ทำไมพระสงฆ์จึงมีความสำคัญต่อสังคมไทย?

กว่า 20 ปีมานี้ ภาพข่าวฉาวเกี่ยวกับพระสงฆ์ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ  กระแสสังคมโดยเฉพาะชาวพุทธในยุคที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับวัดมากนัก เกิดการตั้งคำถามต่อศรัทธาต่อสังคมพระสงฆ์ ส่งผลกระทบต่อการตั้งมั่นอยู่ของสถาบันสงฆ์  ซึ่งพระสงฆ์ถือเป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย หากนี่คือความท้าทายระหว่างวัตรปฏิบัติดั่งเดิมกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กับการก้าวผ่านช่วงวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นทั่ว โลก
                 โดยส่วนตัวผมมีความผูกพันกับวิถีชีวิตแบบไทยๆมาก วิถีคิดส่วนใหญ่ก็อิงอยู่กับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกัน กับนิทานชาดก ผสานกับความเชื่อท้องถิ่นปักษ์ใต้ เรื่องราวผีสางนางไม้ เทพยาดา ตามพื้นเพเดิมบรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและแม่ทั้งหมดเป็นชาวสยามในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่สำคัญคือโอกาสทางการศึกษาของพ่อ  พ่อของผมท่านเกิดที่รัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย ในช่วงรอยต่อ ก่อน,ระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เศรษฐกิจในประเทศมาเลเซียตกต่ำมาก ชาวสยามส่วนหนึ่งในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียอพยพมายังฝั่งประเทศไทย ปู่กับย่ามีฐานะยากจน ท่านทั้งสองเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวสยามที่อพยพอยู่ที่ อำเภอสุไหงปาดีจังหวัดนราธิวาส ในสมัยนั้น  ว่ากันว่ารถยนต์ในอำเภอสุไหงปาดีแทบจะนับคันได้ในอำเภอห่างไกล ถนนหนทางลำบากกว่าปัจจุบันมากมาย
                  บ่ายวันหนึ่งมีพระจากอำเภอเมืองนราธิวาส ท่านนั่งรถเลยจุดหมายมาลงแถวที่ ซึ่งปู่ผมท่านคงเลี้ยงวัวอยู่แถวนั้นพอดี ปู่ เดินผ่านมาพบพระองค์นั้นเข้า จึงนิมนต์พระรูปดังกล่าวไปจำวัดที่บ้าน ในเช้าวันรุ่งขึ้นนั้นเองที่พ่อผมซึ่งอายุสัก 8-9 ขวบ ท่านได้พบสบตากับพระกับเจ้า เป็นโอกาสอันดีที่ท่านได้ชวนพ่อไปเรียนหนังสือที่วัดโคกโก ตำบลลำภู บางนราหรือตัวเมืองนราธิวาส และเมื่อพ่อได้ไปเรียน เป็นการบุกเบิกทางให้เด็กในหมู่บ้านยุคนั้นอีกหลายคนตามไปเรียนด้วย ก่อนที่ทางรัฐบาลจะเข้ามา สร้างโรงเรียนในหมู่บ้าน
                  ปัจจุบันพ่อเกษียรราชการจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมาแล้วสี่ปี  สำหรับพระรูปดังกล่าวท่านบวชเรียนจนได้ตำแหน่งสมภาร แต่ถึงช่วงหนึ่งก็ลาสิกขาบทออกมามีครอบครัว พ่อนับถือท่านประหนึ่งพ่อคนที่สอง และเมื่อปลายปีที่แล้วพ่อพาพวกเราในครอบครัวไปเยี่ยมครอบครัวของท่านที่ อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อดีตสมภารท่านดีใจมาก ดีใจจนน้ำตาไหล
                 จากกรณีที่เล่ามา แสดงให้เห็นว่าพระกับวัดมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมให้คนในรุ่นก่อนได้รับ การศึกษา กรณีเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในระดับบุคคล ในฐานะของพระสงฆ์ที่มีแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้อ่านออกเขียนได้ นั้นคือคุณูปการของพระสงฆ์ผู้จาริกไปในชนบทแดนเถื่อนไพร แร้นแค้นกันดารในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เท่าทันสังคมโลก
                  ครั้งหนึ่งพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในเรื่องการศึกษา รวมถึงคุณภาพชีวิต การสาธารณสุข หลักการอยู่ร่วมกันในสังคม เห็นได้ชัดเจนในอดีตที่ผ่านมา วัฒนธรรมที่ผู้ชายต้องบวชเรียนที่วัด สำหรับเรื่องการศึกษาในยุคที่ชุมชนและสังคมชาวพุทธไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน คือการเรียนรู้เพื่อเผชิญชีวิตก่อนสร้างครอบครัว เช่นวิชาช่าง การอ่านเขียน หมอยาสมุนไพร ซึ่งมากไปกว่านั้นคือคาถาอาคมและการเผชิญกับสิ่งที่ไม่อาจอธิบายตามหลัก วิทยาศาสตร์ได้ในยุคหนึ่ง หรืออธิบายได้โดยง่ายว่า เป็นพลังอำนาจของผีสางนางไม้ หรือเทพยาดา ซึ่งระบบการสอนของพระสงฆ์มีองค์ความรู้เพื่อเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างมีขั้น ตอน และเป็นกุศโลบายที่เชื่อมความสัมพันธ์ ในการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชนอย่างมีระเบียบจารีตที่สอดคล้องกับวิถีการ เลี้ยงชีพ,ระบบดินฟ้าอากาศและธรรมชาติในแต่ล่ะท้องถิ่นอีกด้วย

                จากอดีตจนกระทั่งปัจจุบันพบว่าในสังคมไทยนั้น พระสงฆ์ยังมีบทบาทสูงในเรื่องทางนำชีวิต ในพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย เป็น ผู้ให้คำปรึกษาในปัญหาที่มองไม่เห็นทางออก ตั้งแต่ระดับชนชั้นนำจนถึงชนระดับล่าง  แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดและถือว่ามีคุณูปการมากที่สุดคือ การสอนให้คนรู้ภาษา ซึ่งสามารถยึดโยงไปถึงหลักความดีงามที่ทำให้ คนไทยเรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมของตน หากมองแยกส่วนออกจากเรื่องสัจจะธรรมแล้ว การศึกษาเป็นผลงานที่ประจักษ์ชัดที่สุดในการสอนหนังสือของพระกับเด็ก เห็นได้ว่าวัดกับโรงเรียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก่อน 
                  แม้พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้กำหนดลำดับชั้นไว้  มีนับจากพระอรหันต์ลงมา แต่เพื่อทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้น พระสงฆ์ไทยอาจจำแนกจากเป้าหมายในการบวชเป็นพระสงฆ์ได้ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ตั้งใจแน่วแน่ในการบวช เพื่อแสวงหาสัจจะธรรม กับกลุ่มที่บวชตามจารีตประเพณี พระสงฆ์ในกลุ่มแรกมีส่วนมากในการขับเคลื่อนให้เกิดพลังศรัทธา ซึ่งเป็นอำนาจที่มีพลังมากในการกำหนดทิศทางของสังคม
               
                   ในประเทศไทยแม้ไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนา ประจำชาติ หากรากฐานของความเป็นรัฐชาติที่ผ่านมานั้น  ยุครอยต่อระหว่างการสร้างรัฐชาตินิยมไทยกับช่วงความรัฐพันธมิตรกึ่งอารักขา ของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น  การปลุกพลังจิตสำนึกของความเป็นประเทศไทยด้วยความเป็นชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  สายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับพระสงฆ์เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง
ขอบคุณ คุณนวพล ลีนิน
http://www.deepsouthwatch.org/node/4007

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘