ล้าสมัย : วีระพงษ์ ธัม

หัวใจของการลงทุน คือทรัพยากรที่เราใช้ลงทุน ก่อให้เกิดผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่า ภายใต้ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวของสินทรัพย์ลงทุนนั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งหัวใจสำคัญของประโยคข้างต้นมีอยู่สองคำ หนึ่งคือผลตอบแทนที่เราจะได้ และสองคือช่วงเวลาที่เราจะเก็บเกี่ยวผลตอบแทนนั้นได้ คนส่วนมากมักจะมองที่ “ผลตอบแทน” อันที่จริง ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ระยะเวลา” ในการเก็บเกี่ยวต่างหาก
         ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวของสินทรัพย์ บ่งบอกว่าเราจะได้ประโยชน์จากสินทรัพย์นั้น ๆ นานแค่ไหน มันจะสร้างกระแสเงินสด หรือคุณค่าให้กับการลงทุนนั้น ๆ กี่ปี ซึ่งหากมองในรูปแบบการบัญชีธุรกิจ ก็จะถูกตีความขึ้นตามอายุการใช้ให้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของสินทรัพย์นั้น ๆ  ด้วยระยะเวลาในการตัดค่าเสื่อมทางบัญชีที่แตกต่างกันไปตามประมาณการอายุการ ใช้งานของสินทรัพย์ เช่นอาคารอาจจะใช้งานทั่วไปได้ 30 ปี ดังนั้นเมื่ออาคารสร้างเสร็จ จะถูกตัดค่าเสื่อมทางบัญชีทุก ๆ ปี จนหมดในปีที่ 30 หรือเป็นข้อสมมุติที่ว่า ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ผลตอบแทนของอาคารแห่งนั้นน่าจะหมดลง
         ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่ไม่มีค่าเสื่อมราคาทางบัญชี คือ “ที่ดิน” นั่นหมายถึงเป็นสิ่งที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดไปทางทฤษฎี ที่ดินเป็นรูปแบบการลงทุนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดอย่างหนึ่ง ในอดีตตั้งยุคก่อนที่จะมีรัฐประเทศ ผลตอบแทนคือผลผลิตที่ได้จากที่ดิน เช่นข้าว หรือผลตอบแทนจากการเก็บส่วนแบ่งผลผลิต ทำให้ปริมาณการครอบครองที่ดิน บอกทั้งตำแหน่งและฐานะทางสังคมในยุคอดีตได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปที่ดินเริ่มถูกพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ที่ดินเมืองจึงมีมูลค่าแตกต่างกันจากเดิมมากมาย หมายถึงว่าที่ดิน 1 ไร่บางพื้นที่ จะมีคุณค่ามากกว่า 100 ไร่ในบางพื้นที่เสียอีก เพราะเริ่มมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ การลงทุนในที่ดินจึงเป็นการลงทุนของเศรษฐีของคนทุกยุคทุกสมัย
         อย่างไรก็ดี ที่ดินถึงแม้จะเก็บเกี่ยวได้ แต่ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปมาหลายครั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ส่งผลลบให้ที่ดินได้เช่นกัน เช่นที่ดินในเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นอย่างเกียวโต ก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้น้อยลง เมื่อมีเมืองเอโดะเกิดขึ้น (ปัจจุบันคือมหานครโตเกียว) เมื่อต้นปี ผมเดินทางไปอเมริกา ก็พบว่าเมืองระหว่างทางหลวงก็เคยรุ่งเรือง ปัจจุบันเงียบเหงาจนแทบจะเป็นเมืองร้าง ดังนั้นผมจึงขอเรียกสิ่งนี้ว่า “ความล้าสมัย”
         หากเราทบทวนดูสิ่งอื่น ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะยิ่งเห็นสิ่งที่ล้าสมัยได้มากมาย เช่น แผ่นเสียง เทปคาสเซ็ทวอร์คแมน เพจเจอร์ บางสิ่งใช้ได้อยู่ แต่สู้สิ่งที่ในปัจจุบันไม่ได้ เช่น ทีวี รถยนต์ โทรศัพท์ ซึ่งดีกว่าอดีตจนเทียบไม่ได้ ดังนั้นความล้าสมัย อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาหลายร้อยปีอย่างที่ดิน หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน ถ้าระยะเวลาการเก็บเกี่ยวใช้งานมันสั้นกว่าที่เราคาดการณ์มาก ๆ ในทีแรก และนี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดอย่างหนึ่งในการลงทุน
         ในนิยามของกูรูด้านกลยุทธ์อย่างพอร์เตอร์ ความล้าสมัย มักจะเกิดขึ้นจากการที่สินค้าหรือบริการตัวใหม่ เข้าไปทดแทนสินค้าตัวเก่า ทำให้สินค้าตัวเก่าค่อย ๆ หายไปในที่สุด พอร์เตอร์บอกว่าความเสี่ยงด้านนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงหรือภัยที่อันตรายที่ สุด เพราะมีโอกาสพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างรวดเร็ว หากมองมิติความรุนแรง อาจจะแบ่งได้หลายระดับดังนี้
         ระดับแรกคือ สินค้าล้าสมัยเพราะตกรุ่น ผลกระทบอาจจะไม่รุนแรงนัก อาจจะเป็นระยะสั้น ๆ โดยบริษัทต้องลดราคาเพื่อขายสินค้านี้ทิ้งไป รวมถึงอาจจะตั้งค่าเผื่อสินค้าล้าสมัย (Obsolete) ซึ่งส่งผลกระทบกับงบกำไรขาดทุนทันที ผลกระทบนี้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อย ๆ สำหรับสินค้าเทคโนโลยี หรือสินค้าแฟชั่น รวมถึงสินค้าประเภทที่มีอายุสั้น ๆ เช่นอาหารเป็นต้น สินค้าเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว บริษัทไม่ว่าจะใหญ่เล็ก ก็คงต้องเคยประสบกับปัญหาที่สต๊อกสินค้ามากเกินไป โดยเฉพาะบริษัทที่ค้าขาย หรือผลิตแล้วต้องเก็บสต๊อกเอาไว้
         ผลกระทบที่รุนแรงขึ้น คือ การล้าสมัยของสินทรัพย์ถาวรซึ่งอาจจะหมายถึงว่า เครื่องจักรนี้ไม่สามารถผลิตเพื่อทำการแข่งขันได้อีกต่อไป ในทางบัญชีจำเป็นพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์นั้น (Impairment) ส่วนนี้ย่อมมีขนาดและผลที่รุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินทรัพย์ถาวร ที่ล้าสมัยไป อย่างไรก็ดี บางครั้งสินทรัพย์อาจจะล้าสมัยแล้ว ขาดประสิทธิภาพแล้วแต่บริษัทยังตัดค่าเสื่อมราคาไม่หมด แต่สุดท้ายผลกระทบก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ดี จากประสิทธิภาพการทำกำไรที่ลดลง กรณีนี้จะเห็นได้บ่อย ๆ หุ้นโรงงานจึงมีความเสี่ยงลักษณะนี้สูงกว่าสิ่งอื่น ๆ รวมถึงการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางปัญญา เช่นกัน
         ส่วนผลกระทบที่รุนแรงที่สุด คือการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน นี่คือการล้าสมัยแบบทำลายล้าง เหมือนตัวอย่างที่ดินที่ผมยกตัวอย่างในแต่แรก สิ่งนี้เคยบูมและเกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่อินเตอร์เน็ต เพราะนักลงทุนมองว่าอินเตอร์เน็ตจะทำให้ ที่ดิน (หรือทำเล) ล้าสมัยไปทั้งหมด หรืออย่างการเดินทางในอดีตโดยรถไฟ ถูกสายการบินราคาถูกในอเมริกาทำให้หายไป หรือการกำเนิดเครื่องจักรไอน้ำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เกิดขึ้นได้อย่างง่าย ๆ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว จะเกิดทั้งโอกาสและความเสี่ยงขึ้นมหาศาล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘