช่น

“คุณเป็นคนที่ต้องการให้คนอื่นมารักและชื่นชอบคุณ”(ใครจะไม่ต้องการแบบนี้ล่ะครับ)
หรือ “คุณยังมีความสามารถ ที่ยังไม่ได้มีโอกาสที่จะได้แสดงออกมา” (แหม คงไม่มีใครบอกนะครับ ว่าเรามีความสามารถแค่ที่เราแสดงออกมาหมดแล้ว)

อาการแบบนี้ก็คล้าย ๆ เราไปดูหมอดูนั่นแหละครับ หมอดูบางท่านก็บอกสิ่งที่เป็นกลาง ๆ แบบไม่มีวันผิด เช่น

“คุณเป็นคนที่รักตัวเอง”
“คุณต้องการให้คนอื่นมีความสุข”

แล้วเราก็บอกว่าหมอดูนี้แม่นมาก ๆ เลย

กลับมาที่หุ้นอีกครั้ง ลองกลับไปอ่านบทวิเคราะห์อีกครั้งนะครับ แล้วเราจะเห็นว่ามันมีอะไรแบบนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘