คำชี้แจง กรณีขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (ตอนที่ 1)

คำชี้แจง
กรณีขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช  (ตอนที่ 1)

นายจำนงค์ สวมประคำ
อดีตเลขาธิการวุฒิสภา

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 หมวดสมเด็จพระสังฆราชนั้น เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า การสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนขั้นตอนการนำความกราบบังคมทูล

เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พศ.ต้องนำความเรียน มส. ก็ขึ้นต้นด้วยส่วนราชการของรัฐบาล ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี มส. ไม่ได้หยิบขึ้นมาประชุมเอง จากนั้น พศ. ก็เสนอ มติมส.ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูล ก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่อยู่ดีๆ จะให้นายกรัฐมนตรี มาพิจารณาเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ท่านนายกรัฐมนตรี จะเริ่มต้นจากอะไร หรือ พศ.ต้องนำความเรียนนายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปศึกษาระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรีว่า เคยมีปฏิบัติหรือไม่

ธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้นายกรัฐมนตรี เสนอนามมายัง มส. ยังไม่เคยมี มีแต่ส่วนราชการของรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ตามขั้นตอน หากเป็นสมัยก่อนปี 2549 ก็เป็นกรมการศาสนา (ศน.) แต่หลังแบ่งส่วนราชการใหม่ ก็ต้องเป็น พศ. เป็นกระบวนการปฏิบัติราชการในการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราช

หากว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า การพิจารณาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องเริ่มที่นายกรัฐมนตรี ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจ ซึ่งมส.ไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว เพราะการประชุม มส.ก็ต้องเริ่มจากสำนักเลขาธิการ มส. ซึ่งก็คือ พศ. อยู่ดี หากส่งเรื่องกลับมาให้ มส.ประชุมใหม่ ก็มีมติเช่นเดิมไป นายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถไปเปลี่ยน มติ มส.ได้ และก็ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำมาก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เสนอนามสมเด็จพระสังฆราชมาให้ มส.พิจารณา

การจะตั้งสมเด็จพระสังฆราช ที่จะให้ชาวพุทธศรัทธา 100% คงไม่มี คงหาไม่ได้ แม้แต่เลือกนายกรัฐมนตรีเอง ก็ใช่ว่าจะมีคนศรัทธาท่านทั้งหมด หลักประชาธิปไตยจึงต้องยึดเสียงข้างมากอยากให้รัฐบาลเข้าใจการปกครองสงฆ์ พระสงฆ์ปกครองกันเอง โดยเฉพาะ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ไม่เคยเห็นหน่วยงานไหนมาแทรกแซง นำมติ มส.ไปวินิจฉัย เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจรัฐบาลด้วยว่า มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง และกลั่นกรองเรื่องที่จะนำความบังคมทูล ซึ่งเรื่องไหนที่สังคมไม่สบายใจ รัฐบาลต้องทำให้กระจ่าง ไม่ใช่นำไปเก็บไว้จนเกิดพุทธศาสนิกชนจะได้เข้าใจไม่มีปัญหาต่อรัฐบาล

สำหรับขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีการบันทึกจดหมายเหตุพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2532 อย่างละเอียด โดยเฉพาะขั้นตอนและเอกสารราชการการ ธรรมเนียมปฏิบัติ การเสนอสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยกระบวนการเริ่มต้นพิจารณานามสมเด็จพระราชาคณะ ได้ยึดตามมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ระบุว่า
การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตามจารีตประเพณีจะทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช จากกรมการศาสนา สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม นำรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะให้มส.ได้พิจารณาก่อนและมีสังฆทัศนะ จากนั้นเสนอนามพร้อมสังฆทัศนะ ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จากนั้นเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอไปยังราชเลขาธิการ ต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้แจ้งหนังสือกลับมายังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนา สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงทางสมณศักดิ์เป็นผู้เหมาะสมเป็นสมเด็จพระ สังฆราช สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมายังรมว.ศึกษาธิการ มายังกรมการศาสนาเพื่อจัดพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งไม่มีการบันทึกขั้นตอนว่า กระบวนการเริ่มจากนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

(โปรดติดตาม ตอนที่ 2)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘