คำพูดที่ว่า ธรรมกาย ทำไมไปเที่ยวขอทาน ไม่ใช่เพิ่งมีแค่ยุคนี้

จากข่าวคราวโด่งดังในช่วงนี้ ถึงการที่มีชนกลุ่มหนึ่งแค่หยิบมือ ออกมาต่อต้านการตักบาตรพระหมื่นรูป แสนรูป โดยมองว่า วัดพระธรรมกาย ไปเที่ยวขอทานตามที่ต่างๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว วัดพระธรรมกายเป็นเพียงวัดหนึ่งที่ไปร่วมด้วยช่วยกัน ในกิจการงานคณะสงฆ์ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์จากวัดทั่วประเทศมาร่วมบิณฑบาตกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นพระเณรลูกหลานในพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ที่มีการจัดกิจกรรม ทั้งนี้เพื่อนำภัตตาหารไปช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ ทหาร และครูใต้ ที่ท่านเดือดร้อนในการไปไหนมาไหนในที่ต่างๆ เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัย อีกทั้งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเรื่องต่างๆ ที่ผ่านๆ มาด้วยครับ

บางคนถึงขนาดกล่าวว่า ให้ไปขอทานที่อื่น อย่ามาขอทานที่นี่ หรือ ที่วัดตัวเองไม่มีกินหรืออย่างไร ถึงได้เที่ยวขอทานไปทั่ว ซึ่งคำพูดแบบนี้ พวกเราอาจอ่านหรือฟังแล้วไม่คุ้น แต่ความจริงผมอยากจะบอกว่า 

ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังเรื่องราวที่ปรากฏในพระไตรปิฎกครับ 
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จหนีออกจากราชวังไปออกบวชแสวงหาทางพ้นทุกข์นั้น กล่าวถึง พระเจ้าสุทโธทนะ ราชบิดา ก็ทรงเสียพระทัย เพราะหวังให้ลูกชายได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ปกครองโลก แต่ก็ทรงยอมรับการตัดสินใจของลูกชายเช่นนั้น ทรงเฝ้ารอวันที่พระมหาบุรุษ จะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมา ในช่วงนั้น แม้จะมีใครมาบอกกล่าวอย่างไรว่า พระมหาบุรุษเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความมั่นใจของพระเจ้าสุทโธทนะได้เลย ทรงเชื่อมั่นว่า ลูกชายจะต้องตรัสรู้ธรรมได้อย่างแน่นอน

ครั้นพระมหาบุรุษตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเทศน์โปรดมหาชนให้ได้บรรลุธรรม พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ตัดวงจรการทนทุกข์ทรมาน เช่น การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การประสบในสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ฯลฯ ให้กับมหาชนทั้งหลายเป็นอันมาก กิตติศัพท์ก็ได้ขจรขจายออกไป เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าว ก็ได้ส่งคณะทูตมาทูลอัญเชิญไปให้โปรดบรรดาพระญาติ ส่งไป 6 คณะ ก็ออกบวชหมดเลยทั้ง 6 คณะ จนคณะที่ 7 ก็ได้ทูลเชิญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จกลับเมืองกบิลพัสด์

เมื่อพระพุทธองค์กลับมายังเมืองกบิลพัสดุ์ ได้เทศน์โปรดบรรดาพระญาติ เป็นครั้งแรก ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ในครั้งนั้น พระเจ้าสุทโธทนะกลับไม่ได้รู้สึกเป็นปลื้มอะไรในธรรมบทนี้มากนัก ทั้งที่บรรดาพระญาติได้บรรลุธรรมกันเป็นอันมาก ครั้นวันรุ่งขึ้น พระเจ้าสุทโธทนะดีใจที่ลูกชายกลับมาที่เมือง จึงสั่งให้ตระเตรียมภัตตาหารในราชวังเพื่อเตรียมถวายเป็นการใหญ่ โดยที่ไม่ได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงฉันภัตตาหารในวังไว้ก่อนล่วงหน้า

แต่แล้วก็ทรงอึ้ง เมื่อทหารได้มากราบทูลว่า
 ตอนนี้ชาวเมืองโจษจันกันว่า พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ได้ไปเที่ยวขอทานจากชาวบ้านชาวเมือง เมื่อส่งคนไปดูก็พบว่า พระพุทธเจ้าไปเที่ยว ขอทาน จริง พระเจ้าข้า
เมื่อได้ฟังดังนั้น จากอึ้ง ก็กลายเป็นขัดใจ จากขัดใจ ก็กลายเป็น เสียใจมาก ทำไมลูกเราไปเที่ยว ขอทาน แบบนี้ พระเจ้าสุทโธทนะรีบเสด็จออกจากวัง ตรงเข้าไปในเมืองทันที ไปถึงก็ได้ป้อนคำถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ทำไมลูกถึงทำอย่างนี้ 
มหาบพิตร ตถาคตทำอะไรหรือ
พระพุทธดำรัสตรัสถาม
ก็เที่ยวขอทานน่ะสิ พ่ออายชาวเมืองเหลือเกิน ที่พระราชโอรสของพระราชาเที่ยวขอทานชาวบ้านกิน แล้วนี่พ่อจะเอาหน้าไว้ที่ไหน
พระเจ้าสุทโธทนะกล่าวตอบ คำกล่าวท่อนนี้ช่างเหมือน ที่ใครหลายคนในยุคปัจจุบัน กล่าวไว้เหลือเกินว่า ทำไม พระวัดพระธรรมกาย ไปเที่ยวขอทานเขากิน ที่วัดที่ปทุมธานีไม่มีกินมีฉันหรืออย่างไร แต่ความจริง นี่ไม่ใช่ถ้อยคำใหม่ พระเจ้าสุทโธทนะ และชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ก็ได้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ กับพระพุทธองค์ และคณะสงฆ์ด้วยความไม่เข้าใจ มาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อนโน้นแล้ว
มหาบพิตร การออกบิณฑบาตมิใช่การขอทาน เป็นการโปรดเวไนยสัตว์ ตถาคตทำตามจารีตประเพณีแห่งวงศ์ของตน
พระศาสดาทรงกล่าวอธิบาย 
ลูกเอ๋ย วงศ์ของเราไม่เคยมีจารีตประเพณีอย่างนี้นะ พระเจ้าสุทโธทนะทรงทักท้วง คำกล่าวท่อนนี้ ก็ช่างเหมือน ที่ใครหลายคนในยุคปัจจุบัน กล่าวไว้เหลือเกินว่า ประเพณีการตักบาตรของชาวพุทธไม่เคยมี มีแต่พวกธรรมกายตั้งประเพณีตักบาตรกันขึ้นมาเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ถ้อยคำใหม่อีกเช่นกัน พระเจ้าสุทโธทนะ ก็ได้กล่าวถ้อยคำเช่นนี้ กับพระพุทธองค์และคณะสงฆ์ ด้วยความไม่เข้าใจ มาตั้งแต่ 2500 กว่าปีก่อนโน้นแล้ว

หามิได้ มหาบพิตรมิใช่วงศ์ของพระองค์ หากแต่เป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีมาเช่นนี้แต่อดีตกาลแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสอธิบายต่อไปว่า  พระพุทธเจ้าทุกพระองค์หลังจากตรัสรู้แล้วก็ออกไปโปรดสัตว์ สั่งสอนเวไนยนิกรตามหัวเมืองต่างๆ การออกบิณฑบาตเป็นโอกาสหนึ่งที่จะได้สอนธรรมแก่ประชาชน

จากนั้น ได้ทรงเทศน์สอนพระราชบิดา ซึ่งทำให้พระองค์บรรลุธรรม ถ้อยคำเทศน์นั้น ก็มีสั้นๆ ว่า

บรรพชิตไม่พึงดูแคลนก้อนข้าวที่ตนพึงยินดีรับจากชาวบ้าน
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้ดี ไม่พึงประพฤติทุจริต
ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขในโลกนี้และโลกหน้า


ภาพซ้าย ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นใส่บาตรสามเณรน้อย, 
ภาพขวา สามเณรจังหวัดราชบุรี ร่วมเป็นเนื้อนาบุญงานตักบาตร


สามเณรจังหวัดจันทบุรี ร่วมเป็นเนื้อนาบุญงานตักบาตร 


จะเห็นว่า การบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์ไม่ว่าวัดไหนก็ตาม ไม่เฉพาะแต่วัดพระธรรมกาย เป็นอริยะประเพณีที่กระทำกันตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ไม่ใช่พึ่งจะมากระทำกันไม่กี่ปีมานี้ และก็ไม่ใช่พึ่งจะมีในคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์นี้ แต่มีมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แล้ว อีกทั้ง การบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์ ก็ไม่ใช่การไปเที่ยวขอทาน แต่เป็นการโปรดสัตว์ คือเมื่อไปบิณฑบาต ท่านก็ให้ศีลให้พร หรือถ้ามีเวลา ดังเช่น พิธีตักบาตรพระหมื่นรูป แสนรูป ท่านก็จะให้โอวาทเทศน์สอนสาธุชนที่มาร่วมงานตักบาตรนั่นแหละ ให้ได้นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม และนำธรรมที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยก็ให้พ้นทุกข์เบื้องต้นในชาตินี้ และได้เป็นวาสนาบารมีให้สามารถพ้นทุกข์ต่อไปในภพชาติเบื้องหน้า

ความไม่เข้าใจ เกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย แต่วิธีการดำเนินการต่อไปหลังจากนั้น พระไตรปิฎกท่านให้ไปทำความเข้าใจ ด้วยการไปพูดคุยสนทนากับผู้เกี่ยวข้องเรื่องนั้นๆ โดยตรงก่อน ซึ่งแม้หลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ให้พิสูจน์ความไม่เข้าใจนั้น ให้ชัดเจนก่อน ไม่ใช่ไปอ่านแต่สื่อขยายผลความไม่เข้าใจนั้น ให้ยิ่งแพร่ขยายเหมือนแพร่เชื้อโรคออกไป เพราะยิ่งแพร่เชื้อโรคออกไป โรคร้ายก็จะกลายเป็นระบาดไปทั่ว จนในที่สุดก็จะระบาดไปทั่วบ้านเมืองนั่นเอง

อ้างอิง : พุทธประวัติของอาจารย์เสถียรพงศ์ วรรณปก ซึ่งนำมาจากพระไตรปิฎก
 http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=50366

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘