ประวัติพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยเป็นมาอย่างไร

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวเถรวาท
ประวัติพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยเป็นมาอย่างไร 
พระพุทธศาสนาแพร่สู่ประเทศไทยสมัยก่อนสุโขทัย         
         จารึกพระเจ้าอโศกมหาราช ใน พุทธศตวรรษที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่กรุงปาฏลีบุตรแคว้นมคธในอินเดีย ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากจึงโปรดให้ส่งธรรมทูต อัญเชิญพระพุทธศาสนาจาริกเผยแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ ทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆ และเชื่อกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท คือแบบที่เรานับถือในปัจจุบัน ได้แพร่หลายเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยนั้น ชาวอินเดียสมัยก่อนพุทธกาลเคยไปมาค้าขายติดต่อกับสุวรรณภูมินี้อยู่เสมอ ชาวสุวรรณภูมิจึงไม่รังเกียจพระพุทธศาสนาที่ชาวอินเดียนำมาเผยแผ่ ส่วนสุวรรณภูมินี้เข้าใจว่าน่าจะได้แก่บริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของพม่าปัจจุบัน นี้ (ซึ่งสมัยต่อมา เป็นอาณาจักรมอญ) เลยตลอดลงมาถึงภาคกลางของประเทศไทย
         โดยมีศูนย์กลางที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐมซึ่ง มีพวกมอญและละว้าเป็นคนพื้นเมือง เนื่องด้วยบริเวณจังหวัดดังกล่าวปรากฏซากโบราณสถานมากมายล้วน แต่ใหญ่โต สร้างตามคติเก่าถึงครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็มี เช่น พระสถูปพระปฐมเจดีย์องค์เดิมซึ่งอยู่ภายใน พระสถูปใหญ่ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตามรูปเดิมสร้างเป็นทรงโอคว่ำอย่างพระสถูปสัญจิในอินเดีย เป็นหลักฐานว่า พระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นลง ณ ภาคกลางแห่งประเทศไทย แล้วเจริญงอกงามพัฒนาตลอดมาและได้พัฒนารุ่ง เรืองแพร่หลายทั่วไปในแหลมอินโดจีน ยกเว้นดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรนี้ซึ่งเป็นดิน แดนเวียดนามตอนเหนือ          
ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๑ 
        ขณะที่อิทธิพลของฟูนันสั่นคลอนก็ปรากฏว่าพวกมอญในลุ่มแม่น้ำ เจ้าพระยาถือโอกาสประกาศอิสรภาพตั้งเป็นอาณาจักรทวาราวดี แล้วเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทั้งในด้านศิลปะและการพระศาสนา โดยรักษาจารีตของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งรับมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชไว้อย่างเคร่งครัด ศูนย์กลางของทวาราวดีก็คงอยู่ที่นครปฐมนั่นเอง ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปรากฏว่าอานุภาพ ของทวาราวดีได้ขยับขยายเหนือขึ้นไปจนถึงลพบุรีและได้แผ่ขึ้นไป จนถึงภาคเหนือของประเทศไทยเป็นเหตุหนึ่ ที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากทวาราวดีได้ไปตั้งมั่นทางภาคเหนือ ตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อาณาจักรเจน ละ ได้เปลี่ยนเป็นประเทศเขมรโบราณ อิทธิพลของเขมรโบราณได้แผ่ครอบงำแทนที่อาณาจักรทวาราวดี          

อาณาจักรศรีวิชัย

อาณาจักรศรีวิชัย

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖
        ทางประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้เจริญขึ้น พุทธมามกะชาว อินเดียได้นำลัทธิมหายานออกมาสั่งสอนแพร่หลายในคาบสมุทรแห่งนี้ โดยเดินทางมาทางบกผ่านแคว้นแบงกอล เข้ามาทางพม่าตอนเหนือก็มี เดินทางมาทางทะเลขึ้นที่แหลมมลายู สุมาตรา และแล่นเรืออ้อมอ่าวเข้ามา ทางประเทศกัมพูชาในปัจจุบันก็มี ในระหว่างนั้นได้เกิดมีอาณาจักรฟูนันคือบริเวณดินแดนกัมพูชาในปัจจุบันและ เลย เข้ามาในประเทศไทยตอนกลางและถึงภาคอีสานด้วย ปรากฏว่าประชาชนชาวฟูนันนับถือ พระพุทธศาสนาทั้ง ฝ่ายเถรวาทและมหายาน จนถึงกับมีสมณทูตชาวฟูนันเดินทางไปแปลพระคัมภีร์ในประเทศจีน ถึงศตวรรษที่ ๑๑ อาณาจักรฟูนันก็เสื่อมโทรมไป ด้วยถูกอาณาจักรเจนละซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นฟูนันมาก่อนแย่งอำนาจ พวกเจนละนับถือศาสนาพราหมณ์ ฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงชะงักความเจริญระยะหนึ่ง    
ราวพระพุทธศตวรรษที่ ๑๒
         ในสมัยที่อาณาจักรทวาราวดีกำลังรุ่งเรืองอยู่นั้นปรากฏว่าทางภาคใต้ของ ประเทศไทยได้เกิดอาณาจักรศรีวิชัยขึ้นที่แหลมมลายู มีอาณาเขตทางเหนือติดกับอาณาจักรทวาราวดี เดิมพล เมืองในอาณาจักรศรีวิชัยนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน ต่อมาราชวงศ์ปาละแห่งมคธอินเดียตอนใต้มีอำนาจขึ้น กษัตริย์ราชวงศ์นี้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานโดยเฉพาะคือนิกายมน ตรยาน ราชวงศ์ไศเลนทระแห่ง อาณาจักรศรีวิชัยซึ่ง ณ บัดนั้นได้แผ่อำนาจราชศักดิ์ครอบงำทั่วคาบสมุทรทะเลใต้และแหลมมลายูแล้วได้ มี สัมพันธไมตรีกับราชสำนักปาละ จึงพลอยได้รับลัทธิมหายานนิกายมนตรยานเข้ามานับถือด้วย ลัทธิมหายานได้เป็น ศาสนาประจำของจักรวรรดิศรีวิชัยซึ่งเป็นจักรวรรดิมลายูตลอดระยะกาลแห่ง พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๗๐๐ ปีเศษ          
         ทางตอนเหนือของมลายูที่ในขณะนี้คือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเรียกในยุคพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ว่าเมืองตามพรลิงค์ เป็นประเทศราชของจักรวรรดิ์ศรีวิชัย นอกจากนี้อาณาจักรศรีวิชัย ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระปริยัติ ธรรมที่โด่งดัง จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ตามเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานว่าอิทธิพลศรีวิชัยได้ขยายรุกขึ้น มาถึงประเทศกัมพูชาและบรรดาประเทศราชของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ คราว เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ คราวหนึ่ง และเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ อีกคราวหนึ่ง พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ ปรากฏว่าน่าจะมีเชื้อสายสืบ มาจากพวกศรีวิชัย ประเทศกัมพูชาและประเทศไทยจึงได้รับนับถือลัทธิมหายานตามแบบอย่างศรีวิชัย อีกใน ระยะนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นต้นมา          
         ในยุคที่จักรวรรดิเขมรมีอำนาจครอบงำประเทศไทยเราเรียกว่ายุคลพบุรี มีระยะเวลาราว พ.ศ. ๑๕๐๐- ๑๘๐๐ ปี กษัตริย์เขมรบางพระองค์ก็เป็นพุทธมามกะ บางพระองค์ก็เป็นพราหมณมามกะ แต่พระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายอยู่ในสมัยลพบุรีนี้ ปรากฏว่ามีทั้งลัทธิฝ่ายเถรวาทและลัทธิฝ่ายมหายาน แต่ลัทธิมหายานนิกายมนตรยานได้เจริญงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศกัมพูชาเองและในประเทศไทยตั้งแต่ตอนกลางและอิสานบางส่วนลงไป สถานที่สำคัญเกี่ยวกับลัทธิมหายานนิกายมนตรยาน เช่น ปราสาทหินพิมาย และพระปรางค์สามยอดที่ลพบุรี เป็นต้น
ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ 
        ลังกาได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยซึ่งนับเป็นหนที่ ๗ ใน ตำนานสังคายนาของฝ่ายเถรวาท กิตติศัพท์แพร่หลายมาถึงประเทศพม่ามีพระสงฆ์จากพุกามและมอญที่บวช ใหม่กับพระสงฆ์ลังกากลับมาเมืองพุกามและเมืองมอญ ตั้งเป็นคณะลังกาวงศ์ขึ้นได้รับความนับถือเลื่อมใสจากพระราชาและประชาชนจึง เจริญรุ่งเรืองขึ้น พระสงฆ์พวกเก่านับวันก็ค่อย ๆ หมดไปโดยพฤตินัย ครั้งนั้นมี คณาจารย์ในลังกาวงศ์นี้รูปหนึ่ง ชื่อพระราหุลเป็นชาวลังกาได้จาริกจากพุกามมาตั้งคณะลังกาวงศ์ขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่ง ยังเรียกชื่อว่าเมืองตามพรลิงค์ มีกษัตริย์มลายูเชื้อสายศรีวิชัยปกครองอยู่ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เมืองนคร ฯ ก็เจริญขึ้นเหมือนที่พุกาม เป็นเหตุให้แพร่หลายสู่ประเทศไทยและกัมพูชาในกาลต่อมา พวกพุกาม ปกครองอาณาจักรทางลานนาอยู่ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ก็หมดอำนาจ อิทธิพลทั้งมอญและเขมรก็หมดฤทธิ์ลงไปมากแล้ว มีคนไทยได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง นับตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์เขมร องค์สุดท้ายที่มีอำนาจและทรงเป็นมหายานพุทธมามกะที่เคร่งครัดแล้ว ลัทธิมหายานพร้อม ๆ กับอำนาจของ อาณาจักรเขมรก็เสื่อมโทรมลงทันที       

อาณาจักรสุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย

พระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัยเป็นอย่างไร          
         ในราว พ.ศ. ๑๘๐๐ หัวหน้าคนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคือพ่อขุนบางกลางท่าว ได้ประกาศเอกราช ขับไล่อิทธิพลของเขมรออกไป แล้วตั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานี ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงเป็นต้น ราชวงศ์พระร่วง ได้สืบสายต่อมาอีกราว ๑๒๑ ปี จึงเสียเอกราชให้กับไทยอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ พระพุทธศาสนาในยุคสุโขทัยนี้คงมีทั้งลัทธิเถรวาท ลัทธิมหายานปะปนกัน จนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกษัตริย์องค์ที่ ๓ ของราชวงศ์พระร่วง (๑๘๒๐-๑๘๖๐) ทรงสดับกิตติคุณความเคร่งครัดของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ที่เมือง นครศรีธรรมราช จึงโปรดให้นิมนต์คณะสงฆ์ลังกาขึ้นมาตั้งลังกาวงศ์ขึ้นที่กรุงสุโขทัย เข้าใจว่าพระไตรปิฎกภาษา บาลีฝ่ายเถรวาทพร้อมทั้งอรรถกถา และปกรณ์วิเศษอื่น ๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานอยู่จนสืบมาบัดนี้ ไทยจะได้จาก ลังกาในระยะนี้
        เมื่อพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ขึ้นมาประดิษฐานที่สุโขทัยแล้ว ลัทธิเถรวาทแบบ มอญเก่าก็ดี ลัทธิมหายานก็ดีค่อย ๆ สลายตัวเองหมดไป พระสงฆ์ทั้งไทยสุโขทัย ไทยลานนา เขมร และมอญ พากันไปบวชเรียนในลังกามากขึ้น จึงทำให้เกิดสมณวงศ์แบบลังกาวงศ์ขึ้นหลายสายและสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ลัทธิเถรวาทแบบเก่าครั้งทวาราวดีและลัทธิมหายานก็ค่อย ๆ สลายตัวไป จึงเป็นอันยุติได้ว่าในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ประเทศต่าง ๆ มีไทย พม่า เขมร มอญ ลาว ได้เปลี่ยนเป็นนับถือลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์หมด ลุถึงรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๗- ๑๙๑๙) ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่ามะม่วงอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่ง นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ของไทยซึ่งผนวชในพระพุทธศาสนาในขณะที่ขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงศึกษาพระไตรปิฎก แตกฉานถึงกับสามารถพระราชนิพนธ์ "เตภูมิกถา" (เรียกกันปัจจุบันว่า ไตรภูมิพระร่วง) ซึ่งพรรณาถึงเรื่องของ กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ และกุศลอกุศลกรรมของส่ำสัตว์ที่จะพาให้ไปเสวยสุขหรือเสวยทุกข์ในภูมินั้น ๆ อย่างละเอียด พระปฏิมาพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกก็ถือกันว่าสร้างขึ้นในแผ่นดินนี้
 เมื่อ สิ้นรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแล้ว สุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลง ที่สุดต้องตกเป็นประเทศราชของไทยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๑ และอีก ๖๐ ปีเศษต่อมาก็ถูกผนวกเป็นหัวเมืองอันหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยาไป

อาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา

พระพุทธศาสนาสมัยเชียงใหม่มีความเป็นไปอย่างไร           
        ในขณะที่ไทยทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขับไล่อิทธิพลเขมรและสร้างอาณาจักร สุโขทัยขึ้นนั้น ในราว พ.ศ. ๑๘๒๔ พระเจ้าเม็งราย เชื้อสายกษัตริย์ไทยเชียงแสนเก่า ได้รบชนะพญาญีบากษัตริย์มอญซึ่งครองเมืองลำพูน ล้างอำนาจของมอญลง ในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ ทรงสร้างนครเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ได้แพร่ หลายจากสุโขทัยและจากมอญขึ้นมาสู่ลานนาไทย แต่ยังไม่สู้จะเป็นหลักฐานมั่นคงนัก จนถึงแผ่นดินพระเจ้ากือนา ซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๐ ทรงส่งทูตไปนิมนต์พระอุทุมพรมหาสวามีคณาจารย์ลังกาวงศ์ที่เมืองนครพัน (คือเมืองเมาะตะมะ) ในประเทศมอญ เพื่อมาตั้งลัทธิลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่ พร้อมกันนั้นพระเจ้ากือนาส่งทูตมาขอพระสุมนเถระชาวไทยสุโขทัย ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอุทุมพรมหาเถระเหมือนกัน ให้ช่วยกันไปตั้งลัทธิลังกาวงศ์ ลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ก็ตั้งมั่นรุ่งเรืองขึ้นจำเดิมแต่นั้นมา
ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ 
        ชาวไทยได้ตั้งอาณาจักรเป็นปึกแผ่นขึ้นในลานนาภาคเหนือและพายัพของ ประเทศไทยปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาที่ชาวไทยในขณะนั้นนับถือเรียกได้ว่านับถือรวม ๆ กันไปทั้งเถรวาทแบบมอญกับลัทธิมหายานแบบเขมร แต่อิทธิพลของลัทธิเถรวาทมีสูงกว่าลัทธิมหายานมาก
ครั้นตกราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๖ 
        ทางประเทศพม่าพระเจ้าอโนรธาได้เป็นใหญ่ครองพุกาม ขณะนั้นพวกพม่านับถือลัทธิมหายานนิกาย มนตรยานมากกว่าเถรวาท รวมทั้งได้เอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาปะปนมาก เมื่อพระเจ้าอโนรธา ตีได้อาณาจักรมอญซึ่งเป็นอู่ความเจริญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ได้ทรงรับเป็นศาสนูปถัมภก ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทให้รุ่งเรืองขึ้น โดยมีเมืองพุกามเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นในตอนนี้พม่าจึงเป็นแห่งสำคัญ ของความพัฒนาแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งได้ขยายเข้ามาในประเทศไทยในเวลาต่อมาด้วยดังปรากฏโบราณสถานพระเจดีย์ เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างถ่ายแบบจากพระเจดีย์มหาโพธิเมืองพุกาม ประเทศลังกาหรือสิงหลนับถือ พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช เหมือนกับทางสุวรรณภูมิ
ตกในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ 
        ปรากฏว่า มีพระสงฆ์ชาวเชียงใหม่หลายรูปและพระสงฆ์ชาวมอญชาวไทยอยุธยากับเขมรพากัน ไปอุปสมบทเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ลังกา เมื่อกลับมาแล้วก็แยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนากิจตามชาติภูมิของตน ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก์ จัดให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) นับว่าเป็นการทำสังคายนาครั้งแรกในประเทศไทย จำเดิมแต่นั้นมาอาณาจักรเชียงใหม่ก็รุ่งเรืองเจริญด้วยการศีกษาพระประยัติธร รม ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อาณาจักรลานนาจึงเสียอาณาจักรแก่พม่า ต่อจากนั้นไทยกับพม่าก็ผลัดกันปกครองเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรีจึงรวม เชียงใหม่เข้าไว้ ในผืนแผ่นดินไทยด้วยกัน          

สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นไปอย่างไร          
        เมื่อไทยสุโขทัยอ่อนอำนาจลง พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างราชธานีขึ้นที่ตำบลหนองโสน ในท้องที่เมืองอโยธ ยาเก่าของเขมรให้ชื่อว่า "กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาฯ" เฉลิมพระนามาภิธัยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีฯ ประกาศอิสรภาพ ไม่ขึ้นกับสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ กรุงศรีอยุธยาได้เป็นราชธานีของไทยอยู่ถึง ๔๑๗ ปี มีวงศ์กษัตริย์ปกครอง ๕ ราชวงศ์ รวมกษัตริย์ได้ ๓๓ พระองค์ พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาคงเป็นลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ตลอดระยะอันยาวนานของอายุกรุงศรีอยุธยานี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาอุดมด้วยวัดวา อารามสถูปเจดีย์ พระราชา พระมหากษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชการ ตลอดจนราษฎร ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก วัดเป็นทั้งโรงเรียนให้การศึกษาอักษรศาสตร์ ตลอดจนวิชาพุทธศิลปในด้านสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม สมัยอยุธยานับได้ว่าเป็น สมัยผสม ได้รับอิทธิพลจากสมัยลพบุรี สุโขทัยและอู่ทอง ปฏิมากรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายถือกันว่าเป็นยุคเสื่อม ราชอาณาจักรอยุธยานี้ ได้ถึงแก่กาลพินาศลงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ด้วยกองทัพพม่า          

สมัยกรุงธนบุรี

สมัยกรุงธนบุรี

พระพุทธศาสนาสมัยกรุงธนบุรีเป็นไปอย่างไร           
       สมัยนี้มีระยะเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น คือตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๑๐-๒๓๒๕ พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือ พระเจ้าตากสิน ทรงกู้เอกราชของไทยให้กลับคืนดังเดิม ตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี นอกจากจะทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้า ยัง ทรงเป็นนักศาสนาที่เคร่งครัดด้วย ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐานและทรงฟื้นฟูวัดวาอาราม รวบรวมพระ สงฆ์ที่กระจัดกระจายคราวกรุงศรีอยุธยาแตก ให้กลับคืนสู่วัดของตน ทรงกำจัดพวกสงฆ์อลัชชี ส่งเสริมบำรุงสงฆ์ ผู้ปฏิบัติชอบและโปรดให้รวบรวมคัมภีร์ไตรปิฎก และปกรณ์วิเศษต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายเมื่อคราวเสียกรุง คัมภีร์ใดขาดหล่นหายไป ก็ให้ไปขอฉบับจากต่างประเทศ มีประเทศเขมรเป็นต้นมาคัดลอก แต่น่าเสียดายว่ารัชสมัยสั้นเกินไป          

วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นไปอย่างไร         
        เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพเอกของไทย ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ ตั้งพระราชวงศ์จักรีขึ้นโปรดให้ย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้า พระยา คือ กรุงเทพพระมหานครของประเทศไทยบัดนี้ ทำพิธีปราบดาภิเษกเฉลิมพระนามาภิธัยว่า " พระบาทสมเด็จพระ บรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ ซึ่งรู้จักทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอยู่ในราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒ รัชสมัยนี้ นอกจากงานศึกสงครามป้องกันราชอาณาจักรแล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะสร้าง กรุงเทพฯ ให้รุ่งเรืองเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชฐาน ประดิษฐานพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งมีลักษณะวิจิตรพิสดารมาก และบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุงอีกหลายวัด
        โปรดให้รวบรวมอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณ บรรดาที่ชำรุดทรุดโทรมจากหัวเมืองต่าง ๆ มีอยุธยา ลพบุรี พิษณุโลก สุโขทัย สวรรคโลก เป็นต้น จำนวน ๑๒๔๘ องค์ ให้มาปฏิสังขรณ์ เก็บรักษาไว้ในพระอารามที่ ทรงสร้างและบูรณะ และพระราชทานให้กับวัดอื่น ๆ ตามสมควร เมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ โปรดให้ประชุมพระมหาเถรานุเถระ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานชำระสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดพระศรีสรรเพ็ชรญาดาราม (คือ วัดมหาธาตุในปัจจุบันนี้) ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ สิ้นเวลา ๕ เดือนก็สำเร็จบริบูรณ์ โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกตามที่ได้ สังคายนาไว้ในครั้งนั้นเป็นหลักฐาน ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าและกรอบ เรียกว่าฉบับทอง (ต่อมาเรียกกันว่าฉบับ ทองใหญ่) เป็นหนังสือใบลาน ๓๖๘๖ ผูก และสร้างพระไตรปิฎกชุดอื่น ๆ พระราชทานให้เป็นที่เล่าเรียนตามอารามต่าง ๆ อีกมาก          
        ลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๖๗) โปรดให้ส่ง สมณทูตไปเจริญศาสนสัมพันธ์กับลังกา และโปรดให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็น แบบ ๙ ประโยค และทรง สถาปนาบำรุงพระสถูปวิหารอารามต่างๆ อีกมาก ลุถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) มีวัดเกิดขึ้นมากในแผ่นดินนี้ทั้งในกรุงและตามหัวเมือง ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยของสรรพวิชาซึ่งมีอยู่ใน สมัยนั้น โดยทรงให้ จารึกลงบนแผ่นหิน ติดไว้ตามผนังระเบียงศาลาในบริเวณวัด เพื่อการศึกษาของประชาชน อนึ่งพระมหาธาตุ เจดีย์ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) บนฝั่งธนบุรี เป็นของเก่าเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๒ ได้เริ่มบูรณะเสริมไว้ การมาสำเร็จสมบูรณ์ เมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้ นับเป็นพระปรางค์สวยงามที่สุดในประเทศไทย
          ทรงโปรดให้พระเถระและราชบัณฑิต แปลพระไตรปิฎกและปกรณ์วิเศษออกเป็นภาษาไทยเพื่อแพร่หลายความรู้ จึงเกิดหนังสือพระไตรปิฎก แปลในรัชกาลนี้หลายเรื่อง ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือเจ้าฟ้ามงกุฏฯ พระอนุชาซึ่งผนวชเป็น พระภิกษุตามพระราชประเพณี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ และทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษามีฉายาว่า " วชิรญาณมหาเถระ" ทรงศึกษารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอรรถกถา ฎีกาและภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษได้ตั้งนิกายธรรมยุตติกวงศ์ขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๓๗๒ นิกายนี้ได้เจริญมาตามลำดับจนทุกวันนี้ คณะสงฆ์เดิมซึ่งมีปริมาณมากจึงมีชื่อ เรียกว่า "มหานิกาย" สังฆมณฑลไทยจึงมี ๒ นิกายแต่บัดนั้นมา วรรณกรรมทางศาสนาภาษาไทยที่สำคัญ ในรัชกาลที่ ๓ ก็มีพระปฐมสมโพธิกถา แปลและชำระโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน เป็นต้น          
        ลุถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) ก่อนขึ้นเสวยราชย์คือ พระวชิรญาณ มหาเถระบูรพาจารย์แห่งนิกายธรรมยุตติกวงศ์ เสด็จ ลาผนวชขึ้นเสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ในสมัยนี้ กวดขันวัตตปฏิบัติของภิกษุสามเณรให้เคร่งครัด โปรดให้ส่งสมณะทูตไปลังกาคราวหนึ่ง นิกายธรรมยุตติกวงศ์ ได้แพร่หลายออกไปถึงประเทศเขมร โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุปฐมเจดีย์ โดยก่อเป็นพระสถูปใหญ่ห่อหุ้ม องค์เดิมเป็นพระสถูปสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พระสถูปปฐมเจดีย์นี้ ตบแต่งแล้วเสร็จเอาต่อเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๖          
        ลุถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระปิยะมหาราช (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ตลอดรัชสมัยอันยืดยาว ๔๒ ปี ได้ทรงทะนุบำรุงประเทศชาติและพระศาสนาให้วัฒนาถาวรยิ่งขึ้น ในด้านศาสนา จักรทรงอาศัยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมาณพ ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังทรงกรมมี พระนามว่ากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (ภายหลังในรัชกาลที่ ๖ ได้รับมหาสมณุตตมาภิเศก เป็นสมเด็จพระมหา สมณเจ้ากรมพระยา) เป็นคู่พระบารมีในการบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองทั้งในด้านปริยัตติธรรมและ ด้านปฏิบัติ ธรรม และโปรดให้ตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย" ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางศึกษาปริยัติธรรม และตั้งศูนย์กลางศึกษา ภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุอีกแห่งหนึ่ง
       มหามกุฏราชวิทยาลัยได้ออก นิตยสารธรรมจักษุพิมพ์เผยแพร่พระพุทธศาสนา ฉบับแรกออกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ และยังคงพิมพ์ออกเผยแพร่อยู่จนทุกวันนี้ ี้นับเป็นนิตยสารพระพุทธศาสนา ที่เก่าแก่อายุยืนที่สุดของไทย เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๑ โปรดให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งของเดิมเป็นตัวอักษรไทยแล้วโปรดให้พิมพ์เป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙๐๐๐ เล่ม พระไตรปิฎกฝ่ายภาษา บาลีได้พิมพ์ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเล่มหนังสือ (ไม่ใช่จารลงใบลานเหมือนโบราณ) เป็นเกียรติยศของชาติไทยยิ่งนัก กิตติศัพท์ที่ประเทศไทยสามารถพิมพ์พระไตรปิฎกนี้ นานาชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาและตามหอสมุด สถาบันศึกษาในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกาได้ขอพระราชทานไปเพื่อศึกษา ก็โปรดพระราชทานให้ตามประสงค์ ในยุคนี้พระพุทธศาสนากำลังเริ่มแพร่หลายในยุโรป ในประเทศอังกฤษมีนักปราชญ์ที่คงแก่เรียนสนใจ เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ชวนกันถ่ายทอดพระไตรปิฎกออกเป็นอักษรโรมันและแปลสู่ภาษาอังกฤษบางคัมภีร์ สมเด็จพระปิยะมหาราชก็โปรดพระราชทานทรัพย์ออกไปจุนเจือให้การตีพิมพ์สำเร็จ ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ คือ "SACRED BOOKS OF THE BUDDHISTS"ซึ่งผู้พิมพ์คือ THE PALI TEXT SOCIETY ที่ประเทศอังกฤษ ยังคง พิมพ์ไว้ทุกครั้งว่า "พิมพ์โดยราชานุเคราะห์ของพระเจ้าแผ่นดินสยาม" (PUBLISHED UNDER THE PATRONAGE OF HIS MAJESTTY THE KING OF SIAM)
        ส่วนการปกครองของสงฆ์ โปรดให้ตราพระราช บัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์เป็นแบบแผนสืบมา ลุถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘) ในรัชกาลนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นอีกประเภทหนึ่ง คือ นักธรรมเพื่อจุดประสงค์ อบรมภิกษุสามเณรที่มีโอกาสบวชเรียนพอสมควร การเรียนปริยัติธรรมแบบนี้ แม้ชาวบ้านก็นิยมเรียนด้วย เรียกว่า "ธรรมศึกษา" พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่เกี่ยวกับศาสนา ได้แก่ พระราชนิพนธ์ " เรื่องเทศนาเสือป่า " และ "พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร"           
        ลุถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗) ทรง อาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ วัดราชบพิธพร้อมด้วยคณาจารย์ทั้งหลายประชุมสอบทานพระไตรปิฎก ฉบับรัชกาลที่ ๕ ให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง แล้วโปรดประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน ช่วยกันออกทุนทรัพย์พิมพ์ร่วมพระราชกุศล พิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ จำนวน ๑๕๐๐ จบ จบละ ๔๕ เล่ม เท่าพระชนม์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์นับแต่กาล ตรัสรู้แล้ว พระไตรปิฎกชุดนี้ เรียกว่า "พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ" ซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยและอาจพูดได้ว่า ในวงการพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนี้ด้วย          
       ลุถึงรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๙) ได้ มีการเปลี่ยน การปกครองคณะสงฆ์โดยอนุโลมตามแบบรัฐสภา คือมีคณะสังฆมนตรี สมาชิกสังฆสภา รัฐบาลในระบอบ ประชาธิปไตย สมัยนี้ได้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุขึ้น ณ ตำบลบางเขน เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมา จากประเทศอินเดีย          
       ลุถึงรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ) ในรัช สมัยนี้รัฐบาลได้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นที่พญาไทกรุงเทพฯ เพื่อถวายรักษาพยาบาลภิกษุสามเณรอาพาธ ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ มหามกุฏราชวิทยาลัยได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น ให้ชื่อว่า "สภาการศึกษามหามกุฏ ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย" นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของ ประเทศพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททั้งปวง และเป็นแห่งแรกของไทยใน ๒๕ พุทธศวรรษนี้
        ต่อมาทางวัด มหาธาตุก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นให้ชื่อว่า "มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย" มหาวิทยาลัยพระพุทธ ศาสนาแห่งประเทศไทยจึงมี ๒ แห่ง ต่างได้อำนวยความรู้แก่พระภิกษุสามเณรเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาส่วน รวมและแก่ประชาชนนับเป็นสัญญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาเสด็จออกผนวชตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ณ วัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จ พระมหาวีรวงศ์(จวน อุฎฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัต(ปลด วิตฺติโสภโณ) สังฆนายก วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร บำเพ็ญเนกขัมมบารมีอยู่ ๑๕ วันจึงลาผนวช          
(ย่อความจาก "พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย" โดย เสถียร โพธินันทะ)คัดมาจาก           http://mahamakuta.inet.co.th/buddhism/bud~316.html
แหล่งข้อมูล มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยศาสนศึกษา http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/theravade29.htm

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘