ความรู้เรื่อง..แก๊สน้ำตา.. วิธีป้องกัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ?




แก๊สน้ำตาคืออะไร วิธีป้องกันแก๊สน้ำตา และปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร ?
             ช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในห้วงของความขัดแย้งทางการเมือง มีการประท้วงขับไล่รัฐบาลอย่างดุเดือดจนเกินจะควบคุมนั้น ในส่วนของการปฏิบัติการควบคุมผู้ชุมนุมที่เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ จะมีการดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ไล่ตั้งแต่ การตั้งแต่สกัด การใช้โล่กัน การใช้น้ำแรงดันสูงฉีด การใช้เครื่องขยายเสียงระดับสูง แต่หากสถานการณ์ยังคงรุนแรง แก๊สน้ำตา ก็จะถูกนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นหรือสลายม็อบให้ยอมถอยร่นออกไป ก่อนจะถึงขั้นตอนของกระสุนยาง หรือหากเลวร้ายกว่านั้นคือ... กระสุนจริง !           
        สำหรับการประท้วงในช่วงส่งท้ายปี 2556 นี้ แก๊สน้ำตา ถูกรายงานสถานการณ์รายวัน มีการยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ฝ่าฝืนแนวกั้นต่าง ๆ ซึ่งแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ในหนนี้ มีการผสมน้ำ ผสมสี โดยอ้างว่า เป็นยุทธวิธีทางจิตวิทยาเพิ่มความหวาดกลัว แต่แท้จริงแล้ว แก๊สน้ำตา ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ควบคุมฝูงชน มีกี่ชนิด มีฤทธิ์เช่นใดบ้าง และ วิธีป้องกันแก๊สน้ำตา มีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้น ไปหาคำตอบกัน..
แก๊สน้ำตา คืออะไร
            แก๊สน้ำตา คือ สารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อถูกแก๊สน้ำตาแล้ว จะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ที่ดวงตา จนทำให้ผู้ถูกแก๊สน้ำตาไม่สามารถลืมตาได้ชั่วขณะหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีอาการน้ำมูก น้ำลายไหล ไอ หายใจลำบาก เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้ จะหายเองภายใน 1 ชั่วโมง
แก๊สน้ำตา มีกี่ชนิด
            1. ชนิดแป้งฝุ่น
            2. ชนิดกระป๋องขว้าง
            3. สารเคมีผสมน้ำ

สำหรับผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา จะมีอาการ ดังนี้
ดวงตา
            จะส่งผลให้แสบตาจนลืมตาไม่ขึ้น และมีน้ำตาไหลออกมาตลอด ทำให้ต้องกะพริบตาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น หรือที่เรียกว่า ตาบอดชั่วคราว นั่นเอง แต่หากโดนในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ตาบอดสนิทได้
จมูก
            ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา จะรู้สึกแสบจมูก และมีน้ำมูกไหลออกมา
ปากและระบบทางเดินอาหาร
            เมื่อถูกแก๊สน้ำตาแล้ว จะทำให้มีอาการแสบปาก และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอีกด้วย
ระบบทางเดินหายใจ
            แก๊สน้ำตาจะทำให้รู้สึกแสบคอ มีอาการไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก รวมทั้ง อาจทำให้หลอดลมตีบจนหายใจไม่ออกอีกด้วย ดังนั้น หากผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง โดนแก๊สน้ำตาเข้าอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และหากโดนแก๊สน้ำตาในปริมาณที่มาก อาจมีอาการปอดบวมน้ำได้เช่นเดียวกัน
ผิวหนัง
            หากแก๊สน้ำตาถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการแสบ และบวมแดง ยิ่งหากได้สัมผัสแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานด้วยนั้น อาจทำให้ผิวหนังตรงบริเวณที่สัมผัสแก๊สน้ำตามีอาการเหมือนถูกไฟไหม้ นอกจากนี้ อาจมีผิวหนังอักเสบจากการ ได้ ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน โดยเกิดหลังจากสัมผัสไปแล้ว 72 ชั่วโมง
            นอกจากอาการที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ผู้ถูกแก๊สน้ำอาจมีอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม, เจ็บหน้าอก ความดันเลือดตก เป็นต้น

แก๊สน้ำตาออกฤทธิ์นานเท่าไหร่
            การออกฤทธิ์ของแก๊สน้ำตานั้น จะออกฤทธิ์ในทันทีที่สัมผัส และจะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาที หลังจากพ้นการสัมผัสนั้น แต่อาจมีอาการอยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป และผู้ถูกแก๊สน้ำตาอาจมีอาการรุนแรง และเป็นอันตรายมากขึ้น หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมากหรืออยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ

อุปกรณ์เบื้องต้นในการปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา
           1. น้ำ (ควรนำมามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อใช้ในการดื่ม ล้างแผล หรือล้างตา)
           2. ถุงมือไวนิล (ใช้ป้องกันเลือดและสเปรย์พริกไทย)
           3. อุปกรณ์รักษาบาดแผล เช่น ที่ปิดแผล, ผ้าก๊อซขนาด 2x2 และ 4x4, เทปใส และ ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาปฏิชีวนะอื่น ๆ
           4. ผ้าอนามัยแบบสอดขนาดเล็ก (เหมาะสำหรับการห้ามเลือดกำเดา)
           5. ที่กดลิ้น
           6. เสื้อสะอาดที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก (ใช้สำหรับเปลี่ยนในกรณีที่โดนแก๊สอย่างหนัก)
           7. ที่บังแดด หรือ เสื้อกันฝน (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)
           8. ยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น ยาบรรเทาอาการช็อกหรือบาดเจ็บ
           9. ขนมขบเคี้ยว, ผงไอซิ่งเค้ก หรือ ลูกกวาดชนิดแข็ง (ใช้สำหรับเพิ่มน้ำตาลในเลือด)
           10. ยาแอสไพริน, ยาไอบูโปรเฟน (ยาต้านการอักเสบ)

 วิธีที่ดูแลผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาในเบื้องต้น
           1. ควรหลีกเลี่ยงและออกจากสถานที่ที่มีแก๊สน้ำตา
           2. ควรไปอยู่ในบริเวณที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และมีลมพัดเพื่อให้สารเคมีนั้นกระจายออกไป
           3. ถอดเสื้อผ้าที่ถูกสารเคมีและใส่ไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด
           4. ร่างกายที่โดนแก๊สน้ำตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาด
           5. พยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียกเพราะสารเคมีจะละลายติดตามร่างกาย
           6. ถ้าสารเคมีเข้าตาให้ใช้น้ำเกลือเจือจางล้างออก แล้วรีบไปพบแพทย์
           7. อย่าใส่คอนแทคเลนส์ ในพื้นที่ที่เสี่ยงใช้แก๊สน้ำตา เพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา
           8. อย่าหยิบลูกกระสุนหรือกระป๋องแก๊สน้ำตาชนิดขว้างที่ยังไม่ระเบิด
           9. ให้เคลื่อนตัวอยู่เหนือลม
           10. ปกป้องดวงตาด้วยการสวมแว่นตาว่ายน้ำหรือแว่นตาประเภทอื่น ๆ ที่อากาศไม่สามารถเข้าได้
           11. เตรียมผ้าชุบน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชู เพื่อใช้ปิดจมูกและช่วยให้หายใจได้ในเวลาเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘