วัดพระธรรมกาย : พระภิกษุสามเณร

วัดพระธรรมกาย 1 : พระภิกษุสามเณร
วัดพระธรรมกายเป็นวัดขนาดใหญ่ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีศิษยานุศิษย์นับล้านคน แต่ก็เป็นวัดที่มีคำครหามาก ถือเป็นองค์กรพุทธที่น่าศึกษา
ทางเพจ “ พุทธสามัคคี ” ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัดมาจำนวนมาก ก็จะพาท่านผู้อ่านก้าวข้ามภาพมายาที่กลุ่มคนรักและคนเกลียดสร้างขึ้น ติดตามศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกวัดพระธรรมกายในทุกแง่มุมอย่างที่ไม่เคยรู้มา ก่อน เป็นตอนๆ ไป เริ่มจากคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย ศิษย์วัด ญาติโยม คำสอน เจ้าอาวาส แนวคิด วิสัยทัศน์ของวัดจุดอ่อนของวัด
__ (ท่านผู้อ่านสนใจอยากรู้ประเด็นใดเพิ่มเติม ขอให้ส่งประเด็นได้ที่กล่องข้อความของเพจ) __
วัดพระธรรมกาย เริ่มสร้างในปี 2513 ปัจจุบันมีพระภิกษุราว3,000 รูป สามเณรราว 600 รูป
พระภิกษุวัดพระธรรมกาย มีที่มา 3 ทางคือ
1. มาจากอุบาสก คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางโลกตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีศรัทธาจะบวชตลอดชีวิต ก็ให้มาเป็นอุบาสกรักษาศีล 8 ช่วยงานวัดอย่างน้อย 5 ปี เพื่อพิสูจน์ความตั้งใจจริง เมื่อคณะสงฆ์เห็นว่าพร้อมก็จะอนุญาตให้บวชได้ พระภิกษุรุ่นบุกเบิกของวัดพระธรรมกาย ในช่วง 15 ปีแรกจะมีเส้นทางมาอย่างนี้
2. มาจากธรรมทายาท คือ ผู้ที่มาอบรมในโครงการอบรมธรรมทายาทและอุปสมบทหมู่ที่ทางวัดจัดขึ้น เมื่อครบกำหนดแล้วมีศรัทธาบวชต่อ รับโดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา แต่จะมีเส้นทางการฝึกอบรมให้เหมาะกับพื้นความรู้เดิม ผู้ที่จบการศึกษาทางโลกระดับปริญญาตรีขึ้นไปจะฝึกอบรมตามหลักสูตรพระบวชใหม่ 3 ปี ส่วนผู้ที่จบในระดับประถมหรือมัธยมศึกษาฝึกอบรมในหลักสูตร 5 ปี เพื่อให้มีความรู้ธรรมะและความสามารถในการเทศน์สอน เผยแผ่แก่ประชาชนได้ พระภิกษุวัดพระธรรมกายในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากเส้นทางนี้
3. มาจากสามเณร โดยรับเด็กที่จบชั้นประถม 6ขึ้นไป มาบวชเรียน ศึกษานักธรรม บาลี หรือ ปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา เมื่ออายุครบ ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
>> เอกลักษณ์ของพระภิกษุสามเณรวัดพระธรรมกาย
1. การคัดคนบวชผู้บวชต้องมีความตั้งใจจริง มีความประพฤติดีไม่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ผู้ที่บวชระยะยาวต้องบวชด้วยอุดมการณ์ มีพระภิกษุที่มีความรู้ประสบการณ์ทางโลกสูง เช่น จบแพทย์ร่วม 10 รูป วิศวกรกว่า 300 รูป และมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ มากมาย ทำให้เข้าใจโลก สื่อสารกับคนยุคปัจจุบันได้ สามารถช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านต่างๆ ของวัดได้อย่างดี
2. การฝึกอบรมอย่างจริงจังต่อเนื่อง มีการฝึกอบรมทั้งการนุ่งห่มจีวรให้เรียบร้อย กิริยามารยาทในการเดิน การนั่ง การลุก การกราบ การขบฉัน การสรงน้ำ การซักตากและพับเก็บจีวร การอยู่ร่วมกันผู้ที่มาบวชเพราะหวังสบาย จะไม่มาบวชที่วัดพระธรรมกาย เพราะต้องฝึกอบรมอย่างหนัก มีกิจวัตรที่เข้มข้น
3. สนับสนุนการศึกษาพระธรรมวินัยเกือบทุกรูปจบนักธรรมเอก สนับสนุนการศึกษาภาษาบาลี จนสอบได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศอยู่เนืองๆ มีเปรียญธรรม 9 ประโยคกว่า 50 รูป มากที่สุดในประเทศ สนับสนุนการเรียนพระอภิธรรม เป็นสำนักเรียนพระอภิธรรมหลัก 1 ใน 3 แห่งของประเทศ
4. สนับสนุนการปฏิบัติธรรมทำสมาธิ นอกจากการปฏิบัติธรรมประจำวันแล้ว ในแต่ละปีก็จะมีช่วงเวลาให้ไปนั่งสมาธิต่อเนื่องคราวละ 15 วัน ปีละ 2 ครั้ง ผู้ที่ถนัดก็สามารถเลือกเข้าสายงานปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิต่อเนื่องทั้งวัน ตลอดปีมีจำนวนราว 200 รูป
5. พระภิกษุทุกรูปจะมีหน้าที่รับผิดชอบงานพระศาสนาตามความถนัดของตน จะไม่มีใครที่อาศัยวัดอยู่ลอยๆ โดยมีหลักคิดว่า “เราบวชมาอาศัยพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องให้พระศาสนาได้พึ่งด้วย” ทางวัดดูแลเรื่องจีวร ที่พักอาศัย ภัตตาหาร การรักษาพยาบาล ทุกรูปไม่ต้องกังวลด้วยปัจจัย 4 แต่ต้องช่วยกันรับผิดชอบงานส่วนรวม
6. อยู่รวมเป็นหมู่คณะ พักในกุฏิหลังละประมาณ 10 รูป มีการโยกย้ายกุฏิทุกปีเพื่อไม่ให้ติดที่ และทำให้ไม่สะสมมีเฉพาะของใช้จำเป็นเพราะข้าวของที่มีเป็นภาระในการโยกย้าย ในยุคเริ่มต้นพักอาศัยในหมู่กุฏิมุงด้วยจากจุได้ราว 500 รูป ต่อมาเมื่อจำนวนพระภิกษุมากขึ้น กุฏิจากชั้นเดียวไม่พออยู่ พระภิกษุส่วนที่เพิ่มขึ้นก็พักในตึกสงฆ์ที่สร้างขึ้นทางสูง เพื่อประหยัดพื้นที่ดิน แต่ยังคงรักษารูปแบบการอยู่รวมกันห้องละประมาณ 10 รูปและโยกย้ายทุกปีแต่ละรูปมีเตียงไม้ 1 เตียง และตู้ 1 ใบเท่านั้น ไม่มีแอร์ไม่มีตู้เย็น ไม่มีทีวีไม่มีเครื่องเสียง ห้องน้ำใช้ห้องน้ำรวม
7. อยู่ร่วมกันแบบสามัคคีธรรมเหมือนเป็นพี่น้องกัน เพราะเป็นพุทธบุตร เป็นลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เจ็บป่วยไข้ไม่สบายก็ช่วยกันดูแล แม้บางรูปครอบครัวเดือดร้อน โยมพ่อโยมแม่ป่วยไข้ไม่สบาย พระเพื่อนๆก็จะช่วยกันคนละไม้คนละมือ
8. ปกครองกันโดยธรรมตามเนื้อผ้า หมู่คณะที่ใหญ่มีสมาชิกถึง3,000 รูป ก็ย่อมมีผู้ประพฤติไม่เหมาะสมปนอยู่เป็นธรรมดาแม้ในสมัยพุทธกาลก็มีซึ่ง เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นทางวัดจะมีคณะวินัยธรตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงโทษตามควร แก่กรณี โดยศึกษาแนวทางจากพระวินัยปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้
__ โดยภาพรวม แนวทางการฝึกอบรม การอยู่ร่วมกันของพระภิกษุวัดพระธรรมกาย ยึดหลักสิกขา (การศึกษาอบรมตลอดชีวิต) ตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางแนวทางไว้ และสามารถตอบโจทย์ของสังคมปัจจุบันที่ต้องการพระภิกษุที่มีความสามารถในการ เผยแผ่ธรรม มีศีลาจารวัตรงดงามได้ดี __
>>> โจทย์ที่ท้าทาย คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายมีคุณสมบัติตรงกับสิ่งที่สังคมกำลังเรียกร้องต้องการ คือ บวชด้วยอุดมการณ์ มีการฝึกอบรมเข้มข้น นุ่งห่มเรียบร้อย มีศีลาจารวัตรงดงาม มีความรู้ความสามารถในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำงานเป็นทีม มีการเป็นอยู่ที่เรียบง่ายไม่สะสม ทรัพยากรที่มีทุ่มเทเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
แต่ภาพเหล่านี้สังคมไม่ได้รับรู้ เห็นแต่ภาพอาคารสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต พิธีกรรมสงฆ์ที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก หรือหยิบยกกรณีพระภิกษุของวัดเพียงบางรูปที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม มาขยายจนสังคมเข้าใจผิดคิดว่า พระวัดพระธรรมกายโดยรวมเป็นเช่นนั้น
จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า คณะสงฆ์วัดพระธรรมกายจะสามารถสื่อให้สังคมเข้าใจตนตามเป็นจริงได้อย่างไร
หากวัดทั่วประเทศมีกระบวนการในการคัดคนบวช การฝึกอบรมพระและให้การศึกษาพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่องอย่างที่วัดพระ ธรรมกายทำ ก็จะเป็นประโยชน์มากต่อการพัฒนาคุณภาพสงฆ์
*** หมายเหตุ___ขอขอบคุณพระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส วัดพระธรรมกายที่ให้ข้อมูล ***
@ ท่านที่เห็นว่าผลงานของวัดหรือองค์กรพุทธใด ควรจะเป็นแบบอย่างได้ โปรดส่งข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมภาพมาที่กล่องข้อความของเพจ เพื่อทางเพจจะได้ ตรวจสอบ ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม วิเคราะห์ เรียบเรียง เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘