ประวัติวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร



ประวัติวัดพระเชตุพนฯ
         วัดพระเชตุ พนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร  เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก  ชนิดราชวรมหาวิหาร  อยู่ในอันดับหมายเลข ๑  ตามทำเนียบพระอารามหลวง   เพราะถือว่าเป็นวัดที่ทรงสถาปนาขึ้น   พร้อมกันกับในคราวสถาปนาพระบรมมหาราชวัง        วัดพระเชตุพนฯ   ตั้งอยู่ตำบลพระบรมมหาราชวัง  เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร  มีเนื้อที่ ๕๐ ไร่  ๓๘ ตารางวา  

เขตติดต่อ        
ทิศตะวันออก    ติดกับถนนสนามไชย  กรมการรักษาดินแดน       
ทิศตะวันตก       ติดกับถนนมหาราช  ตลาดท่าเตียน         
ทิศเหนือ             ติดกับถนนท้ายวัง  พระบรมมหาราชวัง         
ทิศใต้                   ติดกับถนนเศรษฐการ  กระทรวงพาณิชย์        
          วัดพระเชตุพนฯ  เดิมเป็นวัดโบราณ  สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  รัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๑ - ๒๒๔๖   เป็นวัดที่ราษฎรสร้างขึ้นโดยไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง       ในสมัยนั้นก็คงเป็นวัดบ้านนอกห่างไกลจากเมืองหลวง    โดยไม่ได้คาดคิดว่าจะเป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา  ตำบลบางกอก  เมืองธนบุรี   ชื่อว่าวัดโพธา-ราม  ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า  วัดโพธิ์  มาจนถึงทุกวันนี้        

 สมัยธนบุรี  พ.ศ.๒๓๑๑  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   ทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นพระมหานคร   ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง  วัดโพธา-ราม ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงอยู่ในเขตพระมหานครด้วย  และได้เป็นอารามหลวง  มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา               
          สมัยกรุงเทพฯ  พ.ศ.๒๓๒๕   เมื่อพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชสมบัติ  ทรงย้ายพระมหานครมาตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกฝั่งเดียว  ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง  มีวัดใกล้ชิด ๒ วัด คือ วัดสลัก (วัดมหาธาตุ)  อยู่ทิศเหนือ  วัดโพธารามอยู่ทิศใต้  จึงโปรดเกล้าให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดโพธารามเป็นการใหญ่ ใช้เวลาถึง ๑๒ ปี  คืตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๒-๒๓๔๔  จึงเสร็จสมบูรณ์  และได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส  มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเปลี่ยนสร้อยนามของวัดมาเป็น " วัดพระเชตุพนวิมมังคลารามราชวรมหาวิหาร"        

ในปี พ.ศ.๒๓๗๕  ในสมัยรัชกาลที่ ๓   ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ที่สุด  ใช้เวลาถึง ๑๖ ปี  เสร็จสิ้นใน พ.ศ.๒๓๙๑   และครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองในด้านศิลปวิทยาการอย่างแท้ จริงของวัดโพธิ์  ทั้งนี้  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว     ทรงมีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง  คือ  จะให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน"  โปรดเกล้าฯให้นำความรู้ทั้งของเก่าและที่ให้ผู้รู้แต่ขึ้นใหม่ จารึกลงบนแผ่นศิลาประดับไว้ในบริเวณวัด       

นอกจากนี้ในปัจจุบันวัดพระเชตุพนฯยังมีโรงเรียนแพทย์แผน โบราณ  ซึ่งเอกชนตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อเผยแพร่วิชาแพทย์แผนโบราณของไทย  เมื่อสำเร็จการอบรมแล้ว  มีการสอบเพื่อรับใบประกอบโรคศิลป์ของกระทรวงสาธารณสุข ในด้านโหราศาสตร์  ยังมีภาพเขียนตำราดูดาวไว้ที่ผนังหอไตร  และยังมีศิลาจารึกเกี่ยวกับวิชาการปกครองส่วนท้องถิ่น  มีภาพเขียนนิทานยายกับตา  มีภาพเขียนตำราดูช้าง  ดูม้า  ดูแมว  และลักษณะเขาวัว  นอกจากนี้ยังมีภาพจำหลักศิลาฝีมือจีน    แสดงการคมนาคมสมัยโบราณทั้งทางบกและทางเรือ

ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/4-5/no06-15/wat/watpao9.html

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘