ธนาคารจะล้มด้วยเหตุใด

ในช่วงเวลานี้หลายคนจับตามอง "ธนาคารเฉพาะกิจ" แห่งหนึ่ง ซึ่งบางคนบอกว่าจะไปถอนเงินออกมา บ้างก็ด้วยอารมณ์ไม่พอใจ บ้างก็ด้วยความเป็นห่วงเงินของตนเอง ขณะที่บางคนก็เยาะเย้ยว่าการถอนเงินแค่ไม่กี่ร้อยล้านหรือพันล้านบาทจะไปมี ผลให้ธนาคารล้มได้อย่างไร

สิ่งที่ผมต้องการสื่อตรงนี้ ... ไม่ขอเชื่อมโยงไปหาการเมือง แต่จะขอ "เตือน" และ "ให้ความรู้" เท่าที่ผมมี


การรุมถอนเงินสามารถทำให้ธนาคารล้มได้


คนจำนวนไม่น้อยคิดว่า แบงก์จะล้มก็เมื่อปล่อยกู้แล้วกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมากๆ ทำนองเดียวกับที่คิดว่า "บริษัท" จะล้มก็ต่อเมื่อขาดทุนหนักๆ ทั้งที่จริงแล้ว บริษัทที่ขาดทุนยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แต่บริษัทที่ขาดสภาพคล่องหรือ "เงินสด" ต่างหาก ที่จะล้มภายในเวลาไม่กี่วัน

ธุรกิจธนาคารเป็นธุรกิจแห่งความเชื่อถือ การขาดเงินสดจะยิ่งนำไปสู่การขาดเงินสด และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ


แม้หลายท่านจะหัวร่อ บอกว่าธนาคาร A มีเงินฝากตั้ง 1.6 ล้านล้านบาท ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารต่างๆ มีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยกว่านั้นมาก ในแง่ของระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารจะต้องดำรง "สินทรัพย์สภาพคล่อง" ไม่น้อยกว่า 6% ของเงินฝาก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินฝากที่ ธปท. อย่างน้อย 1% และเป็นเงินสดที่อยู่ตามสาขาต่างๆ อีก 2.5% ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นพันธบัตร

พูดง่ายๆ ก็คือ มีความเป็นไปได้ว่าธนาคาร A อาจมีเงินสดติดตัวจริงๆ แค่ 4 หมื่นล้านบาท (2.5% ของ 1.6 ล้านล้านบาท) ถ้าธนาคาร A มีจำนวนสาขาทั่วประเทศ 800 สาขา เฉลี่ยแล้วก็จะมีเงินสดอยู่สาขาละ 50 ล้านบาท

หากธนาคารต้องคอยกังวลกับ "ขาใหญ่" ที่จะมาถอนเงินตามสาขา พวกเขาก็ต้องสำรองเงินเพิ่ม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมาถอนกันที่สาขาไหนบ้าง และการขนส่งเงินสดก็ต้องใช้เวลา ธนาคารจึงอาจต้องสำรองเงินสดเพิ่มเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ทั้งที่คนถอนอาจจะมากันแค่หลักพันล้าน

การหา "เงิน" หมื่นล้านไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การหา "เงินสด" ในระดับหมื่นล้าน และต้องเร็วด้วย อันนี้เป็นเรื่องใหญ่แน่ ธนาคารอาจจำเป็นต้องขาย ขาย ขาย พันธบัตรและตราสารต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรีบด่วน สร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งระบบ ถึงตรงนี้เราคงพอจะนึกออกว่า การระดมถอนเงินจากธนาคาร A ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ธนาคาร A แต่อาจกระทบไปถึงธนาคาร B, C หรือ D ที่ทำธุรกรรมอยู่กับธนาคาร A ได้ และยิ่งถ้าถึงกับต้องผิดนัดชำระหนี้ อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะคนจะยิ่งแห่มาถอนเงินมากขึ้นและเผลอๆ จะพาลไปถอนเงินจากธนาคารอื่นๆ กันด้วย

ดังนั้น แม้แต่คนที่ไม่มีเงินฝากกับธนาคาร A ก็จะพากันได้รับแรงกระแทกนี้ เอาง่ายๆ ถ้านายจ้างของคุณฝากเงินหรือทำธุรกิจผ่านธนาคาร A, B หรือ C คุณก็อาจไม่ได้รับเงินเดือน เนื่องจากสภาพคล่องหดหายกันไปทั้งระบบ คุณจะทำอย่างไร?!


หลายคนพยายามโต้กลับด้วยการบอกว่า งั้นใช้หลักตรงข้าม คือ "ถ้าแกถอน ฉันฝากเพิ่ม" แต่ในความเป็นจริง การกระทำเช่นนั้นอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ดูแย่ลง เพราะเมื่อสื่อมวลชนไปถ่ายภาพตามสาขา แทนที่จะเห็นคน 30-40 คนยืนต่อคิว พวกเขาอาจเห็นคนร่วมๆ ร้อยคนต่อแถวทำธุรกรรม ผู้ชมที่อยู่ทางบ้านอาจยิ่งคิดไปว่า "ซวยแล้ว ถ้าไปถอนช้า เงินเราต้องสูญแน่" ไปๆ มาๆ คนที่ฝากเพิ่มอาจต้องโร่มาถอนเงินออกมากกว่าที่ฝากเพิ่มเข้าไปเสียด้วยซ้ำ

ยิ่งไปกว่านั้น หากธนาคาร A มีลูกค้าที่เป็นรายย่อยมากๆ ภาพที่ออกมาจะยิ่งดูแย่ เพราะข่าวจะตีไปว่ามีลูกค้ามาต่อคิวถอนเงินกี่คน และยิ่งถ้ามีสาขาใดสาขาหนึ่งไม่สามารถส่งมอบเงินให้ลูกค้าได้ คนก็จะยิ่งตื่นตระหนก แล้วก็ตระเวนไปถอนเงินตามสาขาอื่นที่ยังมีเงินสดเหลือ ซึ่งก็ยิ่งทำให้การบริหารเงินสดของธนาคารทำได้ยากลำบากขึ้น แล้วภาพที่รถขนเงินวิ่งกันให้ทั่วเมืองก็จะยิ่งทำให้คนแตกตื่นกันเข้าไปอีก

แน่นอน นี่ไม่ใช่ภาพที่ผมหรือคนไทยคนใดอยากเห็น เพราะ "แบงก์ล้ม" จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และมันกระทบกับทุกคน


คนส่วนใหญ่ถือคติว่า "ถอนเร็วได้เงิน ถอนช้าได้ลม" เพราะฉะนั้นถ้าแบงก์จะล้ม ก็ไม่ควรมีเงินเราอยู่ในนั้น แต่มันก็คงดีกว่าหากจะไม่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเลย เพราะถ้าโดมิโนเริ่มล้ม แบงก์ไหนๆ ก็ไม่ปลอดภัย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘