ระทึก !! "ดีเอสไอ" ส่ง ปปช. ฟัน "มหาเถรสมาคม" ผิด ม.157 ปมปล่อยผ่าน "ธัมมชโย" ปาราชิก ??

ระทึก !! "ดีเอสไอ" ส่ง ปปช. ฟัน "มหาเถรสมาคม" ผิด ม.157 ปมปล่อยผ่าน "ธัมมชโย" ปาราชิก ??
http://www.tnews.co.th/html/contents/185358/
พิศาฬเมธ แช่มโสภา ป.ธ. ๙
--------------------------------
จากข่าวที่พาดพิงถึงมหาเถรสมาคม ที่มาให้อ่าน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ดังนี้
๑. ล่าสุดดีเอสไอสรุปส่ง ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามคำร้อง เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเลยไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ดำเนินการตามพระลิขิต
มีรายงานว่า ดีเอสไอยืนยันพระลิขิตเป็นพระวินิจฉัยที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะรับรองโดยมติมหาเถรสมาคม และมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย แต่กระบวนการดำเนินการไม่ถูกต้อง การพิจารณากลับไปกลับมา ใช้ประโยชน์จากคดีทางโลก ไม่ทำตามพระลิขิต ถอนฟ้องทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาทางสงฆ์ การไม่ทำหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ทำให้พระพุทธศาสนามัวหมอง และยังมีการเสนอเลื่อนสมณศักดิ์พระธัมมชโย ทั้งที่เรื่องอธิกรณ์ยังไม่พิจารณาให้กระจ่าง (http://www.tnews.co.th/html/contents/185358/)
๒. รายงานข่าวแจ้งว่า ดีเอสไอ ยืนยันพระลิขิตเป็นพระวินิจฉัยที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะรับรองโดยมติมหาเถรสมาคม และมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยคดีที่เกี่ยวพันกับ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อยู่ในขั้นตอนสอบสวนของดีเอสไอเป็นคดีพิเศษ 2 คดี คือ คดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่รอการชี้มูล และ คดีรับเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 878 ฉบับ ยอดเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ได้ออกหมายเรียกพระธัมมชโย มาให้ปากคำในฐานะผู้ต้องหา คดีฟอกเงินและรับของโจร และต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 8 เม.ย.นี้
(http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx…)
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ กดดูที่ลิงค์ที่แนบท้าย ก็จะทราบทั้งหมด
มีประเด็นที่จะต้องอธิบาย คือ
๑. ดีเอสไอยืนยันพระลิขิตเป็นพระวินิจฉัยที่ต้องปฏิบัติตาม
๒. เหตุที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะรับรองโดยมติมหาเถรสมาคม
กรณีเสนอรัฐบาล ผมไม่ทราบ
ส่วนประเด็นที่ มหาเถรสมาคม จะเข้าข่ายมาตรา ๑๕๗ หรือไม่นั้น ตอบว่า ไม่เข้าข่ายครับ เพราะมหาเถรสมาคมไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่เข้าข่ายมาตรานี้แน่นอน
พิจารณาแล้วเห็นว่า น่าจะเป็นการคาดเดาของทีมนักวิชาการทีนิวส์ จึงไม่ขอวิจารณ์ เพื่อให้น้องๆ เขาได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นบ้าง ถูกผิดไม่ว่ากัน
----------------------------------------
กรณีที่ ๑ ผมเคยเขียนไว้ใน เรื่อง “พระลิขิต พระวินิจฉัย พระดำริ : ภาคน่าจะจบซะที (ตอนที่ ๒)” ที่ผมได้แชร์เอามาให้อ่านกันแล้ว (ถ้าอ่าน)
กรณีที่ ๒ เคยเขียนไว้ใน “พระลิขิต พระวินิจฉัย พระดำริ : ภาคน่าจะจบซะที (ตอนที่ ๓)” ผมเข้าใจผิดว่า แชร์มาให้อ่านซ้ำกัน จึงลบออก ปรากฏว่า เป็นโพสต์ต้นฉบับ.. ดังนั้น โพสต์เดิมจึงหายไป จึงนำมาเสนอใหม่ และปรับปรุง เพื่ออธิบายกรณีที่ ๒ รวมกับกรณีที่ ๑ ว่า
“ดีเอสไอยืนยันพระลิขิตเป็นพระวินิจฉัยที่ต้องปฏิบัติตาม เพราะรับรองโดยมติมหาเถรสมาคม…”
ตรงนี้ เคยอ่านผ่าน ในคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีข้อสรุปแบบเดียวกัน จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า หน่วยงานทั้ง ๒ รู้เรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแค่ไหน จึงสรุปดื้อๆ แบบนั้น..
จึงไม่มั่นใจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับพระธรรมวินัย และเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งหมด ที่มีต่อๆ มา
ถ้าจะดูสำนวนเขียน ก็น่าจะเป็นคนที่ผมบอกว่า ไม่รู้เรื่องพระ แต่ชอบแสดงตนว่าเป็นผู้รู้นั่นแหละ..
ในโพสต์ “พระลิขิต พระวินิจฉัย พระดำริ : ภาคน่าจะจบซะที (ตอนที่ ๒)” ผมได้กล่าวยืนยันว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้ทรงกระทำสิ่งที่เจ้าคุณชั้นราชฯ เรียกว่า พระวินิจฉัย แน่นอน
ตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ กำหนดไว้ว่า
“สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม”
และสิ่งที่เรียกว่า พระลิขิต หรือพระวินิจฉัย ขัดกับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เพราะสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จึงเท่ากับ เป็นประธานศาลฎีกา
มหาเถรสมาคมมีอำนาจในการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา (กฎข้อ ๒๖) ดังนั้น ประธานศาลฎีกาจะไปวินิจฉัยเรื่องที่ยังไม่มาถึงมหาเถรสมาคมพิจารณาไม่ได้ เพราะขัดกับกฎข้อนี้
ยิ่งจะมาบอกว่า.. ทรงโจทก์ ทรงวินิจฉัย ยิ่งไปกันใหญ่..
ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคมไม่ได้พิจารณา อธิกรณ์เรื่องทรัพย์สินตามที่กล่าวหากัน แม้เมื่อศาลสงฆ์ชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว ไม่มีการอุทธรณ์ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาลฎีกาจึงพิจารณาไม่ได้
ถ้าจะหัวหมอ.. ให้ใช้กฎ ๒๑ ก็ขอให้ไปดูที่มาที่ไปก่อนว่า มีกรณีใดบ้างที่เข้าข่าย บางทีอาจย้อนเข้าตัวคนพูดก็ได้ (เรื่องนี้ จะขออธิบายเฉพาะภายหลัง)
การที่บางคน/บางหน่วยงาน อ่านมติมหาเถรสมาคม มติที่ ๑๙๓/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ว่า มหาเถรสมาคมมีมติยืนยันพระวินิจฉัย และว่ามหาเถรสมาคมเปลี่ยนคำว่า วินิจฉัย เป็น พระดำริ นั้น
มติมหาเถรสมาคมครั้งดังกล่าว มีดังนี้ :
“ที่ประชุมรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระสังฆราชประทานมาทั้งหมด
มหาเถรสมาคมสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม”
มติแบบนี้ หมายความว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเคยปรึกษาใครบ้างหรือเปล่าว่า หมายถึงอะไร ทำไมมหาเถรสมาคมจึงเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย เป็น พระดำริ .. สอบถามผู้รู้บ้างไหม มันไม่เสียหายหรอก แต่นี่เล่นเอามาบังคับพระ ใครจะโดนกันแน่.. (อีกครั้ง)
ดังนั้น ใครที่กล่าวว่า เพื่อปลดเปลื้องพระองค์จากอาบัติสังฆาทิเสสนั้น แสดงว่า คุณกล่าวหาสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสส จะเป็นการกล่าวแบบตั้งใจไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ หรือเป็นการกล่าวอ้างมั่วๆ คนที่เขารู้ เขามีครับ
ที่จะอธิบายก็คือ ข้อกล่าวอ้างที่บางคน/บางหน่วยงานระบุว่า มหาเถรสมาคมเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย ให้เป็น พระดำริ เพื่อช่วยให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายพ้นผิด ไม่ต้องอาบัติปาราชิก ตามมติมหาเถรสมาคม มติที่ ๑๙๓/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ที่ท่านอ้างกันว่า มหาเถรสมาคมมีมติยืนยันพระวินิจฉัยแล้ว พระวินิจฉัยจึงเป็นกฎหมายได้ และกล่าวหาว่า มหาเถรสมาคมเปลี่ยนคำว่า วินิจฉัย เป็น พระดำริ ในทำนองเชิงลบ นั้น
ผมจึงบอกว่า มติแบบนี้ หมายความว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเคยปรึกษาใครบ้างหรือเปล่าว่า หมายถึงอะไร ทำไมมหาเถรสมาคมจึงเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย เป็น พระดำริ
ขอย้อนกลับไป ณ เวลานั้น ว่า เมื่อมีการนำเสนอมหาเถรสมาคม ต้องถามต่อไปว่า มหาเถรสมาคมรู้ไหมว่า เรื่องดังกล่าวไม่จริง ตอบได้เลยว่า รู้ครับ แต่ถ้าจะให้ถอนเรื่องออกไป จะมีปัญหาตามมา หลายอย่าง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ขนาดผิดทั้งพระวินัยและกฎมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมยังมีมติว่า “ที่ประชุมรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระสังฆราชประทานมาทั้งหมด” ท่อนนี้ แสดงว่า มหาเถรสมาคมรับทราบแล้วทุกฉบับเท่านั้น
แต่ข้อความต่อไป จะเป็นตัวบอกว่าพระวินิจฉัยที่เจ้าคุณราชฯ ส่งให้กรมการศาสนาเสนอมหาเถรสมาคมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมติจะเป็นตัวกำกับต่อไปว่า
“มหาเถรสมาคมสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม”
ตรงนี้แหละครับ ที่กำกับว่า รับทราบ เฉพาะที่ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่รับทราบ
นี่คือการใช้คำที่เรียกว่า มือไม่ถึง จะไม่สามารถเข้าใจนัยยะที่มหาเถรสมาคมลงมติไว้
ทำไม มหาเถรสมาคมจึงต้องเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย เป็น พระดำริ ด้วยล่ะ
ตรงนี้ ต้องขออธิบาย ตามแนวทางที่ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ถึงมรณภาพไปแล้ว ท่านได้เคยพูดในที่ประชุม และผมจำได้ทุกประเด็นที่ท่านเคยพูดไว้ ท่านได้บอกไว้ครั้งเดียว แต่ผมจำได้แม่นว่า ถ้าเขาใช้คำผิดมา เราอย่าไปใช้ผิดตามเขา ต้องใช้คำที่ถูก เขาจะได้ทราบ
ผมจึงใช้ความรู้นี้มาวิเคราะห์มติมหาเถรสมาคมนี้ และเห็นว่า มหาเถรสมาคมเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย เป็น พระดำริ เป็นการใช้คำที่คมและเหมาะสมมาก เพราะคำว่า วินิจฉัย จะมีลักษณะการตัดสินอยู่ในตัว ตรงกับภาษาไทยว่า ตัดสิน
แต่มหาเถรสมาคมทราบว่า ถ้าใช้คำนี้ จะผิด ใครไม่รู้ความจริงก็จะกล่าวว่าว่า สมเด็จพระสังฆราชวินิจฉัยผิดกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ จะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติของพระองค์ท่าน ทั้งที่ไม่ได้ทรงทำ
เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ มหาเถรสมาคมจึงเปลี่ยนคำเป็น พระดำริ (ความคิด) แทน ทำให้ดูว่า เอกสารที่นำมาเสนอมหาเถรสมาคมนั้นไม่ใช่การตัดสิน เป็นเพียงความคิดเฉยๆ แต่เมื่อมีการนำมาเผยแพร่/อ้างอิงกัน เพื่อทำร้ายกัน ผมก็ไม่อาจห้ามได้
ตัวเจ้าปัญหา คือ “ห้องกระดก” และเจ้าคุณราชฯ ที่เคยถือหนังสือว่า สมเด็จพระญาณสังวรเสนอเจ้าคุณราชฯ เอง เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เพราะมีคำถามต่อไปว่า ใครลงนามในหนังสือนั้น (เน้นตรงนี้มาก)
แบบนี้ จะเรียกว่า ปลอมหรือไม่ก็คิดกันเอง สำหรับผู้ที่กอดสิ่งนี้ไว้แน่น ประดุจคัมภีร์วิเศษที่จะนำไปลงโทษใครก็ได้ ไม่ใช่งายๆ ครับ
แม้ใครจะอ้างว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้นำทั้งฝ่าย คามวาสี และอรัญญวาสี ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย (โดยทีมงานไม่ได้ใส่ ยติคณิสร และมหาคณิสร เพราะภูมิไม่ถึง) แต่หาใช่พระอำนาจไม่ เพราะพระนามจะบ่งถึง สถานะขององค์สมเด็จพระสังฆราช รูปนั้นเท่านั้น
ส่วนอำนาจที่แท้จริง ต้องดูใน พรบ.คณะสงฆ์ ซึ่งมีเพียง ๒ ข้อ คือ
มาตรา ๘ จะทรงทำได้ โดยมีเงื่อนไขกำกับไว้ คือ “โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” (ตรงนี้ขอย้ำเป็นพิเศษ เพราะผู้นำไปอ้าง มักจะไม่เอาเงื่อนไขนี้ไปประกอบด้วย)
ส่วนอำนาจมาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๕ คือ ทรงมีอำนาจแต่งตั้ง/ถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้ง เท่านั้น ข้อนี้ ก็มีจารีตกำกับอยู่ว่า จะตั้งฝ่ายละเท่าๆ กัน จะตั้งรูปใดก็เป็นไปตามข้อเสนอของผู้นำแต่ละฝ่าย ที่คณะสงฆ์จะทราบกันเอง
ไม่ใช่อยู่ดีๆ พระองค์จะมีพระบัญชาสั่งการ ด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีกฎหมายรองรับ.. ไม่ถูกครับ.. สมเด็จพระสังฆราชจะไม่ทรงทำแน่นอน
ขนาดกฎ ๒๑ ก็ต้องมีเงื่อนไขมากมาย มิใช่จะให้หยิบมาใช้ได้เลย..
จึงได้แต่บอกว่า คน/กลุ่มคน/หน่วยงานที่นำเอกสารมากล่าวโจมตีมหาเถรสมาคม จะทำด้วยความโง่เขลา ความอาฆาต ที่มุ่งจะทำลายมหาเถรสมาคมให้ย่อยยับ หรือด้วยเจตนาใดก็ตาม..
มันกลายเป็นการทำร้าย สมเด็จพระสังฆราช อย่างไม่น่าให้อภัย..
ดังนั้น พระลิขิตและพระวินิจฉัย ที่กล่าวถึง กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่เป็นคดีทางสงฆ์ จึงขัดกับกฎมหาเถรสมาคม จึงไม่มีผลเป็นกฎหมาย และมติมหาเถรสมาคมที่อธิบายมา ก็ไม่ได้รับรองว่าถูกต้อง ด้วยเหตุผลข้างต้น
คงมีข้อสรุปง่ายๆ ว่า ดีเอสไอก็คงมึนกับเรื่องนี้ จึงโยนไปให้ ป.ป.ช. เสียเลย ตามระเบียบราชการ..

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘