พระลิขิต พระวินิจฉัย พระดำริ : ภาคน่าจะจบซะที (ตอนที่ ๑)

ตามที่ ได้มีการออกข่าวทางสื่อต่างๆ เพื่อให้มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ต่อไปขอใช้คำว่า สำนักพุทธฯ แทน สั้นๆ ไม่เปลืองที่) ดำเนินการ กรณีของวัดพระธรรมกาย เพื่อให้เป็นไปตามพระลิขิต/พระวินิจฉัย (ตามแต่จะเรียก) คือ ให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นอาบัติปาราชิก และมีการโยงเรื่องไปถึงการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช นั้น
เหตุการณ์นี้ดูเหมือนว่ามันจะหนักขึ้นไปทุกที
ผมจึงต้องเอาเรื่องที่ควรทราบมาบอก เพื่อให้ได้รับรู้ความจริงกันตามลำดับ .. เพราะปัจจุบัน บอกได้เลยว่า.. มันมั่วไปหมด ไม่รู้ว่าหน้าที่ใคร อำนาจใคร ทำได้หรือไม่ได้..
แต่เสียดายที่ว่า ผมอยู่ห่างแหล่งอ้างอิงที่สำนักพุทธฯ จึงขอใช้ความรู้ตามที่เรียนมาและประสบการณ์ที่สนองงานมหาเถรสมาคมตามที่เคย บอก เป็นหลักในการเขียน.. นับเป็นความพลาดอย่างน่าเสียดายในการตัดสินใจของคนที่ดูถูกคนอย่างผม..
ผมมีแต่ปืน แต่ไม่มีกระสุน อย่างมากก็ใช้ขว้าง/ตีหัวคนแค่นั้น..
ก่อนอื่นต้องขอเรียนที่ผมเขียนอธิบายนี้ก่อนว่า
ผมไม่ต้องการเอางานที่เขียนนี้ เพื่อมาเป็นผลงานหรือข้อต่อรองในการขอเลื่อนระดับให้สูงขึ้น ในตำแหน่งที่เป็นอยู่ บอกตามตรงว่า “ผมไม่ต้องการเป็นผู้อำนวยการ ไม่ว่าระดับใดๆ ในหน่วยงานนี้ ” และผมได้ยื่นขอไปดำรงตำแหน่ง “นักวิชาการ (อะไรก็ได้ที่ทำได้) ระดับ ชำนาญการพิเศษ” ไปแล้ว (ระดับเดียวกัน แต่ค่าตอบแทนต่างกัน) และที่ทำไป สติสัมปชัญญะผมยังครบถ้วน ดังนั้น ผมจึงไม่ใช่คู่แข่งของใครในตำแหน่งผู้อำนวยการที่ใครๆ จะต้องออกมาโจมตีผมก่อนสอบทุกครั้ง อีกต่อไป ผมจะขอใช้เวลาเพื่อทุ่มเทให้งานพระศาสนาและคณะสงฆ์ในทางสร้างสรรค์ซะที และขอให้รับรู้ทั่วกันว่า
“ผมไม่ใช่คนสร้างปัญหาให้ใคร มีแต่คนมาสร้างปัญหาให้ผม.. ผมชอบสร้างสรรค์งานและทำวิกฤตให้เป็นโอกาส มากกว่าการทำโอกาสให้เป็นวิกฤติ”
ขอร้อง.. อย่าเอาผมเข้าไปเกี่ยวข้องทุกกรณี ผมยังเป็นปุถุชน และความอดทนของผมก็มีขอบเขตอยู่..
put the right man in the right job : พูดได้ แต่ไม่ทำกัน..
เท่านี้ พอแล้ว เข้าเรื่องเลยดีกว่า..
เพราะห่างไกลตำรา/แหล่งอ้างอิง.. ผมจึงขอใช้ว่า สมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์ น่าจะทุกพระองค์ จะมีสร้อยพระนามลงท้ายว่า “… สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” ต่อจากพระนาม เช่น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน จะใช้ว่าพระนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร.. แล้งลงท้ายว่า “สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” (ปริณายก ต้องเป็น ณ สะกด ไม่ใช่ น)
สมเด็จพระสังฆราช มาจากคำว่า สมเด็จ + พระ + สังฆ +ราช
สมเด็จ : น. (คำนาม) คํายกย่องหน้าชื่อฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดหรือแต่งตั้ง หมายความว่า ยิ่งใหญ่หรือประเสริฐ เช่น สมเด็จพระราชินี สมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จพระราชาคณะ ใช้แต่ลำพังว่า สมเด็จ ก็มี : (ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย -ไทย ราชบัณฑิตยสถาน)
พระ เป็นคำเดียวกับคำว่า พร มาจากภาษาบาลีว่า วร แปลว่า ประเสริฐ
สังฆ แปลว่า หมู่ หรือ แปลทับศัพท์ว่า สงฆ์
ราช และว่า พระราชา
สรุปคำแปล คือ พระราชาของสงฆ์ผู้ประเสริฐ (หรือใครจะแปลรวมตามที่ว่าอย่างไรก็ตาม โดยเอาคำศัพท์มารวมกัน)

คำว่า สกลมหาสังฆปริณายก สกล + มหา + สังฆ + ปริณายก
สกล หรือ สากล แปลว่า ทั้งหมด ทั้งมวล ทั้งสิ้น
มหา แปลว่า ใหญ่ หรือ มาก
สังฆ แปลไว้แล้ว
ปริณายก และว่า ผู้นำไปรอบ (ภาษาไทย เอา ปริ ออก จะใช้เป็น นายก)

สรุปคำแปล คือ ผู้นำสงฆ์จำนวนมากทั้งหมด
ดังนั้น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงแปลเป็นภาษาไทยที่เข้าใจง่ายๆ ว่า ผู้ทรงเป็นพระราชาของสงฆ์ผู้ประเสริฐ ผู้ทรงเป็นผู้นำสงฆ์หมู่มากทั้งมวล
(อีกส่วนหนึ่ง ที่ใช้ สกล เพราะมีวัดจีนนิกายและอนัมนิกายจะต้องขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสังฆราชด้วย ตามมาตรา ๔๖ ซึ่งไม่ใช่ขึ้นกับมหาเถรสมาคม)

ที่อธิบายมา เพื่อจะบอกว่า ตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งผู้นำของสงฆ์ คือ พระ ทั้งหมด ไม่ว่านิกายใด เท่านั้น ไม่ใช่ผู้นำประเทศหรือผู้นำประชาชน ดังนั้น ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทุกฉบับ จะระบุพระอำนาจ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงอยู่ในฐานะผู้ให้คุณ ไม่มีให้โทษใคร ดังนั้น ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดพระอำนาจไว้เพียง ๓ มาตรา คือ
มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
มาตรา ๑๒ มหาเถรสมาคมประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็น กรรมการ
มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๔ กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก
ในกรณีที่กรรมการมหาเถรสมาคมพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จพระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่งเป็นกรรมการแทน
กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในวรรคก่อนอยู่ในตำแหน่ง ตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน

สรุปพระอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช มี ๒ ประเด็น คือ
ตามมาตรา ๘ จะทรงทำได้ โดยมีเงื่อนไขกำกับไว้ คือ “โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม” (ตรงนี้ขอย้ำเป็นพิเศษ เพราะผู้นำไปอ้าง มักจะไม่เอาเงื่อนไขนี้ไปประกอบด้วย)
ส่วนอำนาจมาตรา ๑๒ และมาตร ๑๕ คือ ทรงมีอำนาจแต่งตั้ง/ถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้ง เท่านั้น
นี่คือ พระอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น การเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช ในขั้นตอนที่มหาเถรสมาคมจะเห็นชอบ จึงเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมเท่านั้น (ขอย้ำชัดๆ ว่ามหาเถรสมาคมเท่านั้น) เพราะเป็นการพิจารณาเลือกผู้นำพระสงฆ์ในสังฆมณฑล จึงต้องทำโดยพระสงฆ์ ไม่ใช่ให้นายกรัฐมนตรีเลือกแล้วเสนอมหาเถรสมาคม เพราะเท่ากับว่า ให้ฆราวาสเลือกผู้นำพระ ให้พระเห็นชอบ.. มันไม่ใช่อย่างนั้น.. ลองดูตัวบทกฎหมาย..
“มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง
ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

สำนวนนี้ เป็นสำนวนที่ต้องใช้วิจารณญาณขั้นสูงอ่าน เพราะ พรบ.คณะสงฆ์ฉบับนี้ กรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งส่วนใหญ่ จบ ป.ธ.๙ โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ป.ธ.๙ เป็นประธาน ได้พิจารณาใช้ แต่ความจริง สำนวนนี้ นักกฎหมายธรรมดาก็รู้ ยกเว้น นักกฎหมายที่ทรยศกฎหมาย อ้างกฎหมายเข้าข้างตัวเอง
ตามมาตรา ๗ วรรคสอง ต้องดูว่า อะไรต้องเกิดก่อน
๑. การเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ตามที่ผมเคยบอกไว้แล้วว่า จะต้องมีการประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติตามกำหนด แล้วทุกรูปเห็นชอบตามที่คัดเลือกกัน แม้ผมไม่ได้เข้าประชุม มติที่ประชุมก็จะออกมาว่า เห็นชอบ… เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ. คณะสงฆ์ ตามที่อ้าง
- พระต้องเลือกพระมาคุมพระ ไม่ใช่ให้ฆราวาสเสนอพระมาคุมพระ
- สมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติตาม พรบ.คณะสงฆ์ และกรรมการมหาเถรสมาคมที่อาพาธ จะไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ
-การประชุมมหาเถรสมาคมทุกครั้งตลอดปี จะเป็นการประชุมลับทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการประชุมเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๙ ตามที่หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ทำไมต้องประชุมลับด้วย ไม่โปร่งใส ผมขอเรียนแทนมหาเถรสมาคมว่า มหาเถรสมาคมไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศหรือแจ้งพวกคุณให้ทราบหรอกครับ เพราะบอกไป ก็ไม่ใช่เรื่องของพวกคุณที่จะเข้ามายุ่งเรื่องนี้โดยไม่ได้รับเชิญ (ภาษาชาวบ้านเรียกอะไรไม่รู้ ผมลืมไปชั่วขณะ)
๒. นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ตามข้อ ๑ นำรายชื่อทูลเกล้าฯ

ถ้ามีข้อสงสัยทางกฎหมาย ถ้าสงสัยรัฐธรรมนูญ ก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าเป็นกฎหมายทั่วไป ก็ต้องยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่ผู้รู้กฎหมายไทยบางคนเลือกที่จะส่งสำนักผู้ตรวจการแผ่นดินตีความ นิ่มดี..
ติดตามตอนต่อไป ยาวมาก อ่านตาลายหมด..

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘