ลิขิตพระสังฆราช โดยทนายพระ ตอนที่3

ผมได้รับคำถามจากหลายท่าน เช่น พี่ทนายคราวนี้จะรอดใหมนี่ แสดงว่าเป็นเจ้าเก่าสมัยเมื่อ ๑๖ ปีที่แล้ว คุณตา ทำไมเขาออกมาด่าพระ คุณ ลุง วัดธรรมกายเขาผิดอะไรนักหนายิ่งกว่าผู้ร้ายเสียอีก ลุงครับ วัดธรรมกายที่ใหญ่โตขึ้นมาเพราะไปโกงเขามาหรือ สารพัดคำถาม คุณทนาย พวกเขาไม่กลัวบาปกรรมกันหรือ คำถามล่าสุด พี่ทนายพระ เราจะช่วยพระได้อย่างไร สรุปแล้วคนที่ถามผมมานั้นต่างรู้สึกเป็นห่วงพระ ห่วงวัด
ผมขอตอบรวมๆก็แล้วกันว่า ถ้าเป็นห่วงต่างๆนาๆขอให้คิดถึงพระพุทธศาสนาไว้เป็นหลัก จะคิดอ่านทำอะไรก็ขอให้มีสติอย่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ความสุขและความทุกข์นั้นมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ถ้าเข้าถึงพระนิพพานนั่นแหละทุกอย่างถึงจะจบ เอาละทนายจะเล่าถึงความเป็นมาของเรื่องที่เกิดในวันนี้ให้ฟัง อย่าเพิ่งรำคาญคนแก่ มักชอบพูดถึงอดีต คนยุคนี้เขาใจร้อนอยากรู้ว่าเรื่องมันจะจบยังไง แต่ถ้าไปถามพระท่านก็จะได้คำตอบใกล้เคียงกับผมนี่แหละ ใจเย็นๆนะโยมนะ ถ้าใจมันร้อนรุ่มก็อย่าไปฟังเขาพูด เราก็ปฎิบัติตนเป็นปกติ เมื่อมีเหตุก็ต้องแก้ให้ตรงจุด อย่าไปพูดสบประมาทเขา ใครทำกรรมใดไว้สุดท้ายก็ต้องรับกรรมเองนั่นแหละ เอาละเริ่มนำสืบเลยนะ ผมเป็นทนายนะครับ
กำเนิดวัดพระธรรมกาย
คุณหญิงประหยัด แพทยวงศาวิสุทธาบดี ท่าน เป็นคนกรุงเทพใจบุญและมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ท่านมีที่นาจำนวน ๑๙๖ ไร่ อยู่ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ดินผืนนี้ท่านให้เช่าทำนา ท่านปฎิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านต้องการให้ที่ดินของท่านเป็นสมบัติของพุทธศาสนา จึงได้บริจาคที่ดินดังกล่าวเพื่อให้สร้างวัด เมื่อเป็นวัดแล้วที่ดินก็จะเป็นธรณีสงฆ์เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป
เมื่อต้นปี ๒๕๑๓ แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้สอนการปฎิบัติธรรมที่บ้านธรรมประสิทธิ์ภายในวัดปากน้ำ ตามแนวทางที่หลวงพ่อสดสอนไว้ คือวิชชาธรรมกาย ท่านได้พาศานุศิษย์ที่มาปฎิบัติธรรมกับท่านที่วัดปากน้ำ ไปบุกเบิกที่ดินแปลงดังกล่าว โดยเริ่มจากการสร้างที่พักและสถานที่ปฎิบัติธรรมเป็นการชั่วคราว โดยตั้งชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฎิบัติธรรม ต่อมาจึงขอสร้างวัด เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงเริ่มสร้างถาวรวัตถุ ที่พักสงฆ์หรือกุฎิพระ ศาลาปฎิบัติธรรม แล้วจึงขอตั้งวัดและได้รับอนุญาตเป็นวัดสังกัดฝ่ายมหานิกายชื่อ วัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ต่อมาวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๓ ทางวัดได้ดำเนินการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต
เมื่อนับจากการเริ่มสร้างวัดเมื่อต้นปี ๒๕๑๓ เป็นวัดพระธรรมกายโดยสมบูรณ์มีพระอุโบสถเพื่อการพระศาสนา ได้ตามกฎมหาเถรสมาคมภายในระยะเวลา ๑๐ ปี
แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง เป็นหญิงชาวบ้าน ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกแต่ท่านเป็นบุคคลพิเศษที่ปฎิบัติธรรมตามแนวทางวิชชา ธรรมกาย รู้แจ้งเห็นจริง สามารถถ่ายทอดความรู้ทางธรรมได้อย่างลึกซึ้ง ได้รับความชื่นชมจากหลวงพ่อสดว่า “ ลูกจันทร์นี้เป็นหนึ่งไม่มีสอง “ ศิษย์ของ ท่านที่ร่วมบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุ มีพระธมฺมชโย ( ไชยบูลย์ เกิดผล ) เป็นเจ้าอาวาส มีพระทตฺตชีโว ( เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ) เป็นรองเจ้าอาวาส พระภิกษุทั้งสองรูปนี้นับถือแม่ชีจันทร์ เป็นอาจารย์ โดยเรียกท่านว่า คุณยายอาจารย์
แม่ชีจันทร์ นั้นท่านเสมือนรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า เมื่อศิษย์เอกของท่านทั้งสองได้ตั้งปณิธาณว่าจะขอบวชเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต ท่านรู้ว่าการที่พระต้องละสมณเพศไปนั้นเรื่องสีกาเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเกิดเรื่องที่มีสีกามาเกี่ยวข้องร้อยทั้งร้อยต้องสึกจากพระ ตัวอย่างมีให้เห็นหลายราย ดังนั้นท่านจึงวางมาตรการป้องกันศิษย์เอกของท่านมิให้ตกอยู่ในวังวนดังกล่าว โดยเป็นผู้กำหนดกติกาในการอยู่ในวัดอย่างเคร่งครัด แยกเขตฆราวาสกับเขตสังฆาวาสชัดเจน เขตสงฆ์นั้นห้ามสีกาเข้าไปโดยเด็ดขาดแม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่มีข้อยกเว้น วัดต้องมีระเบียบเกี่ยวกับการพบปะของฆราวาสกับพระแม้จะเป็นโยมพ่อหรือโยมแม่ ก็ต้องพบกันในที่ระโหฐานตามที่กำหนดไว้ไม่อยู่ลับตาคน และข้อสำคัญคือทำวัดให้สะอาด มุ่งให้มีการปฎิบัติธรรมและเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมด้วย สำหรับการปฎิบัติธรรมนั้นวัดพระธรรมกายใช้วิชชาธรรมกายตามแนวของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มาโดยตลอด
จากการบริหารและจัดการที่ดีทำให้มีผู้ศรัทธาและเข้าวัดปฎิบัติธรรมเป็นจำนวน มาก การมีคนเข้าวัดมากมีผู้บริจาคปัจจัยมาก มีทั้งผู้ที่นิยมและผู้ที่อิจฉาริษยาเป็นธรรมดา บางครั้งเรื่องเล็กน้อยก็โหมประโคมข่าวเป็นเรื่องราวใหญ่โต บางกลุ่มมุ่งทำลายพระพุทธศาสนาเพราะเกรงว่าศาสนาพุทธจะเข้าไปมีบทบาทใน ประเทศทางยุโรปในอนาคต ในขณะเดียวกันคณะสงฆ์ก็แยกเป็น ๒ นิกาย แม้จะมีพระสังฆราชองค์เดียวกันแต่ลึกๆก็แปลกแยกในความคิดและเรื่องสมณศักดิ์ บางครั้งพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านคณะสงฆ์นั้นตกเป็นเครื่องมือของพวกที่ ต้องการทำลายความสามัคคีและทำลายศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยไม่รู้ตัว
เหตุเกิดที่วัดพระธรรมกาย
วัดพระธรรมกายมีเจ้าอาวาสคือพระธมฺมชโย ท่านสำเร็จการศึกษาในทางโลกได้ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์สหกรณ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่วนรองเจ้าอาวาสพระทตฺตชีโว จบปริญญาตรี สัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งสองท่านมีภูมิรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม ท่านประกาศเป็นสัจจวาจาให้สาธุชนรับรู้ว่าท่านตั้งใจบวชเป็นพระภิกษุตลอด ชีวิต ประกอบกับมีการบริหารจัดการวัดอย่างเป็นระบบ ทำให้ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดีได้รับข้อมูลที่แปลกแยกจากวัดทั่วๆไป จึงลองเข้าวัดและปฎิบัติธรรมโดยการนั่งสมาธิ การสอนให้นั่งสมาธิโดยวิธีง่ายๆ ผลคือทำให้จิตใจสงบเกิดสติปัญญา ประกอบกับมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี เมื่อมาวัดแล้วสามารถนำวิธีนั่งสมาธิปฎิบัติอยู่ที่บ้านหรือเวลาว่างในที่ทำ งานได้ ถูกจริตกับคนเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลาและต้องเสียเวลากับการเดินทาง
นอกจากนี้วัดพระธรรมกายยังได้สนับสนุนให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมที่ ยิ่งใหญ่ที่สุด สอบเปรียญธรรมชั้นสูงในแต่ละปีได้จำนวนมากที่สุด จึงกลายเป็นจุดเด่น ทำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์บางท่านเฝ้าเพ่งเล็งหาจุดอ่อนบางอย่างมาโจมตี เมื่อหนังสือพิมพ์มีการเสนอข่าวในทางตำหนิติเตียนก็ขยายความไปเรื่อยๆ จากเรื่องไม่เป็นเรื่องให้กลายเป็นเรื่อง คือ รูปทรงอุโบสถ พระพุทธรูปที่มีพุทธศิลปะแปลกออกไป คำสอนเรื่องนิพพานเป็นอัตตา การก่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โต ระบบการเรี่ยไร การสร้างวัตถุมงคล สีกาคนสนิท การเงิน ที่ดินเป็นจำนวนมาก และที่เป็นเรื่องราวจนต้องมีลิขิตพระสังฆราชให้คืนที่ดินให้วัด การโกงสมบัติของผู้อื่น มีโทษถึงสั่งประหารชีวิตคือต้องสละสมณเพศ
มหาเถรสมาคมกรณีวัดธรรมกาย
เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ ต่อมานายพิภพ กาญจนะ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมได้ประมวลเรื่องราวของวัดพระธรรมกายเสนอต่อที่ ประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๓๒ / ๒๕๔๑เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ขอหารือในประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง คือ ๑.) การก่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โต ๒.) การประชาสัมพันธ์กิจการของวัดอย่างกว้างขวาง ๓.) การกล่าวอวดอ้างถึงอภินิหารของหลวงพ่อสด ๔.) การรวบรวมเงินบริจาคจำนวนมาก
เมื่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้รับการหารือแล้ว จึงมีมติที่ ๔๒๗/๒๕๔๑ เรื่องวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี มอบให้ เจ้าคณะภาค ๑ คือ พระพรหมโมลี ( วิลาศ ญาณวโร ) วัดยานนาวา ไปพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมโดยผ่านเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ( สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม )
หลังจากได้รับมอบหมายจากที่ประชุมมหาเถรสมาคมแล้ว พระพรหมโมลีได้เดินทางไปที่วัดพระธรรมกายโดยมิได้มีการนัดหมายหรือแจ้งให้ ทางวัดทราบ ท่านต้องการทราบความจริงและดูให้เห็นด้วยตาว่าเป็นไปตาม เขาโจษจันกันจริงหรือ เมื่อได้ไปดูสถานที่จริง สอบถามรายละเอียดและได้เห็นเอกสารแล้ว เห็นว่าเรื่องของวัดพระธรรมกายตามที่เคยได้ยินได้ฟังมามีลักษณะเกือบจะตรง ข้ามกันชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าวัดพระธรรมกายยอมปรับทิฎฐิบางอย่างทั้งในส่วนของปริยัติและปฎิบัติ ตลอดจนถึงบทบาทบางอย่างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เชื่อว่าเรื่องคงจะยุติอย่างแน่นอน
ในระหว่างที่พระพรหมโมลีกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงและประมวลเรื่องราวที่ เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เพื่อหาข้อยุติอยู่นั้น ก็มีเรื่องจากคณะกรรมการกระทรวงศึกษาธิการ ที่นายอาคม เอ่งฉ้วน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้ง เสนอเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๘/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ มีมติที่ ๘๑/๒๕๔๒ ส่งให้เจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณารวมกัน และนอกจากนี้ยังมีกรณีวัดพระธรรมกาย ของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอผ่านสมเด็จพระสังฆราชพระองค์มีพระบัญชาให้กรมการศาสนานำข้อสรุป ประเด็นที่สำคัญเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๙/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๒ เมื่อที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติ ส่งให้เจ้าคณะภาค ๑ ไปพิจารณารวมกับเอกสารอื่นๆที่มีอยู่แล้ว
หลังจากนั้นพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค ๑ ได้นำข้อมูลต่างๆตามที่เลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้เสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พิจารณา ในการประชุมครั้งที่ ๓๒/๒๕๔๑ และข้อมูลตามที่มหาเถรสมาคมได้มอบให้ในการประชุมครั้งที่ ๘/๒๕๔๒ และครั้งที่ ๙/๒๕๔๒ โดยท่านได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการ ๔ ประการ
ประการที่ ๑ เกี่ยวกับปัญหาเรื่องการก่อสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โต และปัญหาการระดมเงินบริจาคมากมายเป็นต้น วัดก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงให้ผู้ที่สงสัยเกิดความเข้าใจในสภาพธรรมที่ลึก ซึ้ง คือวิชาอภิธรรม เมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว ก็จะสามารถตอบปัญหาเหล่านี้ได้ทันทีตั้งแต่เริ่มต้นว่า การสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตก็ดี การบริจาคก็ดีเกิดขึ้นจากจิตดวงไหน อะไรบันดาลให้จิตดวงนั้นเกิดขึ้น จิตดวงนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นบุญหรือบาป บุญบาปอยู่ที่ไหน รู้ตลอดสายไปจนถึงว่าวิบากหรือผลของบุญบาปเป็นอย่างไร อิทธิปาฎิหาริย์มีจริงหรือไม่ ซึ่งความรู้ในสภาพธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนเหล่านี้จะมีขึ้นได้ก็โดยการ ศึกษาวิชาอภิธรรมเท่านั้น
ประการที่ ๒ เกี่ยวกับปัญหาที่ว่า พระนิพพานเป็นอัตตา เป็นเพราะวัดธรรมกาย มีความรู้ความเข้าใจในด้านวิปัสสนาธุระหรือพระปฎิบัติธรรมยังไม่สมบูรณ์ เป็นแต่การเรียนการสอนเพียงแค่วิปัสสนายาณเบื้องต้น โดยอนุโลมเท่านั้น คราวใดเมื่อกล่าวอ้างถึงพระนิพพานอันเป็นวิปัสสนาญาณชั้นสูง จึงไม่ตรงกับพระนิพพานที่ปรากฎมีในพระคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นเหตุให้บัณฑิตชนผู้มีความรัก หวงแหนพระพุทธศาสนา เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดความหงุดหงิดอึดอัดใจ และยอมรับไม่ได้ ยิ่งเกิดมีปัญหาสำนวนใหม่ขึ้นมาคือปัญหาที่ว่า พระนิพพานเป็นอัตตา ก็ยิ่งก่อให้เกิดข้อกังขาสับสนและวุ่นวายกันไปใหญ่
ความจริง พระนิพพานเป็นธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา คนเราในในโลกมนุษย์ยุคเนยยบุคคลนี้ จะมีโอกาสบรรลุถึงพระนิพพานได้จะต้องปฎิบัติวิปัสสนากัมมัฎฐานที่ถูกต้อง จนเกิดภาวนามยปัญญา ต้องผ่านขั้นตอนผ่านการเข้าใจผิดมาตามลำดับชั้น จนถึงวิปัสสนาชั้นสูง ที่ชื่อมรรคญาณ จึงจะถึงพระนิพพานจริงแท้ถูกต้องตามคัมภีร์พระพุทธศาสนา สรุปได้ว่า วัดพระธรรมกายมีความรู้ความเข้าใจในด้านวิปัสสนาธุระยังไม่สมบูรณ์
ประการที่ ๓ เรื่องการประชาสัมพันธ์ เห็นว่าวัดพระธรรมกายมีกิจการเผยแพร่พระพุทธศาสนามากมายหลายด้าน เป็นที่จับตามองของสาธารณชนในวงกว้าง อาจจะมีโอกาสประพฤติผิดพลาดขึ้นได้จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม จึงดำเนินการ โดยแนะนำให้พยายามสำรวมระวัง และปฎิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันโลกวัชชะที่จะพึงบังเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี ทั้งที่จะพึงบังเกิดขึ้นจากวิสังวาทนเจตนาก็ตามที
ประการที่ ๔ เรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหลายฝ่าย อาจเกิดความประมาทพลาดผิดไปก็ได้ โดยแนะนำให้วัดพระธรรมกายบริหารงานให้ถูกต้องโดยปฎิบัติตามกฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตนโดยเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความเรียบร้อยดีงามของวัดและพระพุทธศาสนา
การที่มีการโจทกันต่างๆนาๆว่าวัดพระธรรมกาย เป็นวัดที่แปลกแยกไม่เหมือนวัดอื่น การปลูกสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โต เจดีย์ทรงพิสดาร สอนผิดจากพระไตรปิฎกเรื่องพระนิพพานเป็นอัตตา อิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสด การประชาสัมพันธ์ทางสื่อจนเกินไป การเรี่ยไรบอกบุญและรวบรวมเงินบริจาค และรื่องสีกาที่ใกล้ชิด อื่นๆ พระพรหมโมลีท่านได้ประมวลข้อมูลอย่างละเอียดแล้วสรุปนำเสนอ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดชนะสงคราม เพื่อเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมพิจารณาต่อไป
ที่ผมต้องเขียนเล่าเรื่องกรณีวัดพระธรรมกายที่มหาเถรสมาคมดำเนินการนั้น เพื่อเป็นข้อมูลให้สาธุชนได้ทราบถึงขั้นตอนของฝ่ายพุทธจักร ท่านมีวิธีจัดการปัญหากันอย่างไร ต่อจากนี้ทางมหาเถรสมาคมพิจารณาแล้วมีความเห็นและมติเป็นอย่างไร ทำไมจึงมีลิขิตพระสังฆราชออกมาเป็นระลอกๆเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ต่อ เนื่องเป็นปี ผมขอจบเพียงแค่นี้ก่อน ต่อไปจะเล่าถึงเบื้องลึกของพระลิขิตว่าจบกันอีท่าใหน อยากรู้ต้องคอยติดตามตอนต่อไปนะครับ นมัสเต

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘