พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล 05

รูปภาพ
“พระมหาเจดีย์พุทธคยา” หรือ “พระมหาโพธิเจดีย์”
ณ พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย



พุทธคยา : สถานที่ตรัสรู้

พุทธคยาหรือโพธคยา (Bodh gaya) เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดอยู่ในพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ ในประเทศอินเดีย เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติในช่วงเวลาที่สำคัญมากที่สุด คือ เวลาที่เกิดการอุบัติของพระธรรมกาย หรือการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนสถานะจากเจ้าฟ้าชายสิทธัตถะหรือพระสมณะสิทธัตถะ สู่ความเป็นพระบรมศาสดา ผู้ทรงได้รับการขนานนามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

พุทธ คยาจึงจัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญ เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงเดินทางไปจาริกแสวงบุญ และกราบนมัสการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้ได้ทรงตรัสรู้ธรรมอันยอดเยี่่ยม อันจะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามห้วงแห่งโอฆะกันดารห้วงแห่งสังสารวัฏอันไม่ สิ้นสุดนี้

พุทธคยา นั้นเดิมเรียกว่า คยา อยู่ในเขตคยาสีสะประเทศ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ส่วนสถานที่ตรัสรู้อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันคือตำบลพุทธคยา) ซึ่่งเป็นสถานที่ที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ทรงประทับบำเพ็ญเพียร จนกระทั่งเอาชนะพญามารและตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม ในเวลารุ่งสางของวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชา โดยมีความเป็นมาดังต่อไปนี้

ในเวลาเช้าของวันเพ็ญเดือน ๖ พระโพธิสัตว์สิทธัตถะประทับนั่งใต้โคนต้นไทร นางสุชาดานำถาดอาหารมาเพื่อแก้บนรุกขเทวดาประจำต้นไทร พบพระสิทธัตถะก็เข้าใจว่าเป็นเทวดานั่งรอเครื่องพลีกรรม แต่เมื่อมาถึงได้สนทนาทูลถามแล้ว ก็ได้เข้าใจจึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายทั้งถาด และขอให้พระองค์ทรงประสบผลสำเร็จเหมือนกับที่นางประสบผลสำเร็จมาแล้ว พระโพธิสัตว์สิทธัตถะรับของถวายแล้วถือถาดไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงสนานพระวรกายแล้วขึ้นมาประทับนั่ง เสวยข้าวมธุปายาสจำนวน ๔๙ ปั้นจนหมด จาก นั้นเสด็จไปประทับในดงไม้สาละ จนเวลาเย็นจึงเสด็จไปที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงปูลาดหญ้าคา ๘ กำที่โสตถิยพราหมณ์ถวายในระหว่างทาง ลงใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฎางค์เข้าหาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานว่า “แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณตราบใด จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี่ตราบนั้น” (อง.ทุก. ๒๐/๖๔/๒๕๑)

จากนั้นทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ ๔ แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ ญาณ ๓ คือ ในยามที่หนึ่งหรือยามต้นของคืนนั้น ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสนุสติญาณ คือระลึกชาติปางก่อนของพระองค์เองได้ ในยามที่ ๒ ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย และในยามที่ ๓ หรือยามสุดท้าย ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ว่าอะไรคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ความรู้นี้ทำให้กิเลสาสวะหมดสิ้นไปจากจิตใจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าถึงสภาพจิตของพระองค์ขณะเข้าถึงความหลุดพ้นไว้ว่า “เมื่อ เรารู้เห็น (อริยสัจ ๔) อย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้น ทั้งจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว เราได้มีญาณหยั่งรู้ว่า ตัวเองหลุดพ้นแล้ว เรารู้แจ่มชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์จบแล้ว ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว ไม่มีอะไรให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว” (ม.ม. ๑๓/๔๕๙/๑๖๖๔)

พระองค์ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาที่แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้า รวมระยะเวลาที่บำเพ็ญเพียรตั้งแต่ออกผนวชจนตรัสรู้ได้ ๖ ปี ขณะที่ตรัสรู้พระองค์มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา

การเดินทางสู่พุทธคยา



(มีต่อ)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘