ธรรมกายไม่ใช่ลัทธิใหม่

พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ท่านมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อเราและชาวโลกอย่างมากมายมหาศาล แต่เราคงเข้าใจได้เพียงย่อ ๆ สั้น ๆ จะไปอธิบายให้ลึกซึ้งในสิ่งที่ท่านเป็นนั้น มันยากต่อการที่เราจะเข้าใจ เหมือนจะเอาสายบัวไปวัดความลึกของท้องทะเลมหาสมุทร แล้วยกขึ้นมาว่า  ลึกเท่าสายบัวค่นี้ หาควรไม่ แต่เมื่อเราพอที่จะเข้าใจอย่างนี้ มันก็จะต้องอธิบายเท่าที่เราพอจะเข้าใจ
เอาแค่ว่า ท่านค้นพบธรรมกายขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ คำนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกในทุก ๆ นิกายด้วย ก็ยังถูกกล่าวหาว่า เป็นนิกายใหม่ แล้วผู้ที่กล่าวหาก็สร้างข่าว ใส่ไข่ จะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ ล้วนไม่เคยปฏิบัติเลย ถ้าปฏิบัติแล้วก็คงไม่พูดอย่างนี้  แสดงว่าแหล่งที่มาของความคิดนี้ไม่บริสุทธิ์ เพราะตอนเขียนข่าวก็ดี หรือคุยเรื่องข่าวก็ดีนั้นกำลังมึนเมา นอกจากเมาเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังเมาวัย เมาชีวิต เมาลาภ ยศ สรรเสริญด้วย
มีความเมาอยู่ในตัว จึงไม่รู้เรื่องว่า สิ่งที่เขาเอามาพูดนั้นเพื่อประโยชน์ของตนนั่นเอง ถ้าได้ยินได้ฟังแล้ว ผู้มีบุญจะเกิดมีความปีติภาคภูมิใจ ดีใจว่า เป็นบุญของเรา ที่เราได้มาเกิดในยุคนี้ ที่วิชชาธรรมกายหวนคืนกลับมาอีกครั้ง เป็นพยานตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง  และเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมได้อย่างดี อย่างน้อยก็รู้ว่าพระธรรมกาย คือ ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง คือ เนื้อหนังหรือตัวจริงของพระรัตนตรัยที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก รวมทั้งตัวเราด้วย และเราสามารถเข้าถึงได้ ถ้าเรายังเป็นปกติดี มีความเพียรแล้วก็ทำถูกหลักวิชชา
เพราะฉะนั้น เราควรจะมานึกว่า มันเป็นบุญลาภของเราที่มาเกิดในยุคนี้ แทนที่จะไป  กุข่าว สร้างข่าว แล้วก็ปล่อยข่าวว่า ธรรมกาย คือ นิกายใหม่ ลัทธิใหม่ ที่ว่านิกายใหม่คือในเมืองไทยมีมหานิกาย และธรรมยุตินิกาย  พอมีคำว่า กาย ๆ อยู่ข้างหลังธรรมะ ก็เลยเป็นนิกายใหม่
เพราะฉะนั้น ธรรมกาย ไม่ใช่นิกายใหม่ แล้วก็ไม่มีนิกายอันใด เพราะเกี่ยวกับเรื่องกายภายในของทุกคนในโลก ขึ้นชื่อว่า เป็นมนุษย์มีอยู่ที่ไหน ที่ตรงนั้นมีธรรมกาย  เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของทุก ๆ คน สิ่งอื่นไม่ใช่ แล้วจะรู้ได้อย่างไร  รู้ได้เมื่อเข้าถึง แล้วจะเข้าถึงได้อย่างไร เข้าถึงเมื่อปฏิบัติอย่างถูกหลักวิชชา แล้วท่านอยู่ตรงไหน อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยวิธีการทำใจหยุดใจนิ่ง แล้วทำอย่างไรถึงจะหยุดนิ่ง ก็เลิกอยาก ลาหยอก ทำใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ เดี๋ยวก็เข้าถึงได้
นี่คือ  Know how บอกให้ฟรี ๆ ที่จริงต้องจ่ายเงินนะ แต่นี่ให้ฟรี เพราะฉะนั้นไม่ใช่นิกายใหม่  ไม่ใช่ลัทธิใหม่ มันเกี่ยวกับเรื่องสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนในโลก แล้วอย่าเพิ่งไปสรุปว่า พิสูจน์ไม่ได้  เมื่อเรายังไม่ได้พิสูจน์  ถ้าได้พิสูจน์ก็แปลว่า พิสูจน์ได้
เราต้องเป็นคนมีเหตุ มีผล ให้รู้จักเหตุ รู้จักผล จะต้องพิสูจน์ด้วยการทำหยุดทำนิ่งง่าย ๆ สบาย ๆ แค่หลับตาเบา ๆ แค่นั้นแหละ และหลังจากนั้นไม่ต้องทำอะไรไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องขีดต้องเขียน นั่งเฉย ๆ เรื่อย ๆ เหมือนนั่งพักผ่อน อย่างมีความสุขเบิกบาน
เพราะฉะนั้น  ธรรมกาย ไม่ได้เป็นนิกายใหม่ ไม่ได้เป็นนิกายเก่า แล้วก็ไม่ได้เป็นนิกายอะไรทั้งสิ้น แต่เป็น พระธรรมกาย   ที่มีคำว่า พระ มาจากคำว่า วะระ แปลว่า ประเสริฐ  สูงส่ง เป็นที่พึ่งที่ระลึกแก่เราได้ ก็เลยเทิดทูนยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐ  ชื่อว่า ธรรมกาย พระธรรมกายก็แค่นี้เอง เพราะฉะนั้น ให้ดีอกดีใจไว้ว่า เรามาอยู่ในยุคที่วิชชาธรรมกายหวนมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว เรามีบุญมาก
แต่ว่าเมื่อมีบุญมาก เพราะว่าเราหาบุญได้ ต้องใช้บุญให้เป็น ใช้บุญให้เป็นเป็นอย่างไร  เมื่อรู้ตัวของเราว่า มีบุญ เพราะได้สั่งสมบุญมา  ก็เอาบุญนี้แหละมาหยุดมานิ่ง หลับตาสบาย มองเข้าไปสู่ภายใน  ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพูด ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น  จะเริ่มต้นจากอะไรก็ได้  จะเป็นดวงจันทร์ ดวงดาว  ไม้กางเขน หรือเฉย ๆ  นิ่ง ๆ เดี๋ยวก็เข้าไปถึงตรงนั้นได้
 อย่างสามเณรรูปหนึ่ง เริ่มต้นที่ไข่เค็ม เพราะไปบิณฑบาตได้ไข่เค็มเยอะ วันจันทร์ก็ไข่เค็ม วันอังคารบิณฑบาตโยมคนเดิม ไข่เค็มอีก อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ถึงวันอาทิตย์ ไข่เค็มอีก ก็คุ้นกับไข่ พอหลับตาก็เห็นแต่ไข่เค็มเปลือกมันขาว มองไปมองมา วื้ด ตกหลุมอากาศ แล้วองค์พระก็ผุดผ่านขึ้นมา นี่เริ่มต้นจากไข่เค็ม 
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่นิกายใหม่ แต่เป็นพระธรรมกายภายใน  เป็นที่พึ่งที่ระลึกของทุกคน ไม่เชื่อก็ต้องพิสูจน์ เอหิปสฺสิโก มาลองดู มาพิสูจน์เถิด ถ้าเราเป็นคนมีเหตุผล ก็พึงหลับตา เลิกคิด เลิกพูด เลิกทำอะไรทั้งสิ้น ทำเฉย ๆ หรือหยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เดี๋ยวสิ่งดี ๆ จะผุดผ่านมาในกลางกายให้เราดู
๒   ตุลาคม พ.. ๒๕๔๗

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘