ปฐมฌาน ก็เหมือน ปฐมมรรค นั่นแหละ

เอ๊ะ อ๊ะ เห็นชื่อเรื่องแล้ว อย่าเพิ่งเบือนหน้าครับ รับรองว่าไม่ใช่ยาขม เพราะผมชอบเขียนให้อ่านง่าย อ่านแล้วก็ต้องเข้าใจง่าย และลงมือปฏิบัติตามได้ง่ายๆ ด้วยล่ะครับ แต่ยังไง ก็ต้องให้มีภาษาธรรมะบ้าง ให้พอรู้ไว้ใช่ว่า ติดขาติดแข้ง น่ะครับ

จากตอนที่แล้ว กล่าวถึง ช่วงเวลาที่ผมได้เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมกับหมู่คณะอย่างจริงจัง แต่เกือบเผลอหวั่นไหวด้วยความกลัวถูกสะกดจิต อิอิ ดีนะที่เหตุผลตั้งลำกลับตัวได้ทัน รอดตัวไป ในตอนนั้น แม้ผมจะไม่ได้คำนึงถึงว่า "ภาษาที่หลวงพ่อธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกายใช้ว่า ผู้ที่หยุดใจได้ ก็จะเข้าถึงกายต่างๆ ไปจนถึงกายธรรม นั้นไม่ยักเหมือนที่เขาเขียนๆไว้ในตำรา แฮะ" แต่ในใจลึกๆ ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า "เอ ทำไมไม่เหมือนกันน้า" ตรงนี้ก็มองเป็นข้อคิดได้เหมือนกันครับว่า เรียนรู้แต่ตำราไปก่อน โดยยังไม่ได้ปฏิบัตินั้น อาจจะไม่ใช่ข้อดีเสมอไป บางคนไม่ได้เรียนรู้ตำรามาก่อน แต่มาฝึกปฏิบัติเลย ก็จะปฏิบัติไปได้โดยไม่ต้องลังเล ทำให้ผลการปฏิบัติก้าวหน้าได้เร็วกว่าผู้ที่ศึกษาตำรับตำรามา อย่างนี้ก็มีเยอะทีเดียว

ดูอย่างผมที่แม้จะรู้ภาษาธรรมะทางวิชาการ มาบ้าง จากการเรียนหลักสูตรพระพุทธศาสนาชั้นมัธยมปลาย แต่ก็ไม่ได้รู้แบบลึกซึ้ง ทำให้พอเปิดใจยอมรับ ภาษาใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิมได้ไม่ยากนัก แต่หากเป็นนักวิชาการศาสนา ที่เข้าใจภาษาธรรมะลึกซึ่ง หากไปพบไปเจอภาษาธรรมะที่มีรูปแปลกใหม่ไปกว่าภาษาธรรมะดั้งเดิมที่พวกเขาเคย เรียนรู้มา โอกาสที่จะยอมรับย่อมเป็นไปไม่ได้ง่ายๆ ทีเดียวครับ กระนั้นก็ตาม ภาษาย่อมเป็นสื่อถึงความเข้าใจ แม้ผมจะยอมรับได้ แต่ลึกๆ ในใจ ก็ยังมีความกังขาอยู่นั่นเอง


และ แล้ววันหนึ่งก็ได้มีโอกาสฟัง หลวงพี่ฐานะฯ หรือ พระมหาดอกเตอร์สมชาย ฐานวุฒิโฑ ซึ่งเรียนจบปริญญาตรี แพทย์ศาสตร์บัณฑิต แต่มาบวชอุทิศชีวิตที่วัดพระธรรมกาย ท่านมีจิตเลื่อมใส มาขอเป็นศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อธัมมชโย ท่านได้เทศน์ให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า (ถ้อยคำต่อไปนี้ ไม่ได้เหมือนที่ท่านพูดเป๊ะๆ ทุกตัวอักษรนะครับ เพราะผมเขียนจากความทรงจำตั้ง 20-30 ปีมาแล้ว แต่เนื้อหาโดยรวมๆ เหมือนกัน)

"
ผลการปฏิบัติธรรม ตามที่ได้กล่าวไว้ในตำรา บอกว่า เมื่อใจสงบ แนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสมาธิแล้วนั้น จะเข้าถึงสมาธิจิตระดับปฐมฌาน หากยังคงปฏิบัติได้ก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าถึงสมาธิระดับ ทุติยฌาน ตถิยฌาน จตุตถฌาน เมื่อปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป สมาธิจิตก็จะยกระดับจากรูปฌาน สู่อรูปฌาน แล้วก็เจริญวิปัสสนาจนบรรลุธรรม"

(
ปล.นี่เป็นผลการปฏิบัติตามที่สอนกันมาเป็นตำรับตำราของไทยดั้งเดิมนะครับ จะสอนแบบนี้ แต่ปัจจุบัน จะมีบางสายการปฏิบัติที่เขาได้รับถ่ายทอดต่อๆ กันมาจากประเทศพม่า เขาจะเน้นทำสมาธิไม่มาก แล้วเจริญวิปัสสนาเลย โดยเขาบอกกันว่า ของเขาเป็นทางลัด ไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกสมถะ(ฝึกให้ใจสงบ) อันนี้ก็แล้วแต่ ดุลยพินิจของแต่ละท่านครับ ผมเพียงแต่บอกข้อมูลเพิ่มเติมให้ทราบ)

หลวงพี่บอกต่อว่า "ทีนี้ของเรา พอฝึกสมาธิจนใจสงบหยุดนิ่ง ถึงระดับหยุดในหยุดไปเรื่อยๆ แล้ว หลวงพ่อธัมมชโยบอกว่า เราจะเข้าถึงดวงปฐมมรรค กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม และกายธรรม จากนั้น ก็อาศัยปัญญาของกายธรรม เจริญวิปัสสนา เห็นความไม่เที่ยงของโลกและจักรวาล จนหมดกิเลสบรรลุธรรม"

ดูเผินๆ แล้วเหมือนภาษาไม่เหมือนกัน แต่ภาษาเป็นสื่อใช้แทนสภาวธรรมของใจที่เหมือนกัน ขึ้นกับว่าจะใช้เรียกกันอย่างไร
ในที่นี้ ปฐมฌาน ก็คือ การเข้าถึงดวงปฐมมรรค นั่นเอง 
ทุติยฌาน ก็คือ การเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด นั่นเอง
ตติยฌาน ก็คือ การเข้าถึงกายทิพย์ นั่นเอง
จตุตถฌาน ก็คือ การเข้าถึงกายพรหม นั่นเอง (ผู้ที่เป็นพรหม คือ ฝึกสมาธิจนบรรลุ รูปฌาน 4)
อรูปฌานทั้ง 4 คือ การเข้าถึงกายอรูปพรหม นั่นเอง

ส่วนกายธรรม หากค้นตามตำราจริงๆ จะเรียกว่า บรรลุโคตรภูญาน แปลว่า ญานหยั่งกระแสนิพพาน ถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายๆ คือ ไปเยี่ยมนิพพานได้แต่ยังอยู่ไม่ได้ ดังนั้น หากดำเนินตามทางมรรคผลนิพพาน ก็จะอาศัยปัญญาของกายธรรม เจริญวิปัสสนาจนหมดกิเลส บรรลุนิพพานได้ในที่สุด

พอผมฟังมาถึงตรงนี้ ผมถึงบางอ้อ อ๋อ แม้ชื่อไม่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้ว มันก็เหมือนกันนั่นแหละ แต่ที่ดูผิวเผินว่าแตกต่างนั้น ขึ้นกับภาษาที่ใช้สื่อความกันเท่านั้นเอง ภายหลัง ผมได้ฟังเรื่องราวของพระชื่อดังรูปหนึ่งแถวระยอง ที่สามารถลากโบกี้รถไฟที่อินเดียขึ้นภูเขาได้ ท่านทำสมาธิจนเห็นดวงสว่างอยู่ข้างหน้า(ปฐมมรรค) แต่ไม่ได้อยู่ที่กลางกาย ซึ่งท่านบอกว่า ท่านเข้าถึงปฐมฌาน ครับ ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ภาษาก็ส่วนหนึ่ง ประสบการณ์ก็อีกส่วนหนึ่ง ภาษาสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาได้บางส่วน แต่ยังมีประสบการณ์อีกมากหลาย ที่ภาษานั้น ไม่ได้ถ่ายทอดออกมาได้ ต้องไปรู้ไปเห็นด้วยตัวเอง เหมือนดังที่พระพุทธองค์ทรงบอกไว้ว่า นี้เป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตน นั่นเองครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘