พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล 07

รูปภาพ

สารนาถ : สถานที่แสดงปฐมเทศนา

สารนาถ (Sarnath) พุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร เป็นสถานที่ทรงยังพระธรรมจักรให้เป็นไป กล่าวคือ เป็น สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกมีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อันมีโกณทัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

สารนาถ ดำรงฐานะสำคัญนอกจากจะเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันตสาวกจำนวน ๖๐ รูป (พระปัญจวัคคีย์ ๕ รูป + พระยสะและสหายพระยสะ ๕๕ รูป) ไปประกาศพระศาสนา เผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก (นับเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา) ด้วยพระดำรัสว่า

“มุ ตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ”

ภิกษุ ทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)

ดังนั้น สารนาถ จึงอยู่ในฐานะที่่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการประกาศพระพุทธศาสนา หรือเป็นจุดกำเนิดขึ้นของพระพุทธศาสนานั่นเอง


:b45: การอุบัติขึ้นแห่งพระธรรม

สารนาถ พุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ เดิมเรียกว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน อยู่ในเขตกรุงพาราณสี แคว้นกาสี ณ ที่แห่งนี้ พระ พุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก โดยทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ และผลแห่งการแสดงพระธรรมนี้ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ คือ อัญญาโกณทัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา และทูลขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรก นับว่าวันนั้นเป็นวันที่่เกิดพระรัตนตรัยครบองค์ ๓ โดยบริบูรณ์ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และเป็นที่มาของ “วันอาสาฬหบูชา” นั่นเอง

:b45: ปฐมเทศนา-ปฐมสาวก-ปฐมแสงธรรม

หลัง จากพระพุทธองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และทรงเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วันแล้ว ในสัปดาห์ที่ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงออกจากสมาธิแล้วเสด็จจากโคนต้นราชายตนะ (ต้นเกด) เข้าไปประทับอยู่ ณ โคนต้นไทรอชปาลนิโครธ ก็ทรงดำริว่าพระธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง ยากแก่การที่จะสัตว์ผู้มีธุลีคือกิเลสในดวงตามากๆ จะเข้าใจตามได้ ในขั้นแรกทรงน้อมไปในอาการที่จะไม่แสดงธรรม แต่เพราะอาศัยพระมหากรุณาของพระองค์เอง ว่าที่พระองค์บำเพ็ญบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะพาหมู่สัตว์ข้ามห้วงโอฆะกันดารจากทุกข์ใน สังสารวัฏเป็นหลัก

ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่ในมหาพรหม ก็ทราบพระปริวิตกของพระศาสดา จึงได้เสด็จลงมาเข้าเฝ้าเพื่อทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมทูลอาราธนาดังนี้แล้ว ทรงพิจารณาสรรพสัตว์ทั้งหลายดุจดอกบัวสามเหล่า (ความตอนนี้ ไม่ปรากฏว่าทรงพิจารณาถึง ๔ เหล่า ดอกบัว ๔ เหล่า น่าจะมาในพระไตรปิฎกตอนอื่นมากกว่า และพระพุทธเจ้าก็อาศัยความที่คนทั้งหลายมีอุปนิสัยที่พอจะรับฟังพระธรรมได้ ดุจดอกบัวทั้งสามเหล่า คือบัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำนี่เอง จึงทรงแสดงธรรม) จึงตกลงพระทัยที่จะแสดงธรรม

ในขั้นแรกทรงพิจารณาว่าควรจะเสด็จไปโปรดใครก่อน ก็ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสและอุทกดาบส ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระองค์คราวที่ยังมิได้ตรัสรู้ ยังทรงเป็นผู้เที่ยวแสวงหาทางตรัสรู้อยู่ ทรงระลึกว่าทั้งสองท่านเป็นผู้มีธุลีคือกิเลสเบาบาง จะสามารถบรรลุธรรมได้เร็ว (เพราะดาบสทั้งสองเป็นผู้ได้ฌานแล้ว นิวรณ์ ๕ ย่อมระงับ จิตเป็นสมาธิ ซึ่งสามารถที่จะรู้ตามพระธรรมเทศนาที่จะทรงแสดงได้เร็ว) แต่ทรงทราบว่า ดาบสทั้งสองได้ละสังขารไปก่อนหน้านั้นแล้ว จึงได้ทรงเล็งเห็นว่า ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ผู้ที่เคยมีอุปการะกับพระองค์คราวที่ยังแสวงหาทางตรัสรู้ และเป็นผู้ที่มีธุลี คือกิเลสในดวงตาเบาบาง ตอนนี้พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์จึงทรงดำริจะเสด็จไปเพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์

ในระหว่างทางได้พบกับ อุปกาชีวก ซึ่งอุปกาชีวกได้เห็นพระอากัปกิริยาอันน่าเลื่อมใส พระพักตร์อิ่มเอิบของพระพุทธเจ้า ก็เกิดความเลื่อมใส จึงได้ถามว่าพระองค์เป็นลูกศิษย์ใคร ใครเป็นอาจารย์ของพระองค์ ฯลฯ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสว่า “เราเป็นผู้ ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวง ละธรรมเป็นไปในภูมิสามได้หมด พ้นแล้ว เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสีเพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองประกาศอมตธรรมในโลกอันมืดเพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ”

อุปกาชีวกได้ฟังดังนั้น ก็ได้กล่าวว่าการที่พระพุทธองค์ได้ตรัสมานั้น หากเป็นจริงแล้วพระพุทธองค์ควรจะได้นามว่า อนันตชินะ ผู้ชนะหาที่สุดมิได้ แล้วแลบลิ้นสั่นศีรษะแล้วเดินหลีกไป (อุปกาชีวกแสดงกิริยาเช่นนี้ เป็นอาการเคารพพระพุทธเจ้าตามประเพณีอินเดีย การสั่นศีรษะเป็นการยอมรับ การแลบลิ้นเป็นประเพณีธิเบต ถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างยิ่ง แสดงว่าอุปกาชีวกต้องเลื่อมใสพระพุทธเจ้าเป็นแน่ และเป็นอุปนิสัยให้ภายหลังได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังพระธรรมเทศนา จนกระทั่งบรรลุเป็นพระอนาคามี)

หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จ ไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบกับปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ในยามเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา (ใช้เวลาเสด็จพุทธดำเนิน ๑๑ วันจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) ในขั้นแรกปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จริงๆ แล้ว แต่เพราะเหตุผลทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้นระลึกได้ว่าในคราวที่ยังรับใช้ยังอยู่ใกล้ชิดพระองค์ ก็ไม่เคยได้ยินพระองค์ตรัสเรื่องอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนี้เลย พระองค์น่าจะได้รู้อะไรบางอย่างแล้วเป็นแน่ จึงได้ยอมรับฟังพระธรรม พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อแห่งพระธรรม ที่ธัมมเมกขสถูป ซึ่งมีใจความสำคัญกล่าวถึงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ

(ก) มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ได้บรรลุถึงจุดหมายในการแสวงหาทางพ้นทุกข์ มิใช่การดำเนินชีวิตสุดโต่ง ๒ ทาง คือ การหมกมุ่นในกาม มัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค และการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก คอยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยคิดว่าจะสามารถช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

พระ พุทธเจ้าทรงสอนให้ละเว้นจากการปฏิบัติผิด ๒ ทางนี้ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ตึงเกินไปและหย่อนเกินไป ทรงให้หันกลับมาดำเนินในทางสายกลาง เพราะพระองค์เคยผ่าน ๒ ทางนี้มาแล้ว ทรงเห็นว่าไม่ได้ผลและไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ที่แท้จริง ทางสายกลางที่ถูกต้องสมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

(ข) อริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ, สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์, นิโรธ คือความดับทุกข์ และ มรรค คือข้อปฎิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ในตอนจบของพระธรรมเทศนา ดาบสโกณทัญญะได้ส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา จึงได้เข้าถึงความจริงของสังขารธรรม ได้ธรรมจักษุว่า “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง” สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา

พระศาสดาทรงทราบว่าโกณทัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงเปล่งอุทานว่า “อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ อัญญาสิ วต โภ โกณทัญโญ” โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ นับตั้งแต่นั้นท่านโกณทัญญะจึงได้นามว่า อัญญาโกณทัญญะ คือ พระโกณทัญญะ ผู้รู้แล้ว และได้ทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนาที่ได้รับการอุปสมบทโดยพระศาสดาเป็นผู้ ประทานการบวชให้ เท่ากับว่าในวันนั้นเอง ที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับพระนามว่าเป็นสัมมาสัมพุทโธโดยสมบูรณ์ เพราะมีพยานในการตรัสรู้ธรรมโดยชอบ คือรู้ตามพระธรรมของพระองค์แล้ว

หลังจากโปรดอัญญาโกณทัญญะแล้ว ก็ได้ทรงแสดงปกิณกธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ท่านอื่นๆ อีกในวันต่อๆ มา กระทั่งยังผลให้ปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล และทูลขอบวช ต่อมาใน วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นเอง พระองค์ได้ทรงแสดงทุติยเทศนา พระสูตรที่สองในพระพุทธศาสนาคืือ อนัตตลักขณสูตร โปรดแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ธัมมราชิกสถูป ทำให้ทั้งหมดได้เข้าใจชัดเจนถึงความเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนถาวรเที่ยงแท้ของขันธ์ ของสังขารธรรม ทำให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูปสามารถเพิกถอนอุปทาน อาสวะในจิตของตนได้ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันเป็นครั้งแรกของโลกในที่สุด และการที่พระองค์ได้ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนานี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นของพระธรรม สถานที่แห่งนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นที่อุบัติขึ้นแห่งพระธรรม และเป็นการรุ่งอรุณแห่งการส่องสว่างของแสงแห่งพระธรรม เพื่อขจัดซึ่งความมืดในสรรพสัตว์ทั้งหลาย

รูปภาพ
พิพิธภัณฑ์สารนาถ เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
พิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาวัตถุโบราณต่างๆ ประจำเมืองพาราณสี


การเดินทางสู่สารนาถ


(มีต่อ)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘