ใส่บาตร กับทำทานคนยากไร้ อันไหนได้บุญมากกว่ากัน

ใส่บาตร กับทำทานคนยากไร้ อันไหนได้บุญมากกว่ากัน พระแถวบ้านไม่น่าใส่ เลยหันมาทำทาน
*******
คำถามนี้เป็นคำถามที่ดี แม้ในสมัยพุทธกาลก็มี
พระราชาพระองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงถามกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ควรทำทานกับใครดี
ดังเรื่องที่ปรากฎใน อิสสัตถสูตร ดังนี้

ย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และภิกษุสงฆ์ มีลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก
ด้วยเพราะมีสาธุชนศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ส่งผลให้เหล่าเดียรถีย์ (นักบวชนอกพุทธศาสนา)
เสื่อมจากลาภสักการะ ทำให้เหล่าเดียรถีย์นี้ต่างก็เที่ยวพูดไปในตระกูลทั้งหลาย เพื่อหวังทำลายศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า
ด้วยคำอย่างนี้ว่า
พระสมณโคดมกล่าวอย่างนี้ว่า
- พึงให้ทานแก่เรา (พระพุทธเจ้า) เท่านั้น
- ไม่พึงให้ทานแก่พวกอื่น
- พึงให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น
- ไม่พึงให้ทานแก่เหล่าสาวกของพวกอื่น
- ทานที่ให้แก่เรา (พระพุทธเจ้า) เท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกอื่นไม่มีผลมาก
- ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่เหล่าสาวกของพวกอื่นไม่มีผลมาก
- พระสมณโคดมทำไม่ถูก ไม่สมควรเลย
แล้วถ้อยคำที่พยายามสร้างให้เป็นกระแสนั้น ก็แผ่กระจายไปถึงราชสกุล.
พระราชาทรงสดับแล้ว ทรงพระดำริว่า
เป็นไปไม่ได้เลยที่พระพุทธเจ้าจะพึงทรงทำอันตรายแก่สาวกของคนพวกอื่น
มีแต่คนพวกอื่นเหล่านั้นที่กระเสือกกระสน เพื่อไม่ให้มีลาภ เพื่อไม่ให้มียศ เกิดแก่ พระพุทธเจ้าและพระสาวก ต่างหาก
พระราชาจึงตั้งใจที่จะปลดเปลื้องความเห็นผิดที่เหล่าเดียรถีย์ได้พยายามสร้างวาทะกรรมเหล่านี้ขึ้นมา
พระองค์ทรงรอจนถึงคราวมีงานมหรสพจัดขึ้นในเขตพระนคร
เมื่อมหาชนมาชุมนุมกันในงานมหรสพแล้ว
พระราชาทรงพระดำริว่า เวลานี้เป็นกาลที่เหมาะสม แล้วโปรดให้ประกาศไปในพระนครว่า
คนทั้งหลายไม่ว่ามีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธา เป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ
ยกเว้นเด็กหรือสตรีเฝ้าเรือน ทุกคนต้องไปยังพระวิหาร ผู้ใดไม่ไปจะต้องถูกปรับสินไหม 50 กหาปณะ
แม้พระราชาเองก็ทรงสรงสนานแต่เช้าตรู่
เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ทรงประดับพระองค์ด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
แล้วได้เสด็จไปยังพระวิหาร พร้อมด้วยหมู่ทหารหมู่ใหญ่ เมื่อกำลังเสด็จ
ทรงพระดำริว่า เราจักทูลถามปัญหาที่ไม่ควรจะถาม
เพื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสตอบปัญหาของเรา คำตอบนั้นก็จักทรงทำลายวาทะของเหล่าเดียรถีย์ได้ในที่สุด
พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อทรงทูลถามปัญหา จึงตรัสถามว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทานในที่ไหนหนอ"
พระพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า
"จิตเลื่อมใสในบุคคลใด พึงให้ทานในบุคคลนั้น หรือ พึงให้แก่บุคคลนั้น"
พระราชาจึงถามคำถามต่อมาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก"
พระพุทธองค์ ตรัสตอบว่า
- ดูกรมหาบพิตร "ทานพึงให้ในที่ไหน" นั่นเป็นข้อหนึ่ง และ
"ทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก" นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง
- ดูกรมหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ "ผู้มีศีล" แลมีผลมาก
ทานที่ให้แล้วใน "ผู้ทุศีล" หามีผลมากไม่
********
จากความใน อิสสัตถสูตร จะพบว่า มีด้วยกัน 2 ประเด็น
คือ
1. ทำทานกับใครดี
ตอบว่า ศรัทธา เลื่อมใส ใคร ก็ให้ทานแก่คนนั้น
จะเป็นพระแถวบ้าน หากรู้สึกไม่ศรัทธา ไม่อยากใส่บาตร ก็ไม่ถือว่าผิด
เห็นคนยากไร้ลำบาก แล้วรู้สึกว่า ปัจจัยที่เราช่วยเขาในเวลานั้น เกิดประโยชน์แก่เขามากกว่า
เกิดศรัทธาอย่างนี้ ทำทานกับคนยากไร้ ก็ไม่ถือว่าผิด เช่นเดียวกัน
ตรงตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า
"จิตเลื่อมใสในบุคคลใด พึงให้ทานในบุคคลนั้น หรือ พึงให้แก่บุคคลนั้น"
2. ทำทานแล้ว อานิสงส์ที่เกิดขึ้น เท่ากันหรือไม่
หากไม่เท่ากัน มีอะไรบ้างที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้อานิสงส์มากหรือน้อย
- อานิสงส์จากการให้ทานนั้น จะเกิดเท่ากัน หรือ ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ
องค์ประกอบหลัก 3 อย่าง คือ วัตถุทานบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ บุคคลบริสุทธิ์
2.1 วัตถุทานที่เรามอบให้เป็นทานนั้น ได้มาด้วยความสุจริต ไม่ได้ไปลักขโมยใครเขามา
ก็ถือว่า องค์ประกอบข้อ "วัตถุบริสุทธิ์" นี้ผ่าน
2.2 เจตนาในการให้ทาน ของเราเอง ทำทานครั้งนี้หวังเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือ
หรือ สร้างเป็นบุญกุศล ด้วยความจริงใจ ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น
ก็ถือว่า องค์ประกอบ "เจตนาบริสุทธิ์" นี้ผ่าน
แต่ถ้ามีเจตนาให้ทานเพื่อหวัง สร้างให้เป็นหนี้บุญคุณแก่ผู้รับ หวังให้ผู้รับต้องคอยเกื้อกูลตอบแทนกลับในภายหลัง
หรือ ให้ทานเพื่อหวังสร้างชื่อเสียง สร้างให้ตนเองเป็นที่นิยมชมชอบ ถ้าเจตนาอย่างนี้ก็ถือว่า เป็นเจตนาไม่บริสุทธิ์
2.3 บุคคลบริสุทธิ์ มีด้วยกัน 2 ฝั่ง คือ ผู้ให้ 1 และ ผู้รับ 1
ความบริสุทธิ์ที่กล่าวถึง ก็หมายเอา ความบริสุทธิ์จากการรักษาศีลของแต่ละท่าน
ผู้ให้ ก็คือตัวเรา ย่อมรู้ตัวเองดีว่า รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างไร
ผู้รับ ก็คือ ผู้รับทานของเรา จะเป็นพระภิกษุก็ดี เป็นคนยากไร้ก็ดี เขาเหล่านั้นประพฤติตน
รักษาศีลได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็ 227 ข้อ ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปก็ ศีล 5 ครบถ้วนบริบูรณ์ไหม
ข้อนี้ จึงสมกับ คำของพระพุทธเจ้าที่ให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า
"ดูกรมหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแลมีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีลหามีผลมากไม่"
ซึ่งแน่นอนที่ว่า เราไม่อาจรู้ได้ว่า ศีลของฝั่งผู้รับบริสุทธิ์บริบูรณ์มากน้อยเพียงไร
ก็ให้พึงสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของท่านเหล่านั้น
หากเห็นเหมาะควร แล้วเราเกิดศรัทธา ก็ทำทานถวายในพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นด้วยความเต็มใจได้
หากเห็นแล้ว เกิดศรัทธาน้อย ความตั้งใจทำทานอาจลดลง
ก็ให้ระลึกเสียว่า ถวายบิณฑบาตนี้ เพื่อรักษาอายุพระศาสนา ก็ได้ แม้ท่านอาจประพฤติได้ไม่เหมาะควรนัก
****************
การทำทาน หากแยกตามวัตถุประสงค์
ก็สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทแรก ทำทานด้วยความตั้งใจ ถือเป็นการบำเพ็ญทานบารมี
ให้โดยตัดความตระหนี่ในทรัพย์ออกไปจากใจ
ประเภทที่สอง ทำทานเพื่อสงเคราะห์โลก
ปัจจัย หรือ วัตถุทาน ที่เราให้ไป ให้เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แก่คนในสังคมของเรา
การอนุเคราะห์ญาติสนิทมิตรสหาย ก็ถือว่าเป็น การทำทานเพื่อสงเคราะห์โลกเช่นเดียวกัน
หลวงพ่อท่านสอนให้เราทำทานให้ครบทั้ง 2 ประเภทไปด้วยกัน
เพราะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของเรา ชีวิตของเราเกี่ยวข้องทั้งทางโลกทางธรรมไปคู่กัน
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสอันเหมาะควร ก็ให้ทำทานบารมี ควบคู่ไปกับ ทำทานสงเคราะห์กัน กันนะ
***************
สรุปรวมได้ว่า ถ้าเรา ศรัทธาเลื่อมใสที่ใด ก็ทำทานกับบุคคลนั้นเถิด ถือว่าไม่ผิดธรรมเนียม
และหากอยากได้บุญจากการทำทานนั้น ๆ สมบูรณ์มากขึ้น ก็ให้มาตรวจสอบองค์ประกอบทั้ง 3 ว่าครบถ้วนสมบูรณ์แค่ไหน
ทั้ง วัตถุทานบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ และ บุคคลบริสุทธิ์ ให้สมบูรณ์พร้อมเถิด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘