พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล 04

รูปภาพ
วิหารมายาเทวี, เสาอโศก, สระโบกขรณี
และซากอิฐเก่าๆ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล



อนุสรณ์สถานแห่งการประสูติ

(๑) เสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช

เสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช (The Stone Pillar of Ashoka) หรือเรียกว่า เสาศิลาจารึกอโศก หรือ เสาอโศก เสาหินสูงใหญ่ตั้งอยู่ในวงล้อมรั้วเหล็ก เป็น อนุสรณ์สถานที่พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖) ได้ทรงประดิษฐานไว้ เมื่อครั้งเสด็จมานมัสการ ณ สถานที่ประสูติ โดยมี พระอุปคุตเถระ พระภิกษุในนิกายสรวาสติวาท ครั้งนั้นได้นำเสด็จนมัสการพุทธสถาน พระองค์ได้โปรดให้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เป็นเสาศิลา ได้ทรงให้จารึกไว้ที่เสาด้วยอักษรพราหมี (อ่านว่า พราม-มี) ในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อมีผู้ค้นพบเสาศิลาได้พยายามถอดความอักษรจารึก ได้ความว่า

เทวาน ปิเยน ปิยทสิน ลาชิน วีสติวสาภิสิเตน
อตน อาคาจ มหียิเต หิท พุเธ ชาเต สกฺยมุนีติ
ลีลาวิคฑภี จา กาลาปิต สิลาถเก จ อุสปาปิเต
หิท ภควํ ชาเต ลุมินิคาเม อุพลิเก กเฏ อฐ ภาคิเย จ ฯ

“พระเจ้าเทวานัมปิยทัสสี (พระเจ้าอโศกมหาราช)
เมื่อทรงได้รับอภิเษกแล้ว ๒๐ ปี ได้เสด็จมานมัสการ ณ ที่นี้
ด้วยพระองค์เอง ด้วยว่าพระศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้
โปรดให้สร้างรูปวิคฑะ และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย
โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้
จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินีนี้
และทรงให้เสียแต่เพียง ๑ ใน ๘ ของผลผลิตเป็นค่าภาษีที่ดิน”


เสา ศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ ดร.ฟือห์เรอร์ นักโบราณคดีชาวเยอรมัน เป็นผู้ค้นพบ (และเป็นผู้ถอดความจารึกนี้ด้วย) ในวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ (ค.ศ. ๑๘๙๕) ขณะที่พบ หลักศิลาจารึกถูกอิฐปูนเก่าๆ ทับถมอยู่ เมื่อขูดอิฐปูนเหล่านั้นออก จึงพบอักษรที่เสา ขนาดของเสาศิลาจารึกสูง ๒๖ ฟุต ๖ นิ้ว ซึ่งฝังอยู่ในดิน ๘ ฟุต ๖ นิ้ว วัดส่วนกลมได้ ๗ ฟุต ๓ นิ้ว กล่าว กันว่า เดิมเสาศิลาจารึกสูง ๗๐ ฟุต แต่ถูกฟ้าผ่าลงมาทำให้ขนาดลดลง บนยอดหัวเสาแต่เดิมมีรูปวิคฑะประดิษฐานอยู่ เข้าใจว่าวิคฑะนี้เป็นรูปม้า ซึ่งคงจะทรงสร้างไว้เป็นสัญลักษณ์ถึงการทรงม้ากัณฑกะในคราวเสด็จออกผนวช หรือออกมหาภิเนษกรมณ์ (รูปสลักบนยอดเสาศิลาจารึกอโศก ส่วนใหญ่เป็นรูปสิงห์หรือวัว คงมีที่นี่สร้างไว้เป็นรูปม้าเป็นพิเศษ)

(๒) วิหารมายาเทวี

เป็น สิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระนางสิริมหามายาเทวี พระพุทธมารดา โดยเป็นวิหารที่สร้างครอบจุดที่พระพุทธเจ้าทรงย่างพระบาทแรกลงบนโลก ตัววิหารสร้างสูงจากพื้นประมาณ ๓ เมตร มีบันไดขึ้น-ลงได้ ๒ ด้าน ประดิษฐานอยู่ข้าง “เสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช” ด้านในวิหารจุคนได้ประมาณ ๗-๘ คน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวๆ ปี พ.ศ. ๒๔๑ หรือในยุคเดียวกันกับที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาศิลาจารึกฯ ซึ่งผู้สร้างวิหารมายาเทวีน่าจะเป็นบริวารหรือข้าราชบริพารของพระเจ้าอโศก มหาราช เมื่อเห็นว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างอนุสรณ์สถานแด่พระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้สร้างอนุสรณ์สถานแด่พระนางสิริมหามายาเทวีบ้าง วิหารมายาเทวีแต่เดิมนั้นอาคารเป็นสีแดง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนทาสีเป็นสีขาวแล้ว

รูปภาพ

รูปภาพ
แท่นศิลาภาพหินแกะสลักรอยพระบาทจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะ


(๓) แท่นศิลาภาพหินแกะสลักรอยพระบาทจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะ

ใน คราวปฏิสังขรณ์ มีการรื้อถอนเพื่อตรวจสอบภายในวิหารมายาเทวี และได้มีการเจาะถึงภายใต้วิหารก่อนที่จะเริ่มการปฏิสังขรณ์ จากการรื้อถอนในคราวนั้นได้พบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ภาพหินแกะสลักเป็นแท่นศิลาที่มีรอยประทับอยู่คล้ายรอยเท้าเด็ก ขนาดกว้าง ๕ นิ้ว ยาว ๕ นิ้ว ทำด้วยหินทราย และได้ตรวจสอบแล้วมีอายุราวๆ ๒,๐๐๐ กว่าปี แต่ไม่ถึงสมัยพุทธกาล อีกทั้งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงจารึกเอาไว้ที่ “เสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช” ด้วยว่า ได้สร้างเสาศิลาจารึกฯ เอาไว้พร้อมกับ “แท่นศิลาภาพหินแกะสลักรอยพระบาทจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะ” ก้อนนี้ เมื่อตอนขุดพบ แท่นศิลาภาพหินแกะสลักรอยพระบาทจำลองฯ ก้อนนี้ตั้งอยู่บนแท่นอิฐ ดัง นั้น จึงคาดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้นไว้ และรอยประทับที่คล้ายรอยเท้าเด็กนั้น สร้างขึ้นเป็นรอยพระบาทจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อคราวแรกประสูติ สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยพระบาทก้าวที่ ๗ ของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินได้ ๗ ก้าวในวันประสูติ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่กลางวิหารมายาเทวี

รูปภาพ
ภาพหินทรายแกะสลักรูปพระประสูติกาลของเจ้าชายสิทธัตถะ


(๔) ภาพหินทรายแกะสลักรูปพระประสูติกาลของเจ้าชายสิทธัตถะ

ประดิษฐานอยู่ในวิหารมายาเทวี เมื่อคราวปฏิสังขรณ์วิหารได้ย้ายมาอยู่ที่วิหารเล็กใกล้ๆ กัน “ภาพหินทรายแกะสลักรูปพระประสูติกาลของเจ้าชายสิทธัตถะ” นี้ กษัตริย์มัลละแห่งราชวงศ์นาคะได้โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงเหตุการณ์ขณะ ที่พระนางสิริมหามายาทรงประสูติพระราชโอรส คือ เจ้าชายสิทธัตถะ สร้างขึ้นในราวๆ ปี พ.ศ. ๑๗๐๐-๒๑๐๐ ท่านพีซี มุขเขอรจี (P. C. Mukherjee) นักโบราณคดีชาวอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ขุดค้นโบราณสถานในอินเดีย ได้ค้นพบภาพหินทรายแกะสลักรูปพระประสูติกาลฯ นี้ในปี พ.ศ. ๒๓๐๐

กล่าวกันว่าภาพหินทรายแกะสลักรูปพระประสูติกาลฯ นี้ ได้สร้างขึ้นตามเหตุการณ์ขณะเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ตามรายละเอียดใน คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาคัมภีร์พุทธวงศ์ ทุกประการ ดังนี้

“พระ นางเสด็จไปยังโคนต้นมงคลสาละ มีพระประสงค์จะทรงจับกิ่งใดของมงคลสาละนั้น ซึ่งมีลำต้นตรงเรียบและกลม ประดับด้วยดอกผลและใบอ่อน กิ่งมงคลสาละนั้น ไม่มีแรง รวนเรเหมือนใจชน ก็น้อมลงมาเองถึงฝ่าพระกรของพระนาง

ลำดับ นั้น พระนางก็ทรงจับกิ่งสาละนั้น ด้วยพระกรที่ทำความยินดีอย่างยิ่ง ข้างขวาซึ่งงามด้วยกำไลพระกรทองใหม่ มีพระองคุลีกลมกลึงดังกลีบบัว อันรุ่งเรืองด้วยพระนขานูนมีสีแดง พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น เป็นพระราชเทวีงดงาม เหมือนจันทรเลขาอ่อนๆ ที่ลอดหลืบเมฆสีเขียวคราม เหมือนแสงเปลวไฟซึ่งตั้งอยู่ได้ไม่นาน และเหมือนเทวีที่เกิดในสวนนันทวัน ในทันทีนั้นเอง ลมกัมมัชวาตของพระนางก็ไหว ขณะนั้นชนเป็นอันมากก็กั้นผ้าม่านเป็นกำแพ แล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั่นเอง พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางนั้น”


ภาพ หินทรายแกะสลักนี้ ผู้มาบูชาสักการะมีทั้งชาวพุทธและชาวฮินดู สาเหตุที่มีชาวฮินดูมาบูชาสักการะด้วยนั้นเพราะเขาไม่รู้ว่าเป็นหินทรายแกะ สลักทางพระพุทธศาสนา คิดว่าคงเป็นรูปเจ้าแม่องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งก็ถือว่ายังพอได้ประโยชน์อยู่บ้าง เพราะชาวฮินดูเองก็ได้ช่วยดูแลภาพหินทรายแกะสลักนี้ด้วย

(๕) สระโบกขรณี

สระ โบกขรณี เป็นสระโบราณรูปสี่เหลี่ยมโบกปูนไว้ ซึ่งเป็นสระน้ำที่พระนางสิริมหามายาได้ทรงสรงสนานชำระพระวรกายในวันให้ ประสูติกาลพระมหาบุรุษ แม้ในปัจจุบันยังสมบูรณ์มีน้ำขังเต็มตลอดทั้งปี ภายในก้นบ่อมีตาน้ำ ๒ ตา เชื่อว่าเป็นตาน้าร้อน และน้ำเย็น ที่ฝั่งสระมีต้นโพธิ์ใหญ่อันร่มรื่น

(๖) วัดไทยลุมพินี (Royal Thai Monastery Lumbini, Nepal)

วัดไทยลุมพินี วัดไทยแห่งแรกในประเทศเนปาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=45773


(มีต่อ)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘