คุยเรื่องกระทู้ “เสียงอ่าน ฯ กรณีธรรมกาย” สักนิดนะครับ

นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผมถนัดเลยครับ และใจจริงไม่อยากจะเขียนถึงด้วย

ผมชอบความสงบร่มเย็นทางใจ มากกว่าอะไรที่ทำให้ร้อนครับ

เข้ามาที่ห้องศาสนา จะเห็นกระทู้ “เสียงอ่านฯ กรณีธรรมกาย” แบ่งเป็นตอนย่อย ๆ  มาโปรยไว้วันละตอนสองตอนเป็นประจำ

ขอชื่นชมว่าขยันกันจริง ๆ ครับ 555

คิดในแง่ดีคืออยากให้ความรู้กับเพื่อนสมาชิก

แต่คิดอีกแง่ เหมือนไม่อยากให้ลืมว่าวัดพระธรรมกายสอนผิดอย่างไรด้วย

ซึ่งผมไม่ค่อยชอบบรรยากาศแบบนี้เท่าไหร่ครับ

ผมเห็นคุณค่าของหนังสือกรณีธรรมกายในแง่เป็นความเห็นทางวิชาการที่น่าสนใจ

แต่จะหมดความน่าสนใจ ถ้าใครจะเอามาใช้ว่าร้ายหรือให้ถกเถียงทะเลาะกัน

เมื่อมี “คุณผิด –  ฉันถูก” ที่ไหน เตรียมตัวได้ ว่าการทะเลาะจะตามมา

เมื่อไหร่ที่เห็นคนทะเลาะกัน หรือพระทะเลาะกัน ผมไม่ได้สนใจว่าใครชนะหรือใครแพ้

แต่ผมเห็น “ความอ่อนแอ” ซ่อนอยู่ครับ

คนในครอบครัวทะเลาะกัน ครอบครัวนั้นอ่อนแอ

คนในชาติทะเลาะกัน ชาตินั้นอ่อนแอ

พระในพุทธศาสนาทะเลาะกัน ศาสนานั้นอ่อนแอ

แพ้-ชนะ จะมีค่าอะไร !!

สมัยพุทธกาลมีเรื่อง “ขำ-ขื่น” อยากเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์สักเรื่องครับ

ขำ – เพราะเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ไม่น่าเป็นเรื่องเป็นราวอะไรได้

ขื่น – เพราะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทใหญ่โต เสียหายกันไปทั่ว

สาเหตุที่ทะเลาะกัน เกิดจาก “น้ำ” ในขันส้วมครับ (555 ยังไม่ทันเล่าก็ขำไปแล้วครับ)

พระรูปหนึ่งเข้าส้วม แล้วเผลอปล่อยให้มีน้ำค้างอยู่ในขัน (คือไม่คว่ำขัน)

พระวินัยธรรูปหนึ่งมาเห็นเข้าบอกว่าผิดวินัย (เป็นอาบัติ) แต่ถ้าไม่แกล้งทำ ก็ไม่ผิด

พระรูปแรกเห็นว่าตัวไม่ได้แกล้ง จึงไม่ได้ปลงอาบัติ แล้วก็ไป

เรื่องเล็กเกิดกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพระ 2 รูปนี้ เป็นระดับครูบาอาจารย์ ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายด้วยกันทั้งคู่

พระวินัยธรคงไปเล่าให้ลูกศิษย์ตัวฟัง ว่าพระที่เข้าส้วมเป็นถึงครูเขา แต่ทำผิดยังไม่รู้ตัว

ลูกศิษย์ไปพูดกระทบศิษย์พระที่ไม่คว่ำขัน ว่าอาจารย์พวกท่านต้องอาบัติก็ยังไม่รู้เลย

เรื่องจึงลุกลามใหญ่โต ฝ่ายหนึ่งหาว่าต้องอาบัติยังไม่รู้

อีกฝ่ายก็สวนกลับว่า ไหนบอกไม่แกล้งไม่เป็นไร อาจารย์พวกท่านกลับกลอกไปกลับกลอกมา

คนเรานะครับ ลองได้ทะเลาะกัน มันก็ไม่มีใครยอมใคร

พระทั้ง 2 ฝ่ายจึงเริ่มไปรวบรวมพวกที่คุ้นเคยชอบพอกัน ให้มาเข้ากันกับพวกตัว

ขอบเขตการทะเลาะก็ขยายลามออกไป

จนฝ่ายวินัยธรจัดการลงนิคหกรรม (ลงโทษ) พระที่ลืมคว่ำขันได้สำเร็จ

ชนะหรือครับ...เปล่าเลย เพราะฝ่ายที่ถูกลงนิคหกรรมก็ไม่แคร์

2 ฝ่ายจึงแตกกัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกันเหมือนเคย

เรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงเข้ามาแก้ไข

แก้อย่างไร ?...

พระองค์ตำหนิทั้ง 2 ฝ่ายครับ

โดยตำหนิฝ่ายวินัยธรว่า อย่านึกว่าตัวฉลาด ต้องคิดด้วยว่าถ้าปรับอาบัติเขาแล้วจะทะเลาะกัน ก็ไม่ต้องไปปรับมันสิ

ส่วนชุดไม่คว่ำขัน ทรงตำหนิว่า ต่อให้ไม่ผิด แต่คนอื่นเขาเชื่อว่าผิด ถ้าการยืนกรานของเราทำให้ต้องทะเลาะกันไปใหญ่ ก็ให้ยอมรับผิดไปซะ

สรุป ตำหนิทั้งคู่ และให้ประนีประนอมกัน เพื่อความสามัคคี

เรื่องน่าจะจบด้วยดี แต่เชื่อไหมครับ พระ 2 กลุ่มนี้ก็ยังคงทะเลาะกันเหมือนเดิมต่อไป

พระองค์สอนอีกหลายครั้งก็ยังไม่ได้ผล

จนทรงใช้วิธีสุดท้าย คือ เมื่อสอนไม่ได้ก็ไม่สอนมันซะเลย

พระองค์เสด็จออกจากเมืองไปเฉย ๆ เลยครับ

พอทรงจากไป ชาวบ้านก็โวยวายละสิคราวนี้

ว่าเพราะพระพวกนี้ เราจึงไม่มีโอกาสได้เห็น ได้ฟังธรรมจากพระองค์

ชาวบ้านเริ่มรวมหัวกันเลิกใส่บาตร เลิกไหว้ ไม่ให้ความช่วยเหลืออะไรทั้งสิ้น

พระพวกนี้ก็ดิ้นสิครับ

ไอ้ที่เคยข้าก็เก่ง เอ็งก็แน่ กลายเป็นเงียบกริบ ถ้าขืนทะเลาะกันต่อไปก็อดตายละครับ

ความพยศผยองพองลมดื้อด้านก็หมดไป รีบเดินทางไปขอให้พระพุทธเจ้ายกโทษให้ตัว

เหลือเกินจริง ๆ นะครับ กว่าจะยอมลดราวาศอกกันได้ เล่นเอาวุ่นวายไปหมด

พอจะ ขำ – ขื่น กันบ้างไหมครับ

เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ คล้ายโดมิโน่

----------------------------------------------------------

กลับมาเรื่องกรณีธรรมกาย

เห็นต่างก็อย่าให้ถึงกับทะเลาะกันเลยครับ

ชาวบ้านอย่างเรา ตราบใดยังไม่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เผื่อใจไว้บ้างเถอะครับ ว่าสิ่งที่เราคิด เราเห็น อาจไม่ได้ถูกทั้งหมด

หนังสือกรณีธรรมกายเหมือนกัน เรื่องไหนไม่มีความรู้ ผมจะฟังหลายด้าน

เรื่องไหนพอรู้บ้าง หรือมีประสบการณ์ ผมก็อาจเห็นต่างออกไป ไม่ได้เชื่อด้วย

แต่ก็ชอบครับ

ส่วนที่ให้ความรู้ ทำให้ผมรู้เพิ่มขึ้น

ส่วนที่เป็นความเห็นหรือข้อแนะนำ ผมรับฟังด้วยความสนใจ

อย่างเรื่องนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ผมมีความรู้แบบงู ๆ ปลา ๆ ปราชญ์ที่ไหนยกเหตุผลมาอ้างอธิบาย ผมก็เคลิ้มไปกับทั้งสองฝ่ายละครับ

บอกว่าเป็นอนัตตา ผมก็ อืม !! มีเหตุผล

บอกว่าเป็นอัตตา ผมก็ อืม !! มีเหตุผลอีกเหมือนกัน

555 เชื่อง่ายครับ

จึงไปหาอ่าน แล้วพบว่ายังมีนักวิชาการทางศาสนาเก่ง ๆ บางท่าน เห็นต่างไปก็มีครับ

เช่น ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม (นี่ก็ปราชญ์เมืองไทยครับ) ท่านให้ความเห็นไว้ว่า (ยกมาบางส่วนนะครับ)

----------------------------------------------------------

“นิพพานอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึงนิพพานของพระอรหันต์ที่สิ้นชีพดับขันธ์แล้ว นิพพานชนิดนี้มีปัญหาถกเถียงกันมาก และถกเถียงกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

มีคนทูลถามพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้วว่า พระอรหันต์สิ้นชีพแล้วอะไรเกิดขึ้น ท่านยังมีอยู่หรือไม่มีอยู่

ความจริงพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกก็ได้ประทานคำตอบไว้แล้วในพระไตรปิฎก แต่ถึงกระนั้น คนก็ยังถกเถียงกันอยู่

เพราะเหตุไร ?

ก็เพราะคำตอบเหล่านั้นยังไม่ชัดเจนพอ บางทีก็ตอบเชิงปฏิเสธ (Negative) ว่า นั่นก็ไม่ใช่ นี้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่อะไรสักอย่าง บางทีก็ตอบว่า นิพพานลึกซึ้งจนพูดถึงไม่ได้ อธิบายไม่ได้

ด้วยท่าทีแบบนี้ จึงมีชาวพุทธเถรวาทเป็นอันมาก เช่น ท่านพุทธทาส เป็นต้น ยอมรับเฉพาะนิพพานทางจิตวิทยาเท่านั้น ไม่ยอมรับนิพพานที่เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ที่มีอยู่โดยตัวเองในเอกภพ หรือที่นักวิชาการสมัยใหม่ (ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์ วิศทเวทย์) เรียกว่า นิพพานแบบอภิปรัชญา (Metaphysical Nirvana) ท่านเหล่านี้เชื่อว่า เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีพ ดับขันธ์ลง ทุกสิ่งทุกอย่างก็สิ้นสุดลงแค่นั้น ชีวิตของท่านดับไป เหมือนไฟหมดเชื้อ เหมือนตาลยอดด้วน ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

ปัญหาที่ใคร่จะพยายามตอบในบทความนี้ ก็คือว่า นิพพานแบบอภิปรัชญา มีอยู่หรือไม่

คำตอบที่ได้พบในพระไตรปิฎกเป็นแบบ ยอมรับว่ามี

ถ้าสนใจลองไปอ่านกันดูครับ (แต่ถ้าไม่ซีเรียสจริงจัง ก็ผ่านเถอะครับ ไม่ปวดหัวดี)

[Spoil] คลิกเพื่อซ่อนข้อความhttp://www.oocities.org/tokyo/field/1244/interest/int06271.htm
http://www.oocities.org/tokyo/field/1244/interest/int06272.htm


----------------------------------------------------------

เรื่องอื่น ๆ ในหนังสือนอกจากนี้ ผมคงขอข้ามไป

ที่ยกมาไม่ใช่ว่าอยากให้ทะเลาะกัน แต่อยากชี้ให้เห็นว่า คนที่เห็นต่างกันมันมี

ดังนั้นสามัคคีกันดีกว่าครับ

ต่างคนต่างยังไม่ได้เห็นนิพพานอะไร ชาตินี้ก็ใช่จะไปถึง

เหมือนคนเริ่มเดินทาง แต่ทะเลาะกันเรื่องปลายทางว่าเป็นอย่างไรซะแล้ว

จุดเด่นของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าให้เชื่ออะไร แต่เด่นตรงที่ให้ลงมือทำครับ

ศาสนานี้จึงเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา ไม่ต้องเชื่อ แต่ให้ทำไปจนกว่าจะเห็นด้วยตาตัวเอง

ศาสนานี้จึงให้ความสำคัญกับ “ทาง” หรือ “มรรค” หรือ “ปฏิปทา” ในระดับที่ทรงท้าว่า “เอหิปัสสิโก” เชิญมาพิสูจน์ดู

ความเห็นต่างจึงไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

และอย่าเพิ่งมั่นใจว่าความเข้าใจของเราถูกต้องอยู่คนเดียว

----------------------------------------------------------

ความเห็นที่ต่างกัน เหมือนเส้น 2 เส้นที่ขีดให้ยาวเท่ากันบนผืนทราย

การจะให้เส้นของฝ่ายหนึ่งยาวกว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ ทำได้ 2 วิธี คือ

ลบเส้นของฝ่ายตรงข้ามให้สั้นลง - หรือขีดเส้นของเราให้ยาวขึ้น

โดยส่วนตัวผมชอบวิธีหลัง มันสง่างามกว่ากันเยอะเลยครับ

ลบเส้นของเขา เส้นเราก็เท่าเดิม ไม่ได้ดีเด่อะไรขึ้นมา

----------------------------------------------------------

ผมเชื่อครับว่าทุกคน ทุกวัด อยากทำให้พระพุทธศาสนาเจริญ

ดังนั้นเมื่อมั่นใจว่าความเข้าใจของเราถูก ก็ขีดเส้นของเราให้ยาวออกไปครับ

เห็นว่านิพพานเป็นอนัตตา ก็ไปสอนโยมให้ลงมือรักษาศีล นั่งสมาธิ จนเกิดปัญญา ให้โยมเข้าถึงนิพพานอนัตตานั้น

เห็นว่าทำบุญต้องอย่าสร้างให้ใหญ่โต ต้องแล้วแต่ศรัทธา หรือจะอะไร ก็ไปฝึกโยมให้ทำบุญให้ได้อย่างที่เราคิด

ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่พูดให้เขาเชื่อ แต่อยู่ที่ฝึกให้เขาทำตามที่เราเชื่อได้สำเร็จ จนเห็นผล

แปลงสิ่งที่คุณคิดและเข้าใจ ให้เป็นรูปธรรมเถอะครับ

ชาวพุทธอีกหลายสิบล้าน รอท่านไปชวน ไปสอน ไปฝึกให้เขาทำอยู่

คนเชื่อตามแบบวัดพระธรรมกายมีไม่มาก เมื่อเทียบกับคนไทยทั้งประเทศ

ชาวพุทธที่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าจริงจัง หรือเชื่อครึ่ง ๆ กลาง ๆ ยังดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน หมกมุ่นกับอบายมุข  ศีล 5 ยังทำไม่ได้ น่าจะมีหลายสิบล้านคน

ที่ยังเชื่อเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ทรงเจ้าเข้าผี หมอดู ดวงชะตา ที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย น่าจะอีกหลายล้านเหมือนกัน

วัดพระธรรมกาย สร้างขึ้นโดยแม่ชีอายุ 60 ปี คนหนึ่ง ที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ยังทำได้ขนาดนี้

วัดอื่น ๆ มีพระมีโยมมีความรู้มากกว่านี้ตั้งเยอะ

ลุยเลยครับ...ผมเชียร์

----------------------------------------------------------

ขอให้สนุกสนานในการทำความดีครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘