การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท

การสังคายนา หมายถึง การร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ให้ อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน มีระบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีการประชุมสงฆ์ดำเนินการรวบรวมจัดหมวดหมู่ จัดระบบให้เป็นที่เรียบร้อย แล้วมีการสวดซักซ้อมหรือสวดพร้อมกันและเป็นแบบเดียวกัน เป็นการตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์แห่งพระธรรมวินัย และลงมติรับรองกันไว้เป็นหลักฐานสำคัญ แล้วมีการท่องจำ จดจำ หรือจารึกไว้สืบต่อมา

การสังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึงครั้งที่ ๔ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในรูปแบบ พระไตรปิฎกมุขปาฐะ (สวดหรือจดจำสืบต่อกันมาด้วยท่องจำ) ส่วนการสังคายนาต่อจากนั้นมา คือการสังคายนา ครั้งที่ ๕ ถึงครั้งที่ ๑๑ เป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกในรูปแบบ พระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษร

:b44: สาเหตุแห่งการสังคายนาพระธรรมวินัย

ปฐม เหตุความคิดที่จะให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น ได้มีมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล โดยพระพุทธองค์ได้ประทานพระพุทธโอวาทแนะนำไว้ กล่าวคือ เมื่อนิครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิเชนสิ้นชีพ พวกสาวกของเจ้าลัทธินี้ได้เกิดแตกสามัคคีกัน ครั้งนั้น พระจุนทเถระ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว มีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดขึ้นแก่พระพุทธศาสนา จึงไปพบพระอานนท์เถระเล่า ความนั้นให้ฟัง พระอานนท์เถระจึงได้ชวนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระจุนทเถระกราบทูลเล่าเรื่องนั้นถวายให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ประทานพระพุทธโอวาทเป็นอันมากแก่พระจุนทเถระ ที่ สำคัญข้อหนึ่งก็คือ พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ที่พวกสาวกของนิครนถนาฏบุตรเกิดแตกความสามัคคีกันนั้น เพราะคำสอนของเจ้าลัทธิไม่สมบูรณ์และมีความสับสน ทั้งพวกสาวกก็ไม่ปฏิบัติตามคำสอน แล้วทรงแนะนำให้รวบรวมพระพุทธวจนะ ให้ทำการสังคายนาไว้เพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป

พระ สารีบุตรเถระก็ได้แนะนำพระภิกษุสงฆ์ให้ช่วยกันรวบรวมพระพุทธวจนะ หรือทำการสังคายนาพระธรรมวินัยไว้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ หลังจากนิครนถนาฏบุตรสิ้นชีพ และพวกสาวกเกิดแตกความสามัคคีกันดังกล่าวแล้วนั้น ตอนค่ำวันหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดพระภิกษุสงฆ์ที่เข้าเฝ้า จบแล้วทรงเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ยังประสงค์จะฟังธรรมต่อไปอีก จึงทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรเถระแสดงธรรมแทน ครั้ง นั้นพระสารีบุตรเถระได้แสดงธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ ได้แนะนำให้ช่วยกันรวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยไว้ โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมะเป็นหมวดๆ ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ ว่าธรรมะอะไรบ้างอยู่ในหมวดนั้นๆ หัวข้อเรื่องที่พระสารีบุตรเถระแสดงในครั้งนั้น เรียกว่า สังคิติสูตร อันแปลว่า สูตรว่าด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัย เมื่อพระสารีบุตรเถระแสดงธรรมจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ แต่พระสารีบุตรเถระเองได้นิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า ดัง นั้น ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ เนื่องจากตอนนั้นพระมหากัสสปเถระเป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด

รูปภาพ
ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๑
(ปัจจุบันเพดานถ้ำถล่มลงมาปิดปากถ้ำหมดแล้ว)


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๑
เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน

มูลเหตุ : เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๗ วัน พระมหากัสสปเถระอยู่ที่เมืองปาวา ยังไม่ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงพาพระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูปเดินทางออกจากเมืองปาวาด้วยประสงค์จะไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมืองกุสินารา ในระหว่างเดินทางนั้นเอง ก็ได้ทราบข่าวการเสด็จดับขันธปรินิพพานจากอาชีวก (นักบวชนิกายหนึ่ง) คนหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากเมืองกุสินารา พระสงฆ์ทั้งมวลซึ่งมีพระมหากัสสปเถระเป็นหัวหน้าเมื่อได้ทราบข่าวนั้นแล้ว ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ต่างก็มีความสลดใจ ผู้ที่เป็นปุถุชนอยู่ก็เศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้คร่ำครวญ รำพึงรำพันกันไปต่างๆ นานา แต่พระภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ มิได้เป็นเช่นนั้น และได้ห้ามพระภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจ มิให้ร้องไห้ โดยกล่าวชี้นำว่า ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นการดีแล้ว ต่อนี้ไปจะทำอะไรได้ตามใจ ไม่มีใครคอยมาชี้ว่าผิดนี่ ถูกนี่ ควรนี่ ไม่ควรนี่ต่อไปอีก

พระมหากัสสปเถระได้ฟังคำกล่าวจ้วงจาบเช่นนั้น แล้วเกิดความสลดใจ ภายหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการประชุมสงฆ์ พระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นผู้มีอายุพรรษามากกว่าพระสงฆ์ทุกรูปได้รับเลือกให้ เป็นประธานสงฆ์ มีฐานะเป็นสังฆปริณายก (ผู้นำคณะสงฆ์) บริหารการคณะสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ท่านจึงได้นำเรื่องที่พระภิกษุสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยนั้นเสนอต่อ ที่ประชุมสงฆ์ ชวนให้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยและได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ต่อจากนั้นมา ๓ เดือนก็ได้มีการประชุมทำสังคายนา ครั้งที่ ๑

สถานที่ : ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้เมืองราชคฤห์ ชมพูทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอชาตศัตรู

การจัดการ : พระมหากัสสปเถระได้รับเลือกเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระอุบาลีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย (วินัยปิฎก) พระอานนท์เถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระธรรม (สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก) มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์ (สงฆ์ผู้เป็นคณะกรรมการทำสังคายนา) จำนวน ๕๐๐ รูป ซึ่งแนวการวางระเบียบพระธรรมวินัยในครั้งนั้นได้จัดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า พระไตรปิฎก และยังคงมีการรักษาสิ่งที่ได้จัดรวบรวมในครั้งปฐมสังคายนาอยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเถรวาท โดยไม่มีการปรับแก้มาจนปัจจุบัน

นอก จากนี้ ในการประชุมนี้ยังมีการบัญญัติคำขอร้องของพระมหากัสสปเถระต่อปัญหาที่ว่า อะไรคืออาบัติเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสอนุญาตว่า “ถ้าสงฆ์จำนงอยู่ พึงเพิกถอนได้” เมื่อที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกัน พระมหากัสสปเถระจึงเสนอญัตติว่า “ขอ ให้สงฆ์ไม่บัญญัติข้อที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ ไม่ถอนข้อที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว ประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้” ปรากฏว่าที่ประชุมสงฆ์ได้ยอมรับมตินี้ด้วยดุษณีภาพ เป็นการวางรากฐานพุทธศาสนาแบบเถรวาทตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ระยะเวลา : ๗ เดือน จึงสำเร็จ

รูปภาพ
เมืองเวสาลี ประเทศอินเดีย สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๒


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๑๐๐
เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๑๐๐ ปี

มูลเหตุ : พระ ยสะกากัณฑกบุตร ได้ปรารภถึงข้อปฏิบัติทางพระวินัยพุทธบัญญัติที่ย่อหย่อน ๑๐ ประการของพวกพระภิกษุวัชชีบุตร เช่น ถือว่าเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อนำมาผสมอาหารไว้สำหรับฉันตลอดไปได้, เมื่อตะวันชายเกินเที่ยงวันไปแล้วประมาณ ๒ องคุลีหรือประมาณ ๒ นิ้วฉันอาหารได้, รับเงินและทองไว้ใช้ได้, ฉันสุราอ่อนๆ ได้ เป็นต้น พระยสะกากัณฑกบุตรเห็นว่าข้อปฏิบัติย่อหย่อนดังกล่าวนี้ขัดกับพระวินัยพุทธบัญญัติ จึงได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่อีก ๗ รูป คือ พระสัพพกามีเถระ พระเรวตเถระ พระสาฬหเถระ พระขุชชโสภิตเถระ พระวาสภคามิกเถระ พระสัมภูตสาณวาสีเถระ และพระสุมนเถระ ประชุมพิจารณาวินิจฉัย ร่วมมือกันทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อความมั่นคงพระพุทธศาสนาสืบไป

สถานที่ : วัดวาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ชมพูทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้ากาลาโศกราช

การจัดการ : พระยสะกากัณฑกบุตรเป็นประธาน พระเรวตเถระเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระสัพพกามีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๗๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๘ เดือน จึงสำเร็จ

รูปภาพ
๑ ใน ๘๐ เสาของห้องโถง (ในภาพ : เป็นเสาด้านที่ฝังอยู่ในดิน) วัดอโศการาม
เมืองปาฏลีบุตร (เมืองปัตนะ) ประเทศอินเดีย สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๓


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๕
เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๒๓๕ ปี

มูลเหตุ : พวก เดียรถีย์หรือพวกนักบวชในศาสนาอื่นมาปลอมบวชในพระพุทธศาสนา ด้วยเห็นแก่ลาภสักการะและเพื่อบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ได้แสดงลัทธิและความเห็นของตนว่า “เป็นพระพุทธศาสนา เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ให้มีการสอบสวน สะสาง และกำจัดพวกเดียรถีย์หรือพวกนักบวชในศาสนาอื่นที่มาปลอมบวชประมาณ ๖๐,๐๐๐ รูป แล้วให้สละสมณเพศออกจากพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ

สถานที่ : วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ชมพูทวีป (ปัจจุบันคือ เมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย)

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าอโศกมหาราช

การจัดการ : พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน มีพระอรหันต์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๙ เดือน จึงสำเร็จ

การ สังคายนาพระธรรมวินัยในครั้งนี้ มีการซักถามพระธรรมวินัยและตอบข้อซักถามเช่นเดียวกับการสังคายนาในครั้งก่อน แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่า พระเถระรูปใดทำหน้าที่ซักถาม รูปใดทำหน้าที่ตอบข้อซักถาม เพียงแต่ปรากฏว่า พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้เสนอคำถาม ๕๐๐ ข้อเพิ่มเข้าใน “คัมภีร์กถาวัตถุ” ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก เป็นการขยายความคัมภีร์นั้นให้พิสดารออกไปอีก ที่ประชุมสงฆ์ได้รับรองว่าเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ผลการสังคายนาในครั้งนี้ นอกจากจะได้กำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชให้ออกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้สอบทานพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง และได้นำคำถาม ๕๐๐ ข้อ คำตอบ ๕๐๐ ข้อ เพิ่มเข้าในคัมภีร์กถาวัตถุด้วย

เมื่อเสร็จการสังคายนาแล้ว ได้มีการส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศรวม ๙ สายด้วยกัน และส่งไปสายละ ๕ รูป เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นกัสมีระหรือแคว้นแคชเมียร์ และแคว้นคันธาระ (ปัจจุบันคือ พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ตลอดไปถึงบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถาน)

สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิงสกมณฑล (ปัจจุบันคือ รัฐการ์นาตกะหรือรัฐไมซอร์ ภาคใต้ของประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก)

สายที่ ๓ พระรักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาลีประเทศ (ปัจจุบันคือ ตอนเหนือของรัฐการ์นาตกะหรือรัฐไมซอร์ ภาคใต้ของประเทศอินเดีย)

สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระหรือพระโยนกธรรมรักขิตเถระ (ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นฝรั่งคนแรกเชื้อชาติกรีกที่ได้เข้าบวชในพระพุทธศาสนา) พร้อมด้วยคณะ ได้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปรันตกชนบท (ปัจจุบันคือ ตอนเหนือของเมืองบอมเบย์หรือเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย)

สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหารัฐ (ปัจจุบันคือ แถบเมืองปูนา รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย)

สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศ (ปัจจุบันคือ ตอนเหนือของประเทศอิหร่าน ตลอดไปจนถึงบางส่วนของประเทศตุรกี)

สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระ พร้อมด้วยคณะ คือ พระกัสสปโคตรเถระ พระมูลกเทวเถระ พระทุนทภิสสระเถระ และพระเทวเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนหิมวันต์ (ปัจจุบันคือ แถบภูเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล)

สายที่ ๘ พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ พร้อมด้วยคณะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือ แถบประเทศพม่า ประเทศมอญ และประเทศไทย)

สายที่ ๙ พระมหินทเถระ และพระสังฆมิตตาเถรี (พระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช) พร้อมด้วยคณะ คือ พระอริฏฐเถระ พระอุทริยเถระ พระสัมพลเถระ และพระหัททสารเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป (ปัจจุบันคือ ประเทศศรีลังกา)

รูปภาพ

รูปภาพ
เจดีย์ถูปาราม (Thuparama Pagoda) เมืองอนุราธปุระ
ประเทศศรีลังกา สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๔


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๓๘
หลังจากพระมหินทเถระและคณะออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปประมาณ ๓ ปี

มูลเหตุ : พระมหินทเถระ ประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากอย่างมั่นคงในลังกาทวีป เป็นการวางรากฐานให้พระสงฆ์ชาวลังกาท่องจำพระพุทธวจนะตามระบบการศึกษาพระ ปริยัติธรรมในเวลานั้น

สถานที่ : เจดีย์ถูปาราม (Thuparama Pagoda) เมืองอนุราธปุระ (Anuradhapura) ในลังกาทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ กษัตริย์แห่งลังกาทวีป

การจัดการ : พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถาม พระอริฏฐเถระเป็น ผู้ตอบข้อซักถามพระธรรมวินัย โดยมีพระเถระรูปอื่นๆ เป็นผู้สวดทบทวนพระธรรมวินัย มีพระสงฆ์ผู้เป็นองค์พระอรหันต์เข้าประชุมเป็นจำนวน ๓๘ รูป และพระเถระผู้จดจำพระไตรปิฎกอีกจำนวน ๙๖๒ รูป

ระยะเวลา : ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ

รูปภาพ
วัดอาโลกวิหาร (Alu Vihara) เมืองมะตะเล ประเทศศรีลังกา
สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๕


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๔๓๓

มูลเหตุ : ทางการคณะสงฆ์ชาวลังกาและทางราชการบ้านเมืองเห็นว่า พระธรรมวินัยหรือพระพุทธวจนะที่ได้สังคายนาไว้นั้นมีความสำคัญมาก นับเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา หากจะพิทักษ์รักษาพระธรรมวินัยให้ดำรงอยู่สืบไปด้วยวิธีการท่องจำดังที่เคย ถือปฏิบัติกันมา ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่ายเพราะความจำของผู้บวชเรียนเสื่อมถอยลง การ สังคายนาในครั้งนี้จึงได้ตกลงจารึกพระธรรมวินัยเป็นภาษามคธอักษรบาลีลงในใบ ลาน พร้อมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ซึ่งเดิมเป็นภาษามคธอักษรบาลี นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจารึกพระธรรมวินัยเป็นภาษามคธอักษรบาลีเป็นลาย ลักษณ์อักษร พระไตรปิฎกลายลักษณ์อักษรจึงมีขึ้นเป็นฉบับแรกในพระพุทธศาสนา นับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๒ ในลังกาทวีป

สถานที่ : อาโลกเลนสถาน ณ มตเลชนบท ในลังกาทวีป ซึ่งปัจจุบันคือ วัดอาโลกวิหาร (Alu Vihara) เมืองมะตะเล (Matale) ประเทศศรีลังกา

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย

การจัดการ : พระรักขิตมหาเถระเป็นประธานและเป็นผู้ซักถามพระธรรมวินัย พระติสสเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถาม มีพระสงฆ์ผู้เป็นองค์พระอรหันต์ และพระสงฆ์ปุถุชนเข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


:b44: ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา

การ นับครั้งของการสังคายนานั้น มีความแตกต่างกันในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้แล้วแม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเอง ก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

๏ ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๓ ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย (เป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๖ ของประเทศศรีลังกา) กระทำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ โดยการสังคายนาในครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น

๏ ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนา ครั้งที่ ๒ ที่ประเทศศรีลังกา เป็นครั้งที่ ๔ ของประเทศพม่า และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๕ ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง ที่เมืองมัณฑะเลย์ โดยมีพระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ผลัดกันเป็นประธานท่ามกลางที่ประชุมของพระสงฆ์และคฤหัสถ์ ผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระปริยัติธรรมที่เข้าร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน ทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ผลการสังคายนาในครั้งนี้นอกจากจารึกพระไตรปิฎกลงใบลานตามปกติแล้ว ยังให้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น และครั้งที่ ๖ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉัฏฐสังคายนา ที่กรุงย่างกุ้ง ทำอยู่ ๒ ปีจึงสำเร็จ คือเริ่มกระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗ เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ จุดประสงค์ของการทำสังคายนาในครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า รัฐบาลพม่าได้เชิญผู้นำชาวพุทธต่างประเทศ โดยเฉพาะสายเถรวาทจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธีด้วย โดยเฉพาะจากประเทศศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา ครั้นทำสังคายนาแล้วเสร็จก็ได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปยังประเทศ ต่างๆ ด้วย

๏ ประเทศไทย นับ การสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ ๑-๒ ที่ประเทศศรีลังกา เป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๑-๕ และยังได้นับเพิ่มเติมอีกคือการสังคายนา ครั้งที่ ๖-๑๑ ดังนี้

รูปภาพ

รูปภาพ
ซากโลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๖ และครั้งที่ ๗


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๙๕๖
ได้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยโดยการแปลและเรียบเรียงอรรถกถา (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก)

มูลเหตุ : พระพุทธโฆสเถระ (หรือที่ไทยเรานิยมเรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์) ซึ่งเป็นพระมหาเถระชาวชมพูทวีป ผู้เปรื่องปราดมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และนับเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี เห็น ว่าคัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกนั้นมีสมบูรณ์ บริบูรณ์ เป็นภาษาสิงหล อยู่ในลังกาทวีป ท่านจึงเดินทางไปลังกาทวีป เพื่อขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้ามหานาม ในการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธอักษรบาลี เพื่อจะได้เป็นตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน) สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎก และจะได้เป็นประโยชน์กว้างขวางต่อไป นับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๓ ในลังกาทวีป (เนื่อง จากการสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระคัมภีร์อรรถกถาคือแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาจากภาษาสิงหล เป็นภาษามคธอักษรบาลี ทางประเทศศรีลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา)

สถานที่ : โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ ในลังกาทวีป

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้ามหานาม

การจัดการ : พระพุทธโฆสเถระ (หรือพระพุทธโฆษาจารย์) เป็นประธาน มีการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎก จากภาษาสิงหลเป็นภาษามคธอักษรบาลี

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๗ พ.ศ.๑๕๘๗

มูลเหตุ : ทางการคณะสงฆ์อันมี “พระมหากัสสปเถระ” เป็นประธาน และทางราชการบ้านเมืองอันมี “พระเจ้าปรักกมพาหุ” เป็นประมุข เห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งเรียกว่า ปาลิ เป็นภาษามคธอักษรบาลี และคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกซึ่งเรียกว่า อรรถกถา นั้นก็ได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธอักษรบาลี อันเป็นตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน) สอดคล้องกับคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ส่วน คัมภีร์อธิบายอรรถกถาซึ่งเรียกว่า ฎีกา และคัมภีร์อธิบายฎีกาซึ่งเรียกว่า อนุฎีกา ยังมิได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธ ยังเป็นภาษาสิงหลบ้าง เป็นภาษาสิงหลปะปนกับภาษามคธบ้าง ควรจะได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษามคธให้หมดสิ้น จึงได้ดำเนินการแปลและเรียบเรียงคัมภีร์ดังกล่าวเป็นภาษามคธอักษรบาลี อันเป็นตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน) เช่นเดียวกับคัมภีร์พระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถา นับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๔ ในลังกาทวีป

สถานที่ : ลังกาทวีป (เข้าใจว่าที่โลหปราสาท เมืองอนุราธปุระ)

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าปรักกมพาหุ

การจัดการ : พระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พร้อมด้วยการกสงฆ์ (กรรมการเฉพาะกิจสงฆ์) ซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ

กล่าวกันว่า หลัง จากที่ได้มีการสังคายนาในครั้งนี้แล้วไม่นาน พระเจ้าอนุรุทธมหาราช กษัตริย์กรุงพุกาม แห่งประเทศพม่า ได้เสด็จไปลังกาทวีป และทรงจำลองคัมภีร์พระไตรปิฎก พร้อมทั้งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา นำมาประดิษฐานไว้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศพม่า ต่อแต่นั้นมา บรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ไทย เขมร ก็ได้ส่งพระสงฆ์และราชบัณฑิตไปจำลองคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา นำมาประดิษฐานไว้ศึกษาเล่าเรียนในประเทศของตนบ้าง

รูปภาพ
วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๘


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๐๒๐

มูลเหตุ : พระธรรมทินมหาเถระ ผู้เปรื่องปราดแตกฉานในพระไตรปิฎก ได้พิจารณาเห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่มาก ด้วยการจำลองหรือคัดลอกกันต่อๆ มาเป็นเวลาช้านาน จึงเข้าเฝ้าถวายพระพรขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าติโลกราช (พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราช) เมื่อได้รับการอุปถัมภ์แล้วพระธรรมทินมหาเถระก็ได้เลือกพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญ ในพระไตรปิฎกประชุมกันทำการสังคายนา โดยการตรวจชำระคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา จารึกไว้ในใบลานด้วยอักษรธรรมของล้านนา นับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๑ ในอาณาจักรล้านนาหรือประเทศไทยในปัจจุบัน

สถานที่ : วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระเจ้าติโลกราช (พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิดิลกราช)

การจัดการ : พระธรรมทินมหาเถระเป็นประธาน พร้อมด้วยการกสงฆ์ (กรรมการเฉพาะกิจสงฆ์)

ระยะเวลา : ๑ ปี จึงสำเร็จ


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๓๓๑

มูลเหตุ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงมีพระราชศรัทธาปรารถนาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป ได้ทรงทราบจากพระสงฆ์อันมี สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นประธาน ว่าในเวลานั้นพระไตรปิฎกมีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนมาก แม้พระสงฆ์จะมีความประสงค์จะทำนุบำรุงให้สมบูรณ์ก็ไม่มีกำลังพอจะทำได้ พระองค์จึงได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชฯ พร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งปวงให้รับภาระในเรื่องนี้ ดังนั้น พระสงฆ์อันมีสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นประธาน จึงได้เริ่มทำการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกพร้อมทั้งคัมภีร์ลัททาวิเสส (คัมภีร์ไวยากรณ์บาลี) และได้จารึกไว้ในใบลานด้วยอักษรขอม ซึ่งนับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย

สถานที่ : วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑

การจัดการ : สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นประธาน มีพระสงฆ์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๒๑๘ รูป และมีราชบัณฑิตเป็นผู้ช่วยเหลืออีกจำนวน ๓๒ คน

ระยะเวลา : ๕ เดือน จึงสำเร็จ

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๑๐


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๔๓๑

มูลเหตุ : เนื่อง ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสวยราชสมบัติได้ ๒๕ ปี ทรงปรารภจะบำเพ็ญพระมหากุศล ทรงเห็นว่าพระไตรปิฎกที่เขียนไว้ในคัมภีร์ใบลานไม่มั่นคง ทั้งจำนวนก็มากยากที่จะเก็บรักษา และเป็นตัวขอม ผู้ไม่รู้อ่านไม่เข้าใจ จึงทรงมีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และพระเถรานุเถระทั้งหลาย อาทิเช่น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฯลฯ ช่วยกันชำระ โดยคัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลาน เป็นตัวอักษรไทย แล้วชำระแก้ไขและพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ รวม ๓๙ เล่ม เริ่มชำระและจัดพิมพ์ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มด้วยอักษรไทย และนับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๓ ในประเทศไทย

สถานที่ : พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

การจัดการ : สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นประธาน มีพระสงฆ์เข้าประชุมเป็นสังคีติการกสงฆ์จำนวน ๑๑๐ รูป

ระยะเวลา : ๖ ปี จึงสำเร็จ

รูปภาพ
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
สถานที่ทำสังคายนา ครั้งที่ ๙ และครั้งที่ ๑๑


:b44: การสังคายนา ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๓๐

มูลเหตุ : ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบปีนักษัตร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงดำริเห็นว่าพระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนานั้น มีข้อวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่ อันเกิดจากความประมาทพลาดพลั้งในการคัดลอกและตีพิมพ์กันต่อๆ มา เห็นควรทำการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจสอบชำระให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และตีพิมพ์ขึ้นเป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้เจริญพรขอความอุปถัมภ์ไปยังรัฐบาล อันมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และถวายพระพรให้การสังคายนาในครั้งนี้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อได้รับงบประมาณและพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว จึงได้ดำเนินการสังคายนาโดยเริ่มตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ และเสร็จสิ้นลงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งนับเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๔ ในประเทศไทย

สถานที่ : พระตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

องค์อุปถัมภ์ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ เป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยรัฐบาล อันมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

การจัดการ : สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นประธาน

ระยะเวลา : ๒ ปี จึงสำเร็จ


:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของบทความ
เขียนโดย คุณภิเนษกรมณ์ (Pakorn Kengpol)

https://www.facebook.com/notes/pakorn-k ... 8099254557

:b44: ความเป็นมาของพระไตรปิฎก (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5399

:b44: ดาวน์โหลดฟรี !!..พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=36115

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘