ลิขิตพระสังฆราช โดยทนายพระ ตอนที่6

วันนี้ผมขอแสดงความเห็นเรื่องลิขิตพระสังฆราชในแง่ มุมของทนายพระ    ให้ญาติโยมและพระคุณเจ้าที่ติดตามในเรื่องนี้เพื่อท่านจะได้สิ้นความสงสัย ต่อการที่มหาเถรสมาคมได้พิจารณาและมีมติไปแล้ว  กล่าวคือ
ประเด็นแรก  สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์มากน้อยเพียงใด
๑)     สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก  ทรงบัญชาการคณะสงฆ์  และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย  พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม ( มาตรา ๘ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ )
คณะสงฆ์เปรียบได้กับรัฐหนึ่งในราชอาณาจักรไทย  แม้จะเป็นรัฐที่สามารถปกครองกันเองได้  แต่ก็อยู่ภายใต้กฎหมายไทย  ประมุขของรัฐคือสมเด็จพระสังฆราช  เทียบได้กับตำแหน่งประธานาธิบดี  โดยพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา  เป็นผู้บัญชาการคณะสงฆ์  สามารถออกคำสั่งให้คณะสงฆ์ปฎิบัติได้ เทียบได้กับคำสั่งนายกรัฐมนตรี  สามารถบังคับและเอาผิดกับพระภิกษุที่อยู่ภายใต้การปกครอง  ซึ่งเป็นไปตามพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม  แต่คำสั่งหรือพระบัญชานั้นต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายของราชอาณาจักรไทย  และข้อสำคัญคือพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคม  ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระภิกษุต้องปฎิบัติด้วยความเคร่งครัด  แม้สมเด็จพระสังฆราชจะมีอำนาจดังกล่าวข้างต้น  แต่มิได้หมายความว่าพระองค์จะสามารถสั่งหรือมีพระบัญชาได้ตามอำเภอใจ
ทีนี้มาดูซิว่า กระดาษที่พิมพ์ข้อความ ๖ บรรทัด ที่สมเด็จพระสังฆราชถือเข้าไปในที่ประชุมมหาเถรสมาคมเมิ่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒ นั้น มีความหมายว่าอะไร  ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่า  กระดาษที่มีข้อความแล้วพระองค์ได้ยื่นส่งให้สมเด็จพุฒาจารย์  ( วัดสระเกศ ) อ่านนั้น  เป็นพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชจริง  แม้จะไม่มีหัวกระดาษและลายพระหัตถ์ของพระองค์ก็ตาม  ถามว่าลิขิตฉบับนั้นเป็นพระบัญชาหรือไม่  ผมมีความเห็นว่าไม่ใช่พระบัญชา  เพราะมิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งเป็นเพียงความเห็นดำริของพระองค์เท่านั้น  และผมมีความเห็นว่า  ลิขิตฉบับนั้นเป็นฉบับจริงโดยไม่ต้องสงสัย
๒.) การปกครองคณะสงฆ์
คณะสงฆ์ไทยมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายมหานิกาย  กับฝ่ายธรรมยุตนิกาย  ทั้งสองฝ่ายแยกการปกครองแต่ละฝ่าย  กล่าวคือวัดที่สังกัดมหานิกายก็จะมีคณะปกครองเฉพาะฝ่ายมหานิกาย  ส่วนวัดที่สังกัดธรรมยุตนิกายก็จะมีคณะปกครองเฉพาะฝ่ายธรรมยุตนิกาย  ทั้งสองฝ่ายแยกกันเป็นอิสระไม่ก้าวก่ายกัน  แต่ในการปกครองคณะสงฆ์นั้นมี  มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุด  โดยมีประมุของค์เดียวกันคือ  สมเด็จพระสังฆราช   สกลมหาสังฆปรินายก
คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม   ซึ่งมีอำนาจหน้าที่  ที่สำคัญ คือ  ปกครองคณะสงฆ์  กำหนดการบรรพชาสามเณร  ควบคุมและส่งเสริมการศึกษาฯ ของคณะสงฆ์  รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา  ปฎิบัติหน้าที่อื่นๆตามกฎหมาย ( ตามมาตรา ๑๕ ตรี พ.ร.บ. คณะสงฆ์ )
มหาเถรสมาคมประกอบด้วย  สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง  และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งจำนวนหนึ่ง  เทียบกับทางฝ่ายอาณาจักรก็คือ คณะรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลผสม  ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่านจะไม่ค่อยจะก้าวก่ายหน้าที่ทางปกครอง  แต่ในเรื่องพระธรรมวินัยแล้วไม่มีการเพิกเฉยหรือละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ
สรุปแล้วในกรณีที่มีปัญหาในการปกครองคณะสงฆ์นั้น  เมื่อกระบวนการพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนหลักการโดยมหาเถรสมาคมได้พิจารณาโดย รอบคอบและสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว  เรื่องจะสิ้นสุดโดยไม่มีการอุทธรณ์และจะไม่สามารถรื้อฟื้นมาพิจารณาใหม่ได้   กรณีวัดพระธรรมกายนั้นมหาเถรสมาคมท่านถือว่าเรื่องต่างๆที่เป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์นั้นเอวังด้วยประการฉะนี้แล   แต่อาจารย์แสวงท่านบอกผมว่า  เป็นเพียงยกแรกเท่านั้นคุณทนายคอยดูก็แล้วกัน  ทิฐิพระนั้นอย่าให้ผมพูดเลย  สมัยหลวงพ่ออาจ  พระพิมลธรรม  วัดมหาธาตุ  ผมเคยเจอมาแล้ว  และแล้วก็เป็นไปตามที่ท่านคาดการไว้ไม่มีผิด  หนักหน่วงรุนแรงและต้องแก้ด้วยการเมือง   ตอนนั้นผมคิดไม่ออกแต่ตอนนี้จึงถึงบางอ้อ
ประเด็นที่ ๒  ลิขิตพระสังฆราชเป็นของจริงหรือทำปลอม
ฉบับแรกผมฟันธงไปแล้วว่าเป็นของจริง  ไม่ต้องอธิบายอีก ส่วนอีก ๕ ฉบับมีการโต้แย้งกันมาก  มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็น ๒ แนว คือ เป็นพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชจริง  โดยพระองค์อาจดำรัสให้พระเลขาเป็นผู้ดำเนินการ  เมิ่อเป็นพระลิขิตจริงก็จะมีผู้ให้ความเห็นว่า  มหาเถรสมาคมต้องปฎิบัติตามพระบัญชา พระธมฺมชโยต้องอาบัติปาราชิก  พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ  ไม่ได้เป็นพระแล้ว  อีกฝ่ายก็ว่าเป็นพระลิขิตปลอม  มีบางกลุ่มร่วมกันทำขึ้นมาหวังจะบีบบังคับให้มหาเถรสมาคมจับพระธมฺมชโยสึก  เหตุการณ์ในช่วงนั้นสื่อมวลชนพุ่งเป้าไปที่มหาเถรสมาคมให้จัดการตามกระแสของ สังคมที่ชี้นำ  แต่มหาเถรสมาคมท่านก็นิ่งเฉย  จนกระทั่งนายพิภพ  กาญจนะ เลขาธิการมหาเถรสมานำเอาลิขิตรวม ๕ ฉบับ เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม  เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เพื่อให้มหาเถรสมาคมชี้ว่าเรื่องพระลิขิตทางมหาเถรสมาคมจะเอาอย่างไร  เพราะเป็นที่คาใจของสังคม  ในที่สุดมหาเถรสมาคมท่านก็มีมติว่า สนองพระดำริมาโดยตลอด แต่ให้ชอบด้วยกฎหมาย  พระธรรมวินัย  และกฎมหาเถรสมาคม
พิจารณามติมหาเถรสมาคมดังกล่าวแล้วสามารถตีความได้ว่า
๑.     ไม่มีการชี้ชัดว่า ที่ว่าเป็นพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชนั้น จริง หรือปลอม  เพราะมีข่าววงในว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งอาศัยที่เป็นคนใกล้ชิดกับพระองค์มีส่วน เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับพระลิขิต
๒.     ถ้าเป็นพระลิขิตจริง  มหาเถรสมาคมท่านวินิจฉัยว่าเป็นเพียงพระดำริ หรือความเห็นของพระองค์เท่านั้น  มิได้เป็นพระบัญชา  หรือคำสั่ง  ตามที่กฎหมายให้อำนาจท่านไว้
๓.     มหาเถรสมาคมไม่ปฎิเสธเรื่องพระลิขิต  โดยระบุชัดแจ้งว่าพระดำริใดๆที่สมเด็จพระสังฆราชแจ้งให้มหาเถรสมาคมทราบ นั้น  ได้มีการสนองพระราชดำริมาโดยตลอด  แต่ให้ชอบด้วยกฎหมาย  พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
๔.     พระดำริที่เป็นพระลิขิตทั้ง ๕ ฉบับนั้นแรกๆเป็นดำริในเรื่องเกี่ยวกับการบิดเบือนคำสอนของพุทธองค์  ก็คงหมายถึง  นิพพานเป็นอัตตา ทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อแตกแยกออกไป  ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม ต้องอาบัติคือโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ  ในกรณีนี้เข้าข่ายสังฆเภทคือยังสงฆ์ให้แตกกัน  เป็นครุกาบัติแต่ไม่ถึงขั้นหนักสุดเป็นอาบัติสังฆาทิเสส  เทียบกับโทษทางฝ่ายอาณาจักรคือจำคุกตลอดชีวิต  หากยอมรับโทษและประพฤติดีก็มีสิทธิลดหย่อนผ่อนโทษกลับมาเข้าหมู่พวกหรือคณะ สงฆ์ได้
แต่ต่อมาได้มีการออกพระลิขิตอีก  เป็นการยกเอาเรื่องการโกงสมบัติของผู้อื่น  ตั้งแต่  5 มาสกขึ้นไป                                               ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก  พ้นจากความเป็นพระทันที  ในกรณีนี้  ไม่ว่าจะ   มีผู้รู้เห็นหรือไม่  ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก  ไม่ว่าจะมีการจับสึก  หรือไม่ก็ตาม  ภิกษุผู้ละเมิด    พระธรรมวินัยข้อนี้  ต้องอาบัติปาราชิก  พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ  เมื่อตรวจดูเอกสารที่อ้างว่าเป็นพระลิขิตแล้ว  เอกสารฉบับนี้มีเพียงหัวกระดาษไม่มีลายพระหัตถ์  ประกอบการใช้ถ้อยคำก็ผิดแปลกพระลิขิตที่สมเด็จพระสังฆราชเคยออกมา  เป็นการยกเอาเรื่องที่ดินที่เป็นของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง  พูดง่ายๆคือเจตนาให้เข้าฐานความผิดทางพระธรรมวินัยคือ  ลักทรัพย์ ๕ มาสกขึ้นไป เป็นครุกาบัติ  เป็นอาบัติหนักสุด มีโทษต้องสึกและบวชไม่ได้อีกตลอดชีวิต  เทียบได้กับโทษประหารชีวิต
ประเด็นที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจให้ภิกษุปาราชิกได้หรือไม่
ในบรรดาลิขิตทั้ง ๕ ฉบับที่อ้างว่าเป็นพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชนั้น  แม้เป็นเพียงการกล่าวถึงโทษที่จะลงกับภิกษุ   ตามความผิดต่อพระธรรมวินัย  ไม่เจาะจงถึงพระธมฺมชโยโดยตรง  แต่ในลิขิตฉบับต่อมา เป็นการกล่าวถึงวัดพระธรรมกายโดยตรง  และยังกล่าวว่า  ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  เพื่อเทอดทูนรักษาพระพุทธศาสนาให้พ้นถูกทำลาย  สมบูรณ์ดีที่สุดแล้วตามอำนาจ
ผมขอตั้งโจทย์ให้ท่านทั้งหลายช่วยกันคิดว่า  สมเด็จพระสังฆราชมีอำนาจสั่งให้ประหารชีวิตพระภิกษุได้หรือไม่  ท่านอ้างว่าทำหน้าที่สมบูรณ์ตามอำนาจ  ผมดูแล้วไม่มีกฎหมาย  พระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมให้อำนาจท่านไว้  ในครั้งพุทธกาลมีภิกษุบางรูปพยายามกราบทูลต่อพระพุทธองค์ว่า  หากพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้วขอให้ตั้งภิกษุขึ้นมาสืบแทนพุทธองค์  แต่พระองค์ได้ตรัสว่า พระธรรมเป็นเสมือนตัวแทนของพระองค์ขอให้สาวกของพระองค์ถือเอาคำสอนของ พระองค์เป็นหลัก  ผมเองก็ได้เคยถามผู้รู้บางท่านว่า  พระพุทธองค์เคยตรัสสั่งให้ภิกษุที่ละเมิดพระวินัยสงฆ์ที่พระองค์ตรัสไว้แล้ว ลงโทษเลย โดยไม่มีการสอบข้อเท็จจริง  และไม่ให้ภิกษุที่ถูกโจทหรือถูกกล่าวหาพิสูจน์ความจริงหรือไม่  คำตอบก็คือไม่มี  ในทางปฎิบัติเมื่อมีการกล่าวโจทภิกษุหรือภิกษุณีว่ามีการละเมิดข้อห้ามที่ พระองค์ทรงบัญญัติไว้  พระองค์จะประชุมสงฆ์แล้วแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกโจททราบต่อหน้าสาวก ให้โอกาสกับผู้ถูกโจทแก้ข้อกล่าวหาได้เต็มที่ เมื่อได้ข้อยุติแล้วพระองค์จึงปรับอาบัติแก่ภิกษุรูปนั้นตามโทษานุโทษ
ปี ๒๕๕๘ เหตุการณ์ก็กลับมาเหมือนปี ๒๕๔๒ อีกครั้งหนึ่ง  มีเรื่องที่วัดพระธรรมกายจัดธุดงค์ในกลางกรุงเทพ  พระท่านก็คิดแต่เพียงว่าสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองใด  ประชาชนที่ศรัทธาก็จะโปรยดอกไม้ไปตลอดทางที่พระองค์เสด็จผ่าน  ดูแล้วมันน่าจะดีนะ  เป็นการเผยแพร่กิจของสงฆ์ทำให้ประชาชนบางส่วนสนใจในศาสนามากขึ้น  แต่ในอีกมุมหนึ่งเขามองว่า  ทำไมไม่ไปธุดงค์ในป่าในเมืองทำให้รถติดเดินทางลำบาก  ยิ่งตอนนี้พวกโซเชียลมีเดียมาแรงเรื่องที่น่าจะดีกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของ คนรุ่นใหม่  หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์อื่นๆมาเสริมจนกลายเป็นข่าวที่ฮิตสุดๆ  ต่อไปวัดพระธรรมกายคงจะได้ใช้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษา  มีบางท่านถามความเห็นของผมในเรื่องนี้  ผมตอบไปว่าเป็นแค่น้ำจิ้ม  เพราะอาจารย์แสวงท่านเคยพูดกับผมไว้ว่า  กรณีวัดพระธรรมกายนั้นถ้ามีเหตุเพียงนิดเดียวมันจะลามไปใหญ่  และจะมีพวกที่คอยจ้องเรื่องสมบัติของพระพุทธศาสนา  ที่ดินวัด  เงินของวัด  ยิ่งถ้ามีสภาผู้แทนโดยมีกรรมาธิการที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม  ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาอื่นร่วมด้วยจะอาศัยจังหวะที่คณะสงค์เพลี่ยงพล้ำ กระหน่ำซ้ำเติมทันที  เรื่องนี้อาจารย์แสวงท่านพูดไว้จริงๆนะจะบอกให้
เอาละผมจะเล่าเรื่องที่หลายคนถามผม  พี่ทนาย  คราวนี้มีหลายฝ่ายออกมาให้ข่าวชี้นำโดยยกเอาพระลิขิตมาอ้าง  ที่เห็นจะๆก็คือ อาจารย์เจิมศักดิ์ เจ้าเก่า นายไพบูลย์  นิติตะวัน  และทนายวันชัย  สอนศิริ ทั้งสองคนนี้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง  ยิ่งทนายวันชัยนั้นท่านเคยบวชเรียนเป็นมหาเปรียญธรรมด้วยแล้วถือว่าเป็นผู้ ที่น่าเชื่อถือ  ส่วนคนอื่นๆโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ก็จะเอาข้อความจากหนังสือพิมพ์มาพูดแล้วก็ตีข่าวใส่ไข่คิดว่าตัวนั้นปกป้อง พระพุทธศาสนา  แต่น้อยคนที่จะเข้าวัดปฎิบัติธรรม  หรือทำบุญ  แต่ก็จะเป็นเดือดเป็นแค้นแทนคนอื่น   ปล่อยเขาไปเถอะ
ถามตรงๆนะครับก่อนที่ท่านมาฟังผมเล่าเรื่องลิขิตพระสังฆราชนี้   ท่านเคยเห็นข้อความในพระลิขิตหรือเปล่า  รู้ใหมว่าทำไมจึงมีพระลิขิต  และรู้ใหมว่ามติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายมีการดำเนินการเป็น ขั้นเป็นตอนอย่างไร  ถ้าผมเล่าแบบฟันธงก็จะหาว่าทนายเข้าข้างมหาเถรสมาคม  ผมเคยเป็นเด็กวัดมาก่อนจึงรู้ถึงวัตรปฎิบัติของพระท่าน   แต่ละรูปนั้นแตกต่างกันไป  แต่ขอให้เชื่อผมเถอะครับ  กรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปนั้นท่านมีภูมิรู้ลึกซึ้งจริงๆ  การออกมติแต่ละครั้งท่านมีทางออกเสมอ
เอายังงี้ก็แล้วกัน  สมมุติว่าทนายวันไชท่านเป็นทนายของจำเลยคดีอาญาของคุณปื๊ดคดีก่อการร้าย  คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล  วันหนึ่งท่านไปศาลพร้อมเสมียนทนาย  ไปพบเสมียนหน้าบัลลังก์ในคดีดังกล่าว  เมื่อคุยธุระเสร็จก็กลับแต่ปรากฎว่าเสมียนของท่านลืมถุงซึ่งข้างในมีกล่อ งฃนมอยู่  ต่อมาได้มีการแพร่ข่าวสพัดไปทั่วว่า  ทนายวันไชลืมถุงขนมไว้ที่ศาล   ขอให้มารับคืนได้  พอข่าวทำนองนี้ออกไป  ก็มีการโพสต์ต่อเติมเสริมแต่งว่า  คงอีหรอบเดียวกับที่ทนายที่ลืมถุงขนมที่ศาลซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วราช อาณาจักร  ความที่ทนายวันไชท่านเป็นคนดัง  พวกโซเชียลมีเดียเลยโพสต์กันระเบิดเถิดเทิง  แต่เรื่องจริงเสมียนของท่านลืมถุงขนมจริงๆไม่เกี่ยวกับการวิ่งเต้นในคดี  ต่อมาได้มีผู้สื่อข่าวไปถามนายกสภาทนายความว่ากรณีที่ทนายวันไชไปติดต่อ เรื่องคดีแล้วลืมถุงขนมที่ศาลนั้น  ในฐานะที่ท่านเป็นนายกสภาทนายความท่านจะว่าอย่างไร  ท่านนายกสภาทนายความท่านก็พูดว่าถ้าเป็นการไปติดต่อเรื่องคดีที่ศาลแล้วไปทำ เป็นลืมถุงขนม  ถ้ามีเจตนาก็ต้องมีการลงโทษด้วยการประหารชีวิตคือถอนใบอนุญาตว่าความตลอด ชีวิต  เพราะเป็นการทำให้สภาทนายความเสียหาย  เท่านั้นแหละครับ  สื่อมวลชนทุกแขนงต่างเสนอข่าวอย่างเมามันว่านายกสภาทนายความชี้ว่าต้องถอนใบ อนุญาตทนายวันไช  ทนายวันไชไม่มีสิทธิว่าความและยังถูกเรียกว่าอดีตทนายความเสียอีก  เป็นท่านเป็นทนายวันไชจะรู้สึกอย่างไร  เจ็บปวดแค่ไหน  ไม่มีการสอบถามความจริงแต่สังคมรุมกันประณามจนกลายเป็นคนผิด  ความจริงแล้วนายกสภาทนายความไม่มีสิทธิที่จะชี้ว่าควรลงโทษอย่างไร  มันต้องมีการร้องเรียนหรือตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง  ต้องให้ทนายวันไชรับทราบข้อกล่าวหาและพิสูจน์ความจริงเสียก่อน  ถ้าเป็นความผิดเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยแล้วว่าผิดจริง  นายกสภาทนายความจึงจะสามารถออกคำสั่งลงโทษได้
ในทางกลับกันกรณีสมเด็จพระสังฆราชมีพระดำริว่าวัดพระธรรมกายกระทำความผิด ต้องถูกประหารชีวิต  ทั้งๆที่ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาจากศาลสงฆ์  เรียกว่าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น  การอุทธรณ์  และฎีกา  ท่านคิดว่าพระลิขิตนี้จะต้องปฎิบัติตามหรือไม่
                เรื่องลิขิตพระสังฆราชกรณีวัดพรธรรมกายนั้น   ผมขอฟันธงว่ามหาเถรสมาคมท่านได้ปกป้องพระเกียรติของสมเด็จพระสังฆราช  สกลมหาสังฆปรินายก  ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ขอเอวังด้วยประการฉะนี้แล  นมัสเต ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘