พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล 02

รูปภาพ

พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

พุทธสังเวชนียสถาน (อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน) แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ หมายถึง สถาน ที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เป็นสถานที่ควรไปเคารพสักการะ ควรไปแสวงบุญ เพื่อให้เกิดความสังเวชและเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศลและความปลาบปลื้มแช่มชื่นใจ

พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ซึ่งอยู่ในประเทศเนปาลและประเทศอินเดียนั้น เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๔ แห่ง ได้แก่ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน ถือเป็นสถานที่สำคัญที่พุทธศาสนิกชนต่างก็ต้องการจะไปกราบสักการะให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต เนื่อง จากในมหาปรินิพพานสูตร จากพระไตรปิฎก ได้มีการกล่าวไว้ว่า ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากได้กราบทูลถามว่า

“ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ แต่กาลก่อนมาหลังจากออกพรรษาแล้ว มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หลั่งไหลมากราบไหว้พระพุทธองค์อย่างเนืองแน่น บัดนี้พระพุทธองค์จะปรินิพพานจากไปแล้ว จะให้ข้าพระองค์ทั้งหลายรำลึกคิดถึงกราบไหว้บูชาอะไรเล่า พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ทรงตอบพระอานนท์ว่า “ดู ก่อนอานนท์ หลังจากเราตถาคตปรินิพพานจากไปแล้ว หากพวกเธอมีความรำลึกถึงเรา และเดินตามรอยแห่งเรา จงพากันกราบไหว้บูชาสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ของเรา คือ ลุมพินีวัน สถานที่เราประสูติหนึ่ง โพธิมณฑล สถานที่เราตรัสรู้หนึ่ง ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่เราแสดงปฐมเทศนาหนึ่ง และกุสินารานคร สถานที่เราจะปรินิพพาน นี่แหละอานนท์ เป็นสถานที่สักการบูชา เป็นเนื้อนาบุญของพวกเธอทั้งหลายสืบต่อไป”

พุทธสังเวชนียสถานนั้นมี ๔ แห่ง ใน หนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

สังเวชนียสถาน ๔ (สถานที่เป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช, สถานที่เนื่องด้วยพุทธประวัติ) ซึ่งพุทธศาสนิกชนควรไปดูเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เกิดความไม่ประมาท จะได้เร่งขวนขวายประกอบกุศลกรรม และสำหรับผู้ศรัทธาจะได้จาริกไปชมเพื่อเพิ่มพูนปสาทะ กระทำการบูชาสักการะอันจะนำให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

๑. ชาตสถาน
(ที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ อุทยานลุมพินี)

๒. อภิสัมพุทธสถาน
(ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ควงโพธิ์ที่ตำบลพุทธคยา)

๓. ธัมมจักกัปปวัตตนสถาน
(ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เรียกปัจจุบันว่า สารนาถ)

๔. ปรินิพพุตสถาน
(ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา)


อินเดีย ถือว่าเป็นแดนดินถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนา อินเดียในสมัยพุทธกาล เรียกว่า “ชมพูทวีป” ซึ่งแปลว่า “ทวีปแห่งไม้หว้า” เพราะมีต้นหว้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในดินแดนแห่งนี้

อินเดีย (India) มาจากคำว่า “สินธุ (Sindhu)” ในภาษาสันสกฤต สินธุเป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญทางตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน แต่เดิมชาวเปอร์เซียเรียกคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุว่า ชาวฮินดู (Hindu) ซึ่งมาจากคำว่าสินธุนั่นเอง และเรียกดินแดนแถบนี้ว่าฮินดูสถาน (Hindustan) หมายถึง อาณาจักรที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ต่อมาชาวกรีกซึ่งเข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้ ได้เรียกชาวฮินดูว่า อินโดส (Indos) และเรียกแม่น้ำสินธุว่า อินดุส (Indus) และเป็นอินเดียในที่สุด

อาณาจักรที่เรียกว่า ชมพูทวีป ซึ่งรวมเขตประเทศเนปาล อินเดีย ภูฏาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังคลาเทศ โดยอาณาเขตของชมพูทวีปหลายแห่งล้วนเต็มไปด้วย รอยพระพุทธบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทอันเป็นสิริไว้ทั่วภาคพื้นแห่งชมพูทวีป ขณะเดียวกันก็ทรงประทับรอยพระบาท คือ พระธรรม ไว้ในใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ยังสายธาราแห่งพระธรรมอันชุ่มชื่นราดรดดับไฟแห่งกองทุกข์ของมหาชน และแผ่ออกมานอกเหนือเขตชมพูทวีปมายังประเทศต่างๆ มากมายในปัจจุบัน

:b44: :b47: :b44:

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล จัดเป็น “บริโภคเจดีย์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001

รูปภาพ
วิถีชีวิตของชาวอินเดียในแถบชนบททั่วไป ในปัจจุบัน


(มีต่อ)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘