ลิขิตพระสังฆราช โดยทนายพระ ตอนที่4

คุณทนาย  จั่วเรื่องลิขิตพระสังฆราชแต่ไม่เห็นพูดถึงพระลิขิตเลยมัวแต่เต้นฟุตเวอร์คอ ยู่ได้  ขณะนี้สังคมกำลังสับสนเอาพระลิขิตมาเล่นจนเละเป็นโจ๊ก
ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็ออกมาชนกับโฆษกมหาเถรอย่างจัง  หลวงพ่อโฆษก ( พระพรหมเมธี )ก็เลยโดนอาวุธลับของพวกมือที่มองไม่เห็นซัดเข้าให้  บ้างก็บอกว่าท่านคงได้อามิสจากวัดพระธรรมกาย  แต่ขอให้เชื่อผมก็แล้วกัน  ถึงอย่างไรมหาเถรสมาคมท่านก็มีหลักคิดของท่าน  คือถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก  ทางโลกจะตัดสินอย่างไรมันคนละส่วนเสมือนคนละโลก  คือทางโลกกับทางธรรม  ขอให้รู้ไว้นะครับ  ฐิทิพระ  มานะกษัตริย์ ยังใช้ได้และทันสมัยเสมอแหละครับ ไม่เชื่อไปถามท่านมหาวันชัย  สอนศิริ  จะได้คำตอบอย่างชัดเจนที่สุด
วันนี้ผมขอนำสืบให้รู้ว่ากรณีวัดพระธรรมกายนั้น  มหาเถรสมาคมท่านคิดอ่านแก้ไขกันอย่างไร  เมี่อแก้แล้วมันมีเรื่องอะไรตามมา   เพราะเหตุใดจึงมีพระลิขิตออกมา เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนั้นมันเป็นอย่างไร  หลายคนคงลืมไปแล้ว  แต่ผมจะทบทวนให้ฟังกันจะๆ
เอาเรื่องเหตุการณ์ทางโลกก่อนก็แล้วกัน  ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา มีสื่อที่เสนอข่าวกรณีวัดพระธรรมกาย  คือหนังสือพิมพ์  มีอยู่ ๒ ภาษาคือฉบับภาษาไทยกับฉบับภาษาอังกฤษ  เอาเฉพาะฉบับภาษาไทยแทบทุกฉบับเสนอข่าวรุมถล่มวัดพระธรรมกายแบบไม่มีดีก็ แล้วกัน  มีเพียงฉบับเดียวที่เสนอข่าวในทางสร้างสรรค์ทางวัดพระธรรมกายคือหนังสือ พิมพ์ไทย  ส่วนทีวีก็แนวเดียวกันเป็นไปตามกระแสสังคมยิ่ง ไอทีวี ยิ่งแล้วใหญ่  ถ้าคิดไม่ออกก็เหมือนเหตุการณ์ในปี ๒๕๕๘ นี้แหละ
ส่วนเหตุการณ์ทางธรรม นั้นนับ แต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ที่นายพิภพ กาญจนะ  เลขาธิการมหาเถรสมาคมในตอนนั้นได้ประมวลเรื่องกรณีวัดพระธรรมกาย  เสนอให้มหาเถรสมาคมพิจารณาแล้ว  ยังมีของกระทรวงศึกษาธิการ  และคณะกรรมาธิการ  การศาสนา   ศิลปะและวัฒนธรรม  สภาผู้แทนราษฎร เสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๒  เรื่องทั้งหมดนี้  มหาเถรสมาคมมีมติให้ พระพรหมโมลี  เจ้าคณะภาค ๑ เป็นผู้พิจารณาแล้วรายงานเสนอมหาเถรสมาคมผ่าน  สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง  ( วัดชนะสงคราม )
การพิจารณากรณีของวัดพระธรรมกาย  คณะปกครองสูงสุดหรือมหาเถรสมาคม  พิจารณากันอย่างไร
พระพรหมโมลี  เจ้าคณะภาค ๑ ได้พิจารณาเรื่องของวัดพระธรรมกายทั้งหมดแล้วจึงได้ทำรายงานเสนอต่อ  สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง  ( วัดชนะสงคราม ) หนังสือที่ ๑๗/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๒ เมื่อทราบแล้วท่านได้แจ้ง  อธิบดีกรมศาสนา    ให้นำเสนอต่อมหาเถรสมาคมรับทราบต่อไป
เมื่อเลขาธิการมหาเถรสมาคมได้รับรายละเอียดที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ( วัดชนะสงคราม )แจ้งให้นำเข้าที่ประชุม มหาเถรสมาคมแล้ว นายพิภพ กาญจนะ ได้รีบนำเข้าที่ประชุม มหาเถรสมาคมโดยมิชักช้าคือการประชุม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๒  ในที่ประชุมได้พิจารณาและรับทราบการชี้แจงประกอบรายงานโดยละเอียด  โดยพระพรหมโมลีท่านเป็นผู้ชี้แจง  แล้วมส.จึงมีมติที่ ๑๐๑/๒๕๔๒ เรื่องรายงานการพิจารณาดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกาย  จังหวัดปทุมธานี ว่า
“ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  เพื่อความรอบคอบ ให้กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปนำรายงานการพิจารณาดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกาย ของเจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณารวมกับเอกสารข้อมูลของคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีวัดพระธรรมกาย ของกระทรวงศึกษาธิการ และข้อมูลสรุปประเด็นกรณีวัดพระธรรมกายของคณะกรรมาธิการศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม  สภาผู้แทนราษฎร  ว่าการสรุปของเจ้าคณะภาค ๑ เป็นการเพียงพอหรือไม่ถ้าไม่เพียงพอ จะเพิ่มเติมอะไรบ้าง หรือมีความเห็นอย่างไร ก็ให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเสนอมหาเถรสมาคม
เมื่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีมติออกมาชัดเจนเช่นนี้ กรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปต่างก็ได้บันทึกความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรมีข้อ ปลีกย่อยแตกต่างกันไปได้  แต่โดยสรุปแล้วก็เห็นชอบตามที่พระพรหมโมลีเจ้าคณะภาค ๑ ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังเช่น  :-
            สมเด็จพระพุฒาจารย์  วัดสระเกศ ได้บันทึกความเห็นสั้นๆว่า “เห็นชอบตามที่พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ได้นำเสนอแล้ว  แต่เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เห็นควรมอบหมายให้ท่านควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดในฐานะเจ้าคณะปกครอง”
            สมเด็จพระมหาธีราจารย์  วัดชนะสงคราม  ได้บันทึกความเห็นว่า “กรณีวัดพระธรรมกาย เจ้าคณะภาค ๑ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ชอบแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่พอใจในการดำเนินในส่วนนี้ก็ดี หรือในส่วนอื่นก็ดีจะต้องฟ้องร้องกล่าวโทษโจทผู้กระทำผิดตามวิธีที่ท่าน กำหนดไว้ โดยหลักเกณฑ์และวิธีการจึงจะชอบด้วยวิธีการ”
พระสุเมธาธิบดี  วัดมหาธาตุ  ได้บันทึกความเห็นโดยสรุปว่า “เรื่องวัดพระธรรมกายนี้ ไม่มีโจทก์กล่าวฟ้องโดยตรง เพียงแต่สื่อต่าง ๆ นำข้อเสนอสังเกตุของคณะกรรมมาธิการศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม  สภาผู้แทนราษฎรบ้าง  จากกรมการศาสนาบ้าง  มาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความปราถนาดีมิได้กล่าวโทษเป็นโจทก์ฟ้องวัดพระธรรมกาย แต่ประการใด
เมื่อว่าโดยรัฐประศาสนศาสตร์ พระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับฟังเสียงท้วงติงและทรงรับสั่งประชุมสงฆ์ พิจารณาชี้แจงจัดพุทธบัญญัติตามควรแก่กรณีนั้น ๆ แต่ก็ควรให้เป็นไปตามความชอบตามกระบวนการยุติธรรมของคณะสงฆ์ที่ มส. พิจารณาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว”
พระอุดมญาณโมลี  วัดสัมพันธวงศ์  ได้บันทึกความเห็นเป็นเชิงเทศนาโวหารแล้วสรุปลงว่า “เท่าที่สื่อสารมวลชนได้ลงข่าวแสดงความเห็นไปในทัศนะต่าง ๆ นั้น แม้จะความหวังดี แต่อย่าประมาท ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ควรระมัดระวังอันตรายที่ออกจากปาก เพราะข่าวคราวที่ออกจากปากคนแล้วสามารถขยายเป็นภัยใหญ่หลวง  จนไม่สามารถป้องกันแก้ไขได้  อดีตกาลเป็นครูสอนพวกเราอยู่แล้ว ควรสำเหนียกสำนึกระมัดระวังอย่าประมาทเป็นอันขาดต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีประจำทุกวัน”
พระพรหมจริยาจารย์   วัดเบญจมบพิตร  ได้บันทึกความเห็นว่า “เจ้าคณะภาค ๑ ได้พยายามประคับประคองให้เรื่องนี้ผ่อนคลายความร้อนลงมาอย่างสุดความสามารถ แล้ว  เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รุนแรงไปก็อาจทำให้แตกร้าวกันไปจนต่อไม่ติด  สังเกตดูทางวัดพระธรรมกายก็โอนอ่อนยินดีปฏิบัติตามมิได้ดื้อรั้นด้วยทิฐิ มานะอะไร ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น  :-
๑.     นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา  มหาเถรสมาคมควรยกมาถกกัน  ถ้าเห็นต่างกัน  ฝ่ายใดมากกว่าก็ถือเอาตามนั้น  เพื่อตัดปัญหาที่ค้างคาใจของพุทธศาสนิกชนมาเป็นเวลานาน
๒.     กรรมสิทธิ์ที่ดินของวัดพระธรรมกาย  ถ้าจะมีปัญหาอยู่บ้างก็เฉพาะที่มีโฉนดเป็นชื่อของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เท่านั้น  ควรให้เป็นหน้าที่ของพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชา  จะได้สำรวจตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเงินที่ซื้อที่ดินนั้นเป็นของวัดหรือใคร บริจาค
๓.     เรื่องการอวดอุตริมนุสสธรรม  เป็นของยากเพราะพระผู้พูดตามที่เห็นจริง  แต่เรื่องที่เห็นจะจริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  แต่ฟังๆดูแล้วคลล้ายๆกับเรียนแบบมาจากจตุตถปาราชิก
๔.     เรื่องมาตุคาม  อ่านดูแล้วก็ยังเลื่อนลอยหาคนโจทตามพระวินัยไม่ได้
๕.     แสดงตัวเป็นต้นธาตุต้นธรรม  ใช้คำว่าพระบรมพุทธเจ้าด้วยวาจาของตนเอง  คิดว่าคงจะมความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
              พระธรรมวโรดม  วัดเบญจมบพิตร  ท่านได้บันทึกว่า  พิจารณาแล้วสมควรแยกเป็น ๒ ทาง  คือ
๑. ในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของราชอาณาจักร เช่น เรื่องการถือครองที่ดินของเจ้าอาวาสพระธรรมกายทุกประการ
๒.ในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพุทธจักร
๒.๑ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด  เช่น เรื่องการอวดอุตริมนุสสธรรม  เรื่องสตรี ๖ คน  เรื่องต้นธาตุต้นธรรม  เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์  รื่องศาสนพิธีพิสดารเกี่ยวกับการถวายข้าวพระพุทธ  ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด  ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาลงนิคคหกรรม  ตามกฎมหาเถรสมาคม
๒.๒ ที่อยู่ในอำนาจ หน้าที่ของพระสังฆาธิการผู้บังคับบัญชาระดับสูง  เช่น เรื่องธรรมกายและนิพพานเป็นอัตตา  เรื่องการประกาศรื้อพระไตรปิฎก  เรื่องกระบวนการทำให้บุญเป็นสินค้าคือการขายบุญ  เรื่องการสร้างพระธรรมกายเจดีย์ให้ใหญ่และอัศจรรย์ที่สุด  เรื่องการสร้างพระพุทธรูปและพระเจดีย์รูปแบบที่คิดนึกตามใจชอบ  และเรื่องการที่เป็นผู้ผูกขาดบุญ ฯลฯ
ดังนั้น  จึงสรุปความเห็นว่า  การดำเนินการกรณีของวัดพระธรรมกายของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ โดยแนะนำให้วัดพระธรรมกายบริหารงานทั้ง ๔ ประการ  ให้ถูกต้องโดยปฎิบัติตามกฎหมายเป็นต้นนั้น  ชอบแล้ว
                พระวิสุทธาธิบดี  วัดสุทัศนเทพวราราม  ได้สรุปการพิจารณาปฎิบัติการของวัดพระธรรมกายที่ควรดำเนินการ ๓ ประการคือ
๑.     เรื่องใดที่ทางวัดพระธรรมกายดำเนินถูกต้องแล้วให้ดำเนินการต่อไป
๒.     เรื่องใดที่เป็นกระแสต่อต้านจากสังคม  หรือทำให้สังคมเดือดร้อนซึ่งอาจจะเป็นกระแสต่อต้านจากสังคม  หรือทำให้สังคมเดือดร้อน  ซึ่งอาจจะเป็นจุดอ่อน  ให้ดำเนินแก้ไขปรับเปลี่ยน
๓.     เรื่องใดที่ผิดแผกไปจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า  จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องทั้งหมด  เพื่อให้เกิดทิฐิสามัญญตา  และสีลสามัญญตา
ความเห็นของกรรมการเถรสมาคมแต่ละรูปนั้น  กรมการศาสนาได้ประมวลบันทึกความเห็น  และได้ลำดับเรื่องของวัดพระธรรมกายว่า  ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วรวม ๔ ครั้ง คือ
ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑  เลขาธิการ มส. นำเรื่องของวัดพระธรรมกายให้มส. พิจารณาเมื่อ พิจารณาแล้วมีมติมอบหมายให้เจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณา
ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ทางกระทรวงศึกษาส่งเรื่องวัดพระธรรมกายให้ มส. พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วมีมติมอบหมายให้เจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณา
ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๒ ทางคณะกรรมาธิการ การศาสนา  ศิลปะและวัฒนธรรม  สภาผู้แทนราษฎร  ได้สรุปประเด็นที่สำคัญกรณีวัดพระธรรมกายที่ประชุมกัน ๖ ครั้ง  ทูลถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช  ทรงพิจารณา  พระองค์ส่งเรื่องให้ มส. พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วมีมติมอบหมายให้เจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณารวมเป็นสำนวนเดียวกัน
ครั้งที่ ๔  เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๒ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง  นำรายงานของ เจ้าคณะภาค ๑  ที่ มส. มีมติให้ท่านเป็นผู้พิจารณานำเข้าที่ประชุม มส. เมื่อพิจารณาแล้ว มีมติว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ให้มส. แต่ละรูปไปศึกษาแล้วทำบันทึกความเห็นเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาต่อไป
ในครั้งต่อไปเลขาธิการมหาเถรสมาคมจะนำเรื่องราวทั้งหมด  เสนอในการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคมเรื่องกรณีวัดพระธรรมกาย ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๒  ซึ่งในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น  ลิขิตพระสังฆราช  เป็นมหากาพย์ศึกวัดพระธรรมกายที่ลือลั่นในขณะนี้  ขอจบก่อนนะครับ  สนใจก็ติดตามต่อไป  นมัสเต ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘