ลิขิตพระสังฆราช โดยทนายพระ ตอนที่5

ก่อนที่มหาเถรสมาคมจะประชุมพิจารณาเรื่องวัดพระธรรมกายในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒ นั้น ถ้าจะประเมินจากข้อมูลรายงานของเจ้าคณะภาค ๑ ว่า
๑) ท่านได้แนะนำให้วัดพระธรรมกายแก้ไขข้อบกพร่อง ให้เปิดการเรียนการสอนพระอภิธรรม
๒) ให้มีการปฎิบัติบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฎฐาน เพื่อให้ผู้ปฎิบัติบรรลุถึงพระวิปัสสนาญาณตามลำดับชั้น ซึ่งปรากฏมีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
๓) ให้สำรวมระวังในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดและ
๔) ให้ปฎิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยเคร่งครัดเป็นพิเศษ
ซึ่งข้อแนะนำทั้ง ๔ ข้อ นั้น พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ท่านยอมรับที่จะปฎิบัติตามคำแนะนำของเจ้าคณะภาค ๑ ทุกประการ การพิจารณาของมหาเถรสมาคมที่จะลงโทษวัดพระธรรมกายก็คงจะเป็นแค่ว่ากล่าวตัก เตือนเท่านั้น แต่กลุ่มที่อ้างว่าประสงค์ดีต่อพระพุทธศาสนา แต่ประสงค์ร้ายต่อมหาเถรสมาคม ต้องการให้สึกพระธมฺมชโยเพราะจะได้เกิดรอยร้าวในมหาเถรสมาคม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าคณะสงฆ์ไทยมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือฝ่ายมหานิกายกับฝ่ายธรรมยุตนิกาย การปกครองคณะสงฆ์หรือฝ่ายบริหาร คือ มหาเถรสมาคม หรือคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยพระมหาเถรชั้นผู้ใหญ่สังกัดฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุตจำนวนใกล้ เคียงกัน เท่ากับเป็นรัฐบาลผสม หัวหน้ารัฐบาลเปรียบได้กับประธานาธิบดี คือสมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ คือมีสถานะเป็นทั้งประมุขและนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ( มาตรา ๘ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ )
วันจันทร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒ เป็นการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมครั้งพิเศษ ๑ / ๒๕๔๒ มีวาระที่สำคัญคือเรื่องการพิจารณากรณีวัดพระธรรมกายโดยเฉพาะ ในการประชุมวันนั้น มีกรรมการมหาเถรสมาคมที่เข้าประชุมจำนวน ๑๔ รูป ลาประชุม ๕ รูป สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงเสด็จเข้าร่วมประชุมและเป็นประธานการประชุม นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้ลำดับเรื่องของวัดพระธรรมกายที่ได้เคยนำเสนอในที่ประชุมมหาเถรสมาคมเป็น ลำดับ ตลอดจนการที่กรรมการมหาเถรสมาคมได้มีบันทึกเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายเป็น ลายลักษณ์อักษรตามที่ได้อ่านทูลถวายและถวายแล้ว
พูดง่ายๆก็คือ บรรดาเรื่องราวต่างๆที่ได้เป็นข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนคณะกรรมการที่กระทรวงศึกษาแต่งตั้งหาข้อเท็จจริง คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอต่อสมเด็จพระสังฆราชโดยตรง ตลอดจนความเห็นของกรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปเป็นลายลักษณ์อักษร กรรมการที่ร่วมประชุมได้ฟังการรายงานอย่างละเอียดและครบถ้วน
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว มีมติที่ ๑๐๑/๑/๒๕๔๒ ว่า
ตามรายงานการพิจารณาดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกายของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ให้คำแนะนำ ๔ ประการ ให้วัดพระธรรมกายปฎิบัตินั้น ชอบแล้ว และเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ตอบรับที่จะปฎิบัติตามเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ชัดเจนแล้ว จึงให้วัดพระธรรมกายปฎิบัติตามคำแนะนำทั้ง ๔ ประการ อย่างเคร่งครัด และให้พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ดูแลสั่งการให้วัดพระธรรมกายปฎิบัติตามที่ได้มีหนังสือตอบรับนั้นด้วย
ส่วนกรณีอื่นๆของวัดพระธรรมกาย เช่น การเรี่ยไร เป็นต้น ให้เจ้าคณะภาค ๑ สั่งการให้วัดพระธรรมกายปฎิบัติตามระเบียบมหาเถรสมาคมและกฎหมายบ้านเมือง เป็นต้น
อนึ่ง ให้วัดทุกวัดและภิกษุสามเณรปฎิบัติดังนี้
๑. การเรียนการสอนพระธรรมวินัย ให้ยึดหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนา และทรงกำหนดตามหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก
๒. การปฎิบัติกัมมัฎฐาน ให้ปฎิบัติตามหลักในมหาสติปัฎฐานสูตร
ให้เจ้าคณะทุกระดับคอยสอดส่องดูแลตามอำนาจหน้าที่ และให้เจ้าคณะดำเนินการจัดตั้งสำนักปฎิบัติธรรมตามมติเถรสมาคมทั่วทุก จังหวัด และให้กรมการศาสนาแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดทราบ และถือปฎิบัติ
เมื่อผลการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมได้ข้อยุติว่า ตามรายงานของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ให้คำแนะนำให้วัดพระธรรมกายปฎิบัตินั้น ชอบแล้ว และเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ยอมรับที่จะปฎิบัติตามเป็นลายลักษณ์อักษร ชัดเจน จึงถือว่ากรณีของวัดพระธรรมกายในทางการปกครองคณะสงฆ์นั้นสิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์หรือเป็นอย่างอื่นได้อีกต่อไป
แต่ในการพิจารณาในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒ ครั้งนั้น นายอำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธมณฑลท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า วันนั้นสมเด็จพระสังฆราชถือพระลิขิตมาด้วย ไม่มีหัว ยื่นให้สมเด็จพระพุฒาจารย์อ่าน ให้องค์อื่นอ่าน ซึ่งมีข้อความ ๖ บรรทัด คือ
ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็น
การทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความไม่เข้าใจความ
เชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก
เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบัน และอนาคต ที่หนัก
ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิด
ขึ้นในขณะเป็นพระ ให้แก่วัด ทันที
นึ่คือที่มาของพระลิขิตกรณีวัดพระธรรมกาย เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ในฐานะผู้ปกครองสูงสุดคณะสงฆ์ภาคกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าคณะภาค ๑ จึงไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคมในครั้งสุดท้ายกรณีวัดพระธรรมกาย และสมเด็จพระสังฆราชเข้าร่วมการประชุมโดยเตรียมการนำพระลิขิตมาด้วย
ในฐานะทนายความ ผมขอแสดงความคิดเห็นให้ผู้ที่สนใจกรณีวัดพระธรรมกายได้พิจารณาข้อเท็จจริง ว่า ทั้งสองรูปเล็งเห็นว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคมวันที่ ๒๒ มีนาคม นั้น ที่ประชุมคงจะมีมติให้เป็นไปตามที่เจ้าคณะภาค ๑ เสนอแน่นอน เนื่องจากมีการประชุมหลายครั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นเพียงว่ากล่าวตักเตือนให้ ทางวัดพระธรรมกายแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ และเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาทางวัดพระธรรมกายก็มิเคยโต้แย้งให้เป็นที่ปรากฏใน คณะสงฆ์ และสาธารณชนพอที่จะเป็นเหตุให้ลงโทษสถานหนักได้
แต่ถ้าไปศึกษาความเห็นของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ท่านได้บันทึกความเห็นว่า “กรณีวัดพระธรรมกาย เจ้าคณะภาค ๑ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ชอบแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่พอใจในการดำเนินในส่วนนี้ก็ดี หรือในส่วนอื่นก็ดีจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษโจทผู้กระทำผิดตามวิธีที่ท่าน กำหนดไว้ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจึงจะชอบด้วยวิธีการ”
เมื่อนำเหตุการณ์ทั้งสองมาพิจารณาจะเห็นนัยสำคัญคือ กรณีวัดพระธรรมกายจะจบลงง่ายๆนั้นอย่าหวัง หลังจากนั้นจึงได้มีการเอาข้อความ ๖ บรรทัด ที่อ่านในที่ประชุมมส.เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒ มาจัดการใส่หัว แล้วมีลายพระหัตถ์ ของสมเด็จพระสังฆราช สถานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 แล้วมีการเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่างๆอย่างรวดเร็ว เป็นการสร้างสถานการณ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การกระทำของพระธมฺมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้นต้องความผิดสถานหนัก ขณะเดียวกันสื่อต่างๆก็พยายามสัมภาษณ์พระภิกษุที่มีความคิดเห็นไปในทางที่จะ เอาผิดวัดพระธรรมกาย นักวิชาการ และบรรดาผู้ที่ต้องการแสดงตนว่าต้องการปกป้องพระพุทธศาสนา เหมือนเหตุการณ์ในปี ๒๕๕๘ นี้ไม่ผิด ต่อมาก็มีพระลิขิตออกมาอีกเป็นระลอก โดยเอาข้อความ ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2542 ขึ้นต้น แล้วมีข้อความเพิ่ม สาระสำคัญคือ ชี้นำว่า การไม่ยอมคืนสมบัติให้วัดต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากการเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ มีลายพระหัตถ์และ สถานที่ วันที่ 26 เมษายน 2542 ให้ไปดูรายละเอียดที่ผมได้เสนอไว้เป็นพระลิขิตฉบับที่ ๓ ในลิขิตฉบับนี้เป็นการระบุเจตนาต้องการสึกพระธมฺมชโยอย่างชัดแจ้ง แต่ถ้าสังเกตในการใช้ภาษาไทยนั้น คำว่าอัตโนมัติ ไม่เคยมีการนำคำนี้มาใช้ในวงการคณะสงฆ์ เมื่อมีการออกพระลิขิตมาในลักษณะดังกล่าว เป็นที่สบอารมณ์ของสื่อมวลชนและผู้ที่ประสงค์จะล้มวัดพระธรรมกายยิ่งนัก หลังจากนั้นก็มีการพระลิขิตออกมาอีก คือฉบับที่มีหัวแต่ไม่มีลายพระหัตถ์ มีข้อความเกี่ยวกับการโกงสมบัติผู้อื่น ตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากการเป็นพระโดยอัตโนมัติ และยังตามมาอีก คือฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 เป็นข้อความที่กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชนั้นสมบูรณ์ตามอำนาจ แล้ว ลิขิตทั้งสองฉบับนี้ นายอำนาจ บัวศิริ ได้กล่าวไว้ว่า มีการส่งโดยโรเนียว แล้วฝากคนขับรถมาไว้ที่กรมการศาสนา พออีกวันจึงมีหนังสือนำจากเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชมาให้ มีหลายคนที่เป็นลูกศิษย์สมเด็จพระสังฆราชบอกทำไมเราไม่ตรวจสอบ เราไม่ตรวจสอบ เพราะมีหัวมีตราเรารับไว้หมด วันแรกเราไม่รับ ผมไม่ได้บอกว่าปลอมหรือไม่ปลอม กรมทำงานบนระเบียบที่เราทำ อธิบดีชี้แจงหลายครั้งแล้ว
เหตุการณ์ในช่วงนั้น ค่อนข้างดุเดือดเผ็ดมัน บรรดาพวกฮาร์ดคอพยายามใช้สื่อทุกประเภท ให้มหาเถรสมาคมจัดการปลดพระธมฺมชโยจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และที่สำคัญคือจับพระธมฺมชโยสึกจากพระ อ้างว่าสมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาแล้ว ถ้ามหาเถรสมาคมไม่ทำตามพระบัญชาถือว่าเป็นการขัดพระบัญชา ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยเร็ว พูดกันชัดๆก็คือต้องการล้มมส.โดยอ้างว่าขัดพระบัญชา สถานะภาพของมหาเถรสมาคมตกต่ำมาก
ทีนี้มาดูทางวัดพระธรรมกายบ้าง ปรากฏว่าไม่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับพระลิขิตที่ออกมาแต่อย่างใด คงใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว หากทางวัดพระธรรมกายโต้ตอบ หรือให้ข่าวในทำนองว่าเป็นพระลิขิตปลอม ก็จะเกิดสถานะการณ์เช่นเดียวกับกรณีพระยันตระ ที่ครั้งนั้นได้มีพระลิขิตออกมาว่าท่านปาราชิก พอผู้สื่อข่าวถามท่านก็ออกมาให้ข่าวในทำนองว่าเป็นพระลิขิตปลอม เท่านั้นแหละจะเอาเรื่องหมิ่นพระสังฆราช สุดท้ายจึงต้องตัดสินใจหลบหนีไปลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน ทางวัดพระธรรมกายคงได้ศึกษากรณีดังกล่าวแล้วจึงนิ่งเงียบ ปล่อยให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นที่ครื้นเครง หนังสือพิมพ์มีข่าววัดพระธรรมกายเสนอได้ทุกวัน ทั้งโทรทัศน์และวิทยุเสนอข่าวได้อย่างเมามัน ทางวัดพระธรรมกายก็ยังไม่มีการฟ้องคดีกับสื่อข้อหาหมิ่นประมาท
เรื่องราวเกี่ยวกับพระลิขิตพระสังฆราชมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระลิขิต จริงหรือปลอม ได้มีการผลักดันให้มหาเถรสมาคมชี้แจงให้พุทธศาสนิกชนทราบความจริง และต้องการให้มหาเถรสมาคมตัดสินให้เด็ดขาดว่าถ้าเป็นพระลิขิตจริงมหาเถรสมา คมไม่ปฎิบัติตามคือจับพระธมฺมชโยสึก คณะกรรมการเถรสมาคมก็จะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก แล้วในทางกลับกันถ้ามหาเถรสมาคมมีมติว่าเป็นพระลิขิตปลอมผลที่ตามมาก็จะ กระทบถึงสถานะของสมเด็จพระสังฆราชโดยตรง พวกที่ต้องการทำลายองค์กรมหาเถรสมาคมและความแตกแยกของคณะสงฆ์คือฝ่ายมหา นิกาย กับฝ่ายธรรมยุตนิกาย ก็จะชอบใจ พระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็จะเสื่อมความศรัทธาในที่สุด
ต่อมานายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา เลขาธิการมหาเถรสมาคมจึงได้นำเอา ลิขิตที่อ้างว่าเป็นลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชรวม ๕ ฉบับ คือฉบับที่ ๒ , ๓ , ๔ , ๕ และ๖ ลงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ที่ผมได้เสนอไปแล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคม โดยกำหนดไว้ในการประชุมมหาเถรสมาคม ในวันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐น. ก่อนที่จะถึงวันประชุม ทั้งพระภิกษุ ฆราวาส ตลอดพวกกลุ่มที่เคลื่อนไหวแสดงความรักและปกป้องพระพุทธศาสนา ต่างโหมประโคมข่าว เกี่ยวกับพระลิขิตว่าจริงหรือปลอม ทางมหาเถรสมาคมจะมีมติอย่างไร ขณะเดียวกัน ม.ล. จิตติ นพวงษ์ ช่วยงานสมเด็จพระสังฆราช ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่สมเด็จพระสังฆราชไม่เข้าร่วมประชุม มส. เนื่องจากทรงเห็นว่าได้ทรงทำหน้าที่ประมุขสูงสุดอย่างดีที่สุดแล้ว และรับสั่งว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจมหาเถรสมาคมที่จะตัดสินได้ตามความเหมาะสม หากพระองค์มาประชุมจะทำให้มติ มส. ไม่สมบูรณ์
ในการประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เรื่องพระดำริสมเด็จพระสังฆราช ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้วมีมติที่ ๑๙๗/๒๕๔๒ เรื่องพระดำริสมเด็จพระสังฆราช โดยมหาเถรสมาคมมีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด แต่ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
หลังการประชุม เวลา ๑๗.๑๕ น. นายพิภพ กาญจนะ ในฐานะเลขาธิการเถรสมาคม ได้แถลงผลการประชุมมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับเรื่องดำริสมเด็จพระสังฆราช ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวและประชาชนที่รอฟังผลไม่พอใจมติมหาเถรสมาคม หาว่ากำกวมไม่มีการชี้ชัดว่าพระธมฺมชโยควรจะอยู่หรือไป
หลังจากวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ไม่มีพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชออกมาอีกเลย เพราะมีการบุกตรวจค้นห้องกระจกที่เกี่ยวข้องกับการออกพระลิขิต ซึ่งพบพระลิขิตอีกเป็น ๑๐๐ กว่าฉบับ จะเล่าให้ฟังเมื่อมีโอกาส วันนี้ขอเพียงแค่นี้ ต่อไปจะวิเคราะห์ถึงกรณีของวัดพระธรรมกายให้ทราบและพิจารณาต่อไป นมัสเต ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘