ยูนิคอร์นหมื่นล้าน

ยูนิคอร์น ไม่ได้หมายถึงม้ามีเขาในเทพนิยาย แต่หมายถึงบริษัทเอกชน ซึ่งมักจะอยู่ในกลุ่ม Tech Startups ซึ่งมีมูลค่า (จริง ๆ คือราคาซื้อขาย) มากกว่า 35,000 ล้านบาท (1 Billion USD) นี่คือความฝันของทั้ง “ผู้สร้าง”  “นักพัฒนา” และ “นักลงทุน” ที่จะเป็นเจ้าของยูนิคอร์นหมื่นล้าน จากสถิติของ Venturebeat ปัจจุบันมียูนิคอร์น 229 บริษัท รวมมูลค่าทั้งหมดสูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่น่าทึ่งคือเกือบทุกธุรกิจยังไม่มี “กำไร” แม้แต่เหรียญเดียว นี่คือกระแสที่กำลังมาแรงที่สุดอย่างหนึ่งในโลกธุรกิจและการลงทุน เพราะนี่ไม่ใช่หุ้น 10 เด้ง (ราคา 10 เท่าตัว) ตามตำราปีเตอร์ ลินซ์ แต่นี่คือหุ้นผลตอบแทนระดับ 10,000 เด้ง

    ยูนิคอร์นที่โดดเด่น 3 อันดับแรกของฟอร์จูน คือ Uber (อันดับ 1) Xiaomi (อันดับ 2) Airbnb (อันดับ 3) ซึ่งล้วนเป็นยูนิคอร์นที่กำลัง “แปลงร่าง” เป็น IPO เข้าสู่ตลาดหุ้นด้วยมูลค่าสูงลิ่ว ธุรกิจ Airbnb มีราคาซื้อขายนอกตลาดเพิ่มขึ้นถึง 155% ในปี 2015 มูลค่าปัจจุบันประมาณ 25,000 ล้านเหรียญ ถือว่าเป็นธุรกิจโรงแรมที่มี “มูลค่าสูงที่สุดในโลก” แซงหน้าเครือข่ายโรงแรมระดับโลกที่มีสาขานับพันอย่างฮิลตัน (HLT) แมริออท (MAR) ไปอย่างง่ายดาย แม้ว่ารายได้จะโตจาก 250 ล้านเหรียญในปี 2014 เป็น 1,000 ล้านเหรียญในปี 2015 แต่ก็ต่ำกว่าแมริออทที่มีรายได้ 14,000 ล้านเหรียญหลายสิบเท่าอยู่ดี ไม่ต้องพูดถึงกำไร เพราะแผนของ Airbnbคือวางแผน “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีรายได้เติบโตสู่ระดับ 10,000 ล้านเหรียญในปี 2020

    ยูนิคอร์นกระจายตัวไปในเกือบทุกอุตสาหกรรมทั้งในโลกการเงินหรือ Fintech หรือธุรกิจอาหาร, Healthcare, Logistics หรือการให้บริการต่าง ๆ อย่างเราที่คาดไม่ถึง ประเทศที่มีม้ายูนิคอร์นมากที่สุด คือสหรัฐและจีน ซึ่งมีจำนวนพอ ๆ กัน แม้ประเทศไทยยังไม่มีม้าในเทพนิยายตัวนี้ แต่สำหรับในอาเซียน เรามี  GrabTaxi, Lazada และ Garena ที่จดทะเบียนอยู่ในสิงค์โปร์ อย่างไรก็ดีวงการ Startups ไทยก็ได้อิทธิพลมาไม่น้อย ซึ่งเราจะได้เห็นภาครัฐ ธุรกิจ ที่มีความตื่นตัวสูงในธุรกิจสมัยใหม่แบบนี้

    การมาของยูนิคอร์น ไม่เพียงส่งผลภายในวงการลงทุน แต่ยังส่งผลต่อธุรกิจดั้งเดิมอีกด้วย คำว่า Disruptive คือการเกิดใหม่โดยทำลายสิ่งที่ดั้งเดิมออกไปด้วยวิธีที่ “ไม่ธรรมชาติ” เพราะผู้สร้างและนักลงทุนที่เลี้ยง “ม้ายูนิคอร์น” จะมอง “ความเร่งของการเติบโต” มากกว่าผลกำไร ดังนั้นการขาดทุนจึงถูก “อุดหนุน” ด้วยเงินพวกเขา การปลดล็อคเรื่องเงินออกไป ทำให้ลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจในระยะสั้น ตัวอย่างเช่น ถ้า Uber เติบโตด้วยวิธีการปกติหรือ Organic Growth อาจจะช้าหรือไม่มีโอกาสเกิด แต่ด้วยเม็ดเงินมหาศาลจากนักลงทุนที่พร้อมปั้น Startups สู่ยูนิคอร์น ทำให้ Uber สามารถใช้วิธี Subsidize โดยจ่ายเงินให้ “คนขับ” มากกว่าปกติหลายเท่า การขับ Uber จึงเป็นงานไซด์ไลน์ที่ทำเงิน “สูงผิดปกติ”  ในขณะเดียวกันก็ลดราคาให้ “ผู้โดยสาร” จนแทบจะใช้ฟรี ผลที่ตามมาคืออุตสาหกรรม Taxi สีเหลืองทั่วเมืองนิวยอร์คอาจจะกลายเป็นแค่ความทรงจำในหนัง

    ดังนั้นกลยุทธ์ธุรกิจแบบดั้งเดิม อาจจะไม่สามารถ “ตอบโจทย์” การแข่งขันในรูปแบบสมัยใหม่ได้ หลายธุรกิจ Startups แม้กระทั่งเป็นยูนิคอร์นแล้วก็ตาม ยังให้บริการ “ฟรี” กับลูกค้า โดยพยายามหาวิธีหารายได้ในรูปแบบใหม่ ๆ  ปัจจุบันมียูนิคอร์นเกือบ 30 บริษัทอยู่ในกลุ่ม FinTech ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลง “โลกการเงิน” เดิมอย่างสิ้นเชิง เราไม่จำเป็นต้องโอนเงินผ่านธนาคาร กู้เงินกับธนาคารเหมือนในอดีต ถ้าเราตามข่าวจะเห็นการ “เคลื่อนไหว” อย่างต่อเนื่องของธนาคารเพื่อป้องกันภัยคุกคามจาก Fintech เหล่านี้

    ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งที่เป็นเดจาวู หรือ “ภาพหลอน” คือภาพนี้คล้ายยุค Dotcom ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ มีมูลค่า (Valuation) สูงลิ่ว ยูนิคอร์นใช้คำว่า Valuation แทนราคาซื้อขาย ทั้ง ๆ ที่สำหรับนักลงทุนนั้น สองสิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน อันที่จริงถ้าการระดมทุนนอกตลาดยังทำได้อย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทอาจจะแทบไม่อยากเข้าตลาดหุ้น เพราะอย่าง Facebook เคยมีราคาลดลงจาก IPO เกือบครึ่ง ถ้าผลประกอบการไม่ดี แต่ในกลุ่มยูนิคอร์นผู้คนมองแต่ข่าวดี ความสามารถในการเอาตัวรอดของธุรกิจจึงยังคงเป็นคำถาม เพราะหากไม่มี “เงิน” ของนักลงทุนมาเพิ่มทุนตลอดเวลา ธุรกิจไม่ว่าจะมูลค่ากี่พันล้านอาจจะล้มลงได้ในเวลาสั้น ๆ นี่คือกระแสที่แม้แต่บัฟเฟตต์ยังพูดว่าเขาไม่สนใจในเกมนี้ เพราะราคาสูงเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจมัน

    ท่ามกลางกระแส “ข่าวด้านบวก” ในธุรกิจเหล่านี้ ถ้าเราตามข่าวในกรอบเล็ก ๆ จะพบว่า ธุรกิจจำนวนมาก กำลังยากลำบาก การระดมทุนรอบหลัง ๆ มีราคา “ต่ำกว่า” รอบแรก หรือเรียกว่า Down round ยิ่งซื้อช้า ยิ่งถูก เป็นวงจรที่น่ากลัวที่สุดซึ่งทำร้ายธุรกิจที่ต้องการ “เงิน” จากนักลงทุนโดยตรง ยูนิคอร์นที่เคยร้อนแรงที่สุดมูลค่า 2,700 ล้านเหรียญของประเทศอังกฤษเพิ่งล้มละลายไปเดือนที่ผ่านมา Jawbone, Evernote, Tango, Snapchat, Dropbox ก็ต่างประสบปัญหาต้อง “รัดเข็มขัด” ลดพนักงานเพราะประสบปัญหาการเงิน งานเลี้ยงยูนิคอร์นกำลังเริ่มต้น หรือกำลังจบลง เวลาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘