อัตชีวประวัติ "พระครูบาศรีวิชัย" นักบุญแห่งล้านนาไทยพระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานะ สิละ สัจจะ ขันติ



                                                                             ครูบาศรีวิชัย                                                                  นักบุญแห่งล้านนาไทย
                                        พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานะ สิละ สัจจะ ขันติ

          ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ"อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษอาจพบว่า มีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็นพระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อเฟือน หรืออินท์เฟือนบ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนักส่วนอินท์เฟือน นั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ"บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควายนางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ
๑.  นายไหว
๒. นางอวน
๓. นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
๔. นางแว่น
๕. นายทา
         ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือหมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์(เจ้าผู้ครอง นครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑)ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปางบ้านเดิมของนาย ควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน

         ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้นหมู่บ้านดัง กล่าวยังกันดารมาก มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้านจนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมี อายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก)เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้นชาว บ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปางแล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่ว คราวให้ท่านจำพรรษา
          ในช่วงนั้นเด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปีก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนโดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่าสิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็นสรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย
         เมื่ออุปสมบทแล้วสิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษาจากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทาจังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วยและอีกท่านหนึ่งที่ถือว่า เป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวงซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
         ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละวัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ)ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสมคือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็น ที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบันเพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็น อย่างดีโดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรืองแต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิงท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียวซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือนคงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ
วันอาทิตย์     ไม่ฉันฟักแฟง,
วันจันทร์        ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,
วันอังคาร       ไม่ฉันมะเขือ,
วันพุธ             ไม่ฉันใบแมงลัก,
วันพฤหัสบดี  ไม่ฉันกล้วย,
วันศุกร์          ไม่ฉันเทา (อ่าน"เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง),
วันเสาร์         ไม่ฉันบอน
         นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลวผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่าถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้าผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
          ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..."
และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
          อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาว ล้านนาคือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดย พลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมากทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษโดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ
          แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันในระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจาก การที่ท่านต้องอธิกรณ์ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้น ให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถหรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่าและการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ซึ่งพระ อุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวด อุโบสถ  โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็นครู บา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง

           ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวด พระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะ บวชกุลบุตรได้ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมากและลูกศิษย์เหล่านี้ ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและ กิจกรรมสาธารณประโยชน์อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา
          ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลายเนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกายและในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบ ต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตนโดยผ่านความคิดระบบครู กับศิษย์และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่นนิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น
          สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยอง ซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่นๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวกแขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต โดยอ้างว่าสืบวิธีการนี้มาจากลังกา
          การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือ ปฏิบัติมาแต่เดิมนั้นทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๖)เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครอง ของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น"โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะ นำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป
          การ จัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯนี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ ในล้านนาอย่างได้ผลองค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงทีละน้อยเพราะอย่างน้อย ความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้ อำเภอลี้จังหวัดลำพูน เป็นต้น
          การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือ ธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนาส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบ วิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจาก เจ้าคณะแขวงลี้จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อนครูบามหารัตนากร เจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติงนายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวน เกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่ง ตั้งตามพระราชบัญญัติการจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน

ผลงานชิ้นสำคัญ
           การสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพแน่ นอนทีเดียว การมีถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น ย่อมมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง  เพราะผู้คนที่ศรัทธาจะได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุอัน สำคัญนี้ได้ทั่วถึงกัน ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทยนี่เองคือผู้สร้าง ถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพเมื่อปี พ.ศ. 2477 ซึ่งนับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่านอีกงานหนึ่ง
           ไม่มีใครเชื่อเลยว่าจะสามารถสร้างถนนผ่านป่าเขาอันทุรกันดารและสูงชันจนไป ถึงที่เชิงบันไดนาคของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพได้ แต่ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้ด้วยมือเปล่า ๆ เพียงสองข้างอีกเช่นเคย แถมใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วันเท่านั้น
           ระยะเวลาแค่นี้กับการสร้างถนนขึ้นเขาระยะทางยาว 11 กม. ในสมัยนั้นที่ยัง ไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุ่นแรงทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาหลาย ครั้งหลายหนแต่ต้องประสบความผิดหวังทุกคราวเพราะไม่สามารถจะสร้างได้ ทั้งปัญหาจากงบประมาณและความทุรกันดารของป่าเขาที่จะต้องตัดถนนผ่าน
          ครูบาศรีวิชัยได้พิสูจน์คำเล่าลือของชาวบ้านและสานุศิษย์ที่นับถือท่านว่า เป็น " ต๋นบุญ " หรือ " ผู้วิเศษ " อย่างแท้จริงเพราะการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนี้เอง อันนับว่าเป็นช่วงที่ชีวประวัติของนักบุญแห่งลานนาไทยมีอภินิหารมหัศจรรย์ น่าทึ่งน่าติดตามกันต่อไปอย่างยิ่ง
ใฝ่ฝันมานาน
          การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเป็นความใฝ่ฝันของชาวนครเชียงใหม่มานานปีด้วยจะทำ ให้การขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยปกตินั้นการ จะขึ้นไปไหว้พระธาตุจะต้องตื่นแต่เช้าตรู่ นั่งรถจากเวียงไปที่วัดสวนดอกจนถึงเชิงดอยสุเทพตามแนวถนนเชิงดอย สุเทพสาย ปัจจุบันแล้ว จากนั้นก็เดินขึ้นสุเทพ ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน 5ชั่วโมงเต็ม ในการเดินเท้าขึ้นเขาส่วนคนมั่งมีก็อาจจะจ้างคนแบกหามขึ้นไปแบบผู้ที่ไป เที่ยวภูกระดึง หรือดอยขุนตาลใน        ทุกวันนี้อันนับว่าการขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ นั้นไม่ใช่สิ่งที่กระทำกันได้ง่ายๆ เลยความคิดที่จะสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้นเริ่มมาแต่ปี พ.ศ.2460 นั่นเอง
นิมิตเทวดา
          ท่านครูบาศรีวิชัยยืนยันกับหลวงศรีประกาศว่า  "ต้องทำถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จแน่ๆ ขอให้เชื่อเถิด"คุณหลวงไม่มั่นใจเลยจึงขอร้องให้ครูบาศรีวิชัยอธิฐาน ทบทวนอีกครั้งหนึ่งครูบาศรีวิชัยก็รับคำ ครั้นเวลาล่วงเลยไปอีกประมาณ 10 วันหลวงศรีประกาศก็ไปพบครูบาศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์เป็นครั้งที่สามครูบาศรี วิชัยก็ยังคงยืนยันว่า ต้องสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจึงจะสำเร็จพร้อมกับเล่านิมิตประหลาดที่เกิดขึ้น ให้หลวงศรีประกาศฟังว่าในขณะที่กำลังทำการอธิษฐานเรื่องสร้างถนนขึ้นดอยสุ เทพว่าจะสำเร็จหรือไม่นั้นท่านได้เคลิ้มไปว่าได้แลเห็นชีปะขาวองค์หนึ่งนำ ท่านเดินทางจากเชิงดอยไปจนถึงบันไดนาควัดพระบรมธาตุดอยสุเทพแล้วท่านก็ตกใจ ตื่น ท่านเชื่อว่านี้คือนิมิตที่เทวดามาบอกกล่าวให้รู้ว่าจะสามารถสร้างถนนขึ้น สู่ดอยสุเทพได้อย่างแน่นอน

ขอ 6 เดือน
          ครูบาศรีวิชัยได้รับปากว่าจะเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จภาย ในเวลาเพียง6 เดือน นั่นทำให้หลวงศรีประกาศผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่หนักใจยิ่งขึ้นเนื่องจากบริเวณเชิงเขาขึ้นดอยสุเทพ จนถึงบันไดนาควัดพระธาตุนั้นเป็นป่าใหญ่และหุบเหวลึกหลายต่อหลายแห่งการที่ จะสร้างถนนได้นั้นต้องสำรวจทางแผนที่ จัดทำรายละเอียดเส้นทางที่จะสร้างและอื่นๆ อีกมากหลวงศรีประกาศได้รับเป็นธุระเรื่องนี้การสำรวจเส้นทางถนนสายนี้ใช้ เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว ในที่สุดก็สำเร็จหลวงศรีประกาศได้นำเอาแผนที่เสนอให้พระครูบาศรีวิชัยดูแนว การสร้างถนนซึ่งครูบาก็เห็นด้วยรวมระยะทางจากเชิงดอยสุเทพถึงบันไดนาควัดพระ ธาตุดอยสุเทพทั้งหมด 11 กิโลเมตร 530 เมตร
ใบปลิวเจ็กโหงว
         ข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างถนนได้แพร่ออกไปเรื่อย ๆ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเห็นว่า การสร้างถนนสายนี้ทำได้ยากแต่บรรดาสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระครูทั้งหลาย ต่างเชื่อว่าท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน ในจำนวนนั้นก็มีเจ๊กโหงวรวมอยู่ด้วย ทันทีที่เจ็กโหงวรู้ข่าวก็รีบไปหาครูบาศรีวิชัยอย่างเคยถึงแม้จะถูกลอบยิง ปางตายมาแล้วก็ตามความช่วยเหลือสิ่งแรกของเจ็กโหงวก็คือการพิมพ์ใบปลิวบอก ข่าวเรื่องพระครูจะสร้างถนนโดยใช้เงินส่วนตัวพิมพ์ขึ้น 5 พันแผ่น แจกจ่ายทั่วไป ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็มีศรัทธาช่วยพิมพ์อีก 5 พันแผ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว
จอบแรก
          ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุ เทพ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477 และพิธีทางประวัติศาสตร์อันจารึกไว้คู่นครเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้นท่ามกลาง ประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก
          เวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 พระครูบาเถิ้มประกอบพิธีชุมนุมเทวดาบวงสรวงอันเชิญเทวดา ทั้ง 4 ทิศ เวลา 10.00 น. จึงเริ่มลงจอบแรก เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทรงเป็นผู้ขุดจอบ
          แรกเป็นปฐมฤกษ์เริ่มต้นงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงสวดชยันโตชัยมงคลคาถาจากภิกษุสานุศิษย์ของท่านพระครูบาศรี วิชัย หลังจากวันนั้นก็ได้มีประชาชนจากทั่วสารทิศมาช่วยกันสร้างถนนร่วมเป็น อานิสงส์พร้อมกับนมัสการท่านพระครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก จนถึงกับต้องแบ่งพื้นที่การสร้างเป็นระยะ ๆ ในตอนเช้าก็ได้มีประชาชนนำเอาข้าวสารอาหารพืชผักและอาหารคาวหวานมาทำบุญกัน อย่างล้นหลาม ยิ่งนานวันคนยิ่งทวีมากขึ้น ผลงานรุดหน้าในแต่ละวันเป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่างก็อยากทำบุญกุศลและชมบุญญาธิการบารมีของพระครูบาศรีวิชัยในที่สุดถนนที่ ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นก็สำเร็จลง ภายในระยะเวลา 5 เดือน 22 วันซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมากโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียวนี่คือบารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้
รถยนต์คันแรก
          30 เมษายน 2478คือวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของนครเชียงใหม่เพราะเป็นวันเปิดถนนให้รถ ขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ ครูบาศรีวิชัยครูบาเถิ้ง หลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงวและบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาชุมนุมอยู่กันอย่างพร้อมพรั่ง เพื่อรอเวลา ที่เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะมาทำพิธีเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพและ ประดับรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคันแรก ครั้นได้เวลารถยนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐก็แล่นมาถึง ปะรำพิธีที่เชิงดอยสุเทพ ทรงจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยและก็ประทับรถยนต์เรื่อยขึ้นไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกระทั่งถึงเชิงบันไดนาควัดพระบรมธาตุวัดดอยสุเทพใช้เวลาประมาณ ชั่วโมงเศษตามสภาพถนนที่เป็นเพียงดินในครั้งนั้น  เจ้าแก้วนวรัฐเสด็จขึ้นไป ทรงนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพแล้วประทับรถยนต์เสด็จสู่นครเชียงใหม่ ดอยสุเทพก็มีถนนสำหรับรถยนต์ขึ้นไปนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถนนสายนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่าถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นถนนศรีวิชัยเพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยซึ่งเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้....

ผลงานรวมพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทย
          หลังจากการทำบุญฉลองวัดพระสิงห์แล้วท่านพระครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ท่านก็ยังมองเห็นความสำคัญของพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยอันเป็นพระธรรมคำสั่ง สอนของสมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าที่บรรดาฑิตเมธีท่านได้สังคายนาจารลงในใบลานในครั้งอดีต ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามวัดต่างๆในภาคเหนือท่านเกรงว่าพระธรรมคำสอนต่างๆจะ ถูกทำลายไปตามกาลเวลา ดังนั้นนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2469-2471 ท่านพระครูบาศรีวิชัยพร้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ได้รวบรวมพระไตรปิฎกที่ถูกทอด ทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ จากตำบลอำเภอ และจังหวัดอื่นๆ แล้วรวมกันจัดให้เป็นหมวดหมู่เป็นธัมมขันธ์ทำการสังคายนาจารลงใบลานขึ้นมา ใหม่ เพื่อไว้เป็น หลักฐานการศึกษาค้นคว้าหาแนวทางประพฤติพระธรรมวินัย สืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ตามจำนวนดังนี้
1.พระวินัยทั้ง 5 จำนวน 10 มัด รวม 170 ผูก
2. นิกาย 5 จำนวน 5 มัด รวม 69ผูก
3. อภิธรรม 7 คัมภีร์ จำนวน 7 มัดรวม 145 ผูก
4. ธรรมบท จำนวน 21 มัด รวม 145 ผูก
5. สุตตสังคหะ จำนวน 7 มัด รวม 76 ผูก
6. สมันตปาสาทิกา จำนวน 4 มัด รวม 45 ผูก
7. วิสุทธิมรรค 3 มัด รวม 76 ผูก
8. ธรรมสวนะชาดก จำนวน 126 มัด รวม 1232 ผูก
9. ธรรมโตนาที่คัดไว้เป็นกัปป์และผูก รวม 142 ผูก
10.สัททาทั้ง 5 จำนวน 8 มัด รวม 38 ผูก
11.กัมมวาจา จำนวน 6 มัด รวม 104 ผูก
12.กัมมวาจา จำนวน 1 มัด รวม 108 ผูก
13.มหาวรรค จำนวน 135 มัด รวม 2726 ผูก
14.ธรรมตำนานและชาดก จำนวน 1 มัด รวม 172 ผูก
15.ธรรมบารมี จำนวน 10 มัด รวม 122 ผูก
รวมทั้งหมดมี344 มัด รวมผูกทั้งหมดมี 5408 ผูก
รวม ค่าใช้จ่ายการสร้างพระไตรปิฎกค่าจ้างเขียนลงใบลาน ค่าทองคำเปลวติดขอบใบลานและค่าใช้จ่ายตอนทำพิธีถวายพระไตรปิฎกรวมทั้ง หมด 4232 รูเปีย

         ผลงานจดทำสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับลานนาไทยของท่านพระครูบาศรีวิชัยในครั้ง นี้นับว่าเป็นหลักฐานประกาศถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ทางด้านพระไตรปิฎกทั้ง สามารถรวบรวมจัดเป็นหมวดหมู่ขึ้นใหม่ได้นี้ มิใช่เป็นเรื่องธรรมดานี่หากว่าท่านคือบัณฑิตผู้ทรงความรู้อีกท่านหนึ่ง อีกทั้งท่านยังมีปฎิปทาในข้อวัตรปฏิบัติเป็นสงฆ์องค์อริยะอันเป็นแบบอย่าง ที่ดียิ่ง
          บางคนไม่รู้ซึ้งหรือรู้เพียงผิวเผินก็เข้าใจว่าท่านพระครูบาเจ้าท่านไม่ค่อย รู้หลักธรรมวินัยเป็นพระบ้านนอกบ้านป่า แต่หากลองนึกพิจารณาด้วยจิตอันสุขุมจะเห็นได้ว่าท่าน พระครูบาเจ้าเป็นคนซื่อสัตย์มีแต่ความบริสุทธิ์ท่านไม่ยอมค้อมหัวให้กิเลส ใครจะบังคับหรือขู่เข็นอย่างไรในการที่จะรับเอาวิ่งที่ไม่ใช่ธรรม วินัยอย่าพึงหวัง...

วัตถุมงคลของครูบาเจ้าศรีวิชัย
           ในยุคที่ครูบาศรีวิชัยยังไม่ถึงแก่มรณภาพนั้นผู้ที่ทำบุญกับครูบาศรีวิชัย จะได้รับความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่านเท่านั้นส่วนการสร้างวัตถุมงคลนั้น ระยะแรกพวกลูกศิษย์ที่นับถือครูบาศรีวิชัยได้จัดทำพระเครื่องคล้ายพระรอด หรือพระคงของลำพูนโดยเมื่อครูบาปลงผมในวันโกน ก็จะเก็บเอาเส้นผมนั้นมาผสมกับมุกมีส่วนผสมกับน้ำรักกดลงในแบบพิมพ์ดินเผา แล้วแจกกันไปโดยไม่ต้องเช่าในระหว่างศิษย์กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันภยันตราย ต่าง ๆซึ่งก็ลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์
           ส่วนเหรียญโลหะรูปครูบาศรีวิชัยนั้น พระครูวิมลญาณประยุต(สุดใจ วิกสิตฺโต) ชาวจังหวัดอ่างทองได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนสร้างขึ้นให้เช่าเพื่อนำ เงินมาช่วยในการปลงศพครูบาศรีวิชัยโดยให้เช่าในราคาเหรียญละ ๕ สตางค์ ทั้งนี้ สิงฆะ วรรณสัยยืนยันจากประสบการณ์ที่ท่านรู้จักครูบาดีและได้คลุกคลีกับเรื่องพระ เครื่องมาตั้งแต่ครูบายังไม่มรณภาพนั้นระบุว่าไม่มีเหรียญรุ่นดอยสุเทพไม่มี เหรียญที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง หรือวัตถุมงคลอื่นใดที่ครูบาจะสร้างขึ้นนอกจากการให้พรและความอิ่มใจในการทำ บุญกับท่านเท่านั้นแต่ในระยะหลังก็พบว่ามีการสร้างวัตถุมงคลของครูบาอยู่ เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆโดยผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้นมีความศรัทธาในความดี ของ"ตนบุญ"เป็นสำคัญ

การปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนากับการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์
         ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่งมาตั้งแต่เป็นสามเณรดังเห็น ว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปนตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น "ตนบุญ"คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบาเพราะเชื่อว่าการถวายทานกับ ภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นจะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มากเงินที่ ประชาชนนำมาทำบุญก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์และบูรณะศาสนสถานและ ศาสนวัตถุ
          งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆว่าจะวัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนักให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า "วัดศรีดอยไชยทรายมูล" ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า"วัดบ้านปาง"
          ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมีว่าเมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไป บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใดแล้วทางวัดเจ้าภาพก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์และ ปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาทำบุญกับครูบาคืนแรกที่ครูบาไปถึงก็จะ อธิษฐานจิตดูว่าการก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะ ไม่สำเร็จเช่นการสร้างสะพานศรีวิชัยซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง ลำพูน จากนั้นครูบาก็จะ "นั่งหนัก"คือเป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่ศรัทธาที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงินแต่มีคณะกรรมการช่วยกันรวบ รวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป"นั่งหนัก" ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่นถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ราย คับคั่งจนที่นั้นกลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีงาน"พอยหลวง-ปอยหลวง" คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวันและในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีคนมาทำบุญกับ ครูบามากกว่าปกติ

         เมื่อเสร็จงาน"พอยหลวง-ปอยหลวง" ในที่หนึ่งแล้วครูบาและศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่นตามที่มีผู้มานิมนต์ ไว้โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใดจากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบา ศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สองและถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัยเชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๘ วันนั้นผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ รายเมื่อครูบาได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือนกับ ๔วันแล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๓หลังจากนั้นผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น
          ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะวัดขณะที่ท่านอายุ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์บ่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปางถัดจากนั้นได้บูรณะเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัยต่อมาได้ ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด เชียงใหม่ จากนั้นไปบูรณะวัดศรีโคมคำจังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่าในวันที่ท่านถึงพะเยานั้นมีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ ปีบได้ถึง ๒ ปีบหลังจากนั้นมาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ๒๐๐ แห่ง
          ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ในพ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้นหลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บน ดอยสุเทพแต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภาย หลังทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐
         ว่าหาก สร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย (ตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น)ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯอีกเป็นครั้งที่สองและงาน ชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรี วิชัยอนุสรณ์ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน
          ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาทรวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่าน ประมาณสองล้านบาทนอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี (รูปีละ ๘๐ สตางค์)ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมายแต่บิดามารดาคือนาย ควายและนางอุสาก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ

วัดบ้านปาง จ.เชียงใหม่

วัดบ้านปาง จ.เชียงใหม่

ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาวไม่ใช่คน แข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงานแต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พร แก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง"นั่งหนัก" อยู่ตลอดทั้งวันด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนาและการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้าง สะพานข้ามแม่น้ำปิง

วัดบ้านปาง จ.เชียงใหม่

วัดบ้านปาง จ.เชียงใหม่

          ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วันและตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปีจากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตาม ที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้าจังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น

คติธรรมคำสอน
            "พาล ภายนอกย่อมเห็นด้วยตา พาลภายในมองไม่เห็นด้วยตา หากไม่คบหาบัณฑิตนักปราชญ์แล้วที่ไหนจะล่วงรู้ได้ การคบ บัณฑิตนักปราชญ์ คือหมั่นฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เพื่อให้รู้ทันพาลภายใน ปุถุชนทั้งหลายพากันเชื่อว่านามรูป เป็นตัวตน จึงตกอยู่ในอำนาจของมัน จึงบันดาลให้เป็นพาล "
            “เครื่องประดับขัติยะนารีทั้งหลาย  มีแก้วแหวนเงินทอง  เป็น ตัณหา กามคุณ  เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มี ประโยชน์สิ่งใดเลย  แม่น้ำคงคา ยมนา  อิรวดี  มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำ ใหญ่ทั้ง  ๕  แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง  ๕  แม่นี้ก็บ่ อาจล้าง บาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บแม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็น และหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนา ได้  ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์  เป็นน้ำทิพย์ สำหรับล้างบาป  คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้  เมื่อศีลบริสุทธิ์ แล้ว  สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้น ได้  คือ  ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอ  ว่า บ่ใช่ตัว  บ่ใช่ตน  จนเห็น แจ้งด้วยปัญญาของตน  จึงเป็น      สมุทเฉทประหารกิเลสหมดแล้ว จิตเป็นวิ มุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้...”

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘